วงจรชีวิตของรถเก่าเริ่มจากการถือกำเนิด “ชีวิตที่ 1” เพื่อรับใช้มนุษย์ในบทบาทต่างๆ กัน ด้วยต้นทุนวัสดุ กระบวนการผลิต คุณค่าทางใจ เมื่อซื้อสิ่งที่แตกต่างกัน ราคาจำหน่าย ความยากลำบากในการเสาะหา พลัง และค่าใช้จ่ายในการดูแล เพื่อใช้งานแตกต่างกัน ดังนั้น ปัจจัยด้าน “ชาติกำเนิด” จึงมีความแตกต่างกัน ชาติกำเนิดนี้ ถือเป็นจุดแรกของการกำหนดความเป็นรถที่จะมีคุณค่าในอนาคตและเมื่อรถยนต์ผ่านกาลเวลาอันยาวนานมาได้จนถึงปัจจุบัน สภาพ และสมรรถนะของรถรุ่นเดียวกันหลายๆ คันก็มักจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเจ้าของ ว่าจะสามารถครอบครองรถได้ดี ดูแลเป็น ไม่มีอุบัติเหตุ ไม่ชำรุดในจุดสำคัญ ถ้าเจ้าของใช้อย่างทะนุถนอม ไม่ละเลยในการบำรุงรักษา ความสด ดิบ ของรถจะสามารถส่งผ่านกาลเวลาได้ยาวนานกว่ารถรุ่นเดียวกัน ที่ปล่อยปละละเลยมากกว่า รถเก่าแต่ละคัน จะมีโอกาสกลับมาเป็นรถที่สวยงามในอนาคตได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจ้าของผู้ครอบครองให้ใช้งานได้ทุกราย ตลอดอายุ “ชีวิตที่ 1” ของเขาครับ เมื่อรถยนต์ถูกใช้งานไปจนหมดอายุ สิ้นฐานะของการรับใช้มนุษย์ทางกายภาพ สภาพของรถก็จะเสื่อมโทรมลง สตอคอะไหล่ หมดลง ช่างที่ทำงานดูแลรถรุ่นนั้นๆ ก็เติบโตขึ้น หรือจากไป จนจำนวนช่างที่เข้าใจและสามารถดูแลรถรุ่นนั้นๆ ลดน้อยหมดสิ้นไป จุดนี้ คือ การสิ้นสุด “ชีวิตที่ 1” ของรถยนต์ ตัวรถจะถูกลากนำไปทิ้ง และ ยุบย่อยเอาแต่วัสดุที่ใช้ได้ หมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ เหลือเพียงน้อยคันที่มีความสำคัญทางจิตใจต่อเจ้าของเท่านั้น ที่จะถูกเก็บไว้ในส่วนลึกของบ้าน ลดความสำคัญลงไป จน…ลืม กาลเวลาจะผ่านเลยไป สังคมจะเดินหน้าก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง ที่ยืนของรถเก่าคันดังกล่าวจะแคบลง จนไม่เหลือไว้ หลักคิด และกระบวนการผลิต แนวทางการเลือกซื้อรถของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีความเหมาะสมที่จะใช้งานในรถคันเดิมอีก รถที่จบ “ชีวิตที่ 1” ไปแล้ว จะจมอยู่ในราตรีอันมืดสนิทยาวนาน เพราะใช้งานไม่เหมาะสม ซ่อมยาก ซ่อมแพง ซ่อมไม่ได้ ไม่มีอะไหล่เหลือ จ่ายเท่ากัน ได้รถใหม่ดีกว่า ไม่เท่ เก๋หรู สารพัดเหตุผลระดมมาเป็น “ตะปูตอกปิดฝาโลง” ให้กับ “ชีวิตที่ 1” ของรถยนต์ มีเพียงบางเหตุผลเท่านั้น ที่จะปลุกชีพ รถยนต์ที่มีคุณค่าเพียงพอ ให้ฟื้นคืนสู่ “ชีวิตที่ 2” กลับมาโลดแล่น ท่ามกลางแสงแดดร่วมกันกับรถรุ่นลูก รุ่นหลาน อีกได้ ! นั่นคือ คุณค่าในตัวของรถนั่นเอง ทั้งจาก “สมบัติดั้งเดิม” คือ ความสวยงาม ประณีต ความแปลกแตกต่าง ความโดดเด่นทางวิศวกรรมที่สร้างคุณูปการต่อวงการรถยนต์ของยุคตนเอง พลังในแง่ศิลปะที่แฝงอยู่ในตัวรถ และ “พลังทางสังคมยุคปัจจุบัน” ซึ่งบางครั้งมีปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะเป็นตัวสร้างชีวิตที่ 2 ให้กับรถโบราณ รถยนต์หลายรุ่นเป็นที่นิยมในภายหลัง เพราะมันเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนดี โดยมีตัวช่วยจากความแข็งแกร่งของผู้ผลิต ที่บางครั้งต้องการนำอดีตมาส่งเสริมขบวนการด้านธุรกิจ และการตลาด ดังนั้น หลัง 30 ปี ล่วงไปแล้ว ในยุคที่สภาพแวดล้อม การใช้งาน และสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก จนรถเก่าที่พ้นยุคกลับดู โดดเด่น มีเสน่ห์ แตกต่าง และมีความหมาย ทั้งในแง่รูปทรง และสัมผัสที่ให้การขับขี่เป็นดั่งไทม์แมชีน สามารถพาเจ้าของย้อนเวลาได้ รถเก่าที่นอนสิ้น “ชีวิตที่ 1” อยู่ในความมืด บางคันที่เหมาะสม จะกลับคืนชีพขึ้นมา สู่ “ชีวิตที่ 2”…ด้วย “คุณค่า” ที่มีอยู่ในช่วงต้น “ชีวิตที่ 1” ของตนเอง ผ่าน “พลังทางสังคม” รถที่มีปัจจัยทั้ง 2 ประการ วงการรถโบราณจึงจะยอมรับว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่รถบางคันขาดปัจจัยข้อหนึ่งข้อใดไป จึงไม่ได้มี “ชีวิตที่ 2” ในวงการรถโบราณ (แต่อาจมี “ชีวิตที่ 2” กับเจ้าของของตน หรือได้รับการ “เล่น” ในกลุ่มเฉพาะแคบๆ) นี่คือเหตุผลสำคัญที่ รถเก่าครบอายุทุกคัน ไม่ได้เกิดใหม่ ไม่ได้มี “ชีวิตที่ 2” เป็น HISTORIC VEHICLE ขอเชิญมาพบกับ การคืนสู่ “ชีวิตที่ 2” ของเหล่ารถที่ทรงคุณค่า ในงานประกวดประจำปีของสมาคมรถโบราณฯ ครับ ท่านที่มีรถโบราณสวยๆ หรือหายาก อย่าจอดทิ้งไว้เฉยๆ ส่งมาร่วมประกวด หรือแสดงใน “งานประกวดรถโบราณ ครั้งที่ 42” (THE GLOSSY HERITAGE AWARD 2018) กับ สมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ WEBSITE: vintagecarclub.or.th FACEBOOK: Vintage Car Club of Thailand หรือแอดไลน์เข้ามาสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ LINE: Vintage Car Club E-MAIL: vintagecarclub@autoinfo.co.th ปิดรับสมัครวันที่ 7 มิถุนายน 2561 แล้วไปพบกับรถสวยหายากได้ที่งานนี้