รู้ลึกอุปกรณ์
BUGATTI BOLIDE กับผลงาน AERO MASTERPIECE
เมื่อเอ่ยถึง BUGATTI (บูกัตตี) เชื่อว่าทุกคนจะนึกถึง ไฮเพอร์คาร์พันธุ์หรู 1,000 แรงม้า++ ความเร็วสูงสุดระดับยมทูตยังร้องขอชีวิต แต่ในยุคที่ไฮเพอร์คาร์เจ้าไหนๆ ก็เคลมว่า มีรถที่วิ่งเร็ว 400 กม./ชม. กันทั้งนั้น พวกเขาจึงต้องยกระดับการแข่งขันไปอีกขั้น ด้วยการสร้างรถที่มีความ “สุดขั้ว” ขึ้นมา เพื่อให้โลกยังไม่ลืมว่า BUGATTI คือ เจ้าแห่งความเร็วนี่เป็นที่มาของ BUGATTI BOLIDE (บูกัตตี โบลีด) “BOLIDE” เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลตรงตัวว่า “RACING CAR” หรือ รถแข่ง ซึ่งเป็นการตั้งชื่อที่เรียบมาก แต่คำศัพท์ง่ายๆ อย่างรถแข่ง พอพูดเป็นภาษาฝรั่งเศส ก็เก๋ไก๋ขึ้นมาซะงั้น หัวใจของ BOLIDE คือ ขุมพลังคู่บุญของ BUGATTI ยุคใหม่ นั่นคือ เครื่องยนต์แบบ W16 สูบ วางกลางลำ ความจุ 8.0 ลิตร พร้อมเทอร์โบ 4 ลูก ที่พัฒนาจนมีกำลังสูงสุดถึง 1,850 แรงม้า ที่ 7,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 188.6 กก.-ม. ที่ 2,000 รตน. ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ พวกเขาไม่ได้นำเอารถที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด นอกจากเครื่องยนต์พื้นฐานแล้ว ส่วนที่เหลือสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน อาทิ ชิ้นส่วนที่ผลิตจากจากไททาเนียม ขึ้นรูปด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถสร้างรูปทรงที่ซับซ้อน เบา แต่แข็งแกร่ง จุดหมายของการพัฒนา BOLIDE คือ การสร้างรถที่สามารถจับลงสนามแข่งได้ และมีสมรรถนะระดับใกล้เคียงกับรถแข่งคลาสส์ LMP-1 (LE MANS PROTOTYPE-1) แม้จะทำเวลาต่อรอบสนามไม่เร็วเท่ารถสูตร 1 ซึ่งเป็นรถแข่งล้อเปิดที่มีน้ำหนักเบากว่า และมีดาวน์ฟอร์ศ (DOWNFORCE) มากกว่า แต่รถแข่งคลาสส์ LMP-1 มีความเร็วทางตรงสูงกว่ารถสูตร 1 ในการออกแบบ พวกเขาพยายามลดจุดศูนย์ถ่วงของรถให้ต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้น BUGATTI BOLIDE จึงสูงแค่ 995 มม. หรือสูงจากพื้นถึงหลังคาไม่เกิน 1 เมตร ! ซึ่งไม่ต่างจากความสูงของรถแข่งคลาสส์ LMP-1 เช่นเดียวกับท่านั่งของผู้ขับขี่ที่ใกล้เคียงกับรถแข่งสูตร 1 ซึ่งดูคล้ายกับท่านอน และการจะลุกเข้า/ออกรถคันนี้ให้คล่องแคล่วก็ควรจะไปฝึกโยคะให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นสูงเสียก่อน BUGATTI BOLIDE เป็นผลงานทางวิศวกรรมที่สุดขั้ว แม้จะใช้เครื่องยนต์ขนาดมหึมา แต่กลับมีน้ำหนักเพียง 1,240 กก. เท่านั้น เป็นผลจากการใช้วัสดุระดับสูงอย่าง คาร์บอนไฟเบอร์ ชิ้นส่วนของระบบรองรับหลายชิ้นทำจาก สเตนเลสส์สตีลเกรดอากาศยาน และไททาเนียม แม้กระทั่งนอทที่ใช้ในส่วนต่างๆ ก็ทำจากไททาเนียมเช่นกัน ล้อบแรนด์ OZ ขนาด 18 นิ้วเท่านั้น แทนที่จะเป็นล้อใหญ่เพื่อให้เตะตาเหมือนรถรุ่นอื่น แต่เป็น “ล้อแมก” แท้ๆ ไม่ใช่ล้ออัลลอย เพราะใช้วัสดุแมกนีเซียมอัลลอยในการผลิต มีน้ำหนักเพียง 7.4 กก. (ล้อหน้า) และ 8.4 กก. (ล้อหลัง) ส่วนจานเบรคนั้น แน่นอนว่าต้องเป็นเซรามิค ที่มาพร้อมคาลิเพอร์น้ำหนัก เพียง 2.4 กก. และเมื่อหารน้ำหนักตัว 1,240 กก. กับแรงม้าที่ทำได้ จะพบว่า 1 แรงม้า รับผิดชอบน้ำหนักรถเพียง 670 กรัม เท่านั้น แถมส่งกำลังผ่านระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ BUGATTI BOLIDE จึงมีอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ใน 2.17 วินาที และสามารถแหวกอากาศไปถึง 200 กม./ชม. ในเวลา 4.36 วินาที 300 กม./ชม. ในเวลา 7.37 วินาที จนถึง 500 กม./ชม. ในเวลา 20.16 วินาที ด้วยพละกำลังอันมหาศาลขนาดนี้ พวกเขาจึงต้องออกแบบรถให้สามารถจัดการกับแรงต้านอากาศให้อยู่หมัด ทั้งสามารถที่จะเอาอากาศเย็นไปให้เครื่องยนต์ใช้ และดึงเอาอากาศร้อนออกไปจากเครื่องยนต์ รวมถึงจัดการให้อากาศไหลผ่านตัวรถไปอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งต้องใช้ความสามารถระดับเดียวกับการออกแบบรถแข่งสูตร 1 นั่นเอง ในการออกแบบรถแข่งสูตร 1 วิศวกรไม่ได้สนใจจะสร้างรถที่เพรียวลมที่สุด แต่พยายามที่จะใช้อากาศมาระบายความร้อนของเครื่องยนต์และเบรค เพื่อใช้กดให้รถแนบชิดกับพื้นถนน ไม่ให้เหินขึ้นไปอยู่บนยอดไม้ ดังนั้น เมื่อเทียบค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศของรถแข่งสูตร 1 กับรถบ้านของพวกเราจะเห็นว่า รถบ้านนั้นเพรียวลมกว่ามาก การจะทำให้รถคันหนึ่งสามารถวิ่งทางตรงได้รวดเร็ว และสามารถทำเวลาต่อรอบในสนามแข่งได้ต่ำนั้น โดยใช้การออกแบบด้านอากาศพลศาสตร์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่าง คือ McLAREN ULTIMATE SERIES (แมคลาเรน อัลทิเมท ซีรีส์) 2 รุ่น ได้แก่ SPEEDTAIL (สปีดเทล) และ SENNA (เซนนา) รุ่น SPEEDTAIL นั้น วิศวกรเน้นการออกแบบให้มีแรงต้านอากาศต่ำสุด เท่าที่จะเป็นไปได้ มันจึงไม่มีสปอยเลอร์ขนาดใหญ่ตามพิมพ์นิยม แต่ใช้รูปทรงรถแบบหยดน้ำที่มีหางยาว ให้มันแหวกอากาศเพื่อทำความเร็วได้สูงที่สุด เท่าที่เครื่องยนต์พละกำลัง 1,070 แรงม้า จะทำได้ ผลคือ อัตราเร่งจาก 0-300 กม./ชม. ในเวลา 13.0 วินาที (BUGATTI BOLIDE อัตราเร่งจาก 0-300 กม./ชม. ในเวลาเพียง 7.37 วินาที !) กับความเร็วสูงสุด 403 กม./ชม. ส่วนวัตถุประสงค์ของรุ่น SENNA คือ ทำเวลาต่อรอบในสนามแข่งให้ต่ำที่สุด จึงมีการติดตั้งสปอยเลอร์ขนาดใหญ่เพื่อสร้างแรงกด และเน้นไปที่การจัดการกระแสอากาศที่ไหล “รอบตัวรถ” และที่ “เข้ามาในรถ” ให้ทั้งระบายความร้อน และสร้างแรงกด แรงดูด ให้มากที่สุด ซึ่งชัดเจนว่า แม้ SENNA จะมีแรงม้าน้อยกว่ารุ่น SPEEDTAIL แต่สามารถทำเวลาต่อรอบในสนามแข่งต่ำกว่า เพราะในสนามแข่งรถ ไม่มีช่วงทางตรงยาวมากนัก และเมื่อเจอทางโค้ง สปอยเลอร์ขนาดใหญ่ จะช่วยให้มันเข้าโค้งได้เร็วกว่า SPEEDTAIL ขณะที่หากเอาไปวิ่งทางตรงยาวๆ SENNA ก็ต้องหลีกทางให้กับ SPEEDTAIL ที่ทำความเร็วทางตรงได้เหนือกว่า (SENNA มีอัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. ในเวลา 17.5 วินาที) การออกแบบ BUGATTI BOLIDE ค่อนข้างโน้มเอียงไปทางฝั่ง McLAREN SENNA โดยค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ อยู่ในระดับที่เรียกว่าต้านลมด้วยซ้ำ เพราะตัวรถเต็มไปด้วยช่องเปิดมากมาย และบางส่วนมองจากภายนอกไม่เห็น อาทิ อุโมงค์ช่องลม (AIR TUNNEL) ที่ซ่อนอยู่ภายในผนังประตู เปิดรับอากาศเข้ามาจากด้านหน้าของรถ เพื่อส่งไปยังตะแกรงหม้อน้ำที่อยู่ด้านหลัง อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับรถแข่งสูตร 1 แล้ว BUGATTI BOLIDE แทบไม่แตกต่างกันเลย เพราะที่โหมดแรงกดสูงสุด (HIGH DOWNFORCE) BOLIDE จะมีค่าสัมประสิทธิ์ที่ 1.31 แต่หากต้องการวิ่งด้วยความเร็วสูง ก็สามารถปรับมุมองศาของระบบด้านอากาศพลศาสตร์ อย่างปีกท้ายให้ลู่ลมขึ้น ซึ่งทำให้ค่าความต้านอากาศลดลงเหลือ 0.54 โดยมีแรงกด (DOWNFORCE) มากเหลือเชื่อ โดยที่ความเร็ว 320 กม./ชม. มันสร้างแรงกดได้รวมถึง 2,600 กก. แบ่งเป็นแรงกดด้านหน้า 800 กก. และแรงกดด้านหลังมากถึง 1,800 กก. นอกจากนี้ พวกเขายังได้นำเสนอแนวคิดสุดขั้ว อย่างพื้นผิวตัวถังที่สามารถเปลี่ยนสภาพได้ (MORPHABLE OUTER SKIN) เพื่อลดแรงเสียดทานอากาศ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก รอยบุ๋ม หรือ DIMPLE ของลูกกอล์ฟ โดยเจาะรูตัวถัง และใส่แผ่นยางกลมบางๆ จำนวน 60 ชิ้น เข้าไปในรูเหล่านั้น แล้วติดตั้งลงบนช่องดูดอากาศเหนือหลังคารถ เมื่อมีอากาศไหลผ่านช่องดูดอากาศนี้เข้าไปยังเครื่องยนต์ มันจะเกิดแรงดันในท่อดูดอากาศ จะดันให้แผ่นยางดังกล่าวนูนขึ้นทางผิวด้านนอก ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสลมอลวนขึ้นเล็กน้อยเหนือพื้นผิว ทำหน้าที่คล้ายเบาะอากาศ ช่วยให้อากาศที่ไหลผ่านหลังคารถลื่นไหลยิ่งขึ้น แผ่นยางเล็กๆ เหล่านี้จะนูนขึ้นราว 10 มม. เมื่อวิ่งที่ความเร็วประมาณ 120 กม./ชม. ซึ่งดูเหมือนจะไม่ส่งผลอะไรมากนัก แต่ไม่น่าเชื่อว่า มันสามารถลดแรงต้านอากาศลง 10 % และยังลดแรงยกได้ถึง 17 % เลยทีเดียว นับว่าเป็นไอเดียที่แหวกแนวไม่น้อย BUGATTI BOLIDE เป็นรถที่ “สุดขั้ว” ในทุกๆ ด้านจริงๆ เพราะมันคือ การกลั่นภูมิปัญญาทั้งหมดที่พวกเขามีใส่ลงไปเต็มๆ ขณะที่ราคาค่าตัวยังไม่เปิดเผย แต่ถ้ารถรุ่นพื้นฐานอย่าง CHIRON (ชีรน) ราคา 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 90 ล้านบาท) และรุ่นสำหรับสนามแข่ง ที่ขายในจำนวนจำกัด 40 คัน อย่าง DIVO (ดีโว) ราคา 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 180 ล้านบาท) และรุ่นพิเศษอย่าง CENTODIECI (เซนโตดีเอชี) ที่ผลิตเพียง 10 คัน ราคา 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 270 ล้านบาท) BUGATTI BOLIDE คันนี้ ราคาคงหลุดโลกเป็นแน่แท้ ส่วนจะตั้งไว้เท่าไร และผลิตกี่คัน อันนี้คงไม่ใช่ปัญหาของเรา ?!?
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : รู้ลึกอุปกรณ์