จ่อเก็บ "ค่าธรรมเนียมรถติด" นำร่อง คันละ 50 บาท หวังคนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยผุดแนวคิด การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในกรุงเทพฯ เพื่อนำเงินเข้ากองทุน 2 แสนล้านบาท ที่จะนำไปใช้ซื้อรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน และจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายในราคา 20บาทตลอดสาย
จากการศึกษาของสำนักงานนโยบาย แผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) พบว่าพื้นที่ที่การจราจรติดขัด และอยู่โดยรอบแนวรถไฟฟ้า จะเป็นเป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น สุขุมวิท สีลม เอกมัย ท่องหล่อ และรัชดา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ปัจจุบันมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย มีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน ดังนั้น หากประชาชนจะนำรถยนต์เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ในอนาคตจะต้องเสียค่าธรรมเนียม และนำเงินดังกล่าวที่จัดเก็บเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประสบผลสำเร็จ เช่น ประเทศอังกฤษ สวีเดน สิงคโปร์ ฯลฯ
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดเบื้องต้นนั้น มีแนวทางจะเริ่มจัดเก็บในระยะ 5 ปีแรก ในอัตรา 50 บาท และช่วง 5 ปีถัดไปจะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนดได้วันละประมาณ 7 แสนคัน หากเก็บ 50 บาท/คัน จะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาท/วัน หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี
การดำเนินการดังกล่าว กระทรวงคมนาคมหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหามลภาวะ และฝุ่นละออง PM2.5 ได้อีกทาง และยังเตรียมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งพิจารณางบประมาณที่จะซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในกลางปี 2568
สิงคโปร์
หนึ่งในประเทศแรกๆ ที่นำระบบนี้มาใช้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1975 โดยคิดค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่สำคัญ ระบบนี้ช่วยควบคุมจำนวนรถยนต์บนถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ทั้งนี้ เป็นการเก็บค่าผ่านทางตามช่วงเวลาการจราจร และสถานที่ โดยค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 0.50-6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 12-150 บาท/ครั้ง) ซึ่งในช่วงเวลาการจราจรหนาแน่น ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น เวลาพีค คือ 07.00-09.00 น. และ 17.30-18.30 น. ระบบนี้มีการปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมตามสภาพการจราจรในแต่ละช่วงเวลา ทำให้สิงคโปร์แก้ปัญหารถติดได้มากถึง 45 % และยังลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึง 25 %
ลอนดอน
เมืองหลวงของอังกฤษ ใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2003 ในพื้นที่ที่กำหนด รถยนต์ส่วนตัวที่เข้าไปจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น เรียกได้ว่านับตั้งแต่เริ่มโครงการ จำนวนรถที่เข้ามาในเมืองลดลงไปถึง 30 %
สวีเดน
เมืองสตอกโฮล์มของสวีเดน เริ่มเก็บค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์ที่เข้าไปในเขตใจกลางเมือง ตั้งแต่ปี 2006 และได้ผลตอบรับที่ดีจากประชาชน เนื่องจากสามารถลดปริมาณรถบนท้องถนนได้ถึง 20-25 % มีการเก็บภาษีตั้งแต่ 11-45 โครนาสวีเดน (ประมาณ 40-160 บาท/ครั้ง) ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา และฤดูกาล โดยภาษีจะถูกปรับขึ้นในช่วงฤดูกาลที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุด และสูงสุดที่ 135 โครนาสวีเดน/วัน
สหรัฐอเมริกา
นิวยอร์ก เมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่วิ่งเข้าไปในเขต Manhattan ในปี 2021 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมือง เพื่อลดปัญหาการจราจรที่หนาแน่น โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมจะถูกนำไปใช้ปรับปรุง และขยายระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนิวยอร์กให้มีประสิทธิภาพ
อิตาลี
เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เริ่มใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ตั้งแต่ปี 2012 มีเป้าหมายในการลดปริมาณรถยนต์ในตัวเมือง ลดค่าฝุ่นมลพิษทางอากาศ หลังจากเริ่มทำโครงการ พบว่าสามารถแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้ดีขึ้น 30 % โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียม 5 ยูโร (ประมาณ 200 บาท/วัน) วันธรรมดาระหว่าง 07.30-19.30 น.
ข้อดีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด สามารถเเบ่งเป็นข้อได้ดังนี้ 1. ลดปัญหาจราจรติดขัด 2. ลดมลพิษทางอากาศ 3. ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะ 4. ปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมือง แต่การนำระบบนี้มาใช้ในกรุงเทพฯ อาจต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเสียงจากประชาชนว่าจะยอมรับในระบบนี้หรือไม่ การสร้างความเข้าใจกับผู้คนพื้นที่ รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งชาวกรุงฯ คงต้องรอติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป