ช่วงปลายปีจนถึงต้นปี ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย คนไทยต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 อีกครั้ง แม้จะมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขออกมา แต่ดูเหมือนจะไร้ผล ซึ่งอาจเป็นเพราะ 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เรารวบรวมมานี้1. สาเหตุหลัก คือ การเผา ไม่ใช่ดีเซล PM2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือด ซึ่งมีผลร้ายต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ อาจรุนแรงถึงขั้นก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และอาจสะสมจนเกิดเป็นโรคมะเร็ง ทำให้ องค์การอนามัยโลก หรือ WORLD HEALTH ORGANIZATION (WHO) กำหนดให้ฝุ่น PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ที่มาของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ หลักๆ แล้วมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล และการก่อสร้าง ส่วนในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านหิน การเผาไหม้เศษวัสดุเหลือใช้ การเผาป่า การเผาไร่อ้อย ประกอบกับปัจจัยทางธรรมชาติช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากหนาวสู่ร้อน ซึ่งอากาศค่อนข้างปิด การกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 สะสมในอากาศมากขึ้น ดังนั้น ต้นตอใหญ่ของฝุ่น PM2.5 ในภาพรวมจึงมาจากการ “เผา” โดยเฉพาะการเผาไร่อ้อยของเกษตรกร ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ ฟุ้งกระจายในรูปของ “หิมะดำ” เนื่องจากขี้เถ้าจะถูกลมพัดลอยไปตกทั่วบริเวณ ดูคล้ายกับหิมะสีดำปกคลุม และการเผาป่า เพื่อทำทางเดินเก็บหาของป่า หรือเพื่อกระตุ้นการงอก แตกใบใหม่ของพืชเศรษฐกิจทำเงิน หรือเพื่อทำการเกษตร 2. เครื่องยนต์ดีเซล ยุคใหม่สะอาดกว่าเดิมมาก เครื่องยนต์ดีเซล ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปล่อยมลพิษน้อยลง ปัจจุบันมีการติดตั้งระบบจำกัดไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ทั้งระบบ ระบบนำไอเสียบางส่วนหมุนเวียนกลับมาเผาซ้ำร่วมกับอากาศดี หรือ EGR (EXHAUST GAS RECIRCULATION) และยังมีระบบกรองไอเสีย หรือ CATALYTIC CONVERTER และในรถมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ยังมีระบบ DIESEL PARTICULATE FILTER หรือ DPF อุปกรณ์กรองเขม่าไอเสีย ดักจับผงเขม่า และสร้างอุณหภูมิให้สูงระดับ 600 องศาเซลเซียส เพื่อเผาไหม้ตัวเขม่าอีกครั้ง จนกลายเป็นแกสที่อนุภาคเล็ก และไหลผ่านตัวแปรสภาพไอเสียในระบบ CATALYTIC CONVERTER เพื่อลดสารพิษอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนปล่อยออกไปสู่สิ่งแวดล้อม 3. ทำอย่างไรกับรถยนต์ดีเซลเก่า ? ต้องยอมรับว่ารถยนต์ดีเซลเก่ามีส่วนในการสร้างฝุ่น PM2.5 เพราะบนท้องถนนมีรถยนต์เก่า ที่ผลิต และจำหน่ายตามมาตรฐานไอเสียที่ล้าสมัยอยู่มาก โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ประเมินกันว่า ขณะนี้มีรถยนต์ดีเซล 11 ล้านคัน ทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรถยนต์เก่า มาตรฐานไอเสียระดับยูโร 1 และ 2 มากถึง 4,000,000 คัน และอีก 7,000,000 คัน เป็นรถยนต์มาตรฐานยูโร 3 ที่ประกาศใช้ในปี 2548 และมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน การกำจัดรถที่ใช้มาตรฐานยูโร 2 ลงไป (อายุมากกว่า 20 ปี) ออกไปจากท้องถนน ทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจสภาพอย่างเข้มงวด ห้ามใช้รถที่ปล่อยควันดำโดยเด็ดขาด ส่งเสริมให้นำรถเก่ามาแลกรถใหม่ ด้วยการลด หรือคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันใหม่ หรือให้เงินสนับสนุนโดยตรง รวมถึงการกำหนดโซนรถไอเสียต่ำกว่ายูโร 4 ก็เป็นอีกวิธีที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้กันมาสักพัก ซึ่งโมเดลนี้นำมาปรับใช้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เหมือนกัน เพราะเขตเมืองชั้นในมีการจราจรหนาแน่น ผสมกับรถจอดติดนิ่งไม่ขยับ เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างฝุ่น PM2.5 สูงสุด หากเป็นไปได้ นอกจากนั้น รัฐต้องยกเลิกการใช้รถเมล์เก่า และนำรถโดยสารเครื่อง CNG หรือรถโดยสารพลังไฟฟ้ามาใช้งานให้เร็วที่สุด 4. รอยูโร 5 กู้วิกฤตฝุ่นระยะยาว ประเทศไทยใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ระดับยูโร 4 แต่เฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก ขณะที่รถเมล์ รถบัสนำเที่ยว และรถบรรทุก ยังเป็นยูโร 2 และ 3 ส่วนประเทศอื่นๆ เริ่มใช้มาตรฐานไอเสียที่สูงขึ้นแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และยุโรป ใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 6 หรือในอาเซียนอย่าง สิงคโปร์ ก็ใช้ยูโร 6 และมาเลเซีย จำหน่ายน้ำมันดีเซล ยูโร 5 ในหลายพื้นที่ ส่วนเวียดนามจะเริ่มใช้ ยูโร 5 ในปี 2565 สำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์เทียบเท่า EURO 5 (มอก. EURO 5) มีผลบังคับใช้ในปี 2567 (เดิม ปี 2564) ที่จะกำหนดค่ากำมะถันไม่เกิน 10PPM รวมถึงกำหนดค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ที่ต่ำลง จากนั้นมาตรฐาน EURO 6 จะออกมาบังคับในปี 2568 (เดิม ปี 2565) ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ รถที่จะจำหน่ายบนมาตรฐานยูโร 5 จะช่วยลดฝุ่นพิษลงไป 80 % 5. รถยนต์ไฟฟ้า+เลิกเผา รถยนต์ไฟฟ้า เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ต้องจริงจังในการผลักดันให้เกิดการลงทุนผลิต และจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ PHEV เพื่อให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้ และมีจิตสำนึกในการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ เป็นการสร้าง PRODUCT CHAMPION ตัวใหม่ให้แก่ประเทศ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน เกิดการจ้างงานในประเทศ ลดปัญหาฝุ่น และมลพิษได้โดยตรง สุดท้ายต้องไม่ลืมว่า แม้เราจะใช้รถดีเซลรุ่นล่าสุดกันทั้งประเทศ หรือเปลี่ยนไปเป็นสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ แต่วิกฤตฝุ่น PM2.5 ก็จะคงวนเวียนกลับมาสร้างความเสียหายอยู่เช่นเดิม ตราบใดที่รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาการ “เผา” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ฝุ่น PM2.5 เข้าไปในรถยนต์ได้หรือไม่ ? จริงๆ แล้วฝุ่นชนิดนี้สามารถเล็ดลอดเข้ามาในรถยนต์ได้บางส่วน แม้ว่าระบบเครื่องปรับอากาศในรถยนต์จะมีแผ่นกรองอากาศ ก็ไม่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นขนาด PM2.5 ได้ แต่ถ้านั่งอยู่ในรถ ก็ดูปลอดภัยจากฝุ่นอยู่พอสมควร หากไม่เปิดประตูรถ หรือเปิดกระจกรถในย่านที่รถติด ฝุ่นเยอะ ซึ่งไม่น่ากังวลเท่ากับการอยู่นอกรถ สูดดมอากาศไม่บริสุทธิ์เข้าไปเต็มๆ
บทความแนะนำ