รู้ลึกอุปกรณ์
TESLA “นวัตกรรม” ไร้คู่ต่อกร
รถไฟฟ้า TESLA อุดมไปด้วย “นวัตกรรม” มากมาย ซึ่งบแรนด์รถยนต์อื่นต้องเดินตามหลังมาตลอด เรามาดูกันว่าพวกเขาได้บุกเบิก “นวัตกรรม” อะไรให้แก่โลกของรถไฟฟ้ากันบ้าง ?
เริ่มจากการผลิตแชสซีส์ด้วยเครื่อง GIGA PRESS (กิกะ พเรสส์) ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของเครื่องฉีดอลูมิเนียมขนาดยักษ์ ที่ถูกนำมาใช้สร้างแชสซีส์ของ TESLA MODEL Y (เทสลา โมเดล วาย) ถูกวางตัวไว้ให้เป็นรถยอดนิยม ด้วยระดับราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม (ในต่างประเทศ) ดังนั้นสิ่งที่พวกเขามองหา คือ ทำอย่างไรจะผลิตได้รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ อันเป็นที่มาของนวัตกรรม “GIGA PRESS”
แนวคิดของ GIGA PRESS คือ การพัฒนาวิธีการทดแทนการเชื่อมแผ่นโลหะปั๊มขึ้นรูปหลายๆ ชิ้นในการผลิตแชสซีส์แบบ MONOCOQUE ที่นิยมใช้กันในธุรกิจรถยนต์มาหลายทศวรรษ ด้วยการฉีดขึ้นรูปแชสซีส์ให้ออกมาเป็นชิ้นเดียวตั้งแต่แรก
วิธีการนี้ทำให้พวกเขาสามารถยกเลิกสายการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์แขนกลจำนวนมาก จากเดิมราว 1,000 ตัว เหลือเพียง 400 ตัว แทนที่ด้วยเครื่องฉีดอลูมิเนียมเหลวขนาดยักษ์ ที่ยาวถึง 20 ม./เครื่อง และมีน้ำหนักมากถึง 410-430 ตัน โดยว่ากันว่า GIGA PRESS แต่ละเครื่องจะสามารถผลิตแชสซีส์รถออกมาได้ราว 1,000 คัน/วัน
ชื่อ GIGA PRESS นั้นมาจากคุณลักษณะของเครื่องจักรที่สร้างแรงประกบของโมลตัวผู้ และตัวเมีย (CLAMPING FORCE) ได้มากถึง 55,000-61,000 กิโลนิวตัน ในการผลิตแชสซีส์สำหรับ TESLA MODEL Y แต่ละคัน พวกเขาใช้อลูมิเนียมอัลลอยด์หลอมเหลว จำนวน 80 กก. ฉีดเข้าไป โดยมีรอบเวลาในการฉีดแต่ละครั้งราว 80-90 วินาที ชิ้นงานดิบที่ออกจากโมลจะถูกนำไปลดอุณหภูมิ ขัดตกแต่ง และตรวจเชคความสมบูรณ์ ด้วยเครื่องเอกซ์เรย์อีกครั้ง ชิ้นงานที่ไม่มีปัญหาจะถูกส่งไปตัดแต่งให้ได้มิติที่ต้องการด้วยเลเซอร์ รวมถึงเจาะรูสำหรับยึดนอทต่างๆ ด้วยเครื่อง CNC ส่วนชิ้นงานที่ไม่สมบูรณ์จากกระบวนการหล่อ จะถูกนำไปหลอมกลับไปใช้ใหม่ นับเป็นกระบวนการที่มีการสูญเสียวัตถุดิบน้อยมาก
การใช้กระบวนการฉีดอลูมิเนียม หรือ ALUMINIUM DIECAST ช่วยลดน้ำหนักของแชสซีส์ลงราง 10 % เมื่อเทียบกับการผลิตแบบดั้งเดิม และส่งผลให้ตัวรถมีระยะเดินทางเพิ่มขึ้นกว่า 14 % และลดจำนวนชิ้นส่วนลงไป 370 ชิ้น โดยใช้ในแชสซีส์ส่วนหน้า (FRONT UNDERBODY) กับแชสซีส์ส่วนท้าย (REAR UNDERBODY) และการเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการเชื่อมโลหะแผ่นเป็นการหล่อขึ้นรูป ทำให้ชิ้นส่วนมีการให้ตัวลดลง ซึ่งทำให้ภายในห้องโดยสารเงียบลงอีกด้วย นอกจากนี้พวกเขาจะยังคงพยายามพัฒนาให้มันมีน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนทำให้มันเบาลงได้ 4-5 กก. เมื่อเทียบกับผลงานการผลิตช่วงแรก สำหรับผู้ทำหน้าที่ผลิตเครื่องจักรนี้ให้แก่ TESLA คือ บริษัท IDRA (อีดรา) จากประเทศอิตาลี
นวัตกรรมอันดับต่อไป คือ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือออโทไพลอท นี่คือ “ทีเด็ด” ของค่ายนี้มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งพวกเขาก็ยังคงพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการทำงานร่วมกันของเซนเซอร์หลายรูปแบบ อาทิ กล้องรับภาพ 8 ตัว ทำงานร่วมกันกับเซนเซอร์ส่งคลื่นความถี่สูง อุลทราโซนิค 12 ตัวรอบคัน ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์พลังสูงในรถที่สามารถอัพเดทตัวเองได้อัตโนมัติ
ระบบออโทไพลอท แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับแรก คือ ออโทไพลอท “พื้นฐาน” ระบบนี้จะรักษารถให้อยู่ในช่องจราจร สามารถเร่ง และชะลอความเร็วให้สัมพันธ์กับการจราจรได้
ส่วนระดับที่สูงขึ้น เรียกว่า FSD หรือ FULL SELF-DRIVING คือ ระบบขับอัตโนมัติเต็มรูปแบบ สามารถเปลี่ยนช่องทางจราจรได้อัตโนมัติ รวมถึงอ่านสัญญาณไฟ และป้ายจราจร เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยานยนต์ไร้คนขับ ตามที่บริษัทได้ตั้งเป้าไว้ว่า พวกเขาจะเปิดตัว ROBO-TAXI (โรโบ แทกซี) รถสาธารณะที่ไร้พวงมาลัยโดยสิ้นเชิง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โดยปัจจุบัน ระบบ FSD เวอร์ชันทดสอบ (BETA) ได้ถูกทดลอง และเก็บข้อมูลผ่านทางผู้ใช้ TESLA กว่าแสนราย เป็นระยะทางมากกว่า 50 ล้านกม. ซึ่งยากที่จะมีค่ายรถยนต์ใดตามทัน และท้ายที่สุด ถ้ามีใครอยากทำรถขับเคลื่อนอัตโนมัติให้ดีเท่าก็ต้องยอมจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ให้ TESLA นั่นเอง
เรื่องนี้ ELON MUSK (อีลอน มัสก์) ซีอีโอ TESLA ยอมรับว่า ประเมินความซับซ้อนของพโรเจคท์ยานยนต์ไร้คนขับในตอนแรกไว้ต่ำเกินไป เพราะมัน “โคตรยาก” ท้าทาย และกินแรงของทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างมหาศาล แต่มันจะต้องเป็นไปได้ในที่สุด !
ปัจจุบันนี้ พวกเขาได้ข้อมูลของถนน และการจราจรในประเทศสหรัฐอเมริกาไปมากพอสมควร ภายในปีนี้ก็จะเริ่มเก็บข้อมูลของระบบ FSD ในทวีปเอเชีย และยุโรป รอแค่กฎหมายในแต่ละพื้นที่ยอมให้พวกเขาทำได้เท่านั้น
นอกจากจะช่วยขับขี่แล้ว ระบบกล้อง และเซนเซอร์นานาชนิด ยังสามารถทำงานได้อีกหลากหลาย อาทิ ออกจากลานจอดรถมาหาเราได้ ในกรณีที่รถคันข้างๆ จอดชิดจนขึ้นรถลำบาก หรือจอดในโรงรถที่แคบจนเปิดประตูไม่ได้ โหมดการทำงานนี้มีชื่อว่า SUMMON MODE ทำงานร่วมกับกุญแจรถ กดสั่งให้มันเดินหน้า หรือถอยหลัง ออกจากช่องจอดได้ หรือถ้าจะล้ำขึ้นไปอีก ต้องเลือกติดตั้งระบบ SMART SUMMON MODE ที่สามารถใช้คำสั่ง COME TO ME: มาหาฉัน หรือ GO TO TARGET: ไปหาเป้าหมาย ซึ่งจะทำงานร่วมกับ TESLA APP บนสมาร์ทโฟน ที่ให้เราเลือกด้วยการปักหมุดลงบนแผนที่ แต่ก็ยังต้องคอยมองดูรถตลอดเวลาอยู่นะ เผื่อมันจะไปเสยอะไรที่มันมองไม่เห็นเข้า โดยเฉพาะอะไรที่พุ่งเข้ามาเร็ว เช่น บรรดาไรเดอร์สารพัดสี ผู้ขยันวิ่งย้อนศร เป็นต้น ระหว่างสั่งงานเราจะต้องกดปุ่มคำสั่งบนมือถือตลอดเวลา ถ้าปล่อยรถจะหยุดทันที เพื่อความปลอดภัย
นวัตกรรมถัดไป คือ เทคโนโลยีจัดเต็มเพื่อชีวิต 5G ซึ่งในเรื่องนี้พวกเขาถือว่า เหนือกว่าผู้ผลิตรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นใด เรียกว่าสูสีกับ APPLE และ ANDROID ก็ไม่ผิด เผลอๆ อาจเหนือกว่าด้วยซ้ำ เพราะเริ่มต้นด้วยการมีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง พร้อมซอฟท์แวร์อัจฉริยะติดตั้งพร้อมสรรพ ในรถที่มีแหล่งพลังงานไฟฟ้าเลี้ยงตลอดเวลา เหลือเพียงทักษะของพโรแกรมเมอร์ ที่จะสนองจินตนาการของท่านซีอีโอ ได้มากเพียงใด
ความบันเทิงยุค 5G ของ TESLA มาพร้อมระบบสมาชิกอินเตอร์เนทความเร็วสูง 2 แพคเกจ โดยแพคเกจพื้นฐานนั้นฟรี สำหรับการใช้งานระบบนำทาง และรายงานการจราจรสด สามารถปล่อยสัญญาณ WI-FI ให้สมาร์ทโฟนของคุณ แต่ถ้าอัพเกรดเป็นพรีเมียมแพคเกจ ที่มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10 เหรียญสหรัฐฯ คุณจะได้บริการเพิ่มนานาชนิด อาทิ ระบบแผนที่นำทางจากภาพดาวเทียม ฟังเพลง หรือดูวีดีโอสตรีมมิง (NETFLIX, DISNEY+, YOUTUBE) หรือถ้าชอบร้องเพลงก็มี ระบบคาราโอเกะ ซึ่ง TESLA บัญญัติคำว่า CARAOKE (CAR+KARAOKE) ที่มีเนื้อเพลงให้คุณได้อ่านขณะร้องเพลง
ส่วนใครชอบความบันเทิงนอกเหนือไปจากการฟังเพลง ร้องเพลง หรือชมวีดีโอ ก็มีวีดีโอเกม สารพัดให้เล่น โดยตัวระบบรองรับการใช้งานร่วมกับ เกมคอนโทรลเลอร์ ด้วย
ลูกเล่นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีในรถบแรนด์อื่น คือ ROMANCE MODE สำหรับหนุ่มสาวอเมริกัน ที่ต้องการหามุมสงบนั่งจู๋จี๋กัน ระบบนี้จะเล่นภาพเตาผิงพร้อมเปลวไฟ (VIRTUAL FIREPLACE) พร้อมเปิดฮีเตอร์เพิ่มความอบอุ่นให้ด้วย แต่ผู้เขียนเชื่อว่า โหมดนี้คงไม่ได้รับความนิยมในบ้านเราสักเท่าไหร่นัก
นอกจากนั้น ในทุกเทศกาล ทีมงาน TESLA ก็ขยันสร้างสรรค์บรรยากาศ และสร้างรอยยิ้มให้แก่เจ้าของรถ อาทิ ช่วงคริสต์มาส พวกเขาจะเปลี่ยนภาพของเราเป็นเลื่อนหิมะของซานตาคลอส ขณะที่รถคันอื่นๆ บนท้องถนนจะกลายร่างเป็น กวางเรนเดียร์ ส่วนคนริมถนนกลายร่างเป็นภูมิเอลฟ์ (ELF) เรียกได้ว่า เรื่องความน่ารักขี้เล่น นี่พวกเขากินขาด
ตามด้วยระบบความปลอดภัยอัจฉริยะต่างๆ เริ่มที่ระบบเฝ้าระวัง หรือ SENTRY MODE ระบบยามเฝ้าแผ่นดิน จะตรวจตราสภาพแวดล้อมยามที่คุณไม่อยู่กับรถ นอกจากจะทำงานเหมือนระบบป้องกันขโมยทั่วไป กล้องรอบคันของมันยังทำงานตลอดเวลา และหากมันพบว่ามีคนเข้าใกล้ หรืองัดแงะ มันจะส่งเสียงเตือนพร้อมกะพริบไฟ รวมถึงแสดงข้อความบนจอให้คนที่พยายามจะเข้ามาในรถทราบว่า “ภาพของท่านได้รับการบันทึกเอาไว้แล้ว และจะเป็นหลักฐานสำหรับตำรวจ” เมื่อคุณกลับมาที่รถก็จะได้รับการแจ้งว่าเกิดอะไรขึ้นตอนที่คุณไม่อยู่ ระบบนี้สามารถตั้งได้ว่าจะให้ทำงานทุกที่ เฉพาะบางที่ หรือไม่ทำงาน ก็ได้
ระบบต่อมา คือ ระบบล้างรถ (CAR WASH MODE) ออกแบบมาสำหรับเครื่องล้างรถอัตโนมัติ เมื่อเข้าระบบนี้ มันจะจัดการให้รถปิดหน้าต่าง ฝากระโปรงหน้าหลัง ช่องชาร์จไฟ ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ระบบเฝ้าระวัง ระบบเตือนการชน รวมถึงพับกระจกข้าง โดยอัตโนมัติ
ต่อมา คือ โหมดน้องหมา (DOG MODE) ที่ออกแบบมาสำหรับคนที่มีเด็กเล็ก หรือสัตว์เลี้ยง และต้องการลงจากรถไปทำธุระในเวลาสั้นๆ ระบบนี้จะสั่งงานให้ระบบปรับอากาศทำงานที่อุณหภูมิเหมาะสม และแสดงคำพูดบนจอภาพหลักของรถ ให้คนที่หวังดี ที่ผ่านไปมาได้ทราบ และไม่กังวลว่า “ไม่ต้องห่วงคนขับจะกลับมาในเร็วๆ นี้ ระบบปรับอากาศในรถทำงานอยู่” พร้อมแสดงตัวเลขอุณหภูมิให้เห็นชัดเจน แต่ถ้าแบทเตอรีต่ำกว่า 20 % หรือเจ้าของรถหายไปนาน ระบบของรถจะส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟนของเจ้าของรถทันที
นอกจากโหมดน้องหมา ยังมีโหมดแคมพ์ (CAMP MODE) สำหรับนักเดินทางที่หาโรงแรมนอนไม่ได้ (หรือถูกมนุษย์เมียไล่ออกมานอนนอกบ้าน) ระบบนี้จะอนุญาตให้จอภาพหลักทำงาน และปล่อยกระแสไฟผ่านทางพอร์ท USB และระบบปรับอากาศทำงานได้
อันดับต่อมา เป็นที่รู้กันว่า รถไฟฟ้า TESLA นั้นแรงจัดจ้านนัก ระบบต่อไปนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องให้คนอื่นขึ้นมาขับรถของท่าน นั่นคือ VALET MODE ระบบนี้จะลดอัตราเร่งของรถ และจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 110 กม./ชม. และไม่อนุญาตให้ใช้ระบบออโทไพลอท แถมยังลอคลิ้นชักกับฝากระโปรงหน้า ไม่ให้บุคคลนั้นๆ เข้าไปยุ่มย่ามได้ รวมถึง “ซ่อน” สถานที่สำคัญที่เจ้าของรถใช้ประจำบนระบบนำทาง เช่น ตำแหน่งบ้าน เรียกว่า อุ่นใจคลายกังวลหากจำเป็นต้องใช้บริการพนักงานจอดรถ
แน่นอนว่า นวัตกรรมทั้งหมดในบางครั้งก็เจอกับคอขวด โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เกิดปัญหาเรื่องการจัดส่ง และต้นทุนของชิ้นส่วนสำคัญต่อการผลิตพุ่งสูง ทั้งวัตถุดิบในการผลิตแบทเตอรี และการผลิตไมโครชิพ ซึ่งทำให้การส่งมอบแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเรื่องชิพขาดแคลนนี้ TESLA พยายามแก้ไขด้วยการพัฒนาวงจรใหม่ที่ลดการใช้ชิพลง ด้วยการปรับซอฟท์แวร์ให้ทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฮาร์ดแวร์บางตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตในอนาคต
ส่วนเรื่องแบทเตอรี เมื่อไม่นานมานี้ TESLA ได้นำเสนอแบทเตอรีรุ่นใหม่ เบอร์ 4680 ซึ่งเป็นแบบ NMC หรือ NICKEL MANGANESE COBALT ตัวเลขเบอร์มาจากมิติทรงกระบอกของแบทเตอรี คือ กว้าง 46 มม. และสูง 80 มม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเบอร์เดิมที่พวกเขาใช้ คือ 2170 ไม่น้อยทีเดียว (กว้าง 21 มม. และสูง 70 มม.) ว่ากันว่า แบทเตอรีรุ่นใหม่มีพลังงานมากกว่าถึง 5 เท่า และจะเพิ่มระยะทางได้อีก 16 %
แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็กำลังจะหันไปหาแบทเตอรีชนิด LFP หรือ LITHIUM IRON PHOSPHATE ที่ปัจจุบันค่ายรถไฟฟ้า BYD ของจีนใช้งานอยู่ โดย TESLA เริ่มนำมาใช้กับรุ่น MODEL 3 และ MODEL Y รุ่นมาตรฐาน ที่ผลิตในประเทศจีน แม้ความหนาแน่นของพลังงานของ LFP จะน้อยกว่า แบบ NMC และ NCA หรือ NICKEL COBALT ALUMINIUM ที่ TESLA รุ่นอื่นใช้ แต่ด้วยความที่มันมีราคาต่ำ ปลอดภัย เพราะไม่มีโคบอลท์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังมีอายุการใช้งานยาวนาน ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย
ฉะนั้นพูดได้เต็มปากว่า ในเรื่องความล้ำยุค ณ ปัจจุบัน TESLA คือรถที่ไร้คู่แข่ง !
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รู้ลึกอุปกรณ์
คำค้นหา