ปัญหาระดับชาติข้อหนึ่งหนีไม่พ้น จริยธรรมนักการเมือง ซึ่งอันที่จริงก็รวมความถึง ข้าราชการด้วย แม้นขาดซึ่งจริยธรรมไปเพียงลักษณะเดียว คุณภาพคับแก้วของนักการเมือง และข้าราชการก็เหลือแต่แก้วเปล่าผมเขียนเรื่องนี้ ขณะนักการเมืองในบ้านเราส่วนมากเหลือแต่แก้วเปล่า เพราะขาดจริยธรรม เขียนไปก็ป่วยการ ไม่มีนักการเมืองแก้วเปล่ารายใดเกิดความสำนึก แต่ผมก็ทนเขียน เพราะประจวบเหมาะกับประเทศของเรามี ผู้ตรวจการแผ่นดิน คนใหม่ชื่อ พรเพชร วิชิตชลชัย เข้ารับตำแหน่งแทน ประวิช รัตนเพียร ที่ลาออกไปเป็นกรรมการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ความยาวนานแห่งอาชีพ ผู้พิพากษา 37 ปี ทำให้คุณลักษณะของผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่น่าเคารพนับถือ และจากถ้อยแถลงการรับตำแหน่งของท่าน ท่านแสดงความมุ่งมั่นต่อคำว่า จริยธรรม เป็นพิเศษ ท่านไม่อยากเห็นคำว่า จริยธรรม เป็นแค่ประโยคอันสวยหรู แต่จะเพียรพยายามทำทุกตัวอักษรที่จารึก เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติ สามารถใช้กับบรรดานักการเมือง-ข้าราชการได้จริง โดยสังคมเป็นตัวช่วย พรเพชร กล่าวว่า "จากประสบการณ์ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ ออกมาตอนแรกๆ ก็เหมือนเสือกระดาษ ไม่ว่าวิชาชีพใด แต่มันก็ต้องพัฒนาขึ้นจากความรับรู้และความรู้สึกของสังคม ซึ่งมาตรการลงโทษมันเริ่มมีการส่งสัญญาณ เช่น การแอนทีสินค้าที่ละเมิดจริยธรรม ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อก็เช่นกัน ถ้าไม่ดี เขาก็ไม่ซื้ออ่าน มันเป็นมาตรการลงโทษที่ดีที่สุด" ถูกต้องครับ สื่อมวลชน โดยเฉพาะกิจการหนังสือพิมพ์ เป็นสินค้าที่อยู่ได้ด้วยศรัทธาความเชื่อถือ พิมพ์ได้พิมพ์ไป แต่ไม่ได้หมายความว่า พิมพ์ออกมาวัน 5 หรือ 10 ล้านฉบับ จะขายได้ ทำหนังออกมาฉาย ฉายได้ก็ฉายไป แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่เข้าไปดูหนังเรื่องนั้นเป็นเพราะเจ้าของหนังไปยืนตีหัวคนหน้าโรงแล้วลากเข้าไปดู คนดูเข้าไปดูด้วยความสมัครใจ ผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ยังกล่าวด้วยว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินคงไม่มีอำนาจไปบอกจำคุก หรือปรับหน่วยงานเหล่านี้ แต่เราจะว่า ...คุณนะ หน่วยงานของคุณไม่ได้มาตรฐาน และถ้าประชาชนเชื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เขาจะใช้มาตรการทางสังคมเป็นเครื่องมือ มาตรการทางสังคมก็จะไปบีบบังคับมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพนั้น" ฟังดูเหมือนปอกกกล้วยให้ลิงกิน แต่ท่านยืนยันว่า "เช่น นักการเมือง สมมติเราพูดไปแล้วเขาไม่สนใจ แต่ประชาชนสนใจ ก็เท่ากับว่าองค์กรทางการเมืองต้องสนใจ ต้องมีมาตรการว่าถ้าทำอย่างนี้ ผมไล่ออกจากพรรค ไม่ส่งสมัคร หรือไปถึงขั้นอาญา ให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานที่ดำเนินการทางอาญา นี่แหละคือบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน" ท่านเล่าด้วยว่า เหตุผลในการเลือกทางเดินหลังจากมีคำแนะนำให้เลือกเอาระหว่าง 2 เส้นทาง คือ เป็นกรรมการเลือกตั้ง หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต. ตอนแรกผมก็สนใจ แต่ดูแล้วการเมืองมากไป โดยเฉพาะยามที่บ้านเมืองแตกแยก เมื่อตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินว่างลง ท่านประวิชลาออกไปสมัคร กกต. ผมก็มาสมัครเข้ารับการสรรหา" ท่านกล่าวว่า เราพบว่าผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายมีมากที่ใช้ข้อยกเว้นเป็นหลัก หรือบางทีอ้างข้อยกเว้นที่ภาษากฎหมายเรียกว่า ศรีธนญชัย สิ่งที่ผมวิตกกังวล คือ ถ้าสังคมไม่นับถือสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะออกไปพูดยาก เพราะจะโดนโจมตี เหมือนปัญหาบ้านเมืองทุกวันนี้ ใครพูดแง่มุมกฎหมายด้านใด ถ้าไม่ถูกใจอีกฝ่ายก็ถูกโจมตี นี่คือ พรเพชร วิชิตชลชัย หัวหน้าผู้ตรวจแถวจริยธรรมนักการเมือง-ข้าราชการ แห่งพุทธศักราช 2557...!!