คูลคอนเนคท์
ลำโพงบลูทูธ GADGET สุดฮิท สู่นักฟังสุดล้ำ
ลำโพงบลูทูธ กลายเป็น GADGET สุดฮิท สำหรับผู้ที่ชื่อชอบเสียงเพลง ติดสมาร์ทโฟน ไม่ชอบสาย และอินทเรนด์ งานออกแบบสุดเนี๊ยบ หรูหรามีระดับ เสมือนกระเป๋าหนังแท้ เข็มขัด เนคไท ที่เข้าชุดกันลำโพงบลูทูธ (BLUETOOTH SPEAKER) กระแสนิยมใหม่ มาแรง ไม่เฉพาะแต่กลุ่มวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลงจากไอพอด หรือสมาร์ทโฟน กลุ่มคนทำงาน จนถึงวัยกลางคน ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจ ด้วยหลงใหลในคุณภาพเสียงของมัน รูปทรงที่หลากหลาย เดิมทีลำโพงบลูทูธก็เหมือนกับลำโพงบ้าน หรือลำโพงคอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่เพิ่มฟังค์ชันการทำงานแบบไร้สายเข้าไป ลักษณะการทำงานแบบเดียวกับลำโพงไวร์เลสส์ ในชุดโฮมเธียเตอร์หรู ที่สามารถวางลำโพงเซอร์ราวน์ดในตำแหน่งที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องต่อสายโยงไปโยงมา หลายคนคงเคยเห็นเจ้าก้อนเล็กๆ สีสดๆ ที่ส่งเสียงได้ ตามร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มันคือ ลำโพงบลูทูธนั่นเอง หลังจากเริ่มได้รับความนิยมจากกลุ่มนักเล่น นักฟังยุคไฮเทค หลายบแรนด์เริ่มให้ความสนใจในด้านการออกแบบ เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ขนาดเล็กกะทัดรัด และสีสันสดใส ไม่ใช่จุดขายอีกต่อไป มันจึงพัฒนาให้มีรูปทรงที่หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันคุณภาพเสียงก็ต้องดีขึ้นด้วย ทรงกลม เป็นรูปแบบที่ง่าย และเข้ากับดอกลำโพงที่ซ่อนอยู่ภายในมากที่สุด แต่มันตั้งไม่ได้ จึงต้องออกแบบให้มีหูจับ หรืออุปกรณ์แขวนเพิ่มเติมเข้าไป บ้างก็พัฒนาเป็นรูปไข่ ทรงกระบอก ยังคงทรงกลมของดอกลำโพงอยู่ แต่นำมันไปวางไว้ด้านบนแทน ตั้งง่าย เหมาะมือ และดูสวย แต่ต้องวางตำแหน่งปุ่มควบคุมโดยรอบด้านข้าง ซึ่งไม่ค่อยสะดวก ทีมวิศวกรพัฒนาอีกขั้น ด้วยการเพิ่มชุดควบคุมเหนือดอกลำโพง คือ วางไว้ทางด้านบน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ควบคุมได้สะดวกที่สุด ส่วนเสียงให้ผ่านออกด้านข้างโดยรอบ ใต้แผงควบคุมแทน 4 เหลี่ยม รูปแบบยอดฮิท ไม่ต้องคิดมาก มันพัฒนามาจากตู้ลำโพงทั่วไป เดิม 4 เหลี่ยมผืนผ้า แนวตั้ง ลดความสูงลงเป็น 4 เหลี่ยมจัตุรัส และเริ่มเป็น 4 เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน ข้อได้เปรียบ คือ ใส่ดอกลำโพงได้หลายดอกตามต้องการ โค้งมน ไม่ว่าทีมวิศวกรจะออกแบบมาเป็นรูปทรงแบบไหน หากมีเหลี่ยมมุม มันก็จะดูคม หรือแข็งกระด้างเกินไป จึงเน้นความโค้งมนเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้ดูสวยงามมากขึ้น เสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านสักชิ้นหนึ่ง เพียวบาง เป็นอีกหนึ่งการออกแบบที่สำคัญ เพื่อความสะดวกในการพกพา มันจะมีขนาดเท่ากับเพาเวอร์แบงค์ หรือสมาร์ทโฟน แต่ด้วยข้อจำกัดของดอกลำโพง มันจึงบางได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันดอกลำโพง ก็พัฒนาให้มีขนาดเล็กและบาง แต่คุณภาพเสียงกลับสวนทาง เพราะยังไง นักฟังก็ยังเน้นที่คุณภาพเสียงเป็นสำคัญ นอกจากลำโพงบลูทูธขนาดเล็กทั้งหลาย ยังพัฒนาสู่นักฟังเครื่องบ้านมีระดับ ด้วยรูปทรงขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ซาวน์ดบาร์ สำหรับฟังในห้องนั่งเล่น แน่นอน เมื่อใช้ดอกลำโพงที่ใหญ่ขึ้น ก็เหมือนตู้ลำโพงไฮเอนด์ ได้ทั้งพลัง และรายละเอียดเสียงที่สมจริง เป็นธรรมชาติ หลักการทำงาน ฟังค์ชันบลูทูธ เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี 1999 ส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุในระยะสั้น พัฒนาเริ่มต้นตั้งแต่เวอร์ชัน 1.0 ขึ้นมาตามลำดับ ส่วนที่ติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ทั่วไปขณะนี้ เป็นเวอร์ชัน 4.0 เน้นการรับส่งข้อมูลแบบประหยัดพลังงาน แต่กระนั้น นักพโรแกรมเมอร์ ก็ยังคงพัฒนาเวอร์ชันใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การเชื่อมต่อ หรือการจับคู่ เน้นให้ใช้งานง่าย โดยวางลำโพงบลูทูธไว้ใกล้ๆ กับสมาร์ทโฟน แล้วเปิดเครื่อง จากนั้นเปิดฟังค์ชันบลูทูธ และแตะเข้าไปในระบบ เพื่อค้นหาอุปกรณ์ ชื่อของอุปกรณ์ที่อยู่ในรัศมีก็จะปรากฏขึ้น หนึ่งในนั้นเป็นลำโพงบลูทูธตัวเก่งของเรา ก็แตะเพื่อเชื่อมต่อได้ทันที ในระบบจะแจ้งว่า การเชื่อมต่อสมบูรณ์, เชื่อมต่อแล้ว หรือเชื่อมต่อล้มเหลว ลำโพงบลูทูธเกือบทุกรุ่น สามารถเชื่อมต่อได้กับสมาร์ทโฟนทั่วไป ไม่จำกัดค่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเวอร์ชันของระบบ รายละเอียดทางเทคนิค จะบอกว่า สามารถเชื่อมต่อได้กับเวอร์ชันไหนบ้าง อีกทั้งเมื่อเชื่อมต่อหรือจับคู่แล้ว ระบบจะจดจำอุปกรณ์นั้นไว้ และทันทีที่เปิดฟังค์ชันบลูทูธอีกครั้ง ระบบจะเชื่อมต่อให้โดยอัตโนมัติ ลำโพงบลูทูธบางบแรนด์ ออกแบบให้ทำงานร่วมกันได้หลายเครื่อง เพื่อให้ได้เสียงในแบบสเตริโอ หรือเซอร์ราวน์ด เป็นลูกเล่นและจุดขายที่น่าสนใจทีเดียว ในรุ่นใหม่ๆ ยังมีฟังค์ชัน NFC เพื่อให้การเชื่อมต่อง่ายขึ้น เพียงแค่สัมผัส หรือนำมาแตะใกล้กัน ระบบจะจับคู่กันเองโดยอัตโนมัติ การเลือกซื้อ/ดูแลรักษา รูปลักษณ์/วัสดุ สิ่งที่ทำให้สะดุดตา คือ รูปลักษณ์ที่ออกแบบมาแตกต่างกัน ชอบรูปทรงไหนเลือกได้ตามใจชอบ แต่ส่งผลกับการใช้งาน และพกพา สำหรับวัสดุส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติคเอบีเอส บ้างก็หุ้มบลอคยาง หน้าตะแกรงอาจเป็นอลูมิเนียม หรือไฟเบอร์ ขนาด/น้ำหนัก/สี มีส่วนสำคัญสำหรับการพกพา และใช้งาน ขนาดเล็กพกใส่กระเป๋าได้ง่าย ใหญ่เหมาะสำหรับวางตกแต่งบ้าน น้ำหนักเบา นำติดตัวไปได้ทุกที่ ไม่เป็นภาระ ส่วนสีสัน แต่ละค่ายมีให้เลือกตั้งแต่ 2-10 สี คุณภาพเสียง ด้วยข้อจำกัดด้านขนาด จึงทำให้คุณภาพเสียงดีเหมือนลำโพงบ้านได้ยาก โดยเฉพาะเสียงเบสส์ ซึ่งไม่สามารถติดตั้งซับวูเฟอร์ได้ โดยทั่วไปจะมีลำโพงฟูลล์เรนจ์ 1 หรือ 2 ดอก เท่านั้น สำหรับเสียงเบสส์ เป็นแบบพาสสีฟ เรดิเอเตอร์ หรือซับวูเฟอร์ขนาดเล็ก ซึ่งให้เสียงเบสส์ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ควรพิจารณาจากเสียงโดยรวม ความกลมกลืน และมีเสียงเบสส์ให้ได้ยินบ้าง กำลังขับ/ระยะห่าง วัตต์ (W : WATT) ตัวเลขจุดขายของลำโพงทั่วไป แต่สำหรับลำโพงบลูทูธพกพาไม่ได้เน้นมากนัก เนื่องจากมีตัวเลขไม่มาก เช่น 4 วัตต์x2, 10 วัตต์ หรือ 10 วัตต์x2 เป็นต้น ตัวเลขมากก็จะเปิดได้ดังกว่า ส่วนระยะห่างระหว่างลำโพงกับสมาร์ทโฟน โดยพื้นฐานจะอยู่ที่ 10 เมตร แต่ลำโพงบลูทูธขนาดเล็ก อยู่ห่างเกิน 5 เมตร ก็แทบไม่ได้ยินเสียงแล้ว ระยะเวลาการทำงาน/การชาร์จไฟ/ความจุแบทเตอรี สำหรับอุปกรณ์อีเลคทรอนิค ประเภทมีแบทเตอรีในตัว จะให้ความสำคัญกับระยะเวลาในการชาร์จไฟ และการทำงาน เพราะเราไม่สามารถชาร์จไฟได้ทุกที่ และต้องการใช้งานนานๆ เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน ซึ่งผันแปรตรงกับความจุแบทเตอรี มีหน่วยเป็นมิลลิแอมพ์ (MAH) เช่น 1,500 มิลลิแอมพ์ หรือ 2,000 มิลลิแอมพ์เป็นต้น ตัวเลขมากย่อมใช้งานได้นานกว่า การควบคุม/ฟังค์ชันเพิ่มเติม แผงควบคุมมักออกแบบมาเป็นปุ่มกด หรือระบบสัมผัส เพื่อความสะดวก วางในตำแหน่งที่ใช้งานได้ง่าย ส่วนฟังค์ชันเพิ่มเติม บางบแรนด์ไม่ได้ออกแบบมาแค่เป็นลำโพงบลูทูธเพียงอย่างเดียว ยังรับสายเรียกเข้า และเป็นเพาเวอร์แบงค์ในตัว สามารถชาร์จไฟให้กับสมาร์ทโฟนได้ หรือหลอดไฟ LED ที่มีลำโพงบลูทูธด้วยในตัว ข้อมูลด้านเทคนิค สำหรับลำโพงมีหลักๆ อยู่ 2 ค่า คือ ความถี่ตอบสนอง (FREQUENCY RESPONSE) มีหน่วยเป็นเฮิร์ทซ์ (HZ) หรือ กิโลเฮิร์ทซ์ (KHZ) เช่น 150-18,000 HZ หรือ 150 HZ-18 KHZ ให้อ้างอิงจาก 20-20,000 HZ หรือ 20 HZ-20 KHZ ตัวเลขเป็นช่วงกว้างยิ่งตอบสนองความถี่ได้ดี อีกค่าคือ อัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงกวน (SIGNAL TO NOISE RATIO) มีหน่วยเป็นดีบี (DB) เช่น 83 ดีบี ตัวเลขมาก จะมีความไวในการตอบสนองสัญญาณได้ดีกว่า ราคา/การรับประกัน ข้อนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณในกระเป๋า ลำโพงประเภทเดียวกัน มีให้เลือกหลายบแรนด์ ราคาแตกต่างกันไป ให้เน้นที่ความคุ้มค่า คุ้มราคาที่สุด ส่วนมาตรฐานของการรับประกันจะอยู่ที่ 1 ปี นอกจากบางบแรนด์อาจเพิ่มเป็น 2-5 ปี การดูแลรักษา เป็นที่ทราบกันดี อุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์ต้องอยู่ห่างๆ ของเหลว ห้ามตกกระแทกพื้นเด็ดขาด แตะสัมผัสควบคุมมันเบาๆ และไม่ควรเร่งวอลูมเต็ม 100 เปอร์เซนต์ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ดอกลำโพงเสียหาย เสียงแตกได้ การทำความสะอาดเพียงใช้ผ้าเช็ด หรือเป่าลมก็พอ สรุป ลำโพงบลูทูธ ของเล่นใหม่ที่น่าจับตา มันพัฒนาด้านคุณภาพเสียงได้อย่างน่าทึ่ง หากคุณชอบฟังเพลง เริ่มต้นที่ขนาดเล็กราคาเบาๆ ได้ เมื่อคุ้นเคยมากขึ้น หรือต้องการคุณภาพเสียงที่เหนือชั้น ค่อยอัพเกรดงบประมาณไปหารุ่นโดนๆ สักเครื่องหนึ่ง ลำโพงบลูทูธ ตัวเล็กเสียงดี 1. BOSE SOUNDLINK MINI กำลังขับ 5 วัตต์x2 ระยะห่างการทำงาน 10 เมตร ทำงานต่อเนื่อง 7 ชม. ขนาด 180x58x51 มม. น้ำหนัก 680 กรัม มีให้เลือก 2 สี คือ บรอนซ์ และเทา/ดำ พร้อมกรอบตกแต่ง 6 สี (อุปกรณ์เสริม) แท่นและสายชาร์จ ราคา 9,900 บาท รับประกัน 1 ปี 2. HARMAN KARDON ESQUIRE MINI กำลังขับ 4 วัตต์x2 ระยะห่างการทำงาน 10 เมตร ทำงานต่อเนื่อง 8 ชม. ขนาด 140x75x24 มม. น้ำหนัก 238 กรัม มีให้เลือก 4 สี คือ ดำ, ขาว, ทอง และน้ำตาล มาพร้อมสาย MICRO USB และสายหิ้ว ราคา 5,990 บาท รับประกัน 1 ปี 3. SONY SRS-X33 กำลังขับ 10 วัตต์x2 ระยะห่างการทำงาน 10 เมตร ทำงานต่อเนื่อง 12 ชม. ขนาด 185x60x60 มม. น้ำหนัก 730 กรัม มีให้เลือก 4 สี คือ เทา/ดำ, ขาว, แดง และน้ำเงิน ราคา 4,690 บาท มาพร้อมสาย MICRO USB และหัวชาร์จไฟ รับประกัน 1 ปี
ABOUT THE AUTHOR
ชูศักดิ์ ดำคำเพราะ
นิตยสาร 409 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : คูลคอนเนคท์