เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS
รถแข่งสายพันธุ์ใหม่
รู้หรือยัง ? เจ้าหน้าที่ประจำพิท ในการแข่งขัน ฟอร์มูลา วัน (FORMULA 1) สามารถเติมน้ำมัน พร้อมเปลี่ยนยางได้ ภายในเวลาเพียง 3 วินาทีเท่านั้น
หากพูดถึง การแข่งรถ คุณนึกถึงอะไร
นักขับระดับเทพ ในรถสมรรถนะสูง หรือ เพียงแค่ รถเสียงดัง สกปรกๆ ที่สร้างมลภาวะให้แก่โลกโดยไม่จำเป็น ในขณะที่ความสนใจของผู้คนที่มีต่อรายการแข่งขันอย่าง ฟอร์มูลา วัน, อินดี 500 (THE INDY 500), เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง (LE MANS 24-HOUR) ลดน้อยลง ซึ่งพูดได้ว่า น่าจะเกิดจากทัศนคติ และมุมมองชีวิตใหม่ๆ ของคนรุ่นหลังที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้ คือ นอกเหนือจากเป้าหมายเพื่อชัยชนะแล้ว บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างใช้การแข่งรถ เป็นสนามทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งเครื่องยนต์ ระบบกันสะเทือน แม้กระทั่ง ดีไซจ์นตัวถังของรถที่คุณเห็นบนท้องถนนทุกวันนี้ ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากสนามแข่งทั้งสิ้น เพราะสนามแข่ง คือ พื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยอุปสรรค และความไม่แน่นอน เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้ทดสอบลิมิทของรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ หากปราศจากการแข่งรถ เราคงไม่มีโอกาสได้ใช้ สปอยเลอร์ เทอร์โบชาร์เจอร์ หรือแม้กระทั่งเกียร์แบบคลัทช์คู่ ที่สำคัญ วิวัฒนาการของยานยนต์ ไม่ได้มุ่งเน้นด้านความเร็วเพียงอย่างเดียว เพราะทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะทำให้รถเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้รถสะอาดขึ้นด้วย การเสริมสมรรถนะของรถให้ใช้น้ำมันได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น ส่งผลให้อัตราสิ้นเปลืองพลังงานลดลง สามารถวิ่งได้ในระยะทางไกลขึ้น ก่อนจอดเติมน้ำมันครั้งถัดไป ในยุคดิจิทอล บริษัทผู้ผลิตต่างใช้ประโยชน์จากสนามแข่งในการพัฒนาศักยภาพรถยนต์ของตน ไม่กี่ปีมานี้ จำนวนรถไฮบริดบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากพิจารณาดู จะพบว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะค่าย โตโยตา และโพร์เช 2 ยักษ์ใหญ่ในตลาดรถยนต์ไฮบริด ได้ส่งรถประเภทนี้ลงสู่สนามแข่งมากว่า 5 ปีแล้ว ดังนั้น เราสามารถนำเทคโนโลยีในวงการรถแข่งปัจจุบัน มาวิเคราะห์ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเทคโนโลยียานยนต์บนท้องถนนในอนาคต ซึ่งมันคงวนเวียนอยู่แถวๆ เทคโนโลยีไฮบริด มากกว่าพวกรถซดน้ำมันทั่วไป รถที่มีทั้งเครื่องยนต์แบบเผาไหม้ในตัว และเซลล์พลังงานไฟฟ้า จะพบเห็นได้มากขึ้นบนท้องถนน โดยใช้ไฟฟ้าซึ่งได้จากการนำพลังงานใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ในขณะที่รถจอด ส่วนอนาคตของวงการรถแข่ง คงหนีไม่พ้น การใช้พลังไฟฟ้าด้าน เวิร์ลด์ เอนดูรานศ์ แชมเพียนชิพ (WORLD ENDURANCE CHAMPIONSHIP) ที่จัดการแข่งขันหลายรายการ ดังเช่น เลอ มองส์ กำลังร่างเงื่อนไขให้รถใช้พลังงานสะอาดขึ้น ในขณะที่รายการแข่งขันอย่าง ฟอร์มูลา เอียร์ (FORMULA EARE) ก็เริ่มนำรถพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่เวทีโลกแล้วเช่นกัน ดังนั้น ถ้าคุณเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการรถแข่งวันนี้ คุณจะสามารถคาดการณ์ได้ว่า คุณจะได้ขับรถแบบไหนในอนาคต “รถที่คุณเห็นบนท้องถนนทุกวันนี้ ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากสนามแข่งทั้งสิ้น” รถแข่งในรายการ อินดี 500 ใช้เทอร์โบชาร์จเพื่อเพิ่มแรงขับให้สูงถึง 700 แรงม้า รายการแข่งขัน เลอ มองส์ จัดขึ้นเกือบทุกปี นับตั้งแต่ปี 1923 ฟอร์มูลา วัน คือ รายการแข่งขันที่ได้รับความนิยมสูงสุด ต่อเนื่องมายาวนานฟอร์มูลา วัน ปะทะ ฟอร์มูลา อี
ชิงตำแหน่ง เจ้าแห่งการแข่งขันรถยนต์ระดับทอพ ในอนาคต
แม้จากชื่อแล้ว การแข่งขัน 2 รายการนี้อาจดูมีลักษณะคล้ายกัน แต่ ฟอร์มูลา วัน (หรือ F1) กับ ฟอร์มูลา อี (หรือ FE) มีเอกลักษณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง F1 เป็นรายการแข่งขันเก่าแก่ ที่มีคอนเซพท์ให้เป็นการแข่งขันรถสมรรถนะแรงแบบที่นั่งเดียว มีรถที่เร็วที่สุด มีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปจนถึงปี 1950 มีตำนานให้เล่าขานสำหรับแฟนๆ หลายเจเนอเรชัน ส่วนที่ FE ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2014 นั้นเป็นการแข่งขันรายการที่ใหม่ ที่แตกต่างออกไป รถที่เข้าร่วมรายการต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้าโดยสมบูรณ์ และคำนึงถึงการประหยัดพลังงานมากกว่าบริโภคมัน เพราะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหญ่ๆ ในการทำ E-RACING รายการ FE จึงต้องสร้างความน่าสนใจเพื่อดึงดูดผู้คนให้มาชมการแข่งขัน และนี่คือที่มาว่าเหตุใดรถที่เข้าร่วมแข่งขัน จึงมีรูปลักษณ์เดียวกันกับรถในรายการ F1 เมื่อไม่กี่ปีมานี้ F1 เองก็ได้รับเอาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ด้วยเช่นกัน ด้วยระบบพลังงานหมุนเวียน แบบที่ติดตั้งในรถไฮบริด ในปี 2014 FIA (ผู้ดูแลการแข่งขัน F1) มีคำสั่งให้ รถทุกคันลดอัตราบริโภคเชื้อเพลิงในการแข่งขันลง 1 ใน 3 ส่วน FE ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ต่อจุดยืนของ F1 เพราะ F1 ยังใช้สนามแข่งระดับเวิร์ลด์คลาสส์ ในขณะที่ FE เน้นสนามแข่งระดับท้องถนน ที่ไม่สะดวกต่อการถ่ายทอดผ่านรายการโทรทัศน์ แถมยังมี แบร์ริเออร์น่าเกลียดกันพื้นที่ขรุขระ และทางระบายน้ำ อีกต่างหาก ต่างจากสนามแข่งที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีขอบสนามที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แถมเสน่ห์อีกประการหนึ่งของการแข่งรถ ก็อยู่ที่เสียงคำรามของเครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่ในรถแข่งแต่ละคัน มากกว่าจะเป็นเสียงครางหวีดหวิวจากบรรดารถไฟฟ้าอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นไปได้ ที่ FE จะสามารถช่วงชิงความนิยมจาก F1 ในเร็ววันนี้ แถมเราคงจะยังได้เห็น F1 รับเอาเทคโนโลยีของรถไฟฟ้ามาใช้ในการแข่งขันมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วยแมคลาเรน เอมพี 4-เอกซ์ คอนเซพท์
เจเนอเรชันถัดไปของ F1 อาจกำหนดทิศทางอนาคตของวงการรถแข่ง
เทคโนโลยีไฮบริด
แม้ เอมพี 4-เอกซ์ จะติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่มันก็รับพลังงานจากแหล่งอื่นๆ ด้วย รวมไปถึงพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานจากการเชื่อมต่อสนามแม่เหล็ก ที่ถูกสร้างในสนามแข่งเทคโนโลยีช่วยเหลือคนขับ
เครื่องตรวจจับสัญญาณชีวภาพ จะคอยตรวจสอบ สภาพร่างกายของคนขับ ระดับอุณหภูมิร่างกาย และความเมื่อยล้า เสื้อผ้าที่นักแข่งสวมใส่จะมีน้ำหนักเบา และไม่ทำให้เสียพลังงานคอคพิทแบบปิด
ถูกนำมาใช้แล้ว กับรถฟอร์มูลา วัน ในปัจจุบัน ผู้ขับขี่ เอมพี 4-เอกซ์ จะนั่งอยู่ในตัวรถโดยมีกระจกครอบไว้อย่างสมบูรณ์ เพื่อความปลอดภัยปรับเปลี่ยนรูปทรงให้สอดคล้องกับแรงต้านอากาศ
แชสซีส์ของตัวรถสามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ในขณะขับขี่ เพื่อให้สอดคล้องกับระดับแรงต้านอากาศที่แตกต่างกันไป ตามระดับความเร็วที่ใช้ป้ายโฆษณา
เอมพี 4-เอกซ์ ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยดิจิทอลบิลล์บอร์ดโฆษณา ซึ่งก็อยู่ที่ความช่างสังเกตของคนดู ว่าจะมองเห็นมากน้อยแค่ไหนกราวน์ดเอฟเฟคท์
เอมพี 4-เอกซ์ ได้สร้างคอคอดเป็นช่องๆ ไว้ด้านล่างของตัวรถ เพื่อดึงให้รถยึดติดกับผิวถนนมุมมอง 360 องศา
กล้องที่ติดอยู่รอบๆ แมคลาเรน คันนี้ จะส่งภาพผ่านไปทางหมวกกันนอค ทำให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมรอบรถได้ทั้ง 360 องศา คล้ายๆเทคโนโลยีของเครื่องบินรบลดแรงฉุด
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกราวน์ดเอฟเฟคท์ กระบังล้อตัวนี้จะทำให้ลมพัดผ่านล้อที่กำลังหมุนไป แทนที่จะพัดเข้าไปในล้อ ช่วยลดแรงต้านอากาศคอคพิท: เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่
รถ ฟอร์มูลา วัน มีคอคพิทที่คนขับสามารถเดินเข้าไปได้เลย อย่างไรก็ตาม แม้คอกพิทแบบนั้นจะทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวของคนขับได้ แต่ศีรษะของเขาก็จะโผล่ออกมาจากคอคพิท ทำให้เสี่ยงต่ออันตราย เมื่อรถเกิดการชน หรือเมื่อผู้ขับปะทะกับเศษหิน หรือชิ้นส่วนของรถคันอื่น โศกนาฏกรรมของ จูลส์ บีอันคี (JULES BIANCHI) ผู้ขับทีม มารุสเซีย (MARUSSIA) ในปี 2014 ได้นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่แนวทางการออกแบบคอคพิทโดยคำนึงถึงความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็มีดีไซจ์น์ใหม่ปรากฏโฉมให้เห็นแล้วถึง 2 แบบ ได้แก่ ฮาโล คอคพิท ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดย เมร์เซเดส-เบนซ์ และแฟร์รารี มีลักษณะคล้าย การนำสายคาดบนรองเท้าฟลิพฟลอพมาครอบผู้ขับไว้ เพื่อป้องกันอันตรายจากด้านหน้า ส่วนแบบ แอโรสกรีน จะปิดคอคพิททั้งหมด สร้างโดย เรดบูลล์ ปัจจุบัน FIA ได้ออกกฎมาสนับสนุนการใช้ คอคพิทแบบฮาโล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคอกพิทแบบ แอโรสกรีน ก็น่าจะได้รับการอนุมัติในไม่ช้า- คอคพิทแบบเปิดที่ปล่อยให้ศีรษะของผู้ขับขี่โผล่พ้นตัวรถออกมา น่าจะถูกระงับใช้ในเร็ววันนี้
ยานยนต์อนาคตของ ฟอร์มูลา อี
แนวคิดของ มหินดรา เรซิง (MAHINDRA RACING) คือ การลอบมองไปยังอนาคตแห่งวงการรถแข่งคาร์บอนไฟเบอร์ บอดี
ตัวถังของ มหินดรา ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งคัน ทำให้มันทั้งแกร่ง และเบาแอโรสกูพ
คอนเซพท์คาร์คันนี้ ทดลองใช้ท้ายทรงสกูพ แทนที่จะใช้แบบปีกเหมือนปกติคอคพิทแบบปิด
ช่วยให้ผู้ขับขี่ปลอดภัยจากเศษหินและดิน ที่อาจปลิวขึ้นมา ฝาปิดที่โปร่งใส ทำให้ทัศนวิสัยของผู้ขับชัดเจนเท่าเดิม แถมผู้ชมยังมองเห็นความเคลื่อนไหวของผู้ขับด้วยลดความสูงของตัวรถ
เป้าหมายหลักในการออกแบบคอนเซพท์คาร์คันนี้ คือ ตัวรถสูงเท่าระดับล้อ ทำให้ผู้ขับเพลิดเพลินไปกับแรงดึงดูดอันน่าประทับใจของผืนโลก และยังส่งผลดีในด้านความเร็วอีกด้วยซ่อนล้อ
การซ่อนล้อไว้ภายในตัวถัง จะลดแรงฉุด ทำให้รถเคลื่อนที่ผ่านอากาศได้เร็วขึ้นเสียงคำราม : มลภาวะ หรือส่วนหนึ่งของประสบการณ์
เรื่องของเสียง ก่อให้เกิดความขัดแย้งในวงการรถแข่ง สำหรับแฟนพันธุ์แท้ เสียงคำรามจากเครื่องยนต์ถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่พลาดไม่ได้ แต่ยังต้องพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อมลพิษทางเสียงในวงกว้าง (ไม่ต้องพูดถึงความเสียหายทางการได้ยิน) อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ประสบการณ์ของแฟนๆ จะยังมีน้ำหนักมากกว่า เพราะหลังจากรถ ฟอร์มูลา วัน ได้เปลี่ยนมาใช้เทอร์โบชาร์จ ในปี 2015 ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับเสียงเครื่องยนต์ที่ราบเรียบ ไม่สะใจเหมือนก่อน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎการใช้ท่อไอเสียในปี 2016 ซึ่งทำให้เสียงคำราม ที่เป็นเหมือนจุดขายของ ฟอร์มูลา วัน เริ่มกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะยังไม่ค่อยปลื้มสำหรับแฟนๆ นักก็ตาม ส่วน ฟอร์มูลา อี ผู้จัดรายการเคยมีความคิดจะใส่เสียงเครื่องยนต์ปลอม เพื่อปกปิดเสียงครางหวีดหวิวของแบทเตอรี ที่ไม่สร้างความเร้าใจให้ผู้ชม ความคิดนี้ถูกยกเลิกในภายหลัง แต่ไม่ว่าแฟนๆ จะยอมรับ รักการแข่งรถแบบไร้เสียงหรือไม่ การแข่งขัน F1 ที่เต็มไปด้วยเสียงคำราม ก็จะยังคงมีต่อไปอย่างแน่นอน- เครื่องเทอร์โบชาร์จทำให้เสียงคำรามอันเป็นเอกลักษณ์ของ F1 เปลี่ยนแปลงไป
รถพโรโทไทพ์ ทุกวันนี้ก้าวล้ำขึ้นมาก และเทคโนโลยีของมันก็น่าจะถูกนำมาใช้กับรถบนท้องถนนในอีกไม่นาน
การแข่งขันเพื่อวิวัฒนาการ
นี่คือเรื่องราวที่จะทำให้เราได้รู้ว่า รายการแข่งขัน เลอ มองส์ มีส่วนร่วมในการพัฒนาโลกยานยนต์ของเราอย่างไรบ้างMILESTONE 1: การแข่งขันครั้งแรกในปี 1923
ผู้ชนะการแข่งขัน เลอ มองส์ ครั้งแรก ได้แก่ อองดเร ลากาช (ANDRE LAGACHE) และเรเน เลโอนาร์ด (RENE LEONARD) จากบริษัทผู้ผลิต CHENARD ET WALCKERMILESTONE 2: เชื้อเพลิงทางเลือกในปี 1949
พี่น้องตระกูล เดเลททเรซ (DELETTREZ) เป็นผู้นำรถยนต์เครื่องดีเซลลงแข่งขันเป็นครั้งแรกMILESTONE 3: ดิสค์เบรค ในปี 1953
แจกวาร์ บริษัทผู้ผลิตจากเมืองผู้ดี ได้พัฒนาประสิทธิภาพของเบรคโดยการติดตั้ง ดิสค์เบรค แถมคว้ารางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศมาครอบครองMILESTONE 4: ยางแบบ “สลิค” ในปี 1967
มิเชอแลง แนะนำให้ชาวโลกได้รู้จักกับยางที่มีลักษณะผิวเรียบลื่น ทำให้รถยึดเกาะถนนแห้งได้ดีขึ้นMILESTONE 5: เครื่องยนต์เทอร์โบ ในปี 1974
โพร์เช นำรถติดเครื่องยนต์เทอร์โบตัวแรก ลงสนามแข่ง เลอ มองส์ ให้พลังขับเคลื่อนมากขึ้นโดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณเท่าเดิม และชนะการแข่งไปได้อย่างสวยงามMILESTONE 6: ไฮบริดรุ่นแรกๆ ในปี 1998
อเมริกัน ดอน พานอซ (AMERICAN DON PANOZ) ออกแบบรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และเครื่องยนต์ แต่ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันMILESTONE 7: ชัยชนะของเครื่องดีเซล ในปี 2006
รถยนต์ เอาดี อาร์ 10 กลายเป็นรถซึ่งขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลคันแรก ที่ชนะการแข่งขันรายการ เลอ มองส์ โดยวิ่งเป็นระยะทางกว่า 6,400 กม. และใช้เวลาทั้งสุดสัปดาห์ในการเดินทางMILESTONE 8: การคว้าชัยของไฮบริด ในปี 2012
เพียง 6 ปีให้หลัง เอาดี ได้ทลายกำแพงแห่งเทคโนโลยีอีกครั้ง เมื่อ เอาดี อาร์ 18 อี-ทรอน ได้กลายเป็นผู้ชนะคันแรกที่ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดMILESTONE 9: ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่าครั้งใด ในปี 2016
โพร์เช คว้าถ้วยรางวัลประจำปี 2016 กลับไปด้วยรถที่ลดอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงลงถึง 7 % ต่อการวิ่ง 1 รอบ ซึ่งเหนือกว่าปีก่อนๆ ที่เพียงแค่ประหยัดภายใต้ขอบเขตกติกาใหม่MILESTONE 10: การแข่งขันรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ในปี 2030
เนื่องจากรถในตระกูลไฮบริดกำลังถูกผลักดันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ฉะนั้นจึงทำนายได้เลยว่า รถต้นแบบในอนาคตไม่เกิน 15 ปีข้างหน้านี้ จะต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบแน่นอนเลอ มองส์: สนามทดลองเทคโนโลยี
การแข่งขันระดับโลก 24 ชั่วโมง คือ แหล่งทดสอบเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต
- ที่ปัดน้ำฝน ถูกนำมาทดลองใช้ครั้งแรกในรายการแข่งขัน เลอ มองส์ ปี 1953
มุมมองจากนักแข่ง: นิค แทนดี
นักแข่งมืออาชีพจากสหราชอาณาจักร ผู้คร่ำหวอดในวงการ จีที และรถแข่งระดับทอพ เคยคว้าชัยในการแข่งขันระดับโลกหลายรายการ รวมถึง เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง และเดย์โทนา 24 ชั่วโมง
- นิค แทนดี เป็นหนึ่งในนักแข่งรถมืออาชีพจากสหราชอาณาจักร ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด
“เทคโนโลยีช่วยทำให้เราเห็นความแตกต่าง ระหว่างนักแข่งที่เก่ง กับนักแข่งขั้นเทพ ได้ชัดเจนขึ้น”
การขับรถแข่งทุกวันนี้ ต้องใช้ความอึดมากไหม ?
สิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยตระหนักกัน คือ คุณต้องเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก ถึงจะขับรถแข่งสมรรถนะสูงๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสนาม ฟอร์มูลา วัน หรือ เลอ มองส์ เพราะรถมันแรง และมีแรงยึดเกาะแน่น แถมยังวิ่งด้วยความเร็วสูง ดังนั้น แรงปะทะที่เกิดขึ้นกับตัวรถ และคุณ มันจะรุนแรงมาก (เราพูดกันหลายครั้งถึงแรง G) คุณจะต้องแข็งแรงมากพอ ไม่ใช่เพียงเพื่อต้านทานแรงปะทะทางร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณลำคอ เท่านั้น แต่คุณยังต้องรักษาสมาธิ เพื่อพารถทะยานไปให้ได้อย่างรวดเร็วกว่ารถคันอื่นๆ ด้วยเหตุนั้น เราจึงมีการฝึกฝนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับส่วนต่างๆ ของร่างกายอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ลำตัว หลัง หน้าท้อง และสภาพหัวใจเทคโนโลยี เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการรถแข่งนานแค่ไหนแล้ว ?
แน่นอนว่า เทคโนโลยีทำให้รถเร็วขึ้น แต่ก็มีบางด้านเหมือนกัน ที่เทคโนโลยีถูกจำกัดไว้ไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามมากเกินไปนัก ด้วยเหตุผลทางการแข่งขัน ซึ่งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนบทบาทของบรรดานักแข่งรถไปหลายอย่าง เช่น ทุกวันนี้เราไม่ได้เปลี่ยนเกียร์โดยใช้แพทเทิร์น H แบบเดียวกับที่รถบนท้องถนนใช้อีกแล้ว แต่เราเปลี่ยนเกียร์ด้วยการดึงก้านที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังพวงมาลัยแทน ซึ่งมันง่ายกว่าเดิมมากทีเดียว การเข้ามามีบทบาทของระบบอีเลคทรอนิคส์ อาจฟังดูน่าเบื่อ แต่มันก็ทำให้มีตัวแปรใหม่ๆ มาให้เราได้ลองเล่นมากขึ้น ซึ่งก็น่าตื่นเต้นดี นอกจากนั้น เทคโนโลยียังทำให้การแข่งรถปลอดภัยยิ่งขึ้น คุณต้องไม่ลืมว่า ในยุค 1960-1970 การแข่งรถเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งก็เกิดอันตรายถึงชีวิต แล้วมันก็เปลี่ยนไปมากในตอนนี้ อย่าเข้าใจผมผิดนะ นักแข่งทุกคนยังเข้าใจดี ว่าทุกครั้งที่พวกเขาก้าวขึ้นไปนั่งบนรถ หมายถึงพวกเขากำลังเสี่ยงอันตราย เพียงแต่มันมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่าเมื่อก่อน มาช่วยป้องกันไม่ให้เราบาดเจ็บ หรือเป็นอะไรที่ร้ายกว่านั้น รถมันคุยกับเราได้แล้วทุกวันนี้ คุณสามารถเห็นได้จากจอแสดงผลเลยว่า เครื่องยนต์ หรือยาง อยู่ในสภาพเช่นไร ซึ่งในทางตรงกันข้าม มันก็ลบข้ออ้างของเราไปได้หมดเลยเหมือนกัน ถ้าถึงวันที่เกิดจะซวยขึ้นมาการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ช่วยให้งานของคุณง่ายขึ้นหรือไม่ ?
ถ้าพูดถึงในแง่การขับรถ มันยากขึ้นนะ เพราะมันมีอะไรที่ต้องเรียนรู้เยอะขึ้น แต่ก็ช่วยทำให้เราเห็นความแตกต่าง ระหว่างนักแข่งที่เก่ง กับนักแข่งขั้นเทพ ได้ชัดเจนขึ้น มันไม่ใช่แค่การกระโดดขึ้นรถและขับให้เร็วอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการเรียนรู้ระบบอันซับซ้อนของรถที่ขับ และใช้มันเพื่อบรรลุถึงประสิทธิภาพอันสูงสุดของตัวรถ ในการลงแข่งรายการ เลอ มองส์ 24 ชั่วโมง ด้วยรถต้นแบบ คุณต้องใช้ปริมาณเชื้อเพลิงในอัตราส่วนที่เท่ากันต่อการวิ่งแต่ละรอบ ดังนั้น คุณไม่สามารถแค่พุ่งทะยานไปด้วยความเร็วเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องหาบาลานศ์ของมันให้เจอแทน อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยเราได้ดี ดไรวิง ซิมูเลเตอร์ ซึ่งทุกวันนี้มันสมจริงมาก เราจะนั่งอยู่กับมันเป็นชั่วโมงๆ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น เพื่อเรียนรู้เส้นทางของสนามแข่ง ถ้าเราไม่เคยแข่งที่นั่นมาก่อน นอกจากนั้น เรายังใช้ซิมูเลเตอร์ในการพัฒนาแนวทางในการขับรถ และในบางกรณี ก็ใช้ทดลองเปลี่ยนการตั้งค่าบางอย่างของตัวรถ ถ้าไม่มีเทคโนโลยีพวกนั้น เราก็คงจะต้องกลับมาใช้วิธีเดาสุ่ม เมื่อมาถึงสนามแข่งเหมือนเดิมคุณคิดว่าอนาคตของวงการรถแข่ง จะดำเนินไปในทิศทางใด ?
ผมยังไม่คิดว่าเราจะได้เห็น รถพลังไฟฟ้าเต็มรูปแบบในรายการ เวิร์ลด์ เอนดูรานศ์ แชมเพียนชิพ (WEC) แต่น่าจะได้เห็นเทคโนโลยีไฮบริดมากขึ้นแน่นอน มันจะเร็วขึ้น เหมาะกับการแข่งขันมากขึ้น และน่าจะเขย่าขวัญแฟนๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน รถจะเป็นอะไรที่วางใจได้มากขึ้น ดังนั้นผู้ที่ต้องถอนตัวระหว่างการแข่งขันก็น่าจะมีให้เห็นน้อยลง หลายๆ คนอาจกังวลว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของเทคโนโลยี จะเป็นการก้าวก่ายการแข่งขัน แต่ตรงกันข้าม ผมว่ามันช่วยให้วงการรถแข่ง ไม่ว่าจะรูปแบบไหน มีความน่าตื่นเต้นมากขึ้น สำหรับผู้ชม- แทนดี เชื่อว่า เทคโนโลยีเพิ่มภาระให้กับนักแข่งรถ แต่มันก็ทำให้การแข่งรถน่าตื่นเต้นขึ้นสำหรับผู้ชม
อินดี 500: คือ รายการแข่งขันที่ดีที่สุดในโลก
คำคุยโว ของรายการแข่งขันจากสหรัฐอเมริกา ที่มีวิวัฒนาการมากว่า 100 ปี
คุณคงไม่คิดว่าเราจะได้อะไรมากมายจากการแข่งขันภายในระยะทาง 4 กิโลเมตร บนสนามแข่งรูปไข่ แต่รายการ อินเดียนาโพลิส 500 (INDIANAPOLIS 500) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ อินดี 500 (INDY 500) นั้นได้โลดแล่นอยู่ในวงการรถแข่งมากว่า 100 ปีแล้ว และได้เป็นพยานรู้เห็นนวัตกรรมอันโดดเด่น ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์มากมาย เป้าหมายหลักของรายการ อินดี 500 นั้นคือ การศึกษาค้นคว้า หลังจากสร้างสนามแข่งในปี 1908 เจ้าของร่วมอย่าง คาร์ล จี ฟิชเชอร์ (CARL G FISHER) ก็ได้เชิญบรรดาผู้ผลิตรถยนต์มาทดสอบความเร็วกันที่สนามทางตรงแห่งนี้ หลังจากนั้นในปี 1911 รายการแข่งขัน อินดี 500 อันโด่งดังก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องวิ่ง 200 รอบ โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ซึ่งระยะทาง 500 ไมล์ (800 กม.) ได้กลายมาเป็นชื่อของรายการในภายหลัง นวัตกรรมใหม่ๆ ได้เริ่มต้นขึ้นทันที เริ่มจากกระจกมองหลังบานแรกในการแข่งขันปี 1911 รวมถึงช่วงปี 1920 ที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์อย่าง เฟียต บิวอิค และเมร์เซเดส-เบนซ์ เริ่มทดสอบเทคโนโลยีซูเพอร์ชาร์จ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ เมื่อเวลาล่วงเลยไปอีกหลายปี ไม่ใช่แค่สมรรถนะของรถยนต์ที่เริ่มดีขึ้น แต่ยังรวมไปถึงอัตราการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย นักแข่งคนแรกที่แข่งขันจนจบโดยไม่มีการหยุดเพื่อเติมน้ำมันเลย เป็นสตันท์แมนชื่อ คลิฟฟ์ เบอร์เกียร์ (CLIFF BERGERE) ในปี 1941 แม้จะมีกฎยินยอมให้รถที่มีเครื่องยนต์ และถังน้ำมันขนาดเล็ก จอดเติมน้ำมันได้ก็ตาม ในปี 1952 รถแข่งคันแรกที่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบชาร์เจอร์ก็ได้ถูกออกแบบขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องบินรบ จากสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงปี 1970 ปีกต้านลมก็ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มแรงกดให้รถยึดเกาะกับพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ก่อนจะได้มาซึ่งวิวัฒนาการเหล่านี้ ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน อุบัติเหตุจากการขับขี่ซึ่งร้ายแรงถึงชีวิต เกิดขึ้นกว่า 50 ครั้ง นับเป็นตัวเลขสูงที่สุด เมื่อเทียบกับรายการแข่งขันอื่นๆ ทุกวันนี้ รถยนต์ที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการ อินดี 500 มีลักษณะคล้ายคลึงกับรถแข่งในรายการ ฟอร์มูลา วัน เป็นอย่างมาก แม้เครื่องยนต์จะมีขนาดใหญ่กว่าก็ตามอนาคตของผู้เข้าแข่งขัน อินดี 500
โมเดล แอล 500 อาร์ ไฮบริด ของ เปอโฌต์ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อแนวคิดของรถแข่ง ในรายการแข่งขันแบบพรีเมียร์ ในสหรัฐอเมริกาพลังขับเคลื่อน ไฮบริด
โมเดล แอล 500 มีกำลังทั้งหมด 500 แรงม้า โดย 270 แรงม้า มาจากน้ำมันเชื้อเพลิง มารวมกับ 230 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ตรงแกนล้อทั้ง 2 ข้างระบบผู้ช่วยคนขับเต็มรูปแบบ
ตัวรถจะมีแค่ 1 ที่นั่งเท่านั้น แต่ระบบผู้ช่วยคนขับจะคอยช่วยเหลือจากระยะไกลผ่านเฮดเซทน้ำหนักเบา
แม้จะต้องบรรทุกเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้าถึง 2 ตัว แต่ แอล 500 อาร์ ก็มีน้ำหนักตัวรวมเพียง 1,000 กก. เท่านั้นI-COCKPIT
ออกแบบมา ในลักษณะของแคพซูลที่เคลื่อนไปมาได้ ด้านในมีพวงมาลัย และจอโฮโลกราฟิคลดความสูง
บอดีของรถแข่งอนาคตคันนี้ มีความสูงเพียง 1 เมตรเท่านั้น ส่งผลให้มีแรงฉุดต่ำ และรักษาสภาพแรงโน้มถ่วงได้ดี- เปอโฌต์ แอล 500 อาร์ ไฮบริด อาจเป็นอนาคตของวงการรถแข่ง
- เปอร์โฌต์ แอล 500 อาร์ ไฮบริด สามารถเคลื่อนที่ในระยะทาง 1,000 ม. ได้ภายในเวลาเพียง 19 วินาที
รู้หรือไม่ ผู้ชนะการแข่งขัน อินดี 500 จะต้องดื่มนมจากขวดใน LAP สุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย ธรรมเนียมนี้ริเริ่มโดย หลุยส์ เมเยอร์ ในปี 1936
จากสนามแข่ง สู่ถนนจริง
10 เทคโนโลยี ที่มีต้นกำเนิดจากสนามแข่ง
1. ระบบลดแรงฉุด
รถแข่งในรายการ ฟอร์มูลา วัน จะมีส่วนปีกที่ปรับได้ ติดตั้งอยู่ด้านหลัง เพื่อลดแรงฉุด และเพิ่มโอกาสในการเร่งแซง ซึ่งไฮเพอร์คาร์หลายคัน ไม่ว่าจะเป็น โพร์เช 918 หรือ แมคลาเรน P1 ต่างก็นำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้กันในเจเนอเรชันปัจจุบัน2. แอโรไดนามิค
ทุกวันนี้ รถถูกออกแบบมาให้มีความเพรียวลมมากขึ้น เพื่อให้สามารถทะยานได้โดยไม่มีแรงต้านอากาศมากนัก เทคนิคนี้ถูกใช้ครั้งแรก กับรถ ฟอร์มูลา วัน แบบบาง หรือที่เรียกกันว่า สลิมไลน์3. เทคโนโลยี ดาวน์ฟอร์ศ เพื่อการยึดเกาะถนน
ปีกหลังของรถที่เห็นบ่อยๆ ในรถ ฟอร์มูลา วัน ได้ถูกนำมาใช้กับรถบนท้องถนน ตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดยมันจะช่วยเสริมสร้างแรงยึดเกาะ ให้รถไม่ลอยขึ้นจากถนนเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วสูง4. ไฮบริด เพาเวอร์
เครื่องยนต์ทุกวันนี้ สามารถทำงานร่วมกับแหล่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น เทคโนโลยีนี้ ถูกริเริ่มขึ้นในสนามแข่งรถ5. การกู้คืนพลังงาน
รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีไฮบริด และรถพลังไฟฟ้า สามารถกู้คืนพลังงานที่ใช้ไปแล้วกลับมาได้โดยการเบรค เหมือนกับรถแข่งในรายการ เลอ มองส์6. ระบบกันสะเทือนแบบแอคทีฟ
ระบบกันสะเทือนในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการกันกระแทกได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับสภาพพื้นถนนแบบต่างๆ และทำให้การขับขี่เป็นไปได้อย่างราบรื่น7. ยาง
ยางในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนดีขึ้น แม้จะมีความร้อน และวิ่งด้วยความเร็วสูง ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเพื่อลงแข่ง ตอนนี้ยางยังมีความเพรียวลมมากขึ้น และก่อให้เกิดแรงฉุดน้อยลงอีกด้วย8. ปุ่มสตาร์ทรถ
รถสมัยใหม่หลายคัน ใช้การกดปุ่มเพื่อสตาร์ท แทนที่จะใช้วิธีบิดกุญแจแบบสมัยก่อน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากรถแข่งที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อประหยัดเวลาในการสตาร์ทเครื่องยนต์นั่นเอง9. คาร์บอนไฟเบอร์
รถแข่ง ฟอร์มูลา วัน ส่วนใหญ่จะทำจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์เกือบทั้งคัน ซึ่งรถสปอร์ทในปัจจุบัน ก็เริ่มนำคาร์บอนไฟเบอร์เข้ามาเป็นส่วนประกอบแล้วเช่นกัน เพื่อให้มีน้ำหนักตัวที่เบาลง และเพิ่มความทนทาน10. เกียร์
เกียร์บอกซ์กึ่งอัตโนมัติ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการแข่งขันยุค 1970 ต่อมาจึงได้รับการพัฒนา และนำมาติดตั้งในรถสปอร์ทปัจจุบันABOUT THE AUTHOR
G
GADGET MAGAZINE
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : เรื่องเด่นจาก GADGET/HOW IT WORKS