รอบรู้เรื่องรถ
ใช้น้ำมันเครื่องได้นานแค่ไหน ?
ผมจำได้ว่ากำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องของรถยนต์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้ คือทุกๆ 2,000 กม. แล้วอีกราวๆ สิบปีต่อมาก็ขึ้นมาเป็นทุกๆ 3,000 กม. แล้วอีกไม่นานก็กระโดดมาเป็นทุกๆ 5,000 กม. ค่อนข้างแปลกครับคือข้ามเลย 4,000 มาเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลอะไร "กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง"
ที่ผมเอ่ยถึงนี้ หมายถึงกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่พวกเรานิยมกันนะครับ ไม่ได้หมายถึงระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ผู้ผลิตรถเขากำหนด ซึ่งมักจะเป็นระยะทางที่มากกว่า ส่วนที่เรียกว่า "พวกเรานิยม" นั้น ที่จริงน่าจะมาจากความนิยมของบรรดาผู้ขายน้ำมันเครื่อง ที่ได้กำไรจากการขาย หรืออย่างน้อยก็มีผลประโยชน์บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการ ช่าง ร้านขายน้ำมันเครื่อง เจ้าของปั๊มน้ำมัน พนักงานเติมน้ำมัน ฯลฯ แล้วพวกเราผู้ใช้รถและผู้จ่ายเงิน ก็รีบเชื่อทันทีอย่างสนิทใจ เพราะวัฒนธรรมและค่านิยมของพวกเรา คือการเชื่ออะไรต่างๆ ได้มากมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลมารองรับ
ในวงสนทนาเราจะได้ยินแต่คำว่า "เขาว่า" นำหน้าเรื่องราวต่างๆ ในทุกเรื่องทุกวงการ เพราะฉะนั้นความนิยมเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 5,000 กม. ซึ่งยืนยาวมากว่า 20 ปีแล้ว ก็มาจาก "เขาว่า" นี่แหละครับ ในขณะที่ผู้ผลิตรถผลิตเครื่องยนต์ เขาเลือกระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกันเกิน 10,000 กม. กันหมดแล้ว หมดจริงๆ นะครับ หลายคนอาจจะแย้งในใจว่าไม่จริง เพราะในคู่มือประจำรถยังกำหนดให้เปลี่ยนทุกๆ 5,000 กม. อยู่
ผมรับรองได้ว่าเป็นคู่มือภาษาไทยที่ผู้แทนจำหน่ายกำหนดเอาเองและพิมพ์เองทั้งนั้นครับ บาง "ยี่ห้อ" ที่มีคู่มือแท้ภาษาอังกฤษให้มาด้วย ลองเปิดดูได้เลยครับ รับรองว่าเกิน 10,000 กม. ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เราลองมาหาเหตุผลกันว่ามันมีอะไรเป็นแก่นสารซ่อนอยู่ หรือว่าเป็นเพียงความเชื่อที่ไร้สาระเท่านั้น
ผมคิดว่าความนิยมระยะทางดังกล่าวนี้ เป็นเพียงความรู้สึกแบบอัตวิสัยล้วนๆ คือเลขสวยดี จำง่าย เป็นครึ่งหนึ่งของ 10,000 พอดี แล้วก็ยึดติดกันมาเรื่อยๆ นานมาก ต้องบอกว่านานเกินไปมาก เพราะเขาพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่องกันอยู่ตลอดเวลา และก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะยึดมั่นกันต่อไปอีกนานเพียงใด
คราวนี้มาดูเหตุผลทางตรรกกันบ้างครับ เราทราบกันอยู่แล้วว่า กำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่สมควรนั้น ไม่มีค่าตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ใช้ คราวนี้อนุโลมว่าคุณภาพอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือน้ำมันเครื่องคุณภาพสูงพอสมควร ที่ศูนย์บริการเลือกใช้ ซึ่งก็ต้องถูกควบคุมคุณภาพโดยผู้ผลิตรถยนต์แน่นอน หรือน้ำมันเครื่องที่ผู้จำหน่ายเชื้อเพลิงมาตรฐานรายใหญ่ทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์หลัก โดยยกเว้นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ไว้ก่อนนะครับ ถึงจะมีคุณภาพระดับใกล้เคียงกันที่เราพอจะประเมินได้ ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเหมาะสมก็ยังขึ้นอยู่กับสภาวะที่เครื่องยนต์ของรถเราถูกใช้งานอยู่ดี
ในส่วนนี้ก็พอจะอนุโลมได้อีกครับว่าต่างกันไม่มาก ถ้าไม่นับกลุ่มที่ที่ทำงานห่างจากบ้านไม่ถึง 3 กม. แล้วไม่ชอบขับรถไปทำธุระอื่นหรือไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งน้ำมันเครื่องจะรับภาระหนักมากกับกลุ่มที่บ้านกับที่ทำงานอยู่คนละจังหวัดและขับรถไปกลับทุกวัน ซึ่งเป็นกรณีที่น้ำมันเครื่องรับภาระน้อยมาก
เราก็พอจะอนุโลมได้ว่า สำหรับผู้ใช้รถกลุ่มใหญ่คือเกือบทั้งหมด ที่อยู่อาศัย "ในเมือง" ก็จะมีการใช้งานเครื่องยนต์ของรถในระดับที่ไม่ต่างกันนัก คือมีทั้งช่วงสั้น รถติด ขึ้นทางด่วนทางพิเศษกันบ้าง ขับในเมืองรถติดปานกลางในวันหยุดราชการบ้าง
ซึ่งก็จะมีระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ "เหมาะสมทางเทคนิค" อยู่ค่าหนึ่งนะครับ สำหรับน้ำมันเครื่องคุณภาพที่ผมยกตัวอย่างมาแล้ว ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมทางเทคนิค ซึ่งมีอยู่จริงนี้ จะเป็นตัวเลขเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยความยาวของถนนที่เราจะใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นกิโลเมตรเหมือนที่เราใช้กันด้วยครับ ชาวอังกฤษ ชาวอเมริกันและอีกหลายประเทศก็ยังใช้ไมล์เป็นหน่วยความยาวของถนนกันอยู่ เพราะฉะนั้นหน่วยกิโลเมตรที่พวกเรา (และคนส่วนใหญ่ของโลก) ใช้กัน ก็ไม่ได้มีความพิเศษอะไร สมมติว่ายังมีคนที่ไม่ยอมรับหรือจินตนาการไม่ได้ว่ามันไม่ได้มีความ "พิเศษ"
มาดูการกำหนดระยะทางหนึ่งเมตรในประวัติศาสตร์กันก็ได้ครับ ซึ่งเขาเลือกเอาตามใจชอบเหมือนกัน ขอให้ได้ความยาวที่เหมาะกับการใช้งาน โดยกำหนดให้ระยะทางหนึ่งในสี่สิบล้านส่วน ของเส้นรอบวงของโลก มีค่าเท่ากับหนึ่งเมตร ที่จริงมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากครับ เช่น วัดแนวใด ต้องให้ผ่านกรุงปารีสที่จุดไหน เพราะชาวฝรั่งเศสเป็นผู้กำหนดมาตรฐานนี้
ตอนหลังนี้วิธีนี้ไม่ละเอียดพอ และเทียบกันลำบาก เลยใช้วิธีอื่นทางฟิสิคส์แทน แต่ระยะหนึ่งเมตรก็ยังใกล้เคียงกับค่าเดิมอยู่
คราวนี้มาดูวิธีนับเลขของพวกเรากันบ้าง แบบที่มีหนึ่งถึงศูนย์หรือสิบ ซึ่งเรียกเป็นสากลว่าแบบ DECIMAL คือวิธีแบบที่ใช้จำนวนสิบเป็นฐาน จำนวนสิบนี้ก็ไม่ได้มีอะไร "พิเศษ" นะครับ มันคือจำนวนนิ้วมือของมนุษย์เราเท่านั้นเอง ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เหมาะแก่การใช้คำนวณเท่าใดนัก เพราะแบ่งครึ่งกับแบ่งเป็นห้าส่วนได้เท่านั้นเอง ถ้าพวกเรามีสิบสองนิ้วแล้วใช้วิธีนับแบบฐานสิบสอง ก็จะสะดวกกว่านี้อีก และหากเราใช้ฐานสิบสอง ระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่พวกเราชอบมันก็จะไม่เป็นเลขสวยครึ่งหมื่นอีกต่อไปแล้วครับ
เพราะฉะนั้นกำหนดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุกๆ 5,000 กม. ที่นิยมและยึดมั่นกันทั่วประเทศเรา ก็เป็นเรื่องไร้สาระล้วนๆ ที่ไม่มีเหตุผลใดเลยมารองรับ ผมเคยเห็นหลายคนกระวนกระวายใจอย่างมาก ถ้าระยะทางที่ใช้เกิน 5,000 กม. ไปหลายร้อย กม. แต่ยังไม่มีเวลานำรถไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
ถ้าจำเป็นต้องกำหนดตัวเลขระยะเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นค่ากลางขึ้นมา ผมขอเลือก 10,000 กม. โดยให้กลุ่มที่ใช้งานหนัก (คือระยะทางแต่ละครั้งสั้นมาก) กับกลุ่มรักรถเป็นพิเศษ ลดระยะนี้ลงเหลือประมาณ 6,000กม. ค่า 10,000 กม. ให้ถือเป็นค่ากลาง ซึ่งยืดหยุ่นได้มาก ใครใช้ทางไกลเป็นหลัก ก็สามารถเพิ่มเป็น 12,000 ถึง 13,000 กม. ได้อย่างสบาย ใครที่ใช้ระยะทางสั้นค่อนข้างมาก ก็อาจจะลดลงเหลือสัก 8,000 กม. ส่วนผู้ที่ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ (FULLY SYNTHETIC) เอา 2 คูณได้เลยนะครับ ถ้ายังฝืนความรู้สึกก็ลดตัวคูณเหลือ 1.7 ถึง 1.8 ได้ตามสะดวก
ปัญหานี้แทบไม่แตกต่างจากการใช้เบนซินค่าออคเทนสูงเกินของพวกเรา ที่ถูกปล่อยปละละเลยมานานกว่าสิบปี สูญเงินของประเทศไปนับหมื่นล้านบาท กว่าจะมีการตื่นตัวและให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง ต่างกันอยู่เพียงเล็กน้อยตรงที่น้ำมันหล่อลื่นมิใช่เชื้อเพลิงที่ให้พลังงาน ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะเกือบทั้งหมดของน้ำมันหล่อลื่น และผลิตภัณฑ์ที่นำมาผลิตน้ำมันหล่อลื่นสำหรับรถยนต์ นำเข้าจากต่างประเทศ
ตัวเลขต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สำหรับเครื่องยนต์เบนซินนะครับ ส่วนเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งมีเขม่าเป็นตัวการสำคัญให้น้ำมันเครื่องและไส้กรองน้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพต้องมีวิธีเลือกกำหนดเปลี่ยนแตกต่างออกไปโดยเฉพาะ
ชอคอับ ฯ เสื่อม ต้องรั่ว
ใช่แล้วครับ ถ้าสงสัยว่าชอคอับ ฯ เสื่อมจริงหรือไม่ หาโอกาสยกรถหรือมุดเข้าไปดูที่ตัวชอคอับ ฯ ส่วนที่แกนชอคอับ ฯ เลื่อนเข้าออกถูกับซีลน้ำมันอยู่ ถ้าผู้ใช้รถเป็นคนช่างสังเกตค่อนข้างละเอียดอาจเริ่มรู้สึกว่ารถมีการโยนตัวในทิศขาขึ้น เช่น ขณะลงสะพานแล้วไม่แน่ใจว่ามันโยนตัวมากกว่าปกติหรือมากกว่าที่ควร จริงหรือไม่ หาทางตรวจการรั่วได้เลยครับ ถ้ามีคราบน้ำมันรั่วออกมาก็เป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่าความรู้สึกนั้นเป็นจริงไม่ใช่อุปาทาน ชอคอับ ฯ ที่เสื่อมโดยไม่มีอาการรั่วให้เห็น ถือเป็นข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
และถ้าสลับตำแหน่งในหัวเรื่องนี้ก็ยังถูกอยู่ดีครับ คือเปลี่ยนเป็นชอคอับ ฯ รั่ว ต้องเสื่อม เพราะฉะนั้นถ้ารถของเราไม่มีอาการผิดปกติให้เราสังเกตได้ หรืออาจจะมีแต่เรายังไม่รู้สึกเพราะความเคยชิน แต่เราบังเอิญตรวจพบว่ามีน้ำมันรั่วออกจากชอคอับ ฯ (เช่นขณะยกรถเพื่อเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หรือซ่อมส่วนอื่น) ให้ถือว่าเป็นชอคอับ ฯ ที่เสียแล้วได้เลยครับ และไม่น่าฝืนใช้มันต่อไป เพราะถึงจะเพิ่งรั่วก่อนที่เราจะพบโดยบังเอิญเพียงไม่กี่วัน ชอคอับ ฯ ที่รั่วนี้ก็จะเสื่อมอย่างเร็วมาก
จากสถิติและจากการทดสอบในต่างประเทศ ชอคอับ ฯ ที่น้ำมันเริ่มรั่วออกมากภายนอก จะเสื่อมภายในระยะทาง 100 กม. ถึง 2,000 กม. แล้วแต่การใช้งานครับ
เพราะฉะนั้น ถ้าพบว่ารั่ว ไม่ต้องลังเลครับ เปลี่ยนใหม่ทันที เพราะชอคอับ ฯ เป็นอุปกรณ์ของรถ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยตรง นอกเหนือไปจากความสบายและคามมั่นใจขณะขับ
แล้วไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นคู่นะครับ มันเป็นความคิดที่อยู่บนพื้นฐานเดียว คือเอาเปรียบลูกค้า แน่นอนครับว่าร้านอะไหล่เล็กๆ ไม่สามารถขายชอคอับ ฯ แบบแยกข้างได้ แต่ถ้าเป็นศูนย์บริการที่มีความจริงใจจะต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนชอคอับ ฯ เฉพาะข้างที่เสียให้แก่ลูกค้า เพราะชอคอับ ฯ สมัยนี้มีอายุใช้งานค่อนข้างสูง คือประมาณ 80,000 ถึง 150,000 กม. แล้วแต่การใช้งาน (แน่นอนครับประเภทหลบหลุมหรือชะลอไม่เป็นอาจใช้ได้ไม่ถึง 50,000 กม.)
ถ้าชอคอับ ฯ ตัวใดตัวหนึ่งของเรา รั่วหลังจากใช้งานไปเพียงไม่ถึง 30,000 กม. ก็ไม่สมควรที่จะเปลี่ยนเป็นคู่ ยกเว้นเราแน่ใจว่าใช้งานมามากพอแล้ว เช่นเกือบแสน กม. แล้วข้างหนึ่งข้างใดรั่ว ก็สมควรเปลี่ยนเป็นคู่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาสองต่อครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2545
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ