รายงาน(formula)
2 เดือน ภาษีรถใหม่ ผู้ผลิตยุ่ง ผู้นำเข้าแย่ ผู้ซื้อยิ้ม !?!
สถานการณ์ธุรกิจรถยนต์ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ค่ายต่างๆ เร่งปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับระบบอีโคสติกเกอร์และภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่คิดตามอัตราการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่ที่น่าเห็นใจที่สุดคงเป็นบริษัทผู้นำเข้ารถหรู เนื่องจากต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นมากมาย ขณะที่ผู้ซื้อยังคงชลอการซื้อออกไป "ฟอร์มูลา" รายงานภาพรวมของตลาดรถยนต์ หลังเริ่มใช้ภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึงปัจจุบันรถทุกคัน ต้องผ่านการทดสอบจาก สมอ. จากการปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และผู้นำเข้าต้องมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น โดยต้องนำรถเข้าตรวจสอบมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) หรือ UN R83 ในห้องปฏิบัติการเฉพาะที่เป็นมาตรฐานการทดสอบมลพิษของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเทียบได้กับมาตรฐาน EURO 4 การทดสอบรถยนต์ แบ่งออกเป็น 7 สถานี คือ 1.ทดสอบปริมาณสารมลพิษ ขณะเครื่องยนต์เย็น 2. ตรวจวัดปริมาณคาร์บอนมอนอกไซด์ ขณะเครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบา 3. ตรวจหาปริมาณสารมลพิษจากห้องข้อเหวี่ยง 4. ตรวจหาปริมาณสารมลพิษไอระเหย 5. ตรวจสอบความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ 6. ตรวจหาปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ที่อุณหภูมิต่ำ (-7? C) และ 7. ทดสอบระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษในรถยนต์ นอกจากนั้น ต้องนำรถไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อวัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในระดับความเร็วต่างๆ ตามมาตรฐานข้อกำหนดทางเทคนิคของสหประชาชาติ UN R101 โดยมีผู้ทดสอบทำหน้าที่ควบคุมรอบเครื่องเดินเบา เพิ่มความเร็ว คงความเร็ว ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้เสมือนการใช้งานจริง ทั้งสภาวะในเมือง และนอกเมือง ในระหว่างการทดสอบจะเก็บตัวอย่างการปล่อยไอเสียชนิดต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมา เช่น ไฮโดรคาร์บอน (HC) แกสคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แล้วนำค่าดังกล่าว มาคำนวณหาค่าระดับไอเสีย และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง โดยมีวิศวกรของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และหน่วยงานควบคุมทางเทคนิค ที่ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิก UN WP29 เป็นผู้ดูแล และรับรองผลการทดสอบ หลังจากผ่านการทดสอบมาตรฐานอุตสาหกรรมแล้ว ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องส่งผลการตรวจไปยังสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เพื่อออก ECO STICKER (อีโคสติคเกอร์) ซึ่งจะแสดงตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งสภาวะในเมือง และนอกเมือง (ลิตร/100 กม.) มาตรฐาน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ข้อมูลพื้นฐานของรถ เช่น ยี่ห้อ รุ่น ระบบเกียร์ รหัส เครื่องยนต์ โครงรถ เครื่องยนต์ น้ำหนักรถ ขนาดของยาง จำนวนที่นั่ง ประเภทเชื้อเพลิง และโรงงานที่ผลิต นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอุปกรณ์ที่ติดตั้งจากโรงงาน เป็นพื้นฐานความปลอดภัย และการประหยัดพลังงาน เช่น ขนาดของล้อ ระบบเบรค ถุงลมนิรภัย เบาะนั่ง ไฟท้าย และกระจก เป็นต้น รวมทั้งบอกรายละเอียดข้อมูลผู้ผลิต และนำเข้า ประกอบไปด้วย ชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่อยู่ และเวบไซท์ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในระบบของกรมสรรพสามิต สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อสะดวกในการเก็บภาษีรถยนต์ อีโคคาร์ ราคาเท่าเดิม ตลาดรถนำเข้าชะลอตัว การปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ สนับสนุนรถประหยัดพลังงานอย่างชัดเจน ทำให้ตลาดรถยนต์อีโคคาร์ ไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของราคาแต่อย่างใด แถมบางรุ่นยังปรับราคาลงเสียอีก อย่างเช่น มิตซูบิชิ แอททราจ เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ปล่อย CO2 100 กรัม/กม. ภาษีลดลง 3 % ราคาเริ่มต้นก่อนปรับ 449,000 บาท หลังปรับ 443,000 บาท เช่นเดียวกับ มาซดา 2 เครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร ราคาเริ่มต้นก่อนปรับ 550,000 บาท หลังปรับ 529,000 บาท เมื่อเทียบกับการเก็บภาษีแบบเก่า แต่ที่ปรับราคาขึ้นชัดเจนที่สุดเป็นรถประเภท พีพีวี อย่าง มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ท ภาษีเพิ่มขึ้น 5 % ราคาเริ่มต้นก่อนปรับ 1,138,000 หลังปรับ 1,159,000 บาท และคาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนตลาดรถนำเข้าอิสระก็ได้รับผลกระทบมาก ผู้นำเข้าเกือบทุกรายไม่สามารถวางแผนธุรกิจ กำหนดราคา เลือกรุ่นที่จะนำเข้ามาขายได้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อนำเข้ามาแล้ว ต้องรอเวลาในการตรวจสอบรถ เพื่อคิดภาษี จึงใช้เวลานานกว่าจะออกขายได้ ทำให้ในช่วงต้นปี ตลาดรถยนต์นำเข้าซบเซาจนแทบหยุดชะงักเลยทีเดียว ตัวอย่างปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ภาษีใหม่ และราคาจำหน่ายก่อนและหลังปรับภาษี ของรถ 5 บแรนด์ญี่ปุ่น รุ่นดัง ตัวทอพ อัตราการปล่อยไอเสียของรถยนต์แต่ละรุ่น HONDA CR-V















ABOUT THE AUTHOR
พ
พีรพัฒน์ อินทมาตย์
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)