เมื่อฉบับที่แล้ว เราปูพื้นเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องกันไปแล้ว ฉบับนี้มาดูให้ลึกลงอีกว่า "น้ำมันเครื่องแบบใดเหมาะกับเครื่องยนต์ชนิดไหน และรู้ได้อย่างไรว่าค่าน้ำมันแบบไหนเหมาะกับรถคุณ"เราเคยสังเกตที่ด้านล่างของกระป๋องน้ำมันเครื่อง หรือท้ายยี่ห้อผลิตภัณฑ์กันบ้างหรือไม่ ว่าจะมีตัวเลข และตัวอักษรภาษาอังกฤษกำกับอยู่ อย่างเช่น SAE 15W-40/API CF-4 สิ่งที่เห็นอยู่นี้จะเป็นค่ามาตรฐานที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องชนิดนี้ว่าเหมาะสมกับเครื่องยนต์ประเภทใด มาว่ากันที่ตัวเลข SAE 15W-40 ที่เราได้กล่าวไปเมื่อฉบับที่แล้ว หมายถึง ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง มีหน่วยวัดเป็น CENTISTOKE (CST) ตามมาตรฐาน SAE (SOCIETY OF AUTOMOTIVE ENGINEERING) ซึ่งตัวเลขของหน่วยวัดนี้มีค่าความหนืดอยู่ที่ 15W-40 ค่าดังกล่าวยิ่งมีตัวเลขที่มาก ย่อมหมายถึง ค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องที่อุณหภูมิสูงจะมีมาก ดังตารางเมื่อฉบับที่แล้ว ส่วน API (AMERICAN PETROLIUM INSTITUTE) CF-4 คือ ค่ามาตรฐานน้ำมันเครื่องที่ใช้กับเครื่องยนต์เบนซิน และเครื่องยนต์ดีเซล โดยสัญลักษณ์ S (STATION SERVICE) จะใช้แทนน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน และ C (COMMERCIAL SERVICE) จะใช้สำหรับน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล ทีนี้เรามาว่ากันถึงค่าสมรรถนะตามมาตรฐาน API ทีละตัว เริ่มต้นที่เครื่องยนต์เบนซิน เป็นอันดับแรก ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 ระดับ ได้แก่ 1. SA น้ำมันเครื่องที่มีคุณสมบัติตามธรรมชาติ ไม่มีสารเพิ่มคุณภาพ ใช้กับเครื่องยนต์รุ่นเก่า เครื่องยนต์ที่หมุนทำงานในรอบช้าๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว 2. SB เป็นน้ำมันมาตรฐานใช้กับเครื่องยนต์รอบต่ำ กำลังอัดต่ำ มีสารป้องกันการรวมตัวกับออกซิเจน มีสารลดการสึกหรอ ไม่เหมาะกับการใช้งานในเครื่องยนต์สมรรถนะสูง ที่ใช้รอบเครื่องยนต์สูง 3. SC มีคุณสมบัติในการป้องกันการตกตะกอนของคราบเขม่า และสิ่งสกปรกที่อุณหภูมิต่ำและสูง มีสารเพิ่มคุณภาพต้านทานการกัดกร่อน ป้องกันสนิม และลดการสึกหรอ น้ำมันเครื่องชนิดนี้ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ของรถยนต์ในปี 1964-1967 ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีน้ำมันไร้สารตะกั่ว 4. SD น้ำมันเครื่องมาตรฐานที่ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการชะล้าง เพิ่มสารเช่นเดียวกับมาตรฐาน SC แต่เพิ่มปริมาณการผสมที่มากกว่า 5. SE พัฒนาคุณสมบัติให้สามารถทนกำลังอัดได้สูง เพิ่มกำลังเครื่องยนต์ 6. SF ใช้กับรถในปี 1980 มีการเพิ่มสารต้านทานการรวมตัวของออกซิเจน เพื่อใช้กับเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูงที่ต้องการกำลังม้า และแรงบิดสูง รวมถึงใช้กับเครื่องยนต์ที่มีการติดตั้งระบบอัดอากาศพิเศษแบบเทอร์โบชาร์จ 7. SG เป็นมาตรฐานสูงสุดของน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน เน้นการเพิ่มสารลดการสึกหรอบริเวณลิ้น (VALVE) และบ่าวาล์ว รวมถึงเน้นในเรื่องของการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อจากมาตรฐานสำหรับน้ำมันเครื่องยนต์เบนซิน ทีนี้เรามาต่อกันที่ "ค่ามาตรฐานน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล" กันบ้าง 1. CA เป็นค่ามาตรฐานสำหรับน้ำมันเครื่องที่ใช้งานเบา และปานกลาง เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพดี ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยม 2. CB น้ำมันเครื่องที่ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ (มีกำมะถันสูง) มีสารป้องกันการกัดกร่อนที่แบริง และเขม่าที่อุณหภูมิสูง 3. CC ใช้กับเครื่องยนต์ที่มีเทอร์โบชาร์จ และเครื่องยนต์ธรรมดา (HD OIL) มีสารชะล้างเขม่า กระจายตะกอน ต้านทานสนิม และการกัดกร่อนที่ดี 4. CD มาตรฐานน้ำมันเครื่องที่เหมาะกับเครื่องยนต์ที่มีระบบเทอร์โบชาร์จทำงานในรอบสูง ใช้กับน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันสูง 5. CE มาตรฐานน้ำมันเครื่องเกรดรวมสำหรับเครื่องยนต์ในปัจจุบัน มีคุณสมบัติพิเศษในการควบคุมเขม่าที่บริเวณลูกสูบและแหวน ทำให้แหวนลูกสูบมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเครื่องให้น้อยลง 6. CF-4 ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีรอบการทำงานสูง หรือเครื่องยนต์เทอร์โบ มีมาตรฐานสูงกว่า CE มีการผสมสารป้องกันเขม่าบนหัวลูกสูบ และช่วยประหยัดน้ำมัน เมื่อเราได้ทราบถึงค่ามาตรฐานของน้ำมันเครื่องกันไปเป็นที่เรียบร้อย เพื่อการเลือกซื้อน้ำมันเครื่องที่ตรงกับการใช้งานของรถมากที่สุด ทีนี้เรามาดูกันถึงเรื่องของคุณสมบัติหลักของน้ำมันเครื่องที่ดีนั้นมีอะไรบ้าง 1. ทำหน้าที่ในการหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ ให้ทำงานได้อย่างคล่องตัว ลดการสึกหรออันเกิดจากการเสียดสีระหว่างกัน โดยน้ำมันเครื่องจะต้องหล่อลื่นผิวโลหะให้อยู่ในลักษณะฟีล์มน้ำมันเคลือบผิวโลหะ ทั้งนี้ฟีล์มน้ำมันเครื่องจะหนาหรือบาง ก็ขึ้นอยู่กับค่าความหนืด การที่ผิวโลหะถูกเคลือบด้วยฟีล์มน้ำมันจะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เนื่องจากชิ้นส่วนที่ได้รับการหล่อลื่นที่ดีจะไม่กินกำลังเครื่องยนต์ 2. น้ำมันเครื่องที่ดีจะต้องช่วยในเรื่องของการระบายความร้อนให้กับชิ้นส่วนต่างๆ ที่เสียดสี และจากการเผาไหม้ที่สะสมอยู่ภายในให้ถูกระบายออกผ่านอ่างน้ำมันเครื่อง 3. คุณสมบัติในการป้องกันการเกิดสนิม และการกัดกร่อน การเผาไหม้ในเครื่องยนต์ก่อให้เกิดความชื้นและไอน้ำขึ้น เนื่องจากแกสที่ได้จากการเผาไหม้ส่วนหนึ่งจะมีองค์ประกอบของน้ำรวมอยู่ด้วย จุดนี้ คือ สาเหตุที่ก่อให้เกิดสนิมภายในเครื่องยนต์ และผลจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงยังก่อให้เกิดกรดกำมะถัน (H2SO4) ซึ่งกรดดังกล่าวจะกัดกร่อนชิ้นส่วนสำคัญ อย่างแบริงเพลาข้อเหวี่ยง ฯลฯ 4. คุณสมบัติในการป้องกันกำลังอัดรั่วไหล ฟีล์มน้ำมันที่เคลือบผิวโลหะบางๆ ทั่วทุกชิ้นส่วนในเครื่องยนต์รวมถึงลูกสูบ และผนังกระบอกสูบ ฟีล์มน้ำมันเครื่องที่ดีจะช่วยป้องการรั่วไหลของกำลังอัดหลังการจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ โดยน้ำมันเครื่องที่ดีจะต้องไม่สูญเสียคุณสมบัติไปกับความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องเผาไหม้ 5. คุณสมบัติในการรักษาความสะอาด การเผาไหม้ในกระบอกสูบจะทำให้เกิดคราบเขม่าของคาร์บอนเกาะตามหัวลูกสูบ ลิ้น และผนังกระบอกสูบ น้ำมันเครื่องที่ดีจะต้องทำหน้าที่ชะล้างเขม่า และสิ่งสกปรก รวมถึงเศษโลหะที่เกิดจากการเสียดสีของเครื่องยนต์ให้หลุดออกจากผิวโลหะ เพื่อลดความฝืดอันเกิดจากคราบสกปรก ทั้งหมดที่นำเสนอมาถึง 2 ฉบับนี้ เพื่อเติมเต็มสาระเรื่องการเลือกใช้น้ำมันเครื่องอย่างเหมาะสม และคุ้มค่าเงิน ตรงสไตล์การใช้งาน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ คือ บรรทัดฐานในการใช้แบ่งเกรดคุณภาพของการหล่อลื่น เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นเครื่องยนต์ให้เกินความจำเป็นอีกทำไมล่ะครับ "รู้ลึกอุปกรณ์"...จัดให้