บีเอมดับเบิลยู เรียกเซกเมนท์รถกิจกรรมกลางแจ้งของตัวเองว่า SPORTS ACTIVITY VEHICLE (SAV) โดยใช้รหัส X กำกับหน้ารุ่น และมีตัวเลขต่อท้ายบ่งบอกระดับความใหญ่โตของตัวถัง ก่อนหน้านี้มีเพียง เอกซ์ 1/เอกซ์ 3/เอกซ์ 5 ต่อมาเสริม "รุ่นเลขคู่" เพื่อบ่งบอกความเป็นสปอร์ทคูเป ไม่เว้นแม้รถประเภทลุย เริ่มจาก เอกซ์ 6 และปรับเรียกตัวเองเป็น SPORTS ACTIVITY COUPE (SAC) ส่วนครั้งนี้ถึงเวลาปั้นดาวรุ่งดวงใหม่ที่มีขนาดเล็กลง ส่ง เอกซ์ 4 เสริมทัพเตรียมประกบคู่แข่งเพื่อนร่วมสัญชาติตัวเล็กลงอย่าง มากัน ของ โพร์เช และ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสยูวี คูเป ที่เตรียมปล่อยสู่ตลาดเร็วๆ นี้เอสยูวี คูเป ขนาดกลางของค่ายใบพัดสีฟ้าขาวคันนี้ มีขนาดตัวใกล้เคียงกับ เอกซ์ 3 มีความกว้างและระยะฐานล้อเท่ากันพอดี แต่มีความยาวและเตี้ยกว่าอยู่ 14 มม. และ 54 มม. ตามลำดับ สำหรับผมแล้วหุ่นมันดูแปลกตาเมื่อเห็นครั้งแรก แต่จะค่อยๆ รู้สึกสวยเปรี้ยวและลงตัวขึ้น เมื่อมองจนชินตาและได้ทดลองขับ ภายในห้องโดยสารเลือกใช้วัสดุอย่างดี บ่งบอกคุณภาพรถในตระกูล บีเอมดับเบิลยู เบาะนั่งด้านหน้าต่ำกว่า เอกซ์ 3 อยู่ 20 มม. เน้นความสปอร์ท ตำแหน่งที่นั่งด้านหลังขนาดพอเหมาะ นั่งสบาย มีพื้นที่เหนือศีรษะเพียงพอสำหรับพวกเราชาวเอเชีย และไม่ได้รู้สึกคับแคบเหมือนกำลังนั่งอยู่ในรถคูเปแม้แต่น้อย น่าเสียดายที่ไม่มีด้ามโหนจับบริเวณหลังคา ขาดจุดยึดสำคัญเวลาโชเฟอร์สาดโค้งแรงๆ หรือขณะลุยปีนไต่เขา แต่กลับมีตะขอเล็กๆ สำหรับแขวนเสื้อผ้าให้มาแทน ผมประทับใจความรู้สึกที่ได้จากการขับขี่ มันเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีล่าสุดจากเมืองมิวนิค เลยทีเดียว พวงมาลัยให้ความรู้สึกเนียน ละเอียด และมีน้ำหนักดี ควบคุมได้ตามสั่ง เกียร์สเตพทรอนิค 8 จังหวะ ตอบสนองรวดเร็วทันใจ คล้ายเกียร์อัตโนมัติแบบคลัทช์คู่ ขณะอยู่ในโหมด COMFORT ปรับเปลี่ยนเกียร์ได้นุ่มนวล แทบไม่รู้สึกร่องรอยการเปลี่ยนเกียร์ แต่ในโหมด SPORT และ SPORT+ นั้นกระแทกกระทั้น สร้างความเร้าใจได้ทันทีที่กดปุ่มเลือก คันเร่งตอบสนองทันใจ เข้าโค้งมั่นใจ หนึบแน่น ลบปมด้อยเดิมๆ ของ เอสยูวี ร่างสูงโย่งไปหมดสิ้น ในโหมด COMFORT ช่วงล่างนั่งสบาย นุ่มนวล ซ่อนเร้นรอยหยาบต่างๆ ของพื้นผิวถนน จนนึกว่ากำลังนั่งอยู่ในรถหรูคันอื่น แต่ทุกโหมดที่ปรับนั้น ปิดตาก็พอคาดเดาได้ว่า มันคือน้ำเสียงจาก เครื่องยนต์ในตระกูล บีเอมดับเบิลยู หวาน ไพเราะเสนาะหู เรียกร้องให้เราเติมรอบจัดอยู่เสมอ เครื่องยนต์ ทวินเพาเวอร์ เทอร์โบ มีทั้งแบบเบนซิน และดีเซล ให้เลือกรวม 6 แบบ ในรุ่นเบนซิน มี 3 รุ่นย่อย คือ เอกซ์ดไรฟ 20 ไอ (4 สูบ 1,997 ซีซี 184 แรงม้า), เอกซ์ดไรฟ 28 ไอ (4 สูบ 1,997 ซีซี 245 แรงม้า) และเอกซ์ดไรฟ 35 ไอ (6 สูบ 2,979 ซีซี 306 แรงม้า) ส่วนรุ่นดีเซล มี 3 รุ่น ดังนี้ เอกซ์ดไรฟ 20 ดี (4 สูบ 1,995 ซีซี 190 แรงม้า) เอกซ์ดไรฟ 30 ดี (6 สูบ 2,993 ซีซี 258 แรงม้า) เอกซ์ดไรฟ 35 ดี (6 สูบ 2,993 ซีซี 313 แรงม้า) เรียกว่าในรุ่นเบนซินนั้นมีขนาดเครื่องยนต์ให้เลือกเหมือนใน ซีรีส์ 4 กรัน ตูริสโม ทุกประการ แต่ในรุ่นดีเซลกลับมีเครื่องแรงจัดจ้านให้เลือกมากกว่า ทั้งหมดนี้มาพร้อมระบบขับเคลื่อน เอกซ์ดไรฟ และเกียร์อัตโนมัติ สเตพทรอนิค 8 จังหวะ ยกเว้น เอกซ์ดไรฟ 20 ไอ รุ่นเดียวที่มีเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะเป็นมาตรฐาน แต่มีเกียร์สเตพทรอนิค 8 จังหวะ ให้เป็นตัวเลือก สะดวกสบายด้วยระบบ ADAPTIVE CRUISE เริ่มทำงานที่ความเร็ว 30-40 กม./ชม. ช่วยให้การเดินทางผ่านการจราจรหนาแน่นเป็นเรื่องเล็ก เพราะมันจะเร่งและปรับลดความเร็วตามคันหน้าเอง ด้านหลังมีระบบแกว่งเท้าเพื่อเปิดฝาท้าย ช่วยให้การยกของขึ้นรถขณะมือทั้งสองไม่ว่างเป็นไปได้ ในเมืองไทยคาดว่าราคาค่าตัวน่าจะอยู่ไม่ห่างจาก เอกซ์ 3 และไม่เกิน เอกซ์ 5 ส่วนถ้าจะให้เดาอนาคต รุ่น เอกซ์ 2 และ เอกซ์ 7 คงออกตามมาอีกไม่นานเกินรอ เพราะรหัสเก๋งในตระกูลนี้เรียงรุ่นครบ 1-7 แล้ว แต่เซกเมนท์ขาลุยนี้ ยังขาดอีก 2 เลขเท่านั้นเอง
บทความแนะนำ