เมื่อพูดถึงใบอนุญาตขับขี่ คนทั่วไปมักนึกถึงแต่ใบขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ แต่ยังมียานพาหนะทางบกอีกประเภทที่คนขับต้องมีใบขับขี่เช่นกัน นั่นคือ รถไฟเรื่องมันเริ่มจากประเทศไทยกำลังจะก่อสร้างไฮสปีดทเรน 2 เส้นทาง ได้แก่ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และไฮสปีดไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา นอกจากนี้ยังกำลังก่อสร้างทางคู่ และรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่หลายจังหวัด พอมีรถไฟก็ต้องมีคนขับ โดยเฉพาะคนขับรถไฟความเร็วสูงต้องมีทักษะพิเศษกว่าการขับรถไฟทั่วไป กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางราง จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดี-อาร์ไอ) เร่งจัดทำมาตรฐานผู้ขับเพื่อสร้างความปลอดภัย และประ-สิทธิภาพในการทำงาน พร้อมออกหลักเกณฑ์การทำใบอนุญาตขับรถไฟ แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. รถไฟฟ้าบริการภายในเมือง 2. รถไฟขนส่งสินค้าทางไกล 3. รถไฟขนส่งผู้โดยสารทางไกล และ 4. รถไฟทางไกลความเร็วสูง หลังจากนี้ กรมการขนส่งทางราง ในฐานะผู้ควบคุมมาตรฐาน และความปลอดภัยของระบบรางทั้งประเทศ จะเป็นผู้ประกาศหลักเกณฑ์ และมาตรฐานผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ของระบบราง รวมถึงผู้ขับขี่รถไฟ โดยมอบอำนาจผู้ประกอบการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือบริษัทผู้รับสัมปทาน อย่าง บีทีเอส ออกใบขับขี่ โดย กรมฯ เป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐาน ที่สำคัญ การออกใบขับขี่สำหรับผู้ขับรถไฟความเร็วสูงจะต้องมีมาตรฐาน และหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเทียบเท่ากัปตันเครื่องบิน หลายประเทศกำหนดให้สอบใบขับขี่รถ-ไฟไฮสปีดใหม่ทุก 5-10 ปี เพราะเป็นหน้าที่ที่มีความเครียดสูง และรับผิดชอบชีวิตผู้คนจำนวนมาก ข่าวไม่ได้แจ้งนะครับว่า ทุกวันนี้คนขับรถไฟบ้านเรามีใบขับขี่หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวิชาชีพการขับรถไฟไฮสปีดจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีอัตราค่าจ้างสูงถึง 50,000-80,000 บาท/เดือน พ่อแม่ทั้งหลายก็ควรสนับสนุนให้ลูกหลานขับรถไฟ เพราะนอกจากเงินเดือนงามแล้ว ยังมีใบขับขี่เป็นเรื่อง เป็นราว ดีกว่าปล่อยมันไปควบบิกไบค์ ซึ่งจนป่านนี้ยังหาข้อสรุปเรื่องใบขับขี่เฉพาะไม่ได้ !