เปิดประสบการณ์กับหลักสูตรฝึกทักษะการขับขี่ที่สนุก ตื่นเต้น ปลอดภัย เเละรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างถูกวิธี Skill Driving Experience “ขับเป็น…ขับปลอดภัย กับ สื่อสากล” แบ่งเป็นการอบรมที่มีเนื้อหาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยช่วงเช้า ภาคบรรยายทฤษฎีในห้องเรียน ว่าด้วยการขับขี่รถยนต์ที่ถูกต้อง และปลอดภัย ขั้นตอนการปรับตำแหน่งเบาะนั่งให้เหมาะสมกับการขับขี่ การจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้อง การหักเลี้ยวพวงมาลัยเพื่อการควบคุมรถ รวมถึงเรียนรู้อาการของรถขณะเสียหลัก พร้อมวิธีแก้ไขอย่างถูกวิธี เข้าสู่ภาคปฏิบัติ ทุกคนจะต้องดึงศักยภาพตัวเองออกมาอีกขั้น ด้วยการฝึกทักษะการขับขี่ที่เข้มข้น จากการทดลองควบคุมรถที่มีสมรรถนะสูง ทั้ง BMW, Mercedes-Benz และ Subaru ในหลากหลายรูปแบบตัวถัง และระบบขับเคลื่อน คือ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า และขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยสถานการณ์ภาคปฏิบัติแต่ละสถานีได้ถูกจำลองขึ้น ให้เหมือนว่าอยู่ในสถานการณ์จริง ที่ต้องใช้ทักษะ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ ที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่มีความมั่นใจ และควบคุมรถในภาวะคับขันได้อย่างปลอดภัย สถานีภาคปฏิบัติ ประกอบไปด้วย สถานี Emergency Lane Change และ ELK Test รถที่ใช้ฝึกอบรม : แบบขับเคลื่อนล้อหน้าของ Mercedes-Benz Emergency Lane Change คือ การฝึกวิธีการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในระยะกระชั้นชิดด้วยการหักเลี้ยวอย่างรวดเร็ว ดังนี้แล้ว ตำแหน่งเบาะนั่งที่เหมาะสม ตลอดจนการจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง มีความจำเป็นมาก แม้ช่องว่างของการหักเลี้ยวรถจะค่อนข้างแคบ แต่ผู้ฝึกอบรมสามารถแล่นผ่านไปได้ แม้ใช้ความเร็วค่อนข้างมาก (40-60 กม./ชม.) เป็นอีกหนึ่งทักษะการขับขี่ที่มีประโยชน์ไม่น้อย ต่อด้วย ELK Test หรือการหลบหลีกสิ่งกีดขวางบนถนนในระยะกระชั้นชิด (เช่น สัตว์ใหญ่ หรือวัตถุขนาดใหญ่) เป็นการหักเลี้ยว 2 ครั้งต่อเนื่องกัน สลับซ้าย/ขวา จำลองสถานการณ์การหลบสิ่งกีดขวาง และหักเลี้ยวกลับมายังเลนเดิม สำหรับถนนที่เป็นเลนสวนทาง การควบคุมพวงมาลัย และสายตาที่มองไปยังจุดปลอดภัยแต่ละตำแหน่ง ช่วยให้ผู้ขับหลบสิ่งกีดขวางได้ทันท่วงที และหักเลี้ยวต่อเนื่องได้อย่างมั่นคง สถานี Emergency Braking และ Understeering รถที่ใช้ฝึกอบรม : แบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาของ Subaru หนึ่งในวิธีลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ คือ การเบรคอย่างทันท่วงที หรือ Emergency Braking นั่นคือ การกดแป้นเบรคอย่างรวดเร็ว และหนักแน่นจนกระทั่งระบบ ABS ทำงาน นอกจากนี้ ผู้ฝึกอบรมจะเบรคที่ความเร็วแตกต่างกัน เพื่อรับรู้ระยะเบรคที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงความสำคัญของเวลาจากการตอบสนองของผู้ขับจากการพบเจอสิ่งกีดขวาง และทำการกดแป้นเบรคลงไป แม้เป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ใช้ระยะทางหลายเมตรแล้ว การมีสติขณะขับรถเป็นสิ่งที่ควรตระหนักให้ดี ต่อกันด้วย Understeering หรือที่คุ้นเคยกับคำว่าอาการ “แหกโค้ง” ตัวรถจะหักเลี้ยวน้อยกว่าที่ต้องการ จากการใช้ความเร็วสูงเกินระดับที่ล้อคู่หน้าจะยึดเกาะถนนได้ ตามปกติความเคยชินของผู้ขับบางคนจะพยายามหักเลี้ยวมากขึ้น แต่ความจริงแล้ว อาการ Understeering จะยิ่งเกิดมากขึ้นแทน การแก้ไข คือ รีบลดความเร็วลงมาด้วยการยกคันเร่ง หรือทำการเบรคเบาๆ (ป้องกันรถไม่ให้เกิดอาการสะบัดในโค้ง) จนกระทั่งล้อคู่หน้ามีการยึดเกาะถนนอีกครั้ง สามารถควบคุมทิศทางได้ตามต้องการ อาการของตัวรถลักษณะนี้มักเจอได้บ่อยกว่ารูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ล้อหลัง หรือ 4 ล้อก็ตาม สถานี Oversteering รถที่ใช้ฝึกอบรม : แบบขับเคลื่อนล้อหลังของ BMW การฝึกอบรมสถานี Oversteering จำลองสถานการณ์รถยนต์เกิดอาการ “ท้ายปัด” หรือหมุนในทางโค้ง จากการสูญเสียการยึดเกาะถนนของล้อคู่หลังขณะเข้าโค้ง โดยครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถานีให้มีความคล้ายคลึงกับการเลี้ยวกลับรถในมุมแคบ แล้วผู้ขับทำการกดคันเร่งขณะทำการเลี้ยว ทำให้เกิดอาการท้ายปัดเช่นกัน การแก้ไขสถานการณ์ต้องอาศัยการหักเลี้ยวไปในทิศทางตรงกันข้ามที่ทันท่วงที ผนวกกับการชะลอความเร็วโดยการยกคันเร่ง ทันทีที่รถออกอาการท้ายปัดบนพื้นผิวเปียกน้ำของสถานีนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจะได้สัมผัสการหมุนของตัวรถด้วยตนเอง รวมถึงการฝึกจับอาการท้ายปัด และแก้ไขอย่างทันท่วงที วันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566 วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2566 >> ชมภาพกิจกรรม ขอขอบคุณผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ดังต่อไปนี้ - บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด - บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด - บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด - บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) - กลุ่มบริษัท ดีสโตน - บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด สถานที่สำหรับการฝึกสอน Skill Driving Experience: ขับเป็น...ขับปลอดภัย กับ สื่อสากล ณ สนามแข่งรถปทุมธานีสปีดเวย์ สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ในเวบไซท์ skilldriving.imc.co.th