มีผู้เข้าใจผิดว่ายางประหยัดพลังงานที่ช่วยให้รถลื่นไหลไปได้ไกลกว่า จะลื่นไถลได้ง่ายกว่าด้วย หากต้องเบรคฉุกเฉิน "ไม่จริง" นะครับ และไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย เพราะยางที่สามารถลื่นไหลไปได้ไกลกว่าเป็นเรื่องของแรงต้านทานการกลิ้ง ส่วนสิ่งที่ทำให้รถลื่นไถลได้เป็นเรื่องการยึดเกาะระหว่างหน้ายางกับผิวถนนเชื่อว่าทุกคนคงเคยเข็นรถคนเดียวมาบ้าง เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมมัน "ฝืด" ตรงส่วนไหน ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนครับ ที่สร้างแรงต้านขณะที่เราเข็น คือ หน้ายาง และแก้มยาง ที่เหลืออีกส่วน คือ แรงเสียดทานหน้าฟันเฟือง เฟืองท้าย (ถ้ามี) ห้องเกียร์ และความฝืดเบาๆ ระหว่างหน้าผ้าเบรคแผ่นนอกกับผิวจานเบรค ดังนั้นแรงต้านส่วนใหญ่จึงมาจากแรงที่เกิดขณะล้อยางกลิ้งไปบนผิวถนน แรงนี้มาจากการต้านการงอของแก้มยาง กับการยุบตัวของเนื้อยางบริเวณหน้ายาง ที่ถูกอัดกับผิวถนน ด้วยน้ำหนักของตัวรถ การที่เนื้อยางเป็น "สปริง" กระเด้งได้ ถูกบีบ หรืองอด้วยแรงตอนคลายตัว เสียดสีในเนื้อยางจนกลายเป็นความร้อน แรงต้านในการกลิ้งของล้อยางที่รถของเรานี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า แรงเสียดทานกลิ้ง หรือแรงต้านทานกลิ้ง (ROLLING RESISTANCE) ขณะที่เราขับรถ จะต้องใช้พลังงานส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ไป "สู้" กับแรงต้านทานกลิ้งนี้ ซึ่งก็คือการใช้เชื้อเพลิงส่วนหนึ่งนั่นเอง นอกนั้นเกือบทั้งหมดใช้กับแรงต้านอากาศ สัดส่วนของแรงต้านอากาศนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถครับ หากเพิ่มความเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ สัดส่วนของแรงเสียดทานกลิ้งของล้อยางก็จะลดลงไป เมื่อเทียบกับแรงต้านอากาศ พูดง่ายๆ ก็คือ ในการใช้งานในเมือง แรงเสียดทานการกลิ้งของล้อยาง มีผลค่อนข้างมาก ต่อความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ถ้าลดแรงนี้ลงได้ ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงย่อมลดลงตามไปด้วย นี่คือที่มาของการพัฒนายางแรงเสียดทานกลิ้งที่ล้อต่ำ หรือยางประหยัดพลังงาน (ENERGY SAVING TYRE) นั่นเอง หลักสำคัญในการลดแรงต้านการกลิ้งของยาง คือ การทำให้แก้มยางงอ และยืดตัวกลับได้ง่าย ซึ่งก็คือ ทำแก้มยางให้บางลง กับการทำให้หน้ายาง หรือดอกยางยุบตัวยากขึ้น เมื่อยุบตัวน้อยก็สูญเสียพลังงานน้อยตอนคืนตัว มีผู้เข้าใจผิดกันมาก ว่ายางประหยัดพลังงานที่ช่วยให้รถไหลไปได้ไกลกว่า จะลื่นไถลได้ง่ายกว่าด้วย หากต้องเบรคฉุกเฉิน ไม่จริงนะครับ และไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย อย่างหนึ่งเป็นแรงต้านการกลิ้ง ส่วนอีกอย่างเป็นเรื่องการเกาะยึดหน้ายางกับผิวถนนเมื่อต้องรับแรงเบรค