แหวกวงล้อมโคโรนาไวรัส คว้าตำแหน่งรถแห่งปี 2020 สวิทเซอร์แลนด์ แม้ไม่สามารถจัดงานมอบรางวัลโดยมีสื่อมวลชนเข้าร่วมได้เพราะพิษไวรัส แต่การประกาศผล 2020 CAR OF THE YEAR หรือ “รถแห่งปี 2020” เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2020 ณ ศูนย์นิทรรศการ ปาเลกซ์โป (PALEXPO) ที่นครเจนีวาในเมืองสวิสก็ยังดำเนินไปตามกำหนด ซึ่งผลปรากฏว่า รถเก๋งแฮทช์แบคขนาดซูเพอร์มีนีของค่าย “สิงห์เผ่น” คือ เปอโฌต์ 208 (PEUGEOT) สามารถคว้ารางวัลเกียรติยศนี้ไว้ได้เช่นเดียวกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา การคัดเลือกรถแห่งปีครั้งนี้ ผู้จัดงาน คือ นิตยสาร AUTOCAR ของอังกฤษ AUTOPISTA ของสเปน AUTOVISIE ของเนเธอร์แลนด์ L’AUTOMOBILE MAGAZINE ของฝรั่งเศส STERN ของเยอรมนี VI BILAGARE ของสวีเดน และ AUTO ของอิตาลีซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงานในปีนี้ ส่วนคณะกรรมการผู้ตัดสินเป็นสื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งมีหน้าที่หลักในการทดสอบรถยนต์ จำนวน 60 คน จาก 23 ประเทศยุโรป คือ ออสเตรีย (3) เบลเยียม (2) สาธารณรัฐเชค (1) เดนมาร์ค (1) ฟินแลนด์ (1) ฝรั่งเศส (6) เยอรมนี (6) กรีก (1) ฮังการี (2) ไอร์แลนด์ (1) อิตาลี (6) ลักเซมเบิร์ก (1) เนเธอร์แลนด์ (3) นอร์เวย์ (1) โปแลนด์ (2) โปรตุเกส (2) รัสเซีย (2) สโลเวเนีย (1) สเปน (6) สวีเดน (3) สวิทเซอร์แลนด์ (2) ตุรกี (1) และสหราชอาณาจักร (6) โดยที่ตัวเลขในวงเล็บ คือ จำนวนกรรมการของแต่ละประเทศ ซึ่งกำหนดตามความสำคัญของตลาดรถยนต์ในประเทศนั้นๆ ส่วนรถซึ่งมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณา คือ รถใหม่ที่เริ่มการจำหน่ายในปีปฏิทิน 2019 และในช่วงเวลาที่มีการพิจารณามอบรางวัลต้องมีจำหน่ายในไม่น้อยกว่า 5 ประเทศของยุโรป ซึ่งในปีนี้มีรถใหม่ตามคุณสมบัติดังกล่าวรวม 30 แบบ เป็นรถยุโรป 20 แบบ รถญี่ปุ่น 8 แบบ รถเกาหลี 1 แบบ รถอเมริกัน 1 แบบ การพิจารณารอบแรกเป็นการคัดเลือกรถเหล่านี้เหลือ 7 คัน หลังจากนั้น คือ ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนวันประกาศผล ก็มีวันที่จัดให้คณะกรรมการ ผู้ตัดสินได้มีโอกาสทดสอบรถ 7 คันนี้ ณ สนามทดสอบรถ UTAC CERAM ซึ่งอยู่ชานกรุงปารีส แล้วจึงลงคะแนนตัดสินในรอบสุดท้าย โดยกำหนดให้ผู้ตัดสินแต่ละคนซึ่งมีสิทธิ์ให้คะแนนรวม 25 คะแนน ต้องแจกคะแนนนี้ให้กับรถไม่น้อยกว่า 5 แบบ แบบละไม่เกิน 10 คะแนน การแจกคะแนนดังกล่าวนี้ให้พิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ ของรถ คือ การออกแบบ (DESIGN) ความสะดวกสบาย (COMFORT) ความปลอดภัย (SAFETY) ความประหยัด (ECONOMY) การบังคับเลี้ยว (HANDLING) สมรรถนะ (PERFORMANCE) ประโยชน์ใช้สอย (FUNCTIONALITY) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENTAL) ความพึงพอใจของผู้ขับ (DRIVER SATISFACTION) และราคา (PRICE) รวมทั้งให้ถือนวัตกรรมทางเทคนิค (TECHNICAL INNOVATION) และการคุ้มค่าคุ้มราคา (VALUE FOR MONEY) เป็นปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะในการพิจารณาด้วย ผลการตัดสินในรอบสุดท้ายซึ่งมีผู้ให้คะแนนเพียง 58 คน (ขาดกรรมการของเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ชาติละ 1 คน) และประกาศผลในเมืองนาฬิกาดังที่กล่าวข้างต้น รถแต่ละแบบได้คะแนนดังนี้ 1. เปอโฌต์ 208 281 คะแนน 2. เทสลา โมเดล 3 242 คะแนน 3. โพร์เช ไทย์คัน 222 คะแนน 4. เรอโนลต์ กลีโอ 211 คะแนน 5. ฟอร์ด พูมา 209 คะแนน 6. โตโยตา โคโรลลา 152 คะแนน 7. บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1 133 คะแนน ผลงานของค่าย “สิงห์เผ่น” คือ เปอโฌต์ 208 (PEUGEOT 208) ที่คว้าตำแหน่ง “รถแห่งปี” ครั้งนี้ นับเป็นรถรุ่นที่ 2 ปรากฏตัว “ครั้งแรกในโลก” ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 89 เมื่อเดือนมีนาคม 2019 และเริ่มการจำหน่ายฤดูใบไม้ผลิ (ประมาณไตรมาส 2) ปีเดียวกัน เป็นรถที่มีการผลิตทั้งในฝรั่งเศส และในสโลวาเกีย มีขนาดตัวถัง 4.055x1.745x1.430 ม. เป็นรถขับ-เคลื่อนล้อหน้าซึ่งมีระบบขับให้เลือกรวม 3 แบบ คือ ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์ดีเซล และขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ขนาด 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง 1964 โรเวอร์ 2000 1965 ออสติน 1800 1966 เรอโนลต์ 16 1967 เฟียต 124 1968 เอนเอสยู อาร์โอ 80 1969 เปอโฌต์ 504 1970 เฟียต 128 1971 ซีตรอง เซแอส 1972 เฟียต 127 1973 เอาดี 80 1974 เมร์เซเดส-เบนซ์ 450 เอส 1975 ซีตรอง เซอิกซ์ 1976 ซิมคา 1307/1308 1977 โรเวอร์ 3500 1978 โพร์เช 928 1979 ซิมคา/ไครสเลอร์ ฮอไรเซิน 1980 ลันชา เดลตา 1981 ฟอร์ด เอสคอร์ท 1982 เรอโนลต์ 9 1983 เอาดี 100 1984 เฟียต อูโน 1985 โอเพล คาเดทท์ 1986 ฟอร์ด สกอร์พิโอ 1987 โอเพล โอเมกา 1988 เปอโฌต์ 405 1989 เฟียต ตีโป 1990 ซีตรอง อิกซ์แอม 1991 เรอโนลต์ กลีโอ 1992 โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ 1993 นิสสัน ไมครา 1994 ฟอร์ด มนเดโอ 1995 เฟียต ปุนโต 1996 เฟียต บราโว/บราวา 1997 เรอโนลต์ เมกาน เซนิก 1998 อัลฟา โรเมโอ 156 1999 ฟอร์ด โฟคัส 2000 โตโยตา ยารีส 2001 อัลฟา โรเมโอ 147 2002 เปอโฌต์ 307 2003 เรอโนลต์ เมกาน 2004 เฟียต ปันดา 2005 โตโยตา ปรีอุส 2006 เรอโนลต์ กลีโอ 2007 ฟอร์ด เอส-แมกซ์ 2008 เฟียต 500 2009 โอเพล/วอกซ์ฮอลล์ อินซิกนีอา 2010 โฟล์คสวาเกน โพโล 2011 นิสสัน ลีฟ 2012 โอเพล อัมเพรา/เชฟโรเลต์ โวลท์ 2013 โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ 2014 เปอโฌต์ 308 2015 โฟล์คสวาเกน พาสสัท 2016 โอเพล/วอกซ์ฮอลล์ อัสตรา 2017 เปอโฌต์ 3008 2018 โวลโว เอกซ์ซี 40 2019 แจกวาร์ ไอ-เพศ 2020 เปอโฌต์ 208 2021 (โปรดติดตาม)