รายงาน(formula)
เตรียมพร้อม ก่อนเดินทางไกล ฝึกอ่านแผนที่ เรียนรู้จุดเสี่ยง
พอถึงเดือนเมษายน ซึ่งมีเทศกาลสงกรานต์ ก็ได้เวลาขับรถทางไกลไปท่องเที่ยว หรือเยี่ยมญาติสนิทมิตรสหาย "ฟอร์มูลา" แนะนำวิธีการเตรียมความพร้อมทั้งการตรวจเชคสภาพรถ การอ่านแผนที่ รวมถึงจุดแวะพัก และจุดเสี่ยงในแต่ละเส้นทาง
รถพร้อมคนพร้อม
ในฐานะที่เราเป็นคนรักรถ และต้องใช้รถเพื่อเดินทางไกล สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การตรวจเชครถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้อยู่เสมอ ความจริงคำว่า "ไกล" ในที่นี้ น่าจะหมายถึง ความรู้สึกของผู้ขับ และผู้โดยสารมากกว่า เนื่องจากรถในยุคนี้ หรือแม้แต่ยุคเก่าที่ใช้งานมาแล้วเกือบ 20 ปี การวิ่งระยะทาง 3-5,000 กม. ก็ยังไม่เรียกว่าไกล ยกตัวอย่าง ไป/กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมระยะทางที่แวะเที่ยว และขับในเมือง ไป-กลับไม่น่าเกิน 3,000 กม. ระยะทางเท่านี้ไม่มากจนทำให้เกิดความเสี่ยงว่ารถจะเสียกลางทาง จนใช้งานต่อไม่ได้นะครับ เพราะรถที่เสียกลางทางจนขับต่อไม่ได้ มีไม่กี่สาเหตุ คือ ท่อน้ำ ท่ออากาศ (ท่อลม) ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง และสายพาน เกิดความเสียหาย เพราะเป็นส่วนสำคัญต่อเครื่องยนต์ เราไปป้องกันชิ้นส่วนเหล่านี้กันบีบท่อน้ำ ตรวจท่อน้ำมัน
การตรวจท่อน้ำต้องทำตอนเครื่องเย็นเท่านั้น โดยเริ่มจากท่อน้ำหลักขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบน ก่อนตรวจให้เปิดฝาหม้อน้ำให้อากาศหรือน้ำรั่วออกได้ แล้วบีบท่อน้ำให้แบน ดูเนื้อตรงรอยพับ ว่ายังเหนียวแน่นปกติดีหรือไม่ ถ้ามีรอยร้าว กรอบ รีบเปลี่ยนทันที หรือถึงสภาพยังดี แต่อายุการใช้งานเกิน 4 ปีแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนใหม่ได้เลย เพราะถ้าหมดอายุ มันก็พร้อมจะแตกได้ทุกเวลา เนื่องจากต้องรับความดันสูงในระบบหล่อเย็น ส่วนท่อน้ำมัน หรือท่อเชื้อเพลิง จะตรวจยากกว่า ให้ลองจับโก่งงอดูว่าแข็งกรอบหรือไม่ ดูโดยรอบตัวกับท่อโลหะว่ารั่วซึมหรือไม่ และถ้ายังดีอยู่แต่อายุใช้งานเกิน 5 ปีแล้ว ก็เปลี่ยนใหม่ได้เลย อย่าเสียดายเชคแผลสายพานให้ละเอียด
ให้ตรวจสอบสายพานขับปั๊มน้ำอัลเทอร์เนเตอร์ โดยดูขอบด้านข้าง และ "ท้อง" หรือสันด้านในของสายพาน ส่วนด้านนอกมักไม่มีอาการให้เห็น ข้อสำคัญต้องตรวจให้ครบทั้งเส้น จำตำหนิ หรือถ้าไม่มีก็ให้ทำตำหนิไว้ แล้วสตาร์ทเครื่องยนต์สั้นๆ ให้สายพานหมุนโดยไม่ให้เครื่องยนต์ติด เพื่อให้สายพานที่ถูกบังซ่อนในเครื่องยนต์เลื่อนออกมาจนเราสามารถตรวจได้ครบทั้งเส้น ส่วนใหญ่สายพานที่เสี่ยงต่อการขาดกลางทางจะมี "แผล" เพียงจุดเดียว ถ้าบังเอิญอยู่ในร่องพอดีก็ซวยไปครับ สายพานของแท้ยุคนี้มีคุณภาพ และอายุการใช้งานสูงมาก ถ้าถูกปรับความตึงให้ถูกต้อง จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 50,000 กม. แต่ถ้าไม่รู้ว่าใช่ของแท้หรือเปล่า และใช้งานมาแล้วเกิน 30,000 กม. ก็เปลี่ยนใหม่ได้เลยครับลมยางตามผู้ผลิตกำหนด
ลมยาง หรือความดันอากาศภายในยาง ต้องถูกต้องตามผู้ผลิตรถกำหนด ถ้าไม่ตรง ขอให้คิดไปในทางเกินไว้ก่อน ไม่มีผลเสียครับ นอกจากสะเทือนกว่าที่ควร การวัดค่านั้น ให้วัดตอนยางยังไม่ร้อน เช่น ช่วงเช้าที่อากาศยังไม่ร้อน หรือตอนที่รถหยุดวิ่งมาแล้วพักใหญ่ จะได้ค่าถูกต้องแม่นยำที่สุด เพราะในขณะที่ยางร้อนจากการบิดตัวของหน้ายางแก้มยางกับผิวถนน ความดันจะเพิ่มขึ้น 2-4 ปอนด์/ตารางนิ้ว เช่น จาก 32 เป็น 35 หรือ 36 ถ้าเจอแบบนี้ไม่ต้องไปปล่อยออกครับ ผู้ผลิตรถเขาคำนวณถึงเรื่องนี้ไว้แล้วใช้ความเร็วเดินทางให้เหมาะสม
เลือกความเร็วในการเดินทางให้เหมาะสม (ไม่ควรขับเกินที่กฎหมายกำหนด) ตามสถานการณ์ เช่น บริเวณทางร่วมทางแยก เขตชุมชน หรือสถานที่ที่มีรถหนาแน่น สถานการณ์แบบนี้ไม่ควรใช้ความเร็วสูงเกินไป ควรชะลอความเร็วลง จนรู้สึกว่าปลอดภัย จึงเริ่มใช้ความเร็วปกติได้ และถ้าอยากถึงที่หมายโดยเร็ว ไม่ต้องขับเร็วเป็นพิเศษ และไม่ต้องพยายามแซงรถคันอื่นไปตลอดทาง นอกจากจะลดเวลาเดินทางได้ไม่มากแล้ว ยังมีแต่จะเพิ่มอันตราย และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงด้วย เพียงแค่อย่าแวะพร่ำเพื่อ และใช้เวลานาน ให้พักเฉพาะผู้ขับ และผู้โดยสารเท่านั้นเว้นระยะห่างให้พอดี
สิ่งสำคัญในการขับรถทางไกล คือ การรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า และที่สำคัญก็เพราะเราไม่สามารถเริ่มเบรคได้พร้อมกับรถคันหน้า และอาจจะเบรคได้ไม่ดีเท่ารถคันหน้าด้วย เพราะทันทีที่รถคันหน้าเบรค ความเร็วจะลดลงทันที แต่รถของเรายังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ ดังนั้นรถก็จะพุ่งเข้าใส่รถคันหน้า และกว่าที่ร่างกายจะสั่งงานให้เริ่มแตะเบรค รถของเราก็เข้าใกล้ท้ายรถคันหน้าแล้ว ถ้าเราเว้นระยะห่างไว้น้อยกว่าที่จะต้องใช้ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุทั้งเรา และผู้ร่วมใช้ถนนด้วย ซึ่งตามมาตรฐานสากลนั้น เขากำหนดให้เว้นระยะห่างจากท้ายรถคันหน้าไว้ที่ครึ่งหนึ่งของความเร็ว เช่น ขับตามหลังอยู่ 100 กม./ชม. ควรเว้นระยะห่างที่ 50 เมตรพักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ขับรถต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ใช่ต้องออกเดินทางตอนตี 5 แต่ตี 2 ยังนั่งสังสรรค์อยู่ คิดว่าค่อยไปนอนเต็มที่ในคืนถัดไป แบบนี้มีสิทธิ์ "หลับใน" ได้ครับ การหลับขณะขับรถเดินทางไกลนั้นอันตรายที่สุด ที่สำคัญยังนำพาผู้ร่วมโดยสาร และผู้ร่วมใช้ถนนเสี่ยงอันตรายไปกับเราด้วย ดังนั้นเมื่อใดที่เกิดอาการสัปหงกวูบแรก ต้องหยุดรถในที่ปลอดภัยทันทีครับ และต้องทำตัวให้หายง่วงเร็วที่สุด เพราะนี่คือสัญญาณเตือนว่าเราได้ก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปในโลงแล้ว หยุดพักล้างหน้า หาเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนดื่มทันที ผู้ร่วมเดินทางก็มีส่วนร่วมได้ครับ คือ อย่าปล่อยให้ผู้ขับอยู่คนเดียว หาเรื่องเบาๆ มาชวนคุยเป็นช่วงๆ ก็ได้วางแผนเส้นทาง ฝึกอ่านแผนที่
หลังจากเตรียมตัวเดินทางไกลไปแล้ว ก็มาถึงการวางแผนเส้นทางกันบ้าง ปัจจุบันแม้จะมีเครื่องมืออีเลคทรอนิคส์มากมายที่ช่วยนำทางอย่างสมาร์ทโฟน หรือเครื่องนำทาง (NAVIGATOR) แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็มีข้อเสีย และข้อบกพร่องอยู่เยอะ เพราะมันจะคำนวณเส้นทางที่สั้นที่สุดไว้ก่อน บางครั้งถ้าเราใช้นำทางในเส้นทางต่างจังหวัด มันจะพาลัดเลาะเข้าป่าลงทุ่งเอาได้ ดังนั้นผู้ขับ อย่างน้อยต้องรู้เส้นทางและวางแผนมาก่อนระดับหนึ่ง ถึงค่อยใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วย ถ้าจะให้สมบูรณ์ควรดูจาก "แผนที่" ที่ออกโดยสมาคมทางหลวงแห่งประเทศไทย แผนที่นี้มีประโยชน์มากมาย แต่น่าเสียดายที่หลายคนยังใช้ไม่เป็น ดูแผนที่ไม่ออก "ฟอร์มูลา" ขออาสาพาคุณไปเรียนรู้เองเลือกสถานที่ กำหนดเส้นทาง
การอ่านแผนที่นั้น ถ้าเราเปิดหน้าแรกๆ เขาจะอธิบายสัญลักษณ์ต่างๆ ในแผนที่ว่าหมายถึงอะไร ถนนสีนี้ หมายถึงอะไร ระยะทางจากจังหวัดนี้ไปอีกจังหวัดหนึ่งประมาณเท่าไร รวมถึงป้ายเตือนต่างๆ ถ้าเราจะเดินทาง สิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ "สถานที่ที่จะไป" แผนที่ถูกแบ่งออกเป็นโซน หรือภาคต่างๆ ตามแต่ขนาดของกระดาษเล่มนั้น ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการไปดอยอินทนนท์ เราต้องรู้ก่อนว่าดอยอินทนนท์อยู่จังหวัดใด แล้วเราก็เปิดไปที่จังหวัดนั้น สมมติว่าเราเปิดไปแล้วบังเอิญดอยแห่งนี้มันตกขอบกระดาษ ดูไม่ค่อยถนัด ก็ให้ย้อนไปเปิดอีกหน้าหนึ่งที่ติดกัน ก็จะเห็นดอยอินทนนท์ชัดเจนขึ้น ส่วนการเลือกถนน หรือเส้นทางก็เช่นกัน ควรเลือกถนนสายหลัก หรือถนนสายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับแรก แต่ถ้าเห็นว่าเส้นทางสายหลักนั้นเป็นเส้นทางที่อ้อม ก็อาจใช้เส้นทางที่รองลงมาก็ย่อมได้ เพื่อจะได้ประหยัดเวลาในการเดินทาง ในทางกลับกัน กรณีที่ถนนสายหลักมีปริมาณรถคับคั่ง และติดขัด เราสามารถเปิดแผนที่เพื่อเลือกเดินทางในเส้นทางสายรองได้ ซึ่ง ณ เวลานั้น คงเป็นทางที่สะดวกและรวดเร็วกว่า ถ้าเราอ่านแผนที่จนชำนาญ หาเส้นทางสำรองได้เยอะ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนเส้นทางสายหลักทางหลวงหมายเลขตัวเดียวบอกอะไร ?
สมัยก่อนการตั้งชื่อถนน จะใช้ชื่อสกุลของบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางนั้นๆ มาตั้ง แต่ต่อมาเกิดความสับสน และไม่รู้ว่าถนนนั้นอยู่ส่วนไหนของประเทศ จึงได้นำหมายเลขมาใช้กำกับถนนหลวงสายต่างๆ โดยมีหลักจำอยู่นิดเดียว คือ ทางหลวงที่มีเลขตัวเดียว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ซึ่งปัจจุบันมี 4 สาย คือ 1. ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคเหนือ จากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่ จ. เชียงราย 2. ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก จ. สระบุรี และไปสิ้นสุดที่ จ. หนองคาย 3. ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคตะวันออก ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่ จ. ตราด และ 4. ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) เป็นถนนสายหลักที่ไปสู่ภาคใต้ ตั้งต้นจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่ อ. สะเดา จ. สงขลา ถ้าเข้าใจหลักการแล้วเราจะทราบได้เลยว่า ทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 1 แสดงว่าอยู่ในภาคเหนือ และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยเลข 2 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคเหนือ รวมถึงภาคกลาง ทางหลวงที่ขึ้นต้นด้วยเลข 3 อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคใต้ และสุดท้ายทางหลวงสายที่ขึ้นต้นด้วยเลข 4 อยู่ในภาคใต้แล้วทางหลวงที่มีหมายเลข 2 ตัวขึ้นไปล่ะ ?
หมายเลขทางหลวงนั้น มีสูงสุด 4 ตัว หรือ 4 หลัก ทางหลวงที่มีเลข 2 ตัว เป็นทางหลวง หรือทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลักตามภาคต่าง ๆ เช่น ทางหลวงหมายเลข 22 สายอุดรธานี-นครพนม (ทางหลวงสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ทางหลวงเลข 3 ตัว เป็นทางหลวงสายรอง เช่น ทางหลวงหมายเลข 315 สายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา (เป็นทางหลวงสายรองในภาคกลาง) และสุดท้ายทางหลวงที่มีเลข 4 ตัว เป็นทางหลวงที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น เช่น ทางหลวงหมายเลข 4006 หมายถึง ทางหลวงในภาคใต้สายแยกทางหลวงหมายเลข 4 (ราชกรูด-หลังสวน) เป็นต้นจุดเสี่ยง ! ต้องระวัง
แต่ละเส้นทางมักมีจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ใช้รถใช้ถนนควรรู้เส้นทางเหล่านี้ จะช่วยให้ระมัดระวัง และเตรียมตัวได้ทัน จะมีจุดเสี่ยงในเส้นทางที่คุณจะเดินทางหรือไม่ ไปดูกันภาคเหนือ
- ถนนสายเอเซีย 101 เขตเมืองแพร่ เส้นนี้เป็นเขาสูง บริเวณเนินโจ้โก้แม่หล่าย เป็นทางขึ้นเนินและเข้าโค้ง มักมีหมอกหนาในตอนเช้า แนะนำให้เปิดไฟหน้า และลดความเร็ว - ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงเขาพะวอ (กม.23-30) และดอยรวก (กม.64-70) จ. ตาก เส้นทางส่วนใหญ่ผ่านเนินเขาลาดชัน คดเคี้ยว สองข้างทางเป็นป่าทึบ และเป็นเส้นทางสำคัญการขนส่งไปยังประเทศเมียนมาร์ มีรถขนส่งจำนวนมาก แนะนำให้ลดความเร็ว เพราะเป็นทางโค้งประกอบกับอยู่ในช่วงลงเขา - ทางหลวงหมายเลข 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย ตั้งแต่ดอยนางแก้ว อ. เวียงป่าเป้า ไปจนถึง บ้านปางแฟน อ. ดอยสะเก็ด รวมระยะทางประมาณ 10 กม. เป็นทางลงเขาลาดชัน เส้นทางคดเคี้ยว ในบางจุดต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 40 กม./ชม. เพราะหากขับเร็วและผู้ขับขี่ไม่ชินเส้นทางอาจเสี่ยงเกิดอันตราย ที่ผ่านมาจุดนี้มีสถิติเกิดอุบัติเหตุแล้วกว่า 300 ครั้งภาคกลาง
- ทางหลวงหมายเลข 225 จาก อ. บึงสามพัน จ. เพชรบูรณ์ ผ่านเขาพังเหย มุ่งหน้าสู่ อ. หนองบัวระเหว จ. ชัยภูมิ เป็นทางช่วงลงเขาพังเหย (กม. 181-185) มีความลาดชันระยะยาว และมีโค้งหักศอก ซึ่งมักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งจากปัญหาสภาพรถที่ไม่สามารถควบคุมได้ และจากรถที่ขับสวนขึ้นมาในช่องทางที่แคบตามเชิงสันเขา - ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงสะพานพ่อขุนผาเมือง (กม. 347-375) จ. เพชรบูรณ์ จุดนี้เป็นทางลงเขา ประกอบกับโค้งรูปตัวเอส (S) ยาวต่อเนื่องประมาณ 3 กม. ต่อเชื่อมกับสะพานคอนกรีทข้ามเขา ขนาด 2 ช่องจราจร หากเกิดอุบัติเหตุตกลงไป จะเป็นเหวลึกมากกว่า 50 เมตร ให้ลดความเร็วเป็นดีที่สุด - ทางหลวงหมายเลข 35 บริเวณสะพานแม่น้ำท่าจีน (กม. 28-32) จ. สมุทรสาคร เป็นเส้นทางเข้าเมืองสมุทรสาคร บริเวณนั้นเป็นย่านชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีจุดเข้า-ออกทางขนานหลายแห่ง และที่เห็นบ่อยครั้ง คือ มักมีรถจักรยานยนต์วิ่งย้อนศรจำนวนมาก ทำให้รถที่ขับขึ้นสะพาน หรือมาทางโค้ง อาจมองไม่เห็นผู้ที่ขับย้อนศรได้ในระยะไกลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ถนนมิตรภาพ ช่วง กม. 224-241 อ. สีดา จ. นครราชสีมา มักเกิดอุบัติเหตุรถตกถนนบ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่บริเวณจุดนี้เป็นทางตรง และแยกทางสัญจรระหว่างทางขาขึ้นและขาล่องไว้อย่างชัดเจน สภาพถนนเรียบได้มาตรฐาน อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการหลับใน เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดกึ่งกลาง ระหว่างรถที่วิ่งมาจากกรุงเทพฯ และรถที่วิ่งมาจากภาคอีสาน ประกอบกับถนนที่เป็นทางตรง ระยะทางประมาณ 17 กม. - ถนนมิตรภาพ ช่วงแยกกุดกว้าง จ. ขอนแก่น อยู่ก่อนถึงตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 8 กม. ช่วงเทศกาลมีรถติดขัดหนาแน่น ให้ระวังรถที่กำลังออกจากทางคู่ขนาน และรถที่ชะลอตัวเพื่อเลี้ยวเข้าหมู่บ้านกุดกว้าง ที่ห่างจากแยกไปประมาณ 30 เมตร และมักมีจักรยานยนต์ขับย้อนศรในบริเวณนี้ภาคตะวันออก
- ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงอุทยานทับลาน (กม. 42-45) จ. ปราจีนบุรี เป็นเส้นทางผ่านภูเขา มีความคดเคี้ยวและลาดชัน มีรถบรรทุกจำนวนมาก เคลื่อนตัวได้ช้า รถยนต์จึงจำเป็นต้องแซงรถบรรทุกขณะขึ้นเขา และรถฝั่งที่สวนทาง ส่วนใหญ่มาด้วยความเร็วสูง เพราะเป็นช่วงลงเขา หากจะขับแซงช่วงขึ้นเขาต้องมองระยะการแซงให้ปลอดภัยมากขึ้น - ทางหลวงหมายเลข 348 ช่วงอรัญประเทศ-โนนดินแดง ระหว่าง กม. 76-79 ต. ทัพราช อ. ตาพระยา จ. สระแก้ว ลักษณะสภาพเป็นทางขึ้น/ลงลาดชัน โค้งตัวเอส มี 2 ช่องจราจรภาตใต้
- ทางหลวงหมายเลข 4197 ช่วงโค้งบางโสก (กม. 5+400-8+680) จ. พังงา เป็นทางโค้งลาดชัน หากขับรถมุ่งหน้าสู่พังงา ต้องขับรถขึ้นเนินเขาไปก่อน แล้วจึงเจอโค้งนี้ หากเดินทางจากพังงา ไป อ. ปลายพะยา เป็นทางลงเขา ต้องชะลอความเร็วก่อนที่จะถึงโค้งนี้ - ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงโค้งหนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี (กม. 365+013-365+113) และช่วงโค้งสายเพชรเกษม (กม. 389+700-390+000) จ. ประจวบคีรีขันธ์ เป็นทางโค้งต่อเนื่อง และมีจุดกลับรถอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รถที่มาจากทางตรง มาด้วยความเร็วสูง ควรระมัดระวังในจุดนี้ - ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ช่วง กม. 417 บริเวณศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ มักเกิดเหตุรถยนต์เสียหลักหมุนตกข้างทางบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นทางโค้งขึ้นเนินติดต่อกันถึง 3 โค้ง และถนนจะถูกบีบแคบลงเรื่อยๆ และเป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกใช้สัญจรจำนวนมากเหนื่อย เมื่อยล้า !
แวะพักที่ศูนย์บริการทางหลวง
การเดินทางไปต่างจังหวัดของยุคนี้นั้น มักนิยมแวะพักในปั๊มน้ำมันเป็นหลัก เพราะนอกจากจะสะดวกและหาง่ายแล้ว ยังเป็นจุดรวมของกิน ทั้งคน และรถ แต่เมื่อเทศกาลมาถึง ปั๊มน้ำมันเหล่านี้จะแออัดไปด้วยรถมากมาย ต่างคนต่างใช้ต่างแย่งกันทำธุระ "ฟอร์มูลา" ขอแนะนำสถานที่ที่จัดไว้สำหรับรถปริมาณเยอะๆ อย่างศูนย์บริการกรมทางหลวง จะมีที่ไหนบ้าง ไปดูกันเลยศูนย์บริการทางหลวงขุนตาน จ. ลำปาง
ศูนย์บริการทางหลวงขุนตาล เป็นที่รู้จักกันดี และนิยมแวะพักสำหรับผู้ที่เดินทางสู่ภาคเหนือไปยัง จ.ลำพูน และ จ. เชียงใหม่ เพราะสองข้างทางที่ผ่านมาเป็นป่าเขา ไม่มีจุดแวะพัก เมื่อมาถึงศูนย์บริการทางหลวงขุนตาน จะมีร้านอาหาร ห้องน้ำ และของฝากหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ไว้คอยบริการ ตั้งอยู่ที่ ต. เวียงตาล อ. ห้างฉัตร จ. ลำปาง บนทางหลวงหมายเลข 11 ซูเพอร์ไฮเวย์ ลำปาง-เชียงใหม่ ระหว่าง กม. 33+420-กม. 33+577ศูนย์บริการทางหลวงลำตะคอง จ. นครราชสีมา
ศูนย์บริการทางหลวงลำตะคอง ตั้งอยู่ที่บริเวณริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ต. หนองสาหร่าย อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา บนทางหลวงหมายเลข 2 สระบุรี-นครราชสีมา กม. ที่ 85 ห่างจากตัว จ. นครราชสีมาประมาณ 65 กม. โดยที่นี่เป็นจุดบริการแวะพักที่ครบครัน ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ และสามารถปรึกษาเส้นทางการเดินทางได้จากเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามศูนย์บริการทางหลวงชัยนาท จ. ชัยนาท
สำหรับท่านใดที่เดินทางสู่ภาคกลางตอนบน หรือภาคเหนือ มีศูนย์บริการทางหลวงชัยนาท ไว้ให้แวะพัก ซึ่งมีศูนย์บริการน้ำมัน ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ไว้คอยบริการ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 32 ต. อู่ตะเภา อ. มโนรมณ์ จ. ชัยนาท อยู่ใกล้เคียงกับสี่แยกชัยนาท-สี่แยกหางน้ำสาคร ระหว่าง กม. 185+504+กม. 185+604ศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ จ. ประจวบคีรีขันธ์
เมื่อขับรถมุ่งสู่ภาคใต้ ช่วง จ. ประจวบคีรีขันธ์ จะเป็นเส้นทางตรงต่อเนื่อง และผู้ที่เดินทางมักขับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน สามารถแวะพักได้ที่ศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ ตั้งอยู่ที่ ต. ไชยราช อ. บางสะพานน้อย จ. ประจวบคีรีขันธ์ บนทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขตรอยต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร กม. 431+400-กม. 432+200 อยู่บริเวณเกาะกลางถนนขนาดใหญ่ มีน้ำดื่ม ชากาแฟ และห้องน้ำไว้คอยบริการศูนย์บริการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 มอเตอร์เวย์
ศูนย์บริการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี ถ้าจะแวะพักที่นี่ สังเกตได้ง่ายๆ ขับไปตามถนนมอเตอร์เวย์ ที่ กม. 49 หรือเมื่อข้ามสะพานแม่น้ำบางปะกงแล้ว ก็ให้ชิดซ้ายได้เลย มีป้ายบอก "จุดพักรถ" แลเห็นได้ชัดเจน โดยที่นี่เป็นแหล่งขายของฝากขึ้นชื่อ มีห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหาร ไว้บริการจำนวนมากABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี Formula
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2560
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)