พิเศษ
ห้ามนั่งท้ายกระบะ
คสช. ใช้มาตรา 44 สั่งแก้ไข พรบ. จราจรเกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัย โดยบังคับให้ผู้ขับ และผู้โดยสารรัดเข็มขัดทุกที่นั่ง ส่งผลไปถึงการห้ามนั่งท้ายกระบะ และใน CAB ด้วย เนื่องจากไม่มีเข็มขัดนิรภัย จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม แม้บางส่วนจะยอมรับในเรื่องความปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าการห้ามนั่งท้ายกระบะ และ CAB นั้นไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ทำให้รัฐบาลต้องยอมผ่อนปรนให้ "4 WHEELS" รวบรวมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผ่านรายงานต่อไปนี้ความหวังดี ที่ไม่ตกผลึก การออกกฎหมายบังคับใช้ ให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งเป็นเรื่องที่ควรทำมานาน การออกบังคับให้รัดแค่คู่หน้าดูเหมือนจะล้าหลังมากแล้ว เพราะผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ จะเสียชีวิตเพราะกระเด็นหลุดออกไปนอกรถเนื่องจากไม่รัดเข็มขัดนิรภัย การรัดเข็มขัดจะช่วยให้ผู้โดยสารอยู่ติดกับเบาะไม่ถูกเหวี่ยงไปตามแรงปะทะเวลาเกิดอุบัติเหตุ การที่รัฐบาลเข้ามาปรับปรุง พรบ. จราจรเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยครับ แต่การที่รัฐบาลออกกฎหมายเพิ่มเติมถึงการ "ห้ามนั่งท้ายกระบะ หรือ CAB ในกระบะ" โดยไม่ชี้แจง และใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนเสียก่อน อันนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาลทำพลาด จริงอยู่ที่รัฐบาลหวังดี ต้องการบังคับใช้กฎหมายให้ทันเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัย หวังลดตัวเลขผู้เสียชีวิต แต่เรื่องนี้มันส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของคนไทย เพราะทันทีที่รัฐบาลประกาศบังคับใช้กฎหมาย ก็เกิดกระแสคัดค้านตามมาเป็นวงกว้างทันที ประชาชนที่ใช้รถกระบะกว่า 90 % ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำมาหากิน ที่ต้องอาศัยรถกระบะบรรทุกคนในการประกอบอาชีพ เช่น รับเหมาก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้า รถส่งน้ำแข็ง รถเทศบาล ฯลฯ หรือแม้แต่รถตำรวจเอง ก็ยังต้องใช้ขนตำรวจ และผู้ต้องหา ฉะนั้นเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ แน่ กฎหมายคลุมเครือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ กฎหมายห้ามนั่ง CAB และท้ายกระบะนั้น ว่ากันว่ามีอยู่แล้วตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติ (พรบ.) รถยนต์ พศ. 2522 และ พรบ. จราจรทางบก พศ. 2522 โดยมาตรา 21 ได้พูดถึงการห้ามใช้รถที่ไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ โดยระบุว่า ห้ามใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 1,600 กก. เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ถ้าแปลเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือ ต้องใช้รถยนต์ให้ตรงตามที่ได้จดไว้ในทะเบียน เช่น ถ้าใครจดทะเบียนรถกระบะเป็นรถบรรทุก (ป้ายสีเขียว) จะเอามาบรรทุกคนไม่ได้ และถ้าใครจดทะเบียนรถกระบะเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (ป้ายสีน้ำเงิน) โดยที่ทำการต่อเติมหลังคาและมีที่นั่งชัดเจน จะนำมาใช้บรรทุกสิ่งของไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่ากฎหมายมาตรา 21 นี้ยังคงคลุมเครืออยู่มาก แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้คนโดยสารกระบะได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่ารถกระบะคันนั้นต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 คน )ป้ายสีน้ำเงิน) เสียก่อน ข้อเท็จจริงหากรถกระบะจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 คน ก็จะขนของไม่ได้ เพราะเข้าข่ายใช้รถผิดประเภทตามมาตรา 21 เช่นเดียวกับรถกระบะแบบ 4 ประตู ซึ่งต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน หรือจดเหมือนรถเก๋ง (ป้ายสีดำ) ถ้าหากนำมาขนของใส่กระบะด้านท้าย จะถือว่าใช้รถผิดประเภทหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถทำได้ (ตำรวจไม่จับ) และต่อให้รถกระบะจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (ป้ายสีน้ำเงิน) ที่คนสามารถโดยสารได้ แต่ตาม พรบ. จราจรทางบก พศ. 2522 ฉบับแก้ไขล่าสุด ที่กำหนดให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกที่นั่ง "ต้อง" รัดเข็มขัดนิรภัยจะทำกันอย่างไร เพราะไม่ได้บังคับให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในส่วนนี้ตั้งแต่แรกก่อนจดทะเบียน เรื่องนี้รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนกันอีกครั้งครับ รัฐทำความเข้าใจ ผ่อนปรนถึงสิ้นปี หลังเทศกาลสงกรานต์ ก็มีเสียงจากประชาชนถามถึงเรื่องการนั่งท้ายกระบะ และ CAB มากมาย เพราะเกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน ล่าสุด รัฐบาลรวมถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ประชุมหาทางออก เนื่องจากได้รับคำร้องเรียนจากผู้ใช้รถกระบะจำนวนมาก ว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ด้วยความจำเป็นและข้อขัดข้องหลายประการ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่ากรมการขนส่งทางบกควรพิจารณาออกหลักเกณฑ์ และวิธีการที่มีความปลอดภัยระดับหนึ่งให้กับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์กระบะบรรทุกเป็นรถยนต์โดยสารบ้างในบางโอกาส โดยมิต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะรถเป็นรถยนต์บรรทุกคนโดยสารส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง โดยเสนอทางออกเบื้องต้นให้เป็นแนวทาง 3 ข้อดังนี้ 1. ที่นั่ง CAB รุ่นที่กว้างเพียงพอให้ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย 2 หรือ 3 จุด แล้วนั่งโดยสารได้ 2. สำหรับท้ายกระบะ หากจำเป็นต้องบรรทุกคน ให้บรรทุกได้ไม่เกิน 6 คน และติดตั้งราวจับยึด หรือเข็มขัดนิรภัยเท่าที่ทำได้ 3. รถกระบะที่บรรทุกคนให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. โดยกรมการขนส่งทางบกต้องร่างระเบียบเรื่องนี้ออกมาเพื่ออะลุ่มอล่วยให้ประชาชนสามารถใช้รถกระบะบรรทุกคนได้โดยให้มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง รวมถึงให้สามารถนั่งใน CAB ได้ด้วย และเมื่อใดที่กรมการขนส่งทางบกออกกฎเกณฑ์แล้วเสร็จ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังอีกครั้งได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และคาดว่าระยะเวลาอีกประมาณครึ่งปี น่าจะเพียงพอในการประชาสัมพันธ์ และให้ประชาชนเตรียมตัว เพราะเจตนาของรัฐบาลก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และบรรเทาความรุนแรงจากอุบัติเหตุ กระบะ รถยอดนิยมของคนไทย ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีระบบขนส่งสินค้า (ลอจิสติคส์) ที่เฟื่องฟู ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการตัดถนนใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ถนนที่มีสภาพแย่ๆ ก็ยังมีอยู่เต็มไปหมด "รถกระบะ" คือ หนึ่งในทางออกที่ผูกมัดใจคนไทยสำหรับเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะมีความทนทานเป็นทุนเดิม จากการออกแบบระบบรองรับไม่ซับซ้อนแล้ว ยังมีค่าบำรุงรักษาที่ต่ำมากๆ แถมตัวรถยังมีความสูงพอที่จะวิ่งผ่านสภาพเส้นทางทุรกันดารต่างๆ ได้อย่างสบาย ที่สำคัญที่สุด คือ มีความเป็นรถอเนกประสงค์สูงมาก สามารถใช้ขนสิ่งของได้สารพัด ดังนั้น รถกระบะจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทย รถกระบะมียอดจำหน่ายมากที่สุดในกลุ่มต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี แม้ปัจจุบันจะมีราคาสูงทะลุล้านบาทไปนานแล้ว แต่ก็มีระบบความปลอดภัย และอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายเพิ่มเข้ามาไม่แพ้รถเก๋ง จดทะเบียนไม่ตรง มีความผิด การจดทะเบียนรถกระบะไม่ว่าจะ 4 ประตู หรือ 2 ประตู (มี CAB) ต้องจดให้ตรงประเภทกับการใช้งาน เพราะปัจจุบันมีรถกระบะมากมายที่ใช้งานไม่ตรงตามที่จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก เช่น นำรถกระบะ 4 ประตู ที่ขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน โดยใส่หลังคาครอบกระบะท้ายแล้วใส่เบาะนั่ง 2 ตอน 2 แถว แล้วเมื่อจดเสร็จนำไปถอดหลังคาและเบาะนั่งออก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน หรือนำรถกระบะบรรทุกไปติดโครงหลังคา แล้วนำไปใช้งาน โดยมิได้ดำเนินการทางทะเบียนให้ถูกต้อง ซึ่งถือว่าไปดัดแปลงลักษณะรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ มีความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พศ. 2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท จดอย่างไร ให้ถูกต้อง การจดทะเบียนรถกระบะนั้น หลักๆ แบ่งออกเป็นรถกระบะแบบ 4 ประตู กับรถกระบะแบบ 2 ประตู (มี CAB) รถกระบะ 4 ประตู สามารถจดทะเบียนได้ 2 ประเภท 1. กรณีที่เป็นกระบะเปล่าๆ ไม่มีการต่อเติมหลังคา จะจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ลักษณะนั่งสอบตอนท้ายบรรทุก แผ่นป้ายทะเบียนเป็นพื้นสีขาว ตัวอักษร ตัวเลขสีดำ เหมือนรถเก๋ง การจัดเก็บภาษีรถให้เก็บตามความจุกระบอกสูบ (CC) ของเครื่องยนต์ 2. กรณีที่ต่อเติมท้ายกระบะ โดยการใส่หลังคาและเบาะนั่ง ทำให้มีจำนวนที่นั่งโดยสารเกิน 7 ที่นั่ง โดยหลังคา ต้องมีความสูงจากพื้นกระบะถึงจุดต่ำสุดภายในหลังคาไม่ต่ำกว่า 120 ซม. ซึ่งทำด้วยวัสดุโลหะ ไฟเบอร์กลาสส์ หรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงเทียบเท่าวัสดุข้างต้น และต้องยึดติดแน่นหนาถาวรกับตัวรถ ส่วนที่นั่งและพนักพิง ต้องยึดติดแน่นอย่างถาวรกับตัวรถเช่นกัน โดยเบาะต้องมีความสูงจากพื้นกระบะ ถึงจุดสูงสุดของที่นั่งไม่น้อยกว่า 25 ซม. และมีความสูงจากจุดสูงสุดของที่นั่ง ถึงจุดต่ำสุดภายในหลังคาไม่น้อยกว่า 95 ซม. แบบนี้จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ลักษณะนั่งตอน 2 แถว แผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษร ตัวเลขสีน้ำเงิน การเก็บภาษีรถให้เก็บตามน้ำหนักรถ รถกระบะ 2 ประตู สามารถจดทะเบียนได้ 2 ประเภท 1. กรณีที่เป็นกระบะเปล่าๆ ไม่มีการต่อเติมหลังคา จะจดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ตามลักษณะของการใช้งาน เช่น ลักษณะกระบะบรรทุก (ไม่มีหลังคา) กระบะบรรทุก (มีหลังคา) กระบะบรรทุก (เสริมกระบะข้าง) กระบะบรรทุก (มีหลังคาปิดด้านข้าง-ท้าย) เป็นต้น แผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษร ตัวเลขสีเขียว การเก็บภาษีรถให้เก็บตามน้ำหนักรถ 2. กรณีที่มีการดัดแปลงต่อเติมกระบะท้าย โดยการใส่หลังคาและเบาะที่นั่ง จะต้องติดตั้งโครงหลังคาและจัดวางที่นั่งลักษณะสองแถว เช่นเดียวกับ ข้อ 1.2 ของรถกระบะ 4 ประตู ทำให้จำนวนผู้โดยสารมีที่นั่งเกิน 7 คน จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ลักษณะนั่ง 2 แถว แผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษร ตัวเลขสีน้ำเงิน การเก็บภาษีรถให้เก็บตามน้ำหนักรถ กระบะยุคแรก ไม่มี CAB ! รถกระบะยุคแรกๆ ที่เข้ามาผลิตในบ้านเรายังไม่มี CAB มีเพียงคนขับขี่ และคนนั่งโดยสารด้านท้ายเท่านั้น และเบาะนั่งจะเป็นเบาะยาวชิ้นเดียว คนโดยสารในยุคนั้น สามารถนั่งคร่อมเกียร์ตรงกลางได้อีก 1 คน ทำให้เวลาไปไหนมาไหน สามารถนั่งโดยสารได้ถึง 3 คน ต่อมาตลาดรถกระบะเริ่มมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ผลิตจึงได้เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จนกลายเป็นกระบะที่มี CAB โดยมี อีซูซุ เป็นเจ้าแรกที่ผลิตออกมาจำหน่าย ความคิดเห็นบางส่วน จากผู้ใช้รถกระบะ 1. นคร ทักษิณ อายุ 33 ปี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง "ผมใช้รถกระบะเพื่อขนอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นประจำ ทุกครั้งคนงานก็จะนั่งหลังกระบะ และใน CAB เพื่อไปไซด์งาน ภาครัฐออกกฎหมายมาแบบนี้ เหมือนโดนรังแก แล้วจะให้พวกคนงานเดินทางไปทำงานอย่างไร ถ้ารถกระบะนั่งได้แค่ 2 คน" 2. จุฬวิทย์ หมื่นไธสง อายุ 32 ปี อาชีพรับราชการ "ครอบครัวของเราอยู่ต่างจังหวัด และมีรถกระบะอยู่คันเดียว เวลาไปไหนก็จะนั่งข้างหน้า 2 คน และใน CAB อีก 3 คน ซึ่งนี่คือความเป็นจริงของคนในชนบท หากออกกฎหมายมาแบบนี้ จะทำให้ญาติพี่น้องไม่สามารถร่วมเดินทางไปไหนร่วมกันได้เลย" 3. พิชญา จันทรสาขา อายุ 31 ปี เจ้าของธุรกิจ "บ้านเราเป็นร้านขายของชำ และใช้รถกระบะมี CAB เป็นประจำในการซื้อของมาขาย รัฐบาลออกกฎหมายห้ามนั่งท้ายกระบะ ดิฉันเห็นด้วยเพราะอันตราย แต่ไม่ให้นั่ง CAB ไม่เห็นด้วยค่ะ ดิฉันต้องรับส่งหลาน 2 คนไปโรงเรียน ถ้าไม่ให้นั่ง CAB แล้วจะให้ดิฉันไปส่งเขาอย่างไร"
ABOUT THE AUTHOR
ว
วิธวินท์ ไตรพิศ
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2560
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)