พิเศษ
ตามรอย "พ่อหลวง" ผ่าน 4 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
4 WHEELS มีโอกาสเยี่ยมชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลายครั้ง ฉบับนี้เราขอนำ 4 โครงการพระราชดำริที่น่าสนใจใกล้กรุง มานำเสนอ เพื่อศึกษาแนวคิด และเทิดทูนความดีของพ่อหลวงสืบต่อไปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โครงการแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2495 มีพระราชดำริให้สร้าง "ถนนสายห้วยมงคล" ต. หินเหล็ก จ. ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้เกษตรกรนำผลิตผลการเกษตรออกไปขายสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นก็มีโครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรออกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงปี 2556 มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 4,447 โครงการ
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชม. ตั้งอยู่ที่ ต. คลองขุด อ. ท่าใหม่ จ. จันทบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 4,000 ไร่ จากการลงพื้นที่พบว่า ภายในโครงการได้ถูกฟื้นฟูปรับสภาพให้ดีขึ้น และมีการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน เห็นได้จากการจัดทำกระชังปลา และแปลงสาธิตการปลูกพืช เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ ให้ประชนที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ และศึกษาวิธีการทำ เพื่อพัฒนาด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำเกษตร ควบคู่กับการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกสถานที่หนึ่งใน จ. จันทบุรี ท่ามกลางธรรมชาติป่าโกงกางอันร่มรื่น มีสะพานเดินศึกษาธรรมชาติ ความยาว 1,433 เมตร ผ่านศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน สังคมพืช ไม้แสม ไม้ลำพู แปลงเพาะชำกล้าไม้ แปลงปลูกป่าไม้โกงกาง แปลงศึกษาวิจัย การเลี้ยงปลา การเลี้ยงกุ้งทะเล ที่มีการจัดการ รักษาสภาพแวดล้อมโดยระบบชลประทานน้ำเค็ม นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 ในขณะที่รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ต. เขาหินซ้อน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา ได้มีราษฎรมาเข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน หมู่ที่ 2 ต. เขาหินซ้อน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ พระองค์จึงได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง ปลูกมันสำปะหลังได้เพียงชนิดเดียว จึงทรงมีพระราชดำริ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดทำศูนย์ศึกษาตัวอย่าง เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจได้เข้าชมศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ปัจจุบันมีขอบเขตพื้นที่โครงการจำนวน 1,895 ไร่ และมีพื้นที่ขยายผลอีก 153,383 ไร่ ภายในโครงการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ คือ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ มีนกอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น นกกระยาง นกเอี้ยงปากแดง ที่นักท่องเที่ยวมักพบเห็นได้บ่อยครั้ง พื้นที่การสาธิตการพัฒนาดินทรายเพื่อการเกษตรกรรม จัดทำพื้นที่นำร่องการปลูกพืชสมุนไพร การปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่สาธิตและผลิตกล้าหญ้าแฝก พื้นที่การปศุสัตว์ เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ โคและกระบือ เพื่อนำไปให้ราษฎรโดยรอบศูนย์ฯ ไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไป มีพื้นที่จัดทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และการเกษตรผสมผสาน อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การทำบัญชี และอบรมการทำขนมจากแป้งมันสำปะหลัง และมีพื้นที่การทำประมงเลี้ยงปลา เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดต่างๆ และโดยรอบโครงการมีการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ดินและน้ำ ขุดลอกลำห้วยธรรมชาติ จัดทำทางลำเลียงน้ำประจำไร่นา อาคารชะลอน้ำล้นท่อลอดระบายน้ำ ปรับปรุงพื้นฟูพื้นที่บ่อทรายร้าง ให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และเป็นตัวอย่างสามารถพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง
โครงการหุบกระพง หรือ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกระพง เป็นโครงการพัฒนาชนบทตามพระราชประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2507 รัชกาลที่ 9 เสด็จแปรพระราชฐานพระราชวังไกลกังวล อ. หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ และทราบว่าเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง จึงโปรดรับเกษตรกรกลุ่มนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรี มล. เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำโครงการและจัดหาที่ดินในพื้นที่เขต จ. เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง ต. เขาใหญ่ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ซึ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกที่หนึ่งของ จ. เพชรบุรี ภารกิจหลักของโครงการนี้ คือ การจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ จัดแบ่งแปลงที่ดินให้เกษตรกรเป็นจำนวน 787 แปลง จากพื้นที่ 7,608 ไร่ และภายในโครงการเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการหาระบบชลประทานและการจัดสรรการใช้น้ำ โดยมีสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า 2 สถานี ระบบดูแลจัดการท่อส่งน้ำชลประทานซึ่งมีความยาว 40 กม. เชื่อมต่อไปยังอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำหุบกะพง อ่างเก็บน้ำห้วยทราย-หุบกะพง อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมาก นอกจากนี้ยังมีงานสาธิตและทดลองการเกษตร จัดทำแปลงสาธิตพืชไร่ พืชสวน ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม และปลาชนิดต่างๆ และส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ปลูกพืชสวน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพด มะเขือเทศ แตงแคนตาลูป ผักต่างๆโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ ต. สมเด็จเจริญ อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี พื้นที่โครงการฯ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน บ้านเขาหิน บ้านห้วยแม่ระวัง บ้านม่วงเฒ่า และบ้านบารมี รวมทั้งสิ้น 523 ครอบครัว มีพื้นที่โครงการประมาณ 20,625 ไร่ ผลการดำเนินงานในพื้นที่ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร ทั้งขุดสระน้ำในพื้นที่การเกษตรและขุดลอกลำห้วยเป็นระยะๆ งานพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ดำเนินการก่อสร้างถนนลูกรัง ถนนลาดยางและถนนคอนกรีทในบริเวณแปลงที่ดินทำกินและแปลงที่อยู่อาศัย จัดสร้างระบบไฟฟ้า ระบบประปา โทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม จัดสร้างโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง 1 แห่ง โรงเรียนมัธยม 1 แห่ง โรงเรียนประถมศึกษา 2 แห่ง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน 1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 แห่ง และวัดอีก 4 แห่ง จัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎร และจัดแปลงเกษตรในพื้นที่เขตส่งน้ำอ่างเก็บน้ำ แผนงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหลายชนิด และเลี้ยงสัตว์ มีการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ จัดหาอาชีพเสริมให้แก่ราษฎร ยกตัวอย่างเช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การส่งเสริมการปลูกไม้ผล และการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ เป็นต้น อีกทั้งมีโครงการปลูกป่าในพื้นที่ที่ได้จัดไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณภูเขา เชิงเขา และเหนืออ่างเก็บน้ำตามแนวคลองชลประทาน เนื้อที่ประมาณ 7,000 ไร่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา เพื่อให้สภาพป่าไม้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร นอกจากนี้ ได้ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ส่วนกลางบริเวณชุมชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่า และดูแลบำรุงรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นราชพาหนะเดินทางเข้าไปเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศLAND ROVER SERIE III
รถยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 บ่อยครั้ง ขึ้นชื่อในเรื่องของการลุย มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง สมบุกสมบัน เริ่มต้นผลิตตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในเจเนอเรชันที่ 3 หน่วยงานราชยานยนต์หลวง ได้ซื้อนำมาใช้เพื่อในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฏร ตามถิ่นทุรกันดาร ภาพที่เห็นคุ้นตาเป็นภาพที่ รัชกาลที่ 9 ทรงนั่งพิงรถบนสะพานไม้ ถามทุกข์สุขของราษฎรที่ จ. นราธิวาส แลนด์ โรเวอร์ ซีรีส์ 3 ที่รัชกาลที่ 9 ใช้ในการทรงงาน เป็นรุ่น 5 ประตู ขับเคลื่อนด้วยชุดเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ภายในรถเรียบง่าย มีจุดเด่นที่ช่วงหลังคาในห้องโดยสารสูง ทำให้โปร่งโล่งสบาย เบาะนั่งทั้งหมดยังเป็นแบบ BENCH SEAT หลังจากเบาะแถว 2 เป็นที่นั่งแบบหันหน้าชนกัน สามารถนั่งได้ 12 คน รถพระที่นั่ง แลนด์ โรเวอร์ ซีรีส์ 3 คันดังกล่าว ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปชมได้JEEP GRAND WAGONEER
ในภาพยนตร์ข่าวพระราชสำนัก หรือในภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ จะได้เห็นรถคันนี้ ภาพที่พระองค์ได้ทรงขับรถพระที่นั่งลุยน้ำท่วมจนเกือบถึงฝากระโปรงหน้า ก่อนหน้านี้พระองค์ได้ใช้รถพระที่นั่ง แลนด์ โรเวอร์ ซีรีส์ 3 ซึ่งตัวรถมีสภาพเก่า และไม่มีระบบผ่อนแรง หรือระบบอำนวยความสะดวกมากนัก ฝ่ายราชยานยนต์หลวง จึงได้สั่งซื้อ จีพ กแรนด์ แวกอนเนียร์ รุ่นนี้เข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เป็นรถที่มีอุปกรณ์ความสะดวกสบายครบครัน เช่น พวงมาลัยเพาเวอร์, เกียร์อัตโนมัติ, กระจกไฟฟ้า, แอร์จากโรงงานพร้อมฮีเตอร์ ฯลฯ เครื่องยนต์ วี 8 ระบบขับเคลื่อนแบบ 4WD QUADRA-TRAC ส่งกำลังด้วยโซ่ ปรับการใช้งานขับเคลื่อน 4 ล้อได้โดยง่าย ขับผ่านพื้นที่ทุรกันดารได้สบายขึ้น ปัจจุบัน ถูกนำไปจอดเก็บรักษา ณ หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชมABOUT THE AUTHOR
พ
พีรพัฒน์ อินทมาตย์
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)