ทดลองขับต่างแดน
บีเอมดับเบิลยู เอม 3 /เอม 4
ผมตอบรับคำเชิญโดยไม่ลังเล เมื่อรู้ว่าจะได้ไปลอง เอม 3 ซีดาน และ เอม 4 คูเป "สองตัวแรง แฝดคู่เหมือน" ที่โปรตุเกสการเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมนึกถึงเมื่อครั้งไปลอง บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 4 ช่วงปีกลาย ที่เมือง กาสกาอิส (CASCAIS) แต่หนนี้เขาเลือกเมือง ฟาโร (FARO) ทางตอนใต้สุดของประเทศโปรตุเกส และพิเศษกว่าตรงที่เขาเตรียมรถรหัส เอม ให้เราได้ลองพร้อมๆ กันถึง 2 รุ่น อันที่จริงแล้ว มันคือ เอม 3 เจเนอเรชัน 5 เปิดตัวครั้งแรกในประวัติศาสตร์พร้อมกัน 2 รุ่น ซีดานเรียกว่า เอม 3 ส่วนคูเปเรียก เอม 4 นอกเหนือจากจำนวนประตูแล้ว สองพี่น้องมีความเหมือนกันอย่างกับแกะ ฝากระโปรงหน้าปั๊มนูน เพิ่มดีกรีความดุดัน บ่งบอกความแรงใต้กระโปรงตั้งแต่แรกเห็น ทั้งคู่มีโป่งซุ้มล้อหน้าและบั้นท้ายหนาขนาดใหญ่ พอที่จะซุกล้อและยาง 275/40 ZR18 ได้สบาย มีความกว้างฐานล้อ และความแรงเท่ากันพอดี แต่มีมิติตัวถังต่างกันเล็กน้อย (เอม 4 แคบกว่า 7 มม. เตี้ยกว่า 41 มม.) และน้ำหนักตัวเบากว่ารุ่นซีดานอยู่ 23 กก. ครั้งนี้เขาเลือกเส้นทาง ฟาโร-ปอร์ติมาว เมืองตากอากาศชายทะเล ตอนใต้สุดของประเทศ ซึ่งมีถนนหลวง 4 เลนใหม่เอี่ยม กว้างขวาง สะดวกสบาย เรียบ โล่ง ยาว แถมรถน้อย ช่างเป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับการลิ้มลองรถร้อนแรงรหัส "เอม" ยิ่งนัก บีเอมดับเบิลยู ใจถึง ยื่นกุญแจให้พวกเรา ควบ คู่แฝดนี้ ถึง 2 วันเต็มๆ กลุ่มเราโชคดีที่วันแรกเป็นเส้นทางถนนหลวง ไฮเวย์ และทางโค้งขึ้นเขา เป็นโอกาสที่ได้ปรับความรู้สึก ปรับตัวเข้าหารถ จนคุ้นเคย ก่อนจะถึงคิวเข้าสนามแข่งในวันที่ 2 เรียกได้ว่ามีโอกาสฝึกทักษะ "ทรอท ม้าป่ากันจนเชื่องมือก่อนจะ ควบ จริง สัมผัสสมรรถนะเต็มที่ในสนามแข่ง โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับเรื่องการจำกัดความเร็วบนถนนหลวง เป้าหมายการทดลองขับครั้งนี้ มีไฮไลท์อยู่ที่การขับในสนามแข่ง ALGARVE INTERNATIONAL CIRCUIT ความยาวรวม 4.6 กม. สนามแห่งนี้มีความท้าทาย และอันตราย มีจุดล่อแหลมหลายจุด เนื่องจากโค้งส่วนใหญ่มักถูกซ่อนเอาไว้หลังเนินชัน พอพ้นช่วง ชูท ทำความเร็วสูง โค้งแคบก็โผล่มาแบบไม่ทันตั้งตัว สนามนี้เคยถูกใช้จัดแข่งขันรายการใหญ่ๆ หลายรายการ ผ่านมาตรฐานทั้ง FIM และ FIA ซึ่งผมอยากจะใช้โควตาหน้าทั้งหมดเล่าประสบการณ์ให้ฟังอย่างละเอียดครับ ความรู้สึกตื่นเต้นขณะรอเรียกชื่อเพื่อรับกุญแจรถทั้ง 2 คันนี้ในสนามแข่ง คงไม่ต่างอะไรกับเด็กที่กำลังยืนเข้าคิวรอขึ้นรถไฟเหาะในดิสนีย์แลนด์ 2 รอบแรกเป็นการวิ่งดูไลน์ ขับตามนักแข่งมืออาชีพ เขาอธิบายคุณสมบัติรถ สภาพสนาม เทคนิคการควบคุมรถ และข้อควรระวัง ผ่านวิทยุสื่อสาร หลังจากนั้นปล่อยให้เราสนุกกับมันอย่างเต็มที่ 3 รอบ แล้วค่อยปิดท้ายด้วยการวอร์มดาว์นวิ่งช้าๆ อีก 1 รอบก่อนกลับเข้าพิท วิศวกรพัฒนารถรุ่นนี้จากหลายสิ่งที่เคยเป็นไปไม่ได้ "ให้เป็นไปได้" ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดทำให้ขนาดตัวใหญ่ขึ้น แต่เบาลง เครื่องเล็กลงแต่แรงขึ้น แถมยังประหยัดกว่าเดิม 25 % ซึ่งกุญแจสู่ความสำเร็จนี้ต้องยกนิ้วให้ เครื่องยนต์ทวินเพาเวอร์ และการ เข้ายิม อย่างเคร่งครัด โดยลดน้ำหนักตัวลงกว่า 80 กก. วัสดุหลายจุดถูกแทนที่ด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ CFRP และอลูมิเนียม(ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง เหนียว และมีน้ำหนักเบา) บริเวณหลังคาใช้คาร์บอนไฟเบอร์ทั้งแผ่น ตัดกับสีสดของตัวรถ ชุดช่วงล่าง และชิ้นส่วนประกอบตัวถังใช้อลูมิเนียมน้ำหนักเบา เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง ทวินเพาเวอร์ ขนาด 2,979 ซีซี ให้กำลัง 431 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ภายในเวลา 4.1 วินาที (ออพชันเกียร์ 7 จังหวะคลัทช์คู่) เครื่องตัวนี้มีขนาดเล็กลงกว่ารุ่นก่อน และจำนวนกระบอกสูบยังหดหายไปอีก 2 สูบ แต่กลับให้พละกำลัง และแรงบิดมากขึ้น จากเดิมเครื่องยนต์ วี 8 สูบ 3,999 ซีซี 420 แรงม้า 400 นิวตัน-เมตร ส่วนเครื่องตัวใหม่นี้ขับแรงบิดได้สูงถึง 500 นิวตัน-เมตร ที่ 1,850-5,500 รตน. เรียกได้ว่า มาเร็ว มามาก และอยู่นาน ดัดนิสัย อืดอาด ของเทอร์โบจนแทบไม่เหลือร่าง ให้ความยืดหยุ่นดีขณะเร่งแซง ตอบสนองได้เร็ว เมื่อใดก็ตามที่คิคดาวน์ มันจะดันหลังคุณแนบชิดติดเบาะตั้งแต่ 1,850 รตน. ลากยาวจนกว่าจะถอดใจถอนคันเร่ง ข้อเสียเพียงอย่างเดียวของเครื่องยนต์ขนาดเล็กลงนี้ คือ น้ำเสียง ของมันขณะเบิลเครื่องจอดนิ่งอยู่กับที่ ฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าเกรงขามสักเท่าไร แต่เมื่ออัดกันจริงๆ ในสนาม แบบมีโหลด แบกน้ำหนัก เพียงแค่การเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ หรือกดคันเร่งจมมิด เสียงเครื่องยนต์หวานบาดหูจะเริ่มเปลี่ยนเป็นเสียงคำราม "โหดดิบ" หนักแน่น เอาจริงเอาจัง ตั้งแต่แถวๆ 4,000 รตน. ไปจนถึงขีดแดง ซึ่งพอจะปลุกเร้าอารมณ์ให้ขนลุกขนพองได้ไม่น้อย ผมใจหายวาบเมื่อแตะเบรคเบาๆ ในโค้งแรก แล้วมีอาการเหมือนเอาไม่อยู่ ต้องกดให้ลึกกว่าปกติ แต่เมื่อผ่านการเบรคต่อเนื่องไปสัก 3-4 โค้ง อุณหภูมิจานเบรคเซรามิคเริ่มร้อนขึ้น ก็จะให้ความมั่นใจและหากลองเบรคหนักๆ ติดๆ กันหลายครั้ง ก็จะพบว่ามันอึดขึ้น และไม่มีอาการเฟดแต่อย่างใด ระบบถ่ายทอดกำลังมีให้เลือก 2 แบบ เกียร์ธรรมดา 6 และ 7 จังหวะ คลัทช์คู่ M DCT (DOUBLE CLUTCH TRANSMISSION) ผมประทับใจเกียร์ 3 เพราะมีอัตราทดยืดหยุ่นดีมาก โดยเฉพาะที่สนามแห่งนี้ เราสามารถเรียกใช้งานได้แทบทุกโค้ง เกียร์เดียวลากยาว แช่ได้ทั้งโค้งไม่ว่ากว้าง หรือแคบ มีกำลังส่งต่อเนื่อง ยืดหยุ่นสูง ทำให้การเหนี่ยวรั้งกอดโค้งเป็นเรื่องง่าย เกียร์ตัวนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 เขาพัฒนาให้ตอบโจทย์ทั้งการใช้งานหนักในสนามแข่ง และวันชิลล์ๆ กับครอบครัว สามารถปรับตั้งความไวในการตอบสนองของเกียร์ได้ 3 ระดับ ขีดเดียวนุ่มนวลเหมือนรถบ้าน 2 ขีดเร็วเหมือนรถสปอร์ท แต่ถ้า 3 ขีด สับเกียร์ไวและแรงกระชากวิญญาณหลุด ถ้าใจไม่แข็งพอ รอบที่ 4 หลังเริ่มคุ้นเคยกับสนาม เขาอนุญาตให้ผมลองกดปุ่ม SPORT+ อาการของรถเปลี่ยนไป เห็นได้ชัดว่า มันก้าวร้าวขึ้น และเมื่อถึงจุดวิกฤต มันยอมผ่อนผันความเข้มงวดของระบบช่วยเหลือต่างๆ ลงครึ่งหนึ่ง แทรกแซงช้าลง เปิดโอกาสให้หน้ายางกว้างขนาด 275/40 ZR18 หมุนฟรีขณะเข้าโค้งเกินความเร็วเหมาะสม อาการพยศท้ายสะบัด ดีดดิ้น พอให้ได้สัมผัส และทันทีที่อาการโอเวอร์สเตียร์แบบ "เอาอยู่ เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที ระบบช่วยเหลือต่างๆ รุมเข้าแทรกแซงในทันที เพื่อควบคุมอาการรถก่อนที่จะสายเกินไป ระบบ LAUNCH CONTROL ช่วยให้การออกตัวจากจุดหยุดนิ่งทำได้ในเวลาต่ำสุด เทียบเท่าความเร็วที่ทำได้จากเกียร์ธรรมดาเลยทีเดียว ระบบ THE SMOKEY BURNOUT ปล่อยให้ล้อหลังหมุนฟรี ที่ความเร็วต่ำ เพื่อความสนุก สำหรับนักดริฟท์ และยังมีระบบ ACTIVE M DIFFERENTIAL ที่ล้อหลัง ควบคุมให้ล้อหลังทั้ง 2 ข้างแปรผัน หรือหมุนเท่ากัน พร้อมระบบ STABILITY CLUTCH CONTROL ระบบทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจิกเกาะโค้ง มีหน้าที่ยึดโยงโครงสร้างเนื้อยางเข้ากับพื้นผิวถนน งานนี้ยางแก้มเตี้ยต้องรับบทหนักเพื่อให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับพื้นถนนมากที่สุด ควบคุมอาการพยศให้อยู่ในระดับที่เป็นมิตร แต่เมื่อเปิดระบบช่วยเหลือให้ทำงานเต็มสูบ รถขับหลัง แรงดุดิบ คันนี้จะเปลี่ยนอาการเป็นอันเดอร์สเตียร์ หรือหน้ามุดโค้ง กลายเป็นรถเชื่องมืออย่างกับคนละคัน เคล็ดลับความแรงของรถรหัส เอม" คือการแปลงรถบ้านให้เป็นรถแข่งที่ขับชิลล์ๆ ได้ทุกวัน ควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเคร่งครัด การปรับทูนเครื่องยนต์ให้ถึงขีดสุดของสมรรถนะ ปรับโครงสร้างตัวถังและระบบรองรับให้เข้าขากับความแรงที่เพิ่มมา สำหรับผมแล้วคู่แฝด เอม ทั้ง 2 คันนี้ เสมือนเครื่องสร้างความสนุก ที่ขับไปได้ทุกที่ เมื่อใดต้องการกระตุ้นต่อมหลั่งสารอดรีนาลีน แค่คว้ากุญแจ กดปุ่มสตาร์ท แล้วขับมันออกไป จะมีติดโรงรถไว้เสมือนหนึ่งยาสามัญประจำบ้าน ก็คงไม่แปลกอะไร ถ้าราคาไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์
ภาพโดย : ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์/โรงงานผู้ผลิตนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2557
คอลัมน์ Online : ทดลองขับต่างแดน