รอบรู้เรื่องรถ
รถใช้งาน กับรถจอดนาน อย่างไหนน่าซื้อกว่ากัน ?
ก่อนอื่นใด ผมขอแสดงความยินดีต่อผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทุกคน ที่ได้โอกาสเริ่มต้น “ชีวิตใหม่” กันในที่สุด จากการทุเลาความรุนแรงลงของโรคระบาดครั้งนี้ และส่งผลให้มาตรการป้องกันอันเข้มงวด แบบเหวี่ยงแห คือ แบบ “คิดน้อย” หรือขี้เกียจคิด ของผู้ที่รับผิดชอบ โดยไม่ต้องใส่ใจ หรือช่วยกันหาทางออกว่า ผู้มีอาชีพบางประเภท จะมีชีวิตอยู่ต่อไปกันได้อย่างไร ? การท่องเที่ยวโดยทั้งชาวต่างชาติ และชาวไทยเราเองนี้ มีอิทธิพลต่อรายได้ และความเป็นอยู่ของประชากรไทยในวงกว้างกว่าที่คนทั่วไปจินตนาการมากครับ หลายอาชีพที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแต่อย่างใด ที่จริงแล้วกลับเกี่ยวพันกันเสมือนลูกโซ่
การที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ที่ได้รับความนิยมระดับโลก จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วสารทิศ แทบจะไม่ได้มาจากความสามารถของผู้ที่ดูแลในด้านนี้แต่อย่างใดเลยครับ มันเป็นความบังเอิญ หรือ “โชคช่วย” ทั้งสิ้น ความเป็นกันเองต่อชาวต่างชาติ การยิ้มแย้ม และความรักสนุก การมีอาหารที่หลากหลาย และอร่อย การมีวัฒนธรรมสูงต่อเนื่องมาจากอดีตอย่างยาวนานของคนไทย การมีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะชายทะเลที่สวยงาม การมีระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลาย และค่อนข้างทันสมัยในเมืองหลวง ล้วนดำรงอยู่นานแล้ว มิได้มาจากความต้องการให้บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแต่อย่างใดเลยนะครับ
ไม่มีใครที่มีสิทธิ์มาแอบอ้างเอาเป็นผลงานของตนเองเลย สิ่งที่น่าจะถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมันกัดเซาะ ทำลายชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวของประเทศเรามานานแล้ว กลับไม่มีใครให้ความสำคัญแต่อย่างใด ซึ่งก็คือ การฉ้อโกงนักท่องเที่ยว โดยบรรดาคนขับรถแทกซีชั่ว ไม่ว่าจะป้ายทะเบียนสีอะไรก็ตาม การถูกโก่งราคา หรือขู่กรรโชกเรียกค่าโดยสาร จากสนามบิน หรือชานเมือง มายังย่านกลางเมือง ระดับหลายพันบาท เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ต้องประสบกันมานับไม่ถ้วนแล้ว ไม่ใช่แค่หลักพัน แต่น่าจะเป็นจำนวนหลายหมื่นรายแล้ว อย่าไปถามแย้งพวกเขาว่า “ตำรวจของเราก็มี ทำไมไม่ไปแจ้งความ” ลองถามตนเองก่อนครับว่า ถ้าเป็นเรา จะทำได้หรือไม่ ? และถึงเขาจะทำ ก็คงไม่ได้รับการชดใช้อยู่ดี ผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากเหล่านี้ ไม่ได้แค่เข็ดขยาด และไม่ต้องการกลับมาเที่ยวอีกเป็นครั้งที่สองนะครับ แต่จะไปเผยแพร่ เล่าเรื่องราวเลวร้ายเหล่านี้อีกแรมปี ทุกครั้งที่โอกาสอำนวย
พวกที่ขับรถป้ายทะเบียนสีเหลือง ก็ยังพร้อมใจกันขูดรีดผู้โดยสารกันอย่างย่ามใจต่อไป เพราะไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาลงโทษพวกมันได้ ใครที่ยังสงสัยว่าเป็นเรื่องจริงแน่หรือ สามารถตรวจสอบด้วยตัวเองให้หายสงสัยได้เลยครับ โดยลองทำตัวเป็นผู้โดยสาร จากด้านหน้าสยามสแควร์ ที่พวกมันจอดเรียงแถว รอขูดรีดผู้โดยสารอยู่ เลือกเวลาที่รถไฟฟ้าใกล้เลิกให้บริการ เช่น เกือบสองยาม ลองบอกจุดหมายปลายทางที่ไม่ไกลมาก เช่นพระโขนง เอกมัย หรือสนามหลวง อย่าหวังว่าพวกมันจะยอมใช้มิเตอร์ครับ และราคาที่ออกจากปากโสโครกของพวกมันนี่ ไม่ต่ำกว่า 500 บาทครับ ราคานี้ถ้าไปถึงจุดหมายแล้วนั่งกลับมาที่เดิม ก็ยังสูงเกินไป
ทุกครั้งที่ผมกำลังขับรถ และต้องหยุดรอสัญญาณไฟเขียวอยู่ ถ้าผมเห็นชาวต่างชาติ (ถ้าหากเป็นคนไทย ผมจะไม่ต้องรู้สึกอับอาย) ก้าวขึ้นรถแทกซี ผมจะเกิดความเครียดมากขึ้นมาทันที ในฐานะพลเมืองที่เป็น “เจ้าบ้าน” ด้วยความกลัวว่าจะต้องเห็นภาพพวกเขา ถูกไล่ลงจากรถ เพราะจุดหมายที่ต้องการไปถึง มันไม่ถูกใจ หรือไม่ก็ไม่เปิดโอกาสให้พวกมันขูดรีด
มันเป็นเช่นนี้มานานนับสิบปีแล้ว และผมก็ยิ่งแปลกใจมากขึ้นไปอีก ที่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ผมถีอกำเนิดมา เท่าที่ผมเคยไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ มาเอง หรือรับรู้จากการได้เห็น หรือได้ฟังมา ไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศเหล่านั้นเลยนะครับ ทำไมพวกเขาจัดการกับปัญหานี้กันได้หมด
ผมว่าใครก็ตามที่สามารถกำจัดพฤติกรรมสามานย์ของมนุษย์อุบาทว์พวกนี้ได้สำเร็จ ควรถูกเชิญมาบริหารประเทศไทย เพราะไม่เคยมีผู้นำคนไหนของเรา แก้ปัญหานี้ได้สำเร็จอย่างยั่งยืนเลย
ผู้อ่านคอลัมน์นี้เป็นประจำ คงจะทราบจุดยืนของผม ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ในเรื่องการเลือกซื้อรถคันใหม่แทนคันที่ใช้อยู่ ว่าหากไม่ได้มีเงินเหลือใช้ หรือมี “เงินว่าง” อยู่โดยไม่ต้องกังวล รถใช้แล้วแต่สภาพยังดีอยู่ เป็นทางเลือกที่ดีกว่ารถใหม่เสมอ และในตอนที่เลือกซื้อ ก็ไม่ต้องไปเฟ้นหารถที่ถูกใช้งานมาน้อยครับ เพราะระยะทางที่รถถูกใช้งานไป ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของรถ
สมมติว่าผมหาซื้อรถใช้แล้วคันหนึ่ง แล้วพบรถรุ่นเดียวกัน อายุก็เท่ากันด้วย คันหนึ่งถูกใช้งานมาแล้ว 160,000 กม. ส่วนอีกคันแค่ 120,000 กม. (สมมติว่าเป็นระยะทางจริงทั้งสองคัน) ไม่ได้หมายความว่าผมจะอยากได้คันหลังมากกว่าคันแรกเลยนะครับ เพราะมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าอีก เช่น สภาพของรถทั้งภายนอก และภายใน สภาพอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องโดยสาร และห้องเครื่องยนต์ ล้วนสำคัญกว่าส่วนต่างของระยะทางเพียงแค่ 40,000 กม. และที่สำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือ การบำรุงรักษา
ผมขอแนะนำให้ผู้ที่ใช้รถใหม่ เก็บรวบรวมรักษาใบเสร็จรับเงิน จากการเข้าศูนย์บริการไว้ให้ครบทุกครั้งนะครับ เมื่อใดที่ต้องการขายรถนี้ จะช่วยให้ได้ราคาดีกว่าคันที่ไม่มีครับ ถ้าเป็นรถราคาสูง ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้เป็นแสนบาทเลย และยังขายออกไปได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ใบเสร็จเหล่านี้ หัวใจของมันไม่ใช่การยืนยันว่ารถของเราอยู่ในสภาพดีเท่านั้นนะครับ เพราะผู้ที่จะซื้อ และมีความรู้ด้านนี้เพียงพอ เขาสามารถประเมินจากการมอง และลองขับเอาก็ได้ ส่วนที่สำคัญกว่ามาก คือ การใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า เลขบอกระยะทางที่มาตรวัดความเร็วของรถเรานั้น เป็นค่าจริง มิใช่ตัวเลขลวงโลกจากการโกง โดยการ “กรอ” ครับ เพราะในใบเสร็จจะมีค่าระยะทางที่รถถูกใช้งานไปแล้วเสมอ
ในสำนวนของนักค้ารถใช้แล้ว เรียกพฤติกรรมฉ้อโกงนี้ว่า การ “กรอไมล์” ครับ ผู้อ่านที่มีอายุไม่เกิน 40 กว่าปี คงจะสงสัยกันมานานแล้ว แต่หาคำตอบไม่ได้ว่า เหตุใดคนไทยเรา โดยเฉพาะนักค้ารถใช้แล้วทั้งหลาย จึงใช้กันแต่หน่วยระยะทางที่เป็นไมล์ ทั้งๆ ที่มาตรวัดระยะทาง และความเร็วของรถ ป้ายจราจร ข้อมูลจำเพาะของรถสมัยนี้ ล้วนมีหน่วยเป็น กม. ทั้งนั้น
ต้องมองวงการรถยนต์ของประเทศไทย ย้อนหลังไปสักเกือบร้อยปีครับ เป็นยุคที่อภิสิทธิ์ชนเท่านั้น ที่จะครอบครองรถยนต์ได้ บุคคลเหล่านี้ล้วนเคยเล่าเรียนในประเทศอังกฤษ ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับรถยนต์จึงล้วนถอดแบบมาจากประเทศนี้ทั้งสิ้น การจราจรในประเทศของเราจึงเป็นแบบขับชิดซ้ายของถนน จนถึงทุกวันนี้ รถยนต์ที่ถูกจำหน่ายในประเทศไทยในยุคนั้น จึงต้องเป็นรถที่ถูกผลิตในประเทศอังกฤษ หรือหากถูกผลิตจากที่อื่น ก็ต้องเป็นรถสำหรับจำหน่ายในประเทศอังกฤษ (หรือประเทศเมืองขึ้น) เท่านั้น จึงจะมีพวงมาลัยอยู่ด้านขวา (เพื่อการขับชิดซ้าย) แน่นอนว่ามาตรวัดความเร็ว และระยะทาง ย่อมต้องใช้หน่วยเป็นไมล์ตามประเทศต้นตำรับ ทุกคำ หรือประโยค ที่เกี่ยวข้องกับระยะทาง และความเร็ว จึงมีคำว่าไมล์อยู่ด้วยเสมอ แม้ว่าปัจจุบันนี้จะถูกเปลี่ยนเป็น กม. แล้วก็ตาม เช่น กรอไมล์ เข็มไมล์ สายไมล์ (ในยุคใช้กลไก ก่อนที่มาตรวัดความเร็วจะถูกเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า) เรือนไมล์ เลขไมล์ ไมล์เดิมแท้ ไมล์กรอแล้ว ฯลฯ
กลับมาเรื่องเลขบอกระยะทางกันต่อครับ ถ้าเป็นรถที่ซื้อต่อมาจากคนสนิทที่ซื่อตรง ไว้ใจได้แน่นอน (ถึงเป็นเพื่อนกันผิวเผิน เวลาจะขายรถให้เรา ก็จะไป “กรอไมล์” ให้ตัวเลขต่ำกว่าจริง เพราะความโลภมันเข้มข้นกว่ามโนธรรม รวมกับความคิดเข้าข้างตนเองว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเลวร้าย เพราะใครๆ ก็ทำเช่นนี้) หรือมีใบเสร็จการเข้ารับบริการทุกครั้ง (ที่น่าเชื่อว่า ไม่ใช่ของปลอม)
พูดอย่างเหมารวมก็ยังไม่ผิดครับ คือ ถ้าเป็นรถที่ซื้อมาจาก TENT รับรองว่าไม่มีแม้แต่คันเดียว ที่ไม่ถูกกรอเลขระยะทาง ใครที่ชื้อรถมาด้วยวิธีนี้ ไม่ต้องตกใจครับ เพราะรถเหล่านี้ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง มันทนทานกว่าที่พวกเราเชื่อกันเยอะ ถึงระยะทางที่มันถูกใช้งานมาจริงๆ จะมากกว่าตัวเลขที่มาตรวัดไปอีกเท่าตัว ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ
ในตอนหน้าผมจะมาเฉลยสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครต้องการพูด หรือไม่กล้าพูดถึง และส่วนใหญ่แล้ว คนที่ควรจะได้รู้ความจริง ก็กลับไม่ต้องการฟังเสียอีก เพราะคนบางพวก จะรู้สึกดี ที่ได้หลอกคนอื่น และหลอกตัวเองไปพร้อมกันด้วย เป็นการช่วยปลอบใจในรูปแบบหนึ่งครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2565
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ