Quattroruote ลองของแรง
PORSCHE 911 DAKAR
ความโดดเด่นที่เรียกความสนใจอย่างได้ผล กับรุ่นพิเศษที่ให้อารมณ์การขับขี่แตกต่างจากสายพันธุ์สปอร์ทระดับตำนานรุ่นอื่นๆ สู่แนวทางใหม่ของการลุยฝุ่นของรุ่น CARRERA บุกตะลุยทางขรุขระได้ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ในทางเรียบยังคงเร้าใจ และหนึบแน่นไม่เปลี่ยนแปลง
แนวทางการพัฒนารถยนต์ของค่ายรถแห่งนี้มีความชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไร ตัวอย่างเห็นได้ชัดกับการประเดิมตลาดกลุ่ม เอสยูวี ครั้งแรกกับรุ่น CAYENNE (คาเยนน์) ในปี 2002 เน้นความอเนกประสงค์ของการใช้งาน ถือเป็นมิติใหม่ของค่ายรถแห่งนี้ ณ เวลานั้น และได้รับการตอบรับที่น่าพอใจ เป็นที่มาของรถยนต์อเนกประสงค์อีกหนึ่งรุ่นตามกันมา นั่นคือ MACAN (มาคาน) ซึ่งมียอดจำหน่ายที่น่าพอใจเช่นกัน ทำให้ค่ายรถแห่งพลิกฟื้นตัวเองจากการเสี่ยงต่อการล้มละลาย กลายเป็นค่ายรถที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากแห่งหนึ่งในเวลาเพียง 10-15 ปี ถึงอย่างนั้น ค่ายรถสัญชาติเยอรมันแห่งนี้ยังคงทำตลาดกับรถยนต์ที่สร้างชื่อเสียงตลอดมากับรถสปอร์ทสมรรถนะสูง มาพร้อมกับทางเลือกอุปกรณ์ติดตั้งมากมาย เปิดโอกาสให้ผู้เป็นเจ้าของได้เลือกความโดดเด่นให้กับรถของตัวเอง แม้สิ่งที่ว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มก็ตาม (และทำให้ค่ายรถมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย) หนทางถัดมา คือ การหันมาสร้างความแตกต่างให้กับรุ่น 911 ซึ่งจริงๆ แล้วค่ายรถทำมาตลอดตั้งแต่รุ่น 997 ไม่เพียงแต่ความลงตัวในหลายด้านแล้ว ยังต้องมีความหลากหลายของสายพันธุ์ด้วย เพิ่มความพิเศษที่แตกต่างให้กับสปอร์ทแต่ละรุ่น นับตั้งแต่รุ่นที่มีความดิบห้าวขั้นสุดกับรหัส RS รวมถึงรุ่นที่ผลิตจำนวนจำกัดอย่าง SPEEDSTER หรือ R สะท้อนให้เห็นว่า CARRERA สามารถตอบสนองได้อย่างหลากหลาย และแล้วก็ถึงเวลากับความท้าทายใหม่ สู่การลุยทางฝุ่น และผืนทราย เป็นมิติใหม่ของรถสปอร์ทสายพันธุ์นี้อย่างแท้จริง
อิสระ รื่นรมย์ สนุกสนาน
นิยามจาก 3 คำด้านบน คือ การบ่งบอกตัวตนของรุ่น DAKAR ได้เป็นอย่างดี ความสนุกสนานที่ไม่ถูกจำกัดอยู่บนทางเรียบเท่านั้น สามารถลุยผืนทรายได้หายห่วง จนกระทั่งตัวรถถูกคลุมมิดด้วยทราย และฝุ่น จัดเป็นรถสปอร์ทที่ตอบสนองความเร้าใจได้ไม่เหมือนใคร ดั่งการเป็นของเล่นราคาแพงที่บรรดาเศรษฐีหลายคนต้องการครอบครอง และนำไปถ่ายรูปอวดเพื่อนฝูงบน INSTAGRAM มากกว่าการขับขี่ทั่วไปอันแสนจำเจ 911 คันนี้มีบุคลิกเฉพาะตัวอันโดดเด่น 2 ประการด้วยกัน อย่างแรก คือ ชื่อเสียงระดับตำนานจากในอดีต กับการคว้าชัยชนะรายการ PARIS DAKAR ในปี 1984 และ 1986 (จากรุ่นก่อนหน้านี้ คือ รหัส 959) และเป็นที่มาของชื่อของรุ่นพิเศษดังกล่าว ประการที่ 2 คือ รายละเอียดทางเทคนิคที่ยอดเยี่ยม การปรับแต่งสำหรับทางลุยที่มีประสิทธิภาพ ความสูงของตัวรถมากกว่ารุ่น CARRERA 4 GTS (คาร์เรรา 4 จีทีเอส) ถึง 50 มม. (ในรุ่นพื้นฐาน) พร้อมระบบรองรับแบบสปอร์ท และสามารถเพิ่มความสูงได้อีก 30 มม. หาต้องการ จุดแตกต่างที่มากกว่านั้น ไม่ใช่รูปทรงของตัวรถเท่านั้น แต่ คือ การตอบสนองที่แตกต่าง จาคำนิยมที่เรากล่าวไปแล้ว นั่นคือ อิสระของการขับขี่ การตอบสนองที่รื่นรมย์ และความสนุกสนานอันหลากหลาย เพราะ 911 DAKAR มีระยะความสูงจากพื้นถนนถึง 191 มม. และสาดโค้งไอย่างดุดันราวกับตัวลุยขนานแท้ มุมปะทะของรถคันนี้อยู่ที่ 16 องศา มุมคร่อม 19 องศา และมุมจาก 18 องศา การลุยทางสมบุกสมบันทำได้ดีเกินคาด มีอิสระในการบังคับควบคุม ผู้ขับรับรู้ถึงความเร้าใจในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนจากสายพันธุ์ 911 ยิ่งใช้ความเร็วมากขึ้นเท่าไร ความสนุกเร้าใจก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะบนทางฝุ่นที่มีความขรุขระไม่มากนัก ใกล้เคียงกับเส้นทางในการแข่งขัน PARIS DAKAR รถสปอร์ทของ PORSCHE รุ่นนี้ทะยานได้อย่างไม่มีปัญหา และมีความมั่นคงที่น่าพอใจด้วย แล่นบนทางฝุ่นที่ความเร็วเกินกว่า 100 กม./ชม. ได้สบายๆ (หากความเร็วเกินกว่า 170 กม./ชม. ระบบจะลดความสูงของระบบรองรับลงมาโดยอัตโนมัติ) โดยไม่ต้องใช้การบังคับควบคุมที่ยุ่งยากเกินไป เสียงก้อนกรวดที่กระทบกับพื้นรถเบื้องล่าง การหักเลี้ยวบนทางลูกรัง สามารถทำได้ไม่ยากเย็น จากระบบรองรับที่แปรผันการตอบสนองได้อย่างแม่นยำตลอดเวลา ผู้ขับสามารถรับรู้ได้ถึงความดิบห้าว หนักแน่น ที่ไม่ถูกลดทอนลงไปแม้แต่น้อย
สปอร์ทสายพันธุ์ลุย
ความพิเศษของรถสปอร์ทรุ่นนี้ คือ การผสมผสานคุณสมบัติที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน (ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงเรียกรถรุ่นนี้ว่า “สปอร์ท สายพันธุ์ลุย” กับองค์ประกอบที่มีทั้งความปราดเปรียว และการลุยได้อย่างยอดเยี่ยม) เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงว่าจะมาอยู่ในรถยนต์หนึ่งคันได้ รุ่น DAKAR สามารถทะยานด้วยความเร็วสูงบนพื้นผิวทราย กับความอ่อนนุ่มที่ล้อแต่ละตำแหน่งต้องตะลุยผ่านราวกับทะเลทราย ซาฮารา ซึ่งสำหรับรถยนต์ปกติแล้วอาจเสี่ยงต่อการจมผืนทราย และไปไหนต่อไม่ได้ แต่รถสปอร์ทคันนี้กลับแล่นผ่านได้สบาย อาศัยวิธีการบางอย่างเข้าช่วย อย่างแรก คือ การลดแรงดันลมยางลง (เราเติมลมยางที่ 1.3 บาร์ แทนที่ตามสเปค คือ 2.2 บาร์) อย่างที่สอง คือ การปรับมาใช้โหมด OFF-ROAD (นึ่งในโหมดการขับขี่ที่พัฒนาเพื่อสปอร์ทรุ่นพิเศษนี้โดยเฉพาะ โดยอีกหนึ่งโหมด คือ RALLYE เน้นการไถลในทางโค้ง) เพื่อการยึดเกาะถนนสูงสุด อย่างที่สาม (และสำคัญที่สุด) คือ การคิดไตร่ตรองให้ดีสำหรับการกดคันเร่งที่เหมาะสม
การตอบสนองที่หลากหลายนำมาสู่การขับขี่บนสภาพเส้นทางที่หลากหลายเช่นกัน ผู้ขับต้องใช้ประสิทธิภาพของตัวรถทุอณู เพื่อการทะยานผ่านผืนทรายอย่างไร้ปัญหา ซึ่งแตกต่างจากการแล่นบนพื้นผิวถนนเรียบอย่างสิ้นเชิง การขับขี่ที่เหมาะสมต้องพยายามรักษารอบเครื่องยนต์ให้อยู่ระหว่าง 2,300-5,000 รตน. เพื่อให้เครื่องยนต์เทอร์โบคู่ 6 สูบนอนมีแรงบิดสูงสุด ช่วยให้ตัวรถสามารถแล่นผ่านทางสมบุกสมบันได้อย่างแม่นยำ การกดคันเร่งมากเกินไปอาจเสี่ยงต่ออาการล้อหมุนฟรีบนพื้นทราย และอาจนำมาสู่การติดหล่มของตัวรถในที่สุด (ทางออกเดียว คือ หารถลากมาช่วยเหลือเท่านั้น) นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ทีมงานของเราคาดหวังว่าจะสามารถแล่นผ่านอุปสรรคบนพื้นทรายได้อย่างไม่ยากเย็น และสามารถนำมาถ่ายทอสู่ผู้อ่านได้ด้วยวิธีการเพียงไม่กี่ข้อ แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การขับรถสปอร์ทบนทางฝุ่นเช่นนี้มีความหลากหลายเกินคาด การตอบสนองสามารถทำได้หลายรูปแบบเช่นกัน ทำให้รุ่น DAKAR คันนี้เป็นรถสปอร์ทที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมบนถนนด้วย
การผสมผสานที่ลงตัว
รถสปอร์ทคันนี้มีราคาระดับหลายล้านบาท หลายคนจึงมีความสงสัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ กับความเหมาะสมของการนำมาเป็นตัวลุยเช่นนี้ เรามีคำตอบให้ทั้งใน แง่ดี และแง่ร้าย ขอเริ่มต้นที่แง่รายก่อน นั่นคือ รุ่น DAKAR อาจมีความหนึบแน่นแตกต่างจากรุ่นปกติของ 911 ในบางสถานการณ์ จากประเภทของยางที่เลือกใช้งาน ทางผู้ผลิตเลือกใช้ยาง PIRELLI SCORPION ALL TERAIN PLUS ซึ่งได้ผลดีในการแล่นบนทางสมบุกสมบัน แต่เลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ความรู้สึกที่แข็งกระด้างกับการแล่นบนทางเรียบ การไถลมีให้สัมผัสเล็กน้อย แต่เป็นผลดีสำหรับการเขาโค้งในทางฝุ่น อย่างไรก็ตาม ความหนึบแน่นโดยรวมยังคงมีความใกล้เคียงกับรุ่น 911 เมื่อได้จับพวงมาลัยของรุ่น DAKAR ผู้ขับจะพบความลงตัวจากความสมดุลของตัวรถ และความคล่องแคล่วที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำได้ดีเสมอมาของสายพันธุ์ CARRERA ถัดมา คือ แง่ดี ต้องบอกว่า สปอร์ทสายพันธุ์ลุยคันนี้ยังเป็น 911 ทุกอณูในแง่ของสมรรถนะ พิสูจน์ได้จากตัวเลขเวลาต่อรอบจากสนามแข่ง NURBURGRING ทำได้ดีกว่ารุ่น 911 GT3 ในอดีต (รหัสตัวถัง 996) และไม่ได้ใช้ยางแบบสปอร์ท PIRELLI P ZERO ด้วยซ้ำไป นั่นคือ ยางรุ่น SCORPION สำหรับทางลุย แต่ทะยานบนทางเรียบได้ไม่น้อยหน้าใคร นอกจากนี้การปรับแต่งระบบช่วยเหลือการขับขี่แบบอิเลคทรอนิคทำได้อย่างลงตัวเช่นกัน ควบคุมระบบบังคับเลี้ยวล้อคู่หลังได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการตอบสนองของชุดเหล็กกันโคลง ทำให้การเข้าโค้งมีความเฉียบคมดีมาก สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การขับขี่ที่เร้าใจบนพื้นทราย เป็นการระลึกถึงชัยชนะอันเกรียงไกรเมื่อ 60 ปีก่อนของ 911 รุ่นนี้ ไม่เคยเลือนหายไปตามกาลเวลา
ข้อมูลจำเพาะของรถทดสอบจากผู้ผลิต
เครื่องยนต์
• วางตามยาว ด้านหลัง
• เบนซิน เทอร์โบคู่ 6 สูบนอน
• ความจุ 2,981 ซีซี
• กำลังสูงสุด 480 แรงม้า ที่ 6,500 รตน.
• แรงบิดสูงสุด 58.1 กก.-ม. ที่ 2,300-5,000 รตน.
ระบบส่งกำลัง
• ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา
• เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
สมรรถนะ
• ความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม.
• อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 3.4 วินาที
• อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.3 กม./ลิตร
• อัตราการปล่อยไอเสียเฉลี่ย 256 กรัม/กม.
มิติตัวถัง และน้ำหนักโดยรวม
• ระยะฐานล้อ 2,450 มม.
• ความยาว 4,530 มม. กว้าง 1,860 มม. สูง 1,340 มม.
• น้ำหนักโดยรวม 1,680 มม.
ราคา
• 230,990 ยูโร (ประมาณ 9,640,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เพิ่มโหมดการขับขี่อีก 2 แบบ
ห้องโดยสารของ 911 DAKAR ยังมีความใกล้เคียงกับรูปแบบของ 911 รุ่นอื่นๆ จุดแตกต่างเล็กน้อย คือ บริเวณตำแหน่ง 12 นาฬิกาของพวงมาลัย มีการออกแบบคล้ายกับตัวแข่งแรลลีในอดีต ขณะที่โหมดการขับขี่มีด้วยกัน 5 รูปแบบ ที่เพิ่มเติมเข้ามาจาก 911 รุ่นปกติ คือ โหมด RALLYE ติดตั้งเข้ามาเป็นครั้งแรก และโหมด OFF ROAD สำหรับการลุยบนทางฝุ่น
การถอดแบบจากรุ่น GT3
หนึ่งในจุดเด่นของห้องโดยสาร คือ เบาะนั่งสไตล์สปอร์ท ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ เป็นรูปแบบเดียวกกันกับรุ่น GT3 ด้านหลังจะปราศจากเบาะแบบพับเก็บได้ ถูกแทนที่ด้วยโครงเหล็กกันกระแทกที่แน่นหนา ว่าตามจริงแล้ว ทำให้รุ่น 911 DAKAR มีความปลอดภัยต่อผู้โดยสารมากกว่ารุ่นอื่นๆ