รายงาน(formula)
การ์โลส โกส์น หนี...สะท้านโลก ! จากญี่ปุ่นถึงเลบานอน
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก ส่งท้ายปลายปี 2562 ที่ผ่านมา เมื่อ การ์โลส โกส์น อดีตประธาน นิสสัน วัย 65 ปี ซึ่งถูกจำกัดบริเวณโดยอัยการญี่ปุ่น ในบ้านพักกรุงโตเกียว เพื่อรอการไต่สวนคดีคอร์รัพชันทางการเงินระหว่างดำรงตำแหน่ง ได้หลบหนีด้วยวิธีการพิเศษ ไปปรากฏตัวที่ประเทศเลบานอน
การ์โลส โกส์น: บุรุษ 3 สัญชาติ
การ์โลส โกส์น เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2497 ปัจจุบันอายุ 65 ปี (กำลังจะครบ 66 ปีบริบูรณ์) ที่ประเทศบราซิล แต่มีพ่อแม่เป็นชาวเลบานอน จึงทำให้เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่ที่กรุงเบรุท เมืองหลวง ประเทศเลบานอน ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อในฝรั่งเศส และจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก ECOLE POLYTECHNIQUE ปี 2517 และจาก ECOLE DES MINES DE PARIS ปี 2521 โดยเขาถือหนังสือเดินทางทั้งของประเทศฝรั่งเศส บราซิล และเลบานอน โกส์น ถูกจับกุมตัวจากสนามบิน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ตามหมายจับของศาลแขวงกรุงโตเกียว ในคดีละเมิดกฎหมายทางการเงิน และประพฤติมิชอบ ที่รวมถึงการเจตนาปกปิดบิดเบือนรายได้ เพื่อเลี่ยงภาษี และละเมิดต่อหน้าที่ ด้วยการถ่ายโอนความสูญเสียจากการลงทุนภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับ นิสสัน เข้าสู่ฐานข้อมูลของบริษัท และข้อหายักยอกเงิน 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (959.4 ล้านบาท) จากกองทุนของ นิสสัน ไปยังบริษัท ซูเฮล บาห์วัน ออโท โมบิลส์ (เอสบีเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนของ นิสสัน ในโอมาน เดือนมีนาคม 2562 โกส์น ได้รับการประกันตัว ด้วยหลักทรัพย์ 1,000 ล้านเยน (275.3 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวงเงินประกันตัวบุคคลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเคร่งครัดอีกหลายประการ รวมถึงการห้ามเดินทางออกจากญี่ปุ่น บ้านพักของ โกส์น เป็นตึก 3 ชั้น ในเขตรปปงงิ ในกรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ผ่านกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการส่งเทปให้ศาลตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ หากต้องการใช้คอมพิวเตอร์ ต้องเดินทางมาที่สำนักงานของทนายความ และต้องเป็นเวลากลางวันเท่านั้น ห้ามติดต่อกับภรรยา “ก่อนได้รับอนุญาต” ห้ามติดต่อกับสมาชิกทุกระดับของ นิสสัน “อย่างเด็ดขาด” และต้องแจ้งให้ศาลพิจารณาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เมื่อต้องการเดินทางออกจากกรุงโตเกียว โกส์น ถูกกล่าวหาจากอัยการญี่ปุ่น 4 ข้อหา โดย 2 เรื่องแรก เป็นเรื่องเงินค่าจ้างนับพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ได้รับโดยไม่ถูกระเบียบ และอีก 2 ข้อหา เกี่ยวกับการใช้เงินบริษัท ไปในเรื่องส่วนตัว หากถูกตัดสินว่าผิดจริงทั้ง 4 คดี เขาจะต้องโทษจองจำอย่างน้อย 15 ปี และถูกปรับเป็นเงินราว 150 ล้านเยน หรือประมาณ 43.5 ล้านบาท ทนายความ และภรรยาของ โกส์น ต่างกังวลว่า โกส์น จะไม่ได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง โกส์น ต่อสู้ว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเนื่องจากผู้บริหารของ นิสสัน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางราย ต้องการให้เขาลงจากตำแหน่ง เพื่อป้องกันการตัดสินใจควบรวมกิจการของ นิสสัน กับ เรอโนลต์ ขณะเดียวกัน อัยการโตเกียว ออกประกาศจับ แครอล โกส์น ภรรยาของ การ์โลส โกส์น กรณีอดีตสามี หลบหนีการควบคุมตัวไปจากประเทศญี่ปุ่น นั่นหมายความว่า แครอล ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในเลบานอน จะถูกจับกุมทันทีที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าพนักงานระบุว่า แครอล โกส์น ให้การด้วยข้อมูลที่ผิดพลาดในศาล เมื่อเดือนเมษายน ในห้วงเวลาที่ได้ประกันตัว โกส์น ไม่สามารถพบปะภรรยาได้ในญี่ปุ่น เพราะเจ้าพนักงานเชื่อว่า เธอเป็นผู้ที่ช่วยปกปิดหลักฐานต่างๆ ที่ โกส์น กระทำไว้ โดย โกส์น กล่าวกับ ฟอกซ์ บิสิเนสส์ หลังหลบหนีแล้วว่า “นั่นคือฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐที่ขาดลอย”ลำดับเหตุการณ์ “หนี...สะท้านโลก” โตเกียว-โอซากา-อิสตัลบูล-เบรุท
1. การ์โลส โกส์น ออกจากที่พักราว 14.30 น. สวมหมวก และหน้ากากป้องกันฝุ่น ในลักษณะเดียวกับชาวญี่ปุ่นทั่วไป พร้อมเพื่อนหลายคน เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ออกจากสถานี ชินากาวา กรุงโตเกียว ราว 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันที่ 29 ธันวาคม 2562 ไปยังกรุงโอซากา ใช้เวลาราว 2-4 ชม. 2. จากสถานี ชิน-โอซากา พวกเขานั่งแทกซีไปกบดานอยู่ในโรงแรมใกล้สนามบินคันไซ จนกระทั่งได้เวลาเดินทางไปขึ้นเครื่องบินเจทส่วนตัวที่สนามบินคันไซ ราว 23.10 น. โดยภาพในกล้องวงจรปิด ไม่มี โกส์น รวมอยู่ด้วย 3. เครื่องบินเจท ออกจากสนามบินคันไซ บินไปยัง กรุงอิสตันบูล และเปลี่ยนเครื่องบินต่อไปยังกรุงเบรุท โดยศุลกากรที่สนามบินคันไซ ไม่ได้เอกซ์เรย์กล่องบรรจุเครื่องดนตรี ความสูงมากกว่า 1 เมตร ซึ่งเชื่อกันว่า โกส์น อยู่ภายในกล่องนั้น โดยระบุว่า กล่องมีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถผ่านเครื่องเอกซ์เรย์ได้การ์โลส โกส์น สูง 173 ซม. ซุกตัวในกล่องเครื่องดนตรี ขนาดยาว 1.8 ม.
แม้จะยังคงเป็นความลับว่า โกส์น ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่คนญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุด สามารถเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร แต่บรรดาสำนักข่าว ออกมาระบุตรงกันว่า โกส์น เดินทางด้วยเครื่องบินเจทส่วนตัว ซึ่งเป็นของ MNG HOLDING ประเทศตุรกี พร้อมแหล่งข่าววงในระบุว่า มีการเปลี่ยนเครื่องบินเป็นอีกลำหนึ่ง โดย โกส์น เข้าไปอยู่ในกล่องเครื่องดนตรีระหว่างการเคลื่อนย้าย ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 การ์โลส โกส์น เผยแพร่แถลงการณ์ โดยแจ้งไปยังสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยืนยันการอยู่ในประเทศเลบานอน เป็นที่เรียบร้อย และปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดในการเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่น และเลบานอน ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน ความเป็นไปได้ในการที่อดีตนักธุรกิจใหญ่ซึ่งถือสัญชาติเลบานอน ฝรั่งเศส และบราซิล จะเดินทางกลับมาขึ้นศาลตามกำหนดในเดือนเมษายน 2563 “จึงแทบเป็นศูนย์” สถานีโทรทัศน์เอนเอชเค รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลเลบานอน ว่า โกส์น ใช้เอกสาร “ที่เป็นชื่ออื่น” เพื่อเดินทางด้วยเครื่องบินเจทส่วนตัวจากญี่ปุ่นมายังกรุง เบรุท เธอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหลงข่าวว่า โกส์น “หลบหนี” ออกจากญี่ปุ่น เพราะไม่เชื่อมั่นว่าจะได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม และเดินทางผ่านตุรกีเข้ามายังเลบานอน และสำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า ศาลแขวงกรุงโตเกียวไม่ได้ยกเลิกคำสั่งห้าม โกส์น เดินทางออกจากญี่ปุ่น จากการสอบสวนของเจ้าพนักงานอัยการ ภาพจากกล้องวงจรปิดใกล้ประตูหน้าบ้านของเขา แสดงให้เห็นว่า โกส์น เดินทางออกจากที่พัก เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2562 ก่อนหน้านี้ เจ้าพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ค่าย นิสสัน จ้างมาเป็นพิเศษให้คอยติดตาม โกส์น ได้ถูกระงับการติดตาม หลังจากทนายความของ โกส์น ร้องเรียนว่า ละเมิดความปลอดภัยส่วนบุคคล อัยการโตเกียว ได้ร้องขอให้ศาลระงับการประกันตัว โกส์น ก่อนหน้านี้เช่นกัน แต่ศาลแขวงกรุงโตเกียว ยืนยันว่า การตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และยกเลิกพาสสปอร์ท ของ โกส์น เป็นการเพียงพอแล้ว กรมตำรวจเลบานอน ได้รับ “หมายแดง” จาก อินเตอร์โพล ระบุว่า ต้องการตัว การ์โลส โกส์น เพื่อไปดำเนินคดีที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ กรมตำรวจตุรกี เรียกตัวผู้ต้องสงสัย 7 คน รวมทั้งนักบิน 4 คน เข้ารับการสอบสวน เพื่อตรวจสอบการเดินทางเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินของ โกส์น ที่สนามบินอิสตันบูล ก่อนเดินทางต่อไปยังกรุงเบรุท ส่วนในกรุงโตเกียว ทนายความของ โกส์น ระบุว่า เขาเพิ่งได้รับทราบข่าวการหายตัวไปของ โกส์น ในข่าวภาคเช้า ขณะที่ไม่มีความเคลื่อนไหวจากกรมตำรวจ และเจ้าพนักงานต่างๆ เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นของการหยุดงาน 3 วัน ในช่วงปีใหม่ รายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ เอนทีวี (NTV) ระบุว่า การ์โลส โกส์น ออกจากที่พักราว 14.30 น. สวมหมวก และหน้ากากป้องกันฝุ่น ในลักษณะเดียวกับชาวญี่ปุ่นทั่วไป เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ออกจากสถานี ชินากาวา กรุงโตเกียว ราว 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันที่ 29 ธันวาคม ไปยังกรุงโอซากา โดยแหล่ง ข่าวระบุว่า มีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยหลายคน และจากสถานี ชิน-โอซากา เขานั่งแทกซีไปพักในโรงแรมใกล้สนามบินคันไซ และขึ้นเครื่องบินเจทส่วนตัวที่สนามบินคันไซ ราว 23.10 น. เครื่องบินเจท ออกจากสนามบินคันไซ บินไปยัง กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี และมีการเปลี่ยนเครื่องอีกครั้ง เพื่อบินต่อไปยังกรุงเบรุท ประเทศเลบานอน โดยศุลกากรที่สนามบินคันไซ ไม่ได้ทำการเอกซ์เรย์กล่องบรรจุเครื่องดนตรี ความสูงมากกว่า 1 เมตร ซึ่งภายใต้กฎหมายของญี่ปุ่น สายการบิน มีหน้าที่รับผิดชอบเอกซ์เรย์ ตรวจสอบสิ่งของด้านใน เชื่อกันว่า โกส์น อยู่ภายในกล่องนั้น แต่เนื่องจาก กล่องมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องเอกซ์เรย์ ทำให้ไม่สามารถผ่านเข้าเครื่องได้ โกส์น ถือพาสสปอร์ทของ ฝรั่งเศส, บราซิล และเลบานอน ซึ่งถูกยึดอยู่ในญี่ปุ่น แต่ข่าวบอกว่าเขาเดินทางเข้ากรุงเบรุท โดยใช้พาสสปอร์ทฝรั่งเศส ซึ่งยังเป็นข้อสงสัยว่า โกส์น จัดหา พาสสปอร์ทฝรั่งเศสมาจากที่ใดเจ้าของฉายา LE COST KILLER
• โกส์น เริ่มต้นการทำงานกับ มิเชอแลง ตลอดระยะเวลา 18 ปี เขามีโอกาสทำงานในหลายแผนก และหลายประเทศ แต่ โกส์น ไม่ชื่นชอบการบริหารงานแบบ “ธุรกิจครอบครัว” เขาจึงได้ย้ายไปร่วมงานกับ เรอโนลต์ ในปี 2539 และถูกมอบหมายให้ไปทำงานในอเมริกาใต้ จากนั้น เรอโนลต์ เข้ามาช่วยโอบอุ้ม นิสสัน ในปี 2542 และในปี 2559 มีการเข้าครอบครองกิจการของ มิตซูบิชิ ด้วย และโกส์น ซึ่งเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้นำเสนอรถพลังงานไฟฟ้าเร็วกว่าคู่แข่ง ด้วยการเปิดตัว นิสสัน ลีฟ ในญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาในปี 2553 ก่อนที่จะขึ้นแท่นรถไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก • โกส์น ได้ฉายา LE COST KILLER หรือนักพิฆาตต้นทุน เพราะเขาช่วย เรอโนลต์ ในขณะที่กำลังขาดทุนอย่างหนักกลับมากำไรเพียงไม่กี่ปี หลังจากที่เขาเข้ามาร่วมงานด้วย จากนั้นเขาก็ถูกให้ไปเป็นเสาหลักของ นิสสัน ที่เพิ่งถูก เรอโนลต์ ควบรวมกิจการมา พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทายอย่างการทำให้ นิสสัน ที่ประสบภาวะขาดทุน ให้ได้กำไรภายใน 2 ปี ซึ่งสุดท้ายเขาทำสำเร็จภายใน 1 ปี และทำให้หนึ่งในบริษัทรถยนต์ของชาวญี่ปุ่นกลับมาเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้งแถลงการณ์นักโทษหนีคดี
ผมรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวประกัน ในประเทศที่ผมรับใช้มากว่า 17 ปี ทั้งหมดนี้เกิดจากอัยการ 2-3 คน และผู้บริหาร นิสสัน ซึ่งคนเหล่านี้ นับเป็นเผด็จการอย่างแท้จริง การ์โลส โกส์น แถลงในกรุงเบรุท ประเทศเลบานอน ว่า เขาไม่ต้องการเผชิญกับ “การทุจริต” ของกระบวนการยุติธรรมในญี่ปุ่น ที่กำลังไต่สวนเขาในคดีคอร์รัพชัน และเขาไม่ต้องการอยู่ในสถานะ “ตัวประกัน” ของ กระบวนการยุติธรรมในญี่ปุ่นที่มีการ “ทุจริต” และการที่สิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานถูกล่วงละเมิด ตลอดจนมีการเลือกปฏิบัติอย่างร้ายแรงอีกต่อไป โกส์น ยืนยันว่าเขาไม่ได้หลบหนีจากการต่อสู้คดีในญี่ปุ่น แต่ต้องการหลุดพ้นจาก “ความไม่ยุติธรรม” และ “การกดขี่ทางการเมือง” เท่านั้น นับจากนี้เขาและครอบครัว “มีอิสรภาพแล้ว” และจะเริ่มเปิดเผยข้อมูลอีกด้านหนึ่งกับสื่อมวลชนทั่วโลกตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป การแถลงข่าวของ การ์โลส โกส์น ที่กรุงเบรุท ประเทศเลบานอน มีนักข่าวได้รับเชิญมากกว่า 100 สำนักข่าว โกส์น แต่งกายในแบบนักธุรกิจ ด้วยสูทสีดำ เนคไทแดง ใช้เวลากว่า 2 ชม. ชี้แจงประเด็นที่เขาถูกจับ และไต่สวน ในประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่าอดีตผู้บริหารของ นิสสัน อยู่เบื้องหลังการจับกุมเขาในครั้งนี้ โดยเฉพาะ อดีตซีอีโอ ฮิโรโตะ ไซกาวา และผู้บริหารอีกหลายคน แต่ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ “ผมต้องการกู้ชื่อของผมคืนมา” เขากล่าวในการแถลงข่าว “ข้อกล่าวหาทั้งหมด ไม่เป็นความจริง ผมไม่น่าจะถูกจับกุมตั้งแต่เริ่มต้น” โกส์น ระบุว่า เขายินดีรับการไต่สวนในทุกประเทศ ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ที่เขาถูกคุมขังนานเกือบ 130 วัน และได้รับการประกันตัว และถูกจับซ้ำอีก 3 ครั้ง เขากล่าวหาระบบยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่น ที่มีอัตราการถูกจำคุกถึง 99 % จากระบบที่ไม่ยุติธรรม รวมทั้งปฏิเสธหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย โกส์น ในวัย 65 ปี ระบุว่า เขาถูกไต่สวนวันละ 8 ชม. โดยปราศจากคำอธิบายข้อกล่าวหาที่เขาถูกกล่าวหา ถูกกดดันให้รับสารภาพ “ผมถูกตัดขาดจากโลกภายนอก” เขากล่าว “ถูกตัดขาดจากครอบครัว เพื่อนฝูง จากสังคม และจาก เรอโนลต์, นิสสัน และมิตซูบิชิ” เขากล่าวว่า การหลบหนีออกจากญี่ปุ่น มายังบ้านเกิดเมืองนอน เลบานอน ก่อนปีใหม่นี้ เป็นทางเดียวที่จะหนีจากระบบยุติธรรม ที่ไม่ยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่น “คุณอาจตายอยู่ในประเทศญี่ปุ่น หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องหนีออกมา” เขากล่าว “ผมรู้สึกเหมือนกับเป็นตัวประกัน ในประเทศที่ผมรับใช้มากว่า 17 ปี ทั้งหมดนี้มาจากอัยการเพียง 2-3 คน และผู้บริหาร นิสสัน ซึ่งคนเหล่านี้ นับเป็นเผด็จการอย่างแท้จริง” โกส์น ชี้ให้เห็นความผิดที่เขาถูกจับกุม และคุมขัง โดยไม่มีข้อโต้แย้ง หรือเอกสารใดๆ แสดงต่อผู้สื่อข่าวเลย โกส์น ระบุว่า เขาพร้อมที่จะหยุดการทำงานก่อนเดือนมิถุนายน 2561 แต่ได้รับการร้องขอให้ทำงานต่อ “ช่างโชคร้าย ที่ผมยอมรับข้อเสนอนั้น” เขากำลังประสานงานในการควบรวมของ เรอโนลต์ และนิสสัน ด้วยความเชื่อมั่นในองค์กรทั้ง 2 ฝ่าย แต่เขาระบุว่า มีความไม่เชื่อใจเกิดขึ้น “เพื่อนชาวญี่ปุ่นบางคนเชื่อว่า วิธีป้องกันไม่ให้ นิสสัน ต้องเกี่ยวข้องกับ เรอโนลต์ ก็คือการกำจัดผมเสีย” เขากล่าว “ซึ่งนั่นเป็นเรื่องถูกต้อง” เขากล่าวอีกว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อควบรวมกับ เฟียต ไครสเลอร์ ก่อนที่เขาจะถูกอัยการจับกุมตัว ทำให้ กลุ่มเฟียต ไปควบรวมกับ กลุ่มพีเอสเอ แทน โกส์น ยังคุยอีกด้วยว่า ในปี 2552 เขาได้รับการร้องขอจากผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการ ในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา คือ สตีฟ แรทท์-เนอร์ ให้เข้าไปบริหาร เจเนอรัล มอเตอร์ส ขณะปรับปรุงองค์กร อันเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เขาไม่รับข้อเสนอนั้น แม้ว่าจะได้รับเงินค่าจ้างถึง 2 เท่า และกลับมาทำงานให้ เรอโนลต์ และนิสสัน “ผมตัดสินใจผิด ผมน่าจะรับข้อเสนอนั้น” เขากล่าว เขาปฏิเสธที่จะพูดถึงสถานการณ์ของ นิสสัน ในปัจจุบัน ที่มีรายได้ และผลกำไรลดลง ขณะที่ นิสสัน เอง แก้เกมด้วยการควบคุมค่าใช้จ่าย และลดจำนวนพนักงาน ขณะเดียวกัน อดีตอัยการกรุงโตเกียว ระบุว่า กเรก เคลลี อดีตผู้บริหาร นิสสัน คนสนิทของ การ์โลส โกส์น สัญชาติอเมริกัน ซึ่งถูกจับกุมในประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสสูง ที่จะพ้นความผิด หาก โกส์น ยังคงรับการไต่สวนอยู่ในญี่ปุ่น เคลลี ถูกจับกุมด้วยข้อหาเดียวกับ โกส์น จากการปกปิดเงินรายรับมากกว่า 109 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ โกส์น เพิ่มเติมข้อหาการใช้เงินผิดประเภทด้วย โดยปัจจุบัน เคลลี ยังคงอยู่ในกรุงโตเกียว อัยการ จะเริ่มการไต่สวนอย่างเป็นทางการ ในต้นปี 2564 หรือ 2565 แต่เมื่อ โกส์น หลบหนี ทำให้ยังไม่มีกำหนดการไต่สวน ว่าจะเริ่มเมื่อใดล่าสุด ! นิสสันฟ้อง โกส์น 1 หมื่นล้านเยน
• ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 นิสสัน มอเตอร์ ยื่นฟ้องคดีแพ่ง การ์โลส โกส์น ต่อศาลญี่ปุ่น เรียกค่าเสียหายจากการ กระทำผิดของเขา จำนวน 10,000 ล้านเยน หรือราว 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯABOUT THE AUTHOR
ม
มือบ๊วย
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : รายงาน(formula)
คำค้นหา