สารคดี(formula)
ครอบครัว SUZUKI 5 พี่น้องคนเมือง
SUZUKI CELERIO/SUZUKI CIAZ/SUZUKI SWIFT/SUZUKI ERTIGA และ SUZUKI XL7 คือ ส่วนหนึ่งของรถในครอบครัว SUZUKI ซึ่งเหมาะกับคนเมือง อย่างไรก็ตาม แต่ละคัน ต่างมีหน้าตา บุคลิก เครื่องยนต์ สมรรถนะ และประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไป ถ้ายังไม่แน่ใจว่า รุ่นไหนที่ใช่สำหรับคุณ ลองเปรียบเทียบกันจากบททดสอบต่อไปนี้SUZUKI CELERIO SUZUKI CELERIO อีโคคาร์ 5 ประตู เจเนอ เรชัน 10 ที่ขยายขนาดเครื่องยนต์แบบ 3 สูบ 658 ซีซี 54 แรงม้า มาเป็น 998 ซีซี หรือ 1.0 ลิตร 68 แรงม้า โดยมีให้เลือก 3 รุ่น คือ รุ่นเกียร์ธรรมดา GA MT เกียร์อัตโนมัติ GL CVT และรุ่นทอพ GX CVT ที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้ ภายนอก แฮทช์แบคเรียบง่าย กระจังหน้าออกแบบรับกับไฟหน้ามีแนวเส้นด้านข้าง บน/ล่าง เสริมความแข็งแกร่ง มิติตัวรถ ยาว/กว้าง/สูง 3,600/1,600/1,540 มม. ฝากระโปรงสั้น หลังคาทรงสูง ตามสไตล์ “KEI-CAR” ทำให้ SUZUKI CELERIO มีหลังคาสูงที่สุดในกลุ่มอีโคคาร์ เมืองไทย ภายในห้องโดยสารโปร่งโล่ง มาตรวัดความเร็วทรงกลม และตัวเลขขนาดใหญ่ คอนโซลหน้าเชื่อมต่อกับแนวคันเกียร์ที่ยกสูงขึ้นคล้ายกับรถ เอมพีวี แยกส่วนกับก้านเบรคมือ และที่วางแก้วน้ำหน้า/หลัง เบาะคู่หน้าพร้อมหมอนรองศีรษะในตัว หนานุ่ม นั่งสบาย ระดับเสียงในห้องโดยสาร จากความเร็วคงที่ 60/80/100/120 กม./ชม. วัดได้ 64/66/70/72 เดซิเบล การป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกอยู่ในระดับพอใช้ เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.0 ลิตร รหัส K10B แบบ 3 สูบ 12 วาล์ว รองรับน้ำมัน อี 20 กำลังสูงสุด 68 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 9.2 กก.-ม. ขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติแปรผัน (CVT) 6 จังหวะ พร้อมโหมดสปอร์ท “S” ที่ช่วยเพิ่มความกระฉับกระเฉง อัตราเร่งตีนต้น 0-100 กม./ชม. และ 0-400 ม. ทำได้ 15.4/20.4 วินาที อัตราเร่งตีนปลาย 0-1,000 ม. ในเวลา 36.9 วินาที สมรรถนะช่วงเร่งแซง 60-100 กม./ชม. และ 80-120 กม./ชม. ทำได้ 9.3/12.0 วินาที แรงดึงต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มออกตัว ส่วนเรื่องอัตราสิ้นเปลือง ผู้ผลิตแจ้งว่า รุ่นเกียร์ธรรมดา/เกียร์อัตโนมัติ นอกเมือง 24.3/23.8 กม./ลิตร ในเมือง 17.2 กม./ลิตร เท่ากัน ค่าเฉลี่ย 21.2/20.8 กม./ลิตร ผลจากการวัดอัตราสิ้นเปลืองด้วยชุดเครื่องมือดาทรอน ความเร็วคงที่ 60/80/100/120 กม./ชม. ทำได้ 36.1/27.6/20.0/12.8 กม./ลิตร ประหยัดจริง สมกับเป็นอีโคคาร์ ตัวรถที่สั้นกับความยาวฐานล้อถึง 2,425 มม. สั้นกว่า SWIFT เพียง 25 มม. ประกอบกับระบบกันสะเทือนหน้าเสริมด้วยเหล็กกันโคลง SUZUKI CELERIO เกาะถนน ควบคุมง่าย พวงมาลัยเป็นแบบเพาเวอร์ไฟฟ้าช่วยผ่อนแรง แต่ยังมีน้ำหนัก นิ่งแม้จะใช้ความเร็วสูง ระบบเบรคในรุ่นเกียร์อัตโนมัติติดตั้งเอบีเอส อีบีดี และมีระบบเสริมแรงเบรค หรือบีเอ ให้ทั้งรุ่นเกียร์อัตโนมัติ และเกียร์ธรรมดา ชะลอความเร็ว และตอบสนองได้ฉับไว ผลทดสอบเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. อยู่ในเกณฑ์ดี ระยะเบรคจนหยุดสนิททำได้ 16.2/28.5/45.0 ม. SUZUKI CELERIO อีโคคาร์ (1.0 ลิตร) ตัวจริงไม่เผ็ดร้อน แต่อร่อยถึงใจ หลังคาสูงโปร่ง นั่งสบาย ไม่อึดอัด เครื่องยนต์ขนาดประหยัด แต่ปลายเกิน 160 กม./ชม. ราคาคุ้มค่าน่าใช้ เริ่มที่รุ่นเกียร์ธรรมดา GA MT 318,000 บาท เกียร์อัตโนมัติ GL CVT 398,000 บาท และรุ่นทอพ GX CVT 427,000 บาท SUZUKI SWIFT SUZUKI SWIFT เจเนอเรชันที่ 3 ได้รับรางวัล RJC CAR OF THE YEAR 2018 จากการคัดเลือกโดยสถาบันนักวิจัย และผู้สื่อข่าวยานยนต์แห่งญี่ปุ่น หลังจากที่ 2 เจเนอเรชันก่อนหน้าได้รับรางวัลนี้มาแล้วในปี 2005 และ 2010 ตัวถัง ยาว/กว้าง/สูง 3,840/1,735/1,495 มม. ทำให้ SUZUKI SWIFT ใหม่ ปราดเปรียวกว่าเดิม และดูสปอร์ท ด้วยเส้นสีแดงคาดบนกระจังหน้าสีดำ ซุ้มล้อขนาดใหญ่รับกับไฟหน้า LED PROJECTOR และ DAYTIME RUNNING LIGHT ไฟท้าย LED ล้ออลูมิเนียมอัลลอยขนาด 16 นิ้ว ในรุ่น GLX และ GLX-NAVI SUZUKI SWIFT ใหม่ มาพร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย แผงคอนโซลกลางด้านหน้าเอียงเข้าหาคนขับเพื่อการใช้งานที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น มาตรวัดทรงกลมสไตล์สปอร์ทที่ตกแต่งด้วยลายเส้นสีแดง จอแสดงข้อมูลขับขี่แบบ LCD มาพร้อมกับจอสัมผัส SUZUKI SMART CONNECT ขนาด 7 นิ้ว ที่ควบรวมระบบนำทาง กับฟังค์ชันการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่าน BLUETOOTH พร้อมพโรแกรมสุดล้ำ APPLE CAR PLAY สำหรับ IOS ในรุ่น GLX-NAVI รวมถึงพวงมาลัยที่ออกแบบใหม่เป็นรูปตัว D เพื่อเพิ่มพื้นที่วางเท้าระหว่างเบาะและพวงมาลัย ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ พร้อมจอ LCD ที่หรู และใช้งานง่าย ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น ในรุ่น GLX และ GLX-NAVI ระดับเสียงในห้องโดยสาร จากความเร็วคงที่ 60/80/100/120 กม./ชม. วัดได้ 62/65/68/70 เดซิเบล การป้องกันเสียงรบกวนอยู่ในระดับพอใช้ SUZUKI SWIFT ใหม่ ขับขี่เร้าใจด้วยเครื่องยนต์ใหม่ K12M แบบ 4 สูบ ขนาด 1.2 ลิตร หัวฉีดคู่ หรือ DUAL JET ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ ประหยัดน้ำมันกว่าเดิม ให้กำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 11.0 กก.-ม. ที่ 4,400 รตน. ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ CVT ทุกรุ่น และเหมาะกับการขับในเมืองมากขึ้น ด้วยระบบ IDLING STOP ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันขณะรถหยุดนิ่ง ซึ่งผู้ขับสามารถเลือกระยะเวลาที่ดับเครื่องยนต์ได้ 3 แบบ คือ STANDARD 90 วินาที ECONOMY 120 วินาที และ COMFORT 50 วินาที แต่ถ้าไม่ต้องการใช้งานก็สามารถปิดได้ โดยกดปุ่มค้างไว้ 5 วินาที อัตราเร่งช่วงตีนต้น 0-100 กม./ชม. ในเวลา 13.4 วินาที และ 0-400 ม. ใน 19.3 วินาที ขณะทำ ความเร็วสูง 0-1,000 ม. ทำได้ 35.2 วินาที จังหวะเร่งแซง ในเมือง 60-100 กม./ชม. และนอกเมืองช่วง 80-120 กม./ชม. ทำได้ในระดับพอใช้ อยู่ที่ 7.4 และ 10.3 วินาที อัตราสิ้นเปลืองวัดจากความเร็วคงที่ 60/80/ 100/120 กม./ชม. ทำได้ 35.7/27.7/21.4/15.4 กม./ลิตร อยู่ในเกณฑ์ดี พวงมาลัยไฟฟ้าใหม่ ใส่โมดูลไว้ในชุดมอเตอร์ และใช้มอเตอร์แบบไม่มีแปรงถ่าน (60 แอมพ์) กับรัศมีวงเลี้ยว 4.8 ม. ที่แคบกว่าเดิม (เดิม 5.2 ม.) ทำให้การใช้งานในเมืองคล่องตัวมากกว่าเดิมด้วย ด้านความปลอดภัย SUZUKI SWIFT ใช้ PLATFORM ใหม่ HEARTECT ช่วยให้รถมีน้ำหนักน้อยลง (85 กก. ในรุ่น GA) แต่คงความแข็งแกร่ง และประหยัดน้ำมัน รวมถึงโครงสร้างตัวถังแบบ TECT พร้อมระบบกันการสั่นสะเทือน ระบบเบรคแบบจาน 4 ล้อ (ในรุ่น GLX และ GLX-NAVI) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TCS ช่วยในการควบคุมรถขณะขับขี่บนถนนลื่น หรือในทางโค้ง และที่เป็นจุดเด่นใน SUZUKI SWIFT ทุกรุ่นมีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ESP ในกรณีล้อหน้าลื่น เลี้ยวไม่เข้า (UNDERSTEER) ระบบจะช่วยเบรค หรือเพิ่มแรงเบรคล้อหลังด้านใน เพื่อให้รถควบคุมง่ายขึ้น และในกรณีล้อหลังลื่นท้ายปัดออกไป (OVERSTEER) ระบบจะช่วยเบรค หรือเพิ่มแรงเบรคล้อหลังด้านนอก เพื่อรักษาการทรงตัว ผลทดสอบเบรคที่ความเร็ว 60-0/80-0/100-0 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 15.1/26.5/42.2 ม. อยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน (16.3/28.9/46.8 ม.) นอกจากนี้ ยังมีระบบช่วยออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน HILL HOLD CONTROL ที่จะช่วยออกตัวขณะขับขึ้นเนิน และถอยหลังขึ้นทางลาดชัน ระบบเบรคจะหยุดรถไว้ 2 วินาที หลังปล่อยแป้นเบรค และปลอดภัยมากขึ้นด้วยถุงลมนิรภัย SRS ถึง 6 ตำแหน่ง SUZUKI SWIFT นับเป็นอีโคคาร์ 5 ประตูที่น่าสนใจ ด้วยราคาที่ไม่สูง แต่ได้ของครบ เริ่มจากรุ่น GA CVT ราคา 499,000 บาท GL CVT ราคา 536,000 บาท GL MAX EDITION ราคา 541,000 บาท GLX CVT ราคา 609,000 บาท และ GLX-NAVI CVT ราคา 629,000 บาท ที่นำมาทดสอบครั้งนี้ SUZUKI CIAZ SUZUKI CIAZ จัดเป็นอีโคคาร์ที่มีขนาดตัวรถใหญ่ มิติตัวรถ ยาว/กว้าง/สูง 4,495/1,730/1,475 มม. ระยะฐานล้อถึง 2,650 มม. ในรุ่นปรับโฉมล่าสุดเปลี่ยนกระจังหน้า และปรับรูปทรงของกันชนหน้า/หลัง ไฟหน้าแบบ PROJECTOR LED ที่ส่องสว่างกว่าเดิม ในรุ่นทอพ และรองทอพ อีกทั้งยังเพิ่มความโดดเด่นในรุ่นทอพ RS ด้วยชุดแต่งรอบคัน ห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งได้ 5 คนสบายๆ ตามขนาดของตัวถัง หน้าจอแบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว สำหรับระบบความบันเทิง และระบบนำทาง เบาะหลังกว้างขวาง พร้อมพนักพิงศีรษะ 2 ตำแหน่ง ตรงกลางเบาะมีพนักแขน พร้อมที่วางแก้ว ช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง ห้องสัมภาระท้ายรถความจุถึง 565 ลิตร ระดับเสียงในห้องโดยสาร จากความเร็วคงที่ 60/80/100/120 กม./ชม. วัดได้ 60/62/65/68 เดซิเบล การป้องกันเสียงรบกวนอยู่ในระดับดี SUZUKI CIAZ ยังคงใช้เครื่องยนต์บลอคเดิม รหัส K12B แบบเบนซิน 1.2 ลิตร 91 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 12.0 กก.-ม. ที่ 4,800 รตน. เกียร์อัตโนมัติแปรผัน (CVT) อัตราเร่งช่วงตีนต้น 0-100 กม./ชม. ในเวลา 14.2 วินาที และ 0-400 ม. ใน 19.7 วินาที ขณะทำความเร็วสูง 0-1,000 ม. ใน 35.7 วินาที จังหวะเร่งแซง ในเมือง 60-100 กม./ชม. และนอกเมืองช่วง 80-120 กม./ชม. ทำได้พอใช้ อยู่ที่ 8.1 และ 10.6 วินาที อัตราสิ้นเปลืองวัดจากความเร็วคงที่ 60/80/ 100/120 กม./ชม. ทำได้ 31.5/25.8/20.1/15.5 กม./ลิตร อยู่ในเกณฑ์ดี ช่วงล่างนุ่มนวล หนึบนิดกำลังดี พวงมาลัยน้ำหนักค่อนข้างเบา บังคับควบคุมง่าย ผลทดสอบเบรคที่ความเร็ว 60-0/80-0/100-0 กม./ชม. หยุดนิ่งได้ในระยะ 16.1/28.2/43.9 ม. อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นรอง SUZUKI SWIFT ที่ใช้ระบบเบรคแบบจานทั้ง 4 ล้อ SUZUKI CIAZ เป็นอีโคคาร์ที่ให้ความกว้างขวาง ภูมิฐาน ใกล้เคียงรถยนต์ใหญ่ มีราคาเริ่มต้นที่ เกียร์ธรรมดา GL 523,000 บาท เกียร์อัตโนมัติแปรผัน GL CVT 559,000 บาท GLX CVT 625,000 บาท และรุ่นทอพ RS ราคา 675,000 บาท SUZUKI ERTIGA SUZUKI ERTIGA เอมพีวี 7 ที่นั่ง มีมิติตัวรถ ยาว/กว้าง/สูง 4,395/1,735/1,690 มม. ไฟหน้า PROJECTOR ไฟท้าย LED โดยในรุ่น GX เพิ่มไฟตัดหมอกทรงกลม ไฟเลี้ยวที่กระจกมองข้าง (พับด้วยไฟฟ้า) และมือจับโครเมียม รวมทั้งเส้นนำแสง LED ในชุดไฟท้าย พวงมาลัยแบบสปอร์ทรูปตัวดี (D-SHAPE) และใส่ลายไม้สีเข้มที่คอนโซลหน้า แผงข้างประตูหน้า พร้อมที่วางแก้วน้ำแบบรักษาอุณหภูมิ 2 ตำแหน่ง และปุ่มสตาร์ท/ดับเครื่องยนต์ ระบบเปิดประตูอัจฉริยะ แค่พกกุญแจรีโมทไว้กับตัว ในรุ่น GX เบาะนั่งผู้ขับปรับสูง/ต่ำได้ ในรุ่น GX ช่องเชื่อมต่อ USB และช่องจ่ายไฟสำรอง 12 โวลท์ ใต้คอนโซลหน้า/ด้านหลังคอนโซลเกียร์ สำหรับคนนั่งหลังอีก 1 จุด ระบบปรับอากาศแถวหลัง ให้ความเย็นสบายรวดเร็วทั่วถึงตลอดคัน เบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง เบาะนั่งแถวที่ 2 ปรับพับแยก 60:40 พนักพิงปรับเอนได้ 2 ระดับ ปรับเลื่อนหน้า/หลัง เบาะนั่งแถวที่ 3 พับแยกแบบ 50:50 เพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ ระดับเสียงรบกวนในห้องโดยสาร ที่ความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. อยู่ที่ 60/64/66/69 เดซิเบลเข้าเกณฑ์เงียบ เครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.5 ลิตร แบบ 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว รหัส K15B กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 14.1 กก.-ม. ที่ 4,400 รตน. กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ จากผลทดสอบดาทรอน อัตราเร่งตีนต้น 0-100 กม./ชม. และ 0-400 ม. ทำได้ 13.8/19.5 วินาที อัตราเร่งตีนปลาย 0-1,000 ม. ทำได้ 35.2 วินาที (ที่ความเร็ว 153.9 กม./ชม.) อัตราเร่งยืดหยุ่น จังหวะเร่งแซง 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ทำได้ 7.4/10.3 วินาที เร็วกว่าคู่แข่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ความเร็ว 60/80/ 100/120 กม./ชม. ERTIGA ทำได้ที่ 26.0/20.7/16.0/ 12.5 กม./ลิตร อยู่ในเกณฑ์ประหยัดทุกช่วง และประหยัดกว่าคู่แข่ง ช่วงล่างยังคงความแน่นหนึบด้วย HEARTECT PLATFORM มีระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน เข้าโค้งแคบๆ ผลทดสอบเบรคที่ความเร็ว 60-0/80-0/100-0 กม./ชม. ระยะเบรค 15.0/26.5/42.8 ม. อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย เบรคมั่นใจ ใกล้เคียงกับคู่แข่ง SUZUKI ERTIGA น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับคนมีครอบครัว ในราคาระดับเดียวกับรถซีดาน 1.5 ลิตร โดยเริ่มต้นที่รุ่นมาตรฐาน GL 659,000 บาท และรุ่นทอพ GX 725,000 บาท SUZUKI XL7 SUZUKI XL7 ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ที่ผสมผสาน เอมพีวี 7 ที่นั่ง มีมิติตัวรถ ยาว/กว้าง/สูง 4,450/1,775/1,710 มม. กระจังหน้าดีไซจ์นใหม่สีดำผสมโครเมียม ไฟหน้า LED ที่ปรับระดับองศาของไฟต่ำได้ พร้อม DAYTIME RUNNING LIGHT และไฟตัดหมอกหน้า ตกแต่งใต้กันชนด้วยวัสดุสีเงินรอบคัน เข้มขึ้นด้วยซุ้มล้อสีดำพร้อมล้ออัลลอยแบบทูโทนขนาด 16 นิ้ว ด้านบนเสริมราวหลังคาเพื่อประโยชน์ในการบรรทุกสัมภาระ และไฟท้าย LED แบบเส้นนำแสง พร้อมไฟเบรคแนวตั้ง ห้องโดยสารขนาด 3 แถว 7 ที่นั่ง กว้างขวาง พวงมาลัยแบบสปอร์ทรูปตัวดี (D-SHAPE) เพิ่มพื้นที่วางขามากขึ้น พร้อมฟังค์ชันเชื่อมต่อโทรศัพท์ด้วยบลูทูธ และปุ่มควบคุมเครื่องเสียงบนพวงมาลัย ภายในบริเวณคอนโซลด้านหน้าตกแต่งวัสดุด้วยลายคาร์บอนไฟเบอร์ พร้อมคิ้วโครเมียม สไตล์สปอร์ท อุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ มาตรวัดพร้อมจอ LCD แสดงผลแจ้งสถานะข้อมูลสำคัญของตัวรถ เช่น DRIVING G-FORCE อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง แรงบิด กำลังของเครื่องยนต์ หน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ 10 นิ้ว มาพร้อมระบบปรับแต่งเสียง และประมวลผลในแบบดิจิทอล เพิ่มมิติให้เสียงเพลง พร้อมฟังค์ชันเชื่อมต่อ BLUETOOTH, APPLE CAR PLAY, ANDROID AUTO รวมถึงช่องเชื่อมต่อ USB และ HDMI ที่คอนโซลหน้า ช่องจ่ายไฟสำรอง 12 โวลท์ มีมาให้ทั้งหน้า/กลาง/หลัง และปุ่มสตาร์ท/ดับเครื่องยนต์ ระบบเปิดประตูอัจฉริยะ แค่พกกุญแจรีโมทไว้กับตัว เบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง เบาะนั่งแถวที่ 2 ปรับพับแยก 60:40 พนักพิงปรับเอนได้ 2 ระดับ ปรับเลื่อนหน้า/หลัง ช่วยให้ผู้โดยสารแถวที่ 3 เข้า/ออกได้สะดวกยิ่งขึ้น เบาะนั่งแถวที่ 3 มีพื้นที่วางขาเพียงพอ พนักพิงสามารถพับแยกแบบ 50:50 หรือพับตลบไปด้านหน้า 2 จังหวะ เพิ่มพื้นที่บรรทุกสัมภาระ ระบบปรับอากาศแถวหลัง ให้ความเย็นสบายรวดเร็วทั่วถึงตลอดคัน ระดับเสียงรบกวนในห้องโดยสาร เมื่อวัดที่ความเร็วคงที่ 60/80/100/120 กม./ชม. ผลออกมา 60/63/66/68 เดซิเบล อยู่ในเกณฑ์เงียบ เครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1.5 ลิตร แบบ 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว รหัส K15B กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 14.1 กก.-ม. ที่ 4,400 รตน. กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ จากผลทดสอบดาทรอน อัตราเร่งตีนต้น 0-100 กม./ชม. และ 0-400 ม. ทำได้ 14.0/19.6 วินาที อัตราเร่งตีนปลาย 0-1,000 ม. ทำได้ 35.8 วินาที (ที่ความเร็ว 149.7 กม./ชม.) ดีกว่าคู่แข่ง ในส่วนของอัตราเร่งยืดหยุ่น จังหวะเร่งแซง 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ทำได้ 7.5/10.7 วินาที เร็วกว่าคู่แข่ง อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ที่ความเร็ว 60/80/ 100/120 กม./ชม. ทำได้ที่ 25.6/21.4/15.7/12.7 กม./ลิตร ดีพอๆ กับ SUZUKI ERTIGA ช่วงล่างยังคงความแน่นหนึบด้วย HEARTECT PLATFORM เบรคหยุดรถได้มั่นใจ มีระบบช่วยเบรค เอบีเอส และอีบีดี รวมทั้งระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน พวงมาลัยเพาเวอร์ผ่อนแรง ด้วยไฟฟ้า ผลทดสอบเบรคที่ความเร็ว 60-0/80-0/100-0 กม./ชม. ระยะเบรค 14.8/26.6/41.5 ม. ดีกว่า SUZUKI ERTIGA ที่ทำไว้ 15.0/26.5/42.8 ม. และดีกว่าคู่แข่ง ช่วงล่างหนึบเกินคาด เข้าโค้ง/เปลี่ยนช่องทางได้ง่าย และไม่มีอาการโคลงเหมือนรถทรงสูงทั่วไป ด้านความปลอดภัยมีระบบถุงลมนิรภัยคู่หน้า ระบบป้องกันล้อลอคขณะเบรคกะทันหัน พร้อมระบบช่วยกระจายแรงเบรคได้อย่างสมดุล เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพในการทรงตัว และการปรับพวงมาลัยที่เพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ให้เข้าโค้งได้แม่นยำ รวมทั้งระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน จุดยึดเบาะสำหรับเด็ก ISOFIX และกล้องมองภาพ พร้อมเซนเซอร์กะระยะในขณะถอยหลังได้ ระบบกุญแจนิรภัยป้องกันการโจรกรรม SUZUKI XL7 ใหม่ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับครอบครัวที่ต้องการรถใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ กับราคา 779,000 บาท ที่ไม่แพงเกินฝัน
ABOUT THE AUTHOR
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2563
คอลัมน์ Online : สารคดี(formula)