รู้ลึกอุปกรณ์
PORSCHE 911 GT3 (อาจเป็น) ที่สุดของรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน !?!
ในการพัฒนารถยนต์ใหม่ขึ้นมาสักรุ่นหนึ่ง แน่นอนว่ามันจะต้องมีเป้าหมายเพื่ออะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเพื่อลดต้นทุน ลดการบริโภคเชื้อเพลิง หรือเพิ่มสมรรถนะให้สูงขึ้นแต่สำหรับกรณีของ PORSCHE 911 (โพร์เช 911) รหัสตัวรถ 992 รุ่น GT3 (จีที 3) เวอร์ชัน ปี 2021 รถสปอร์ทสายโหดของ PORSCHE จากเยอรมนี เป้าหมายนั้นชัดเจน คือ ต้องทำเวลาต่อรอบในสนามแข่งขันได้เร็วกว่า 911 ทุกรุ่น ที่เคยผลิตมา โดยไม่พึ่งพา “เทอร์โบ” และ “มอเตอร์ไฟฟ้า” เป้าหมายนี้ ต้องใช้องค์ความรู้ทั้งหมดเท่าที่มี เพื่อเป็นรถสปอร์ทที่ดีที่สุดคันหนึ่ง เท่าที่โลกนี้เคยรู้จักเลยก็ว่าได้ หากถามว่า ทำไมถึงปฏิเสธเทคโนโลยีเทอร์โบ ทั้งที่ 911 รหัส 992 รุ่นอื่นๆ มีเทอร์โบทุกรุ่น รวมถึงการปฏิเสธใช้งานระบบไฮบริดไฟฟ้า ทั้งๆ ที่เห็นชัดเจนแล้วว่า สามารถเพิ่มสมรรถนะได้อย่างง่ายดาย เหตุผล คือ 911 GT3 คือ ตัวแทนของการกลั่นกรอง และรีดสมรรถนะออกมาจากเครื่องยนต์ที่ “หายใจ” ด้วยแรงดันบรรยากาศธรรมดาที่แลกระหว่าง “พละกำลังสูงสุด” ของการใช้ตัวช่วยอย่างเทอร์โบ หรือมอเตอร์ไฟฟ้า กับความ “สมดุล” เพื่อการตอบสนองที่เป็นธรรมชาติของเครื่องยนต์ที่ไม่มีตัวช่วยนั่นเอง แม้จะไม่มีเทอร์โบและมอเตอร์ไฟฟ้า แต่เครื่องยนต์บอกเซอร์ 6 สูบนอนยัน ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 3,996 ซีซี ของมันก็สามารถรีดพลังออกมาได้มากถึง 510 แรงม้า ที่ 8,400 รตน. แรงบิดสูงสุด 47.9 กก.-ม. ที่ 6,100 รตน. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.4 วินาที และความเร็วสูงสุด 318 กม./ชม. ซึ่งหากเทียบกับอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 2.5 วินาที ของ PORSCHE 911 TURBO S (โพร์เช 911 เทอร์โบ เอส) มันอาจดูช้ากว่า แต่หากนำไปวิ่งในสนามแข่งด้วยกันแล้ว มันสามารถไล่ขยี้ 911 TURBO S ตัวแรง ได้อย่างสบาย จะเห็นได้จากสถิติที่สนาม NüRBURGRING ของ 911 GT3 รุ่นใหม่ สามารถทำเวลาต่อรอบต่ำกว่า 7 นาที (6:59.927 นาที) เร็วกว่า 911 TURBO S รหัสตัวถัง 992 เช่นเดียวกัน ที่ทำเวลาต่อรอบได้ 7 นาที 17 วินาที รวมทั้งเร็วกว่า 991.2 GT3 ที่ทำได้ 7 นาที 12 วินาที เมื่อปี 2017 ถ้าติดตามเรื่องราวของรถตระกูล GT3 ของ PORSCHE มาตั้งแต่รหัสตัวถัง 996 จะรู้ว่า พวกเขาเลือกที่จะออกแบบให้รถ GT3 มีบุคลิกเครื่องยนต์แตกต่างจากพี่น้องร่วมสายพันธุ์ทั้งหมด คือ สามารถลากรอบได้ถึง 9,000 รตน. โดยใช้ลูกสูบขนาด 102 มม. กับช่วงชัก 81.5 มม. ขณะที่ รุ่น TURBO S ใช้ลูกสูบขนาดเท่ากัน แต่มีช่วงชักสั้นกว่าที่ 76.4 มม. จึงมีความจุน้อยกว่าอยู่ในพิกัด 3.8 ลิตร ใช้เทอร์โบช่วย ทำให้มีกำลังมากถึง 640 แรงม้า ผู้เขียนเคยได้มีโอกาสสัมผัสเครื่องยนต์ที่สามารถลากรอบได้ทะลุ 8,000 รตน. อยู่ 3 วาระ ครั้งแรกใน MUGEN RR (มูเกน ดับเบิลอาร์) หรือ HONDA CIVIC TYPE R (ฮอนดา ซีวิค ไทพ์ อาร์) ที่ตกแต่งโดยสำนัก MUGEN ตามด้วย HONDA S2000 (ฮอนดา เอส 2000) และอีกครั้งกับ PORSCHE 911 GT3 RS (โพร์เช 911 จีที 3 อาร์เอส) รหัสตัวถัง 996 แน่นอนว่า ทั้ง 3 คันสร้างความประทับใจ จากรอบเครื่องยนต์ที่ไปได้ไกลราวกับว่าไม่รู้จบ แต่ที่สร้างความขนพองสยองเกล้ามากที่สุด คือ 911 GT3 RS เพราะซุ่มเสียงที่ต่างไปจากเครื่องยนต์บอกเซอร์ 6 สูบนอนยัน ที่คุ้นเคยทั้งหมด และเมื่อช่วง 6,000 รตน. ที่เรามักเคยชินกับการต้องเปลี่ยนเกียร์ในช่วงนั้น กลับพบว่ามันยังไปต่อได้อีกไกล และทวีความก้าวร้าวทั้งเสียงและพละกำลังขึ้นไปอีก จากการที่แรงม้าสูงสุดมันอยู่ที่รอบเครื่องยนต์สูงมากนั่นเอง ซึ่งเชื่อว่า PORSCHE 911 GT3 รุ่นปี 2021 ก็คงจะไม่แตกต่างกันในความน่าขนลุกขนพอง เคล็ดลับของการรีดพลังออกมาจากเครื่องยนต์หายใจเองโดยไม่พึ่งพาระบบอัดอากาศ ซึ่งมีพละกำลัง 510 แรงม้า ได้รับการเปิดเผยโดย ยูทูเบอร์สายเทคนิคยานยนต์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา JASON FENSKE จากรายการ ENGINEER EXPLAINED ว่าเกิดจากการใช้เทคนิคของการ RESONANCE ของคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นในท่อไอดี จากระบบท่อร่วมไอดีแปรผัน (VARIABLE INTAKE MANIFOLD) ทำงานร่วมกับ RESONANCE VALVE จำนวน 2 ตัว ที่ทำงานปิด/เปิด ภายในรอบเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน เพื่อช่วยดึงเอาไอดีเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ผ่านลิ้นคันเร่งที่เป็นอิสระในแต่ละลูกสูบ (6 INDIVIDUAL THROTTLE BODIES) เพื่อไอดีที่เข้มข้นกว่าปกติ ซึ่งหากจะอธิบายกันจริงๆ ต้องขอให้ลองเปิด ยูทูบ ช่อง ENGINEER EXPLAINED ดูประกอบ “อาจจะ” ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้น ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า วิศวกรเครื่องยนต์ของ PORSCHE พยายามเค้นทุกความเป็นไปได้ออกมาจากเครื่องยนต์ของพวกเขา เหมือนกับว่าจะเป็นการส่งท้ายให้กับยุคสมัยของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคมอเตอร์ไฟฟ้า สำหรับการถ่ายกำลังลงสู่พื้นนั้น สามารถเลือกได้ว่าจะเป็น เกียร์อัตโนมัติแบบคลัทช์คู่ หรือ PDK แบบ 7 จังหวะ (ในขณะที่ 992 รุ่นอื่นๆ ใช้แบบ 8 จังหวะ ที่มีน้ำหนักมากกว่าถึง 14 กก.) ที่นักออกแบบของ PORSCHE ทำรูปร่างออกมาให้ “มอง” แล้วเหมือนเกียร์ธรรมดาไม่มีผิด โดยทำหัวเกียร์เป็นลูกกลมๆ หรือถ้าเป็นคนที่ไม่สนเรื่องความเร็วอย่างยิ่งยวดของเกียร์ PDK 7 จังหวะ แต่ชื่นชอบในสุนทรียภาพของการควบคุม (ชอบเหยียบคลัทช์) ก็มีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ให้เลือกอีกด้วย และประโยชน์ที่ได้จากการเลือกเกียร์ธรรมดาก็คือ รถจะเบาลง 17 กก. ! เช่นเดียวกับนักกีฬามืออาชีพ การจะได้มาซึ่งสมรรถนะชั้นเลิศนั้น “น้ำหนัก” คือ อุปสรรคสำคัญที่ต้องก้าวข้ามให้สำเร็จ PORSCHE 911 GT3 รหัสตัวถัง 992 คันนี้มีการใช้ชิ้นส่วนที่เป็นวัสดุน้ำหนักเบาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นอลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์ (ในส่วนฝากระโปรงหน้า และปีกหลัง รวมถึงสามารถสั่งทำหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ได้ด้วย) ตลอดจนถึงกระจกบังลมที่บางเป็นพิเศษ และไม่ต้องกังวลเรื่องรอยขูดขีดเหมือนกระจกบานหลังที่ทำจากพลาสติคโพลีคาร์บอเนทของ GT3 รุ่นก่อนๆ ซึ่งการลดน้ำหนักนี้ ช่วยทำให้ 911 GT3 รุ่นล่าสุด มีอัตราส่วนน้ำหนักต่อแรงม้าอยู่ที่ 2.81 กก./1 แรงม้า แต่เบาอย่างเดียวก็อาจจะเหินฟ้าได้ ดังนั้นด้านอากาศพลศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญของรถคันนี้ แต่แนวคิดเรื่องอากาศพลศาสตร์ของรถสปอร์ทนั้นจะต่างจากรถบ้าน ในขณะที่รถบ้านเน้นความประหยัด เราสามารถเห็นค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศของรถรุ่นใหม่อยู่ที่ 0.28 เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับ 911 GT3 กลับมีสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศที่ 0.34 ซึ่งดูไม่หวือหวา นั่นก็เพราะมันสนใจเรื่องการใช้อากาศตรึงรถให้อยู่ติดพื้นเป็นสำคัญ จุดเด่นที่สามารถแยกมันออกมาจาก PORSCHE รุ่นอื่นๆ สังเกตได้ 2 จุด ได้แก่ สปอยเลอร์หลังแบบ “คอหงส์” (SWAN NECK) ที่นำมาจากรถแข่ง 911 RSR และไฮเพอร์คาร์อย่าง McLAREN SENNA (แมคลาเรน เซนนา) ซึ่งแตกต่างจากสปอยเลอร์ทั่วไป คือ การจับยึดตัวปีกนั้น ยึดลงมาจากด้านบน ช่วยทำให้อากาศที่ไหลผ่านใต้ปีกมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มแรงกดด้านท้าย และช่องอากาศหน้าตาเหมือน “หนวด” บนฝากระโปรงหน้า ซึ่งนอกจากรถรุ่นนี้แล้ว ยังสามารถพบได้ในซูเพอร์คาร์อย่าง LAMBORGHINI AVENTADOR SVJ (ลัมโบร์กินี อเวนตาโดร์ เอสวีเจ) อีกด้วย โดยมันมีหน้าที่ส่งผ่านอากาศจากช่องเปิดขนาดใหญ่บริเวณชายกันชนด้านล่างให้ไหลผ่านหม้อน้ำด้านหน้า แล้วพุ่งขึ้นด้านบนผ่านทางช่องที่กำหนด เมื่อทุกๆ ส่วนทำงานประสานกัน จะช่วยเพิ่มแรงกด (DOWNFORCE) ได้ถึง 388 กก. ซึ่งมากกว่า 911 GT3 รุ่นก่อนหน้านี้ถึง 150 % เครื่องยนต์ น้ำหนักตัว อากาศพลศาสตร์ เพียงเท่านี้อาจทำให้รถสามารถบนทางตรงวิ่งเร็วได้โดยไม่มีอาการเหิน แต่ถ้าจะทำเวลาต่อรอบน้อยกว่า 7 นาที ในสนาม NURBURGRING ก็จำเป็นต้องมีระบบรองรับที่ยอดเยี่ยมด้วย นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ รถรุ่นนี้เป็น 911 รุ่นแรกที่ใช้กันสะเทือนหน้าเป็นอิสระปีกนก 2 ชั้น (DOUBLE WISHBONE) ที่รับมาจากรถแข่ง 911 RSR ในขณะที่รุ่นอื่นๆ เป็นแบบอิสระแมคเฟอร์สันสตรัทที่เรียบง่ายกว่า ซึ่งระบบรองรับอิสระแบบปีกนก 2 ชั้นนี้ ทีมวิศวกรสามารถรักษามุมล้อที่สัมผัสกับพื้นถนนได้ดีกว่า และยังให้การตอบสนองที่ฉับไว โดยเฉพาะในโค้งความเร็วสูง นอกจากนั้น ยังช่วยให้รถไม่เสียการทรงตัวเมื่อเบรคอย่างรุนแรง และแม้จะสามารถเซทช่วงล่างให้แข็งมากกว่าเดิม แต่ยังสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ระบบรองรับด้านหลังยังเป็นแบบมัลทิลิงค์ แต่ได้รับการออกแบบใหม่ เพิ่มจำนวนของ BALL JOINT มากกว่าเดิม เพื่อรักษามุมล้อให้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ และยังรองรับระบบเลี้ยวล้อหลังอีกด้วย ราคาเริ่มต้นของ PORSCHE 911 GT3 รหัสตัวถัง 992 อยู่ที่ 17.9 ล้านบาท คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ครอบครองรถสมรรถนะสูงเช่นนี้ แต่ถ้าใครสามารถเอื้อมถึง ผู้เขียนอยากบอกตรงๆ เลยว่า “ซื้อเถอะครับ” เพราะนี่อาจเป็นหนึ่งในรถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ดีที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยรู้จักก็เป็นไปได้
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
คอลัมน์ Online : รู้ลึกอุปกรณ์