ผมเพิ่งเริ่มพิมพ์ต้นฉบับของเดือนนี้ ได้เพียงไม่ถึงครึ่งหน้า ก็ต้องตะลึงกับอาการ “บ้านโคลง” ซึ่งผมได้เผชิญมาครั้งหนึ่งในปีที่ผ่านมา จากการรับประทานผลไม้ ที่มียาฆ่าแมลงหลงเหลือปะปนมาด้วย และความรู้สึกในครั้งนี้ ก็คล้ายกับครั้งที่แล้วมาก ผมกำลังนึกทบทวนว่า ได้พลาดพลั้งเป็นครั้งที่ 2 ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีประสบการณ์มาแล้ว และระวังตัวมากขึ้นเป็นพิเศษ จึงหันไปมองรอบตัวเพื่อสังเกตอาการ ถึงได้ทราบว่าไม่ใช่มาจากสาเหตุเดิมเสียแล้ว ทุกสิ่งที่ห้อยแขวนอยู่ กำลังแกว่งด้วยความแรงพอสมควร แม้จะไม่เคยสัมผัสด้วยตนเองมาก่อน ผมก็เดาได้ทันทีว่า มันคือ ผลของการเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ซึ่งมิได้รุนแรงนัก และน่าจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่รอยเลื่อนหนึ่ง ในประเทศเพื่อนบ้าน เหตุการณ์หลังจากนี้ คงไม่ต้องเล่านะครับ ผมรีบติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ ทันที สิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือ การพังทลายของตึกแห่งหนึ่ง ที่งานก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว ผมแปลกใจมาก เพราะรู้จากสามัญสำนึกว่า แผ่นดินของทั้ง กทม. นี่ ก็ต้องสั่นสะเทือนในระดับเดียวกับที่ผมรู้สึกเมื่อสักครู่นี่แหละ ซึ่งมันไม่มีทางที่จะทำให้ตึกสูงใดๆ ที่ก่อสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม พังถล่มลงมาอย่างที่เห็นนี่ได้เลย ผมรีบหาข่าวเพิ่มเติม เพื่อยืนยันความเข้าใจของผมนั้นไม่ได้ผิดพลาด โชคดีที่เป็นไปตามนั้น คือ ไม่มีตึกสูงอื่นที่ไหน พังทะลายลงมา ผมคาดเดาทันทีด้วยความมั่นใจ จากประสบการณ์หลาย 10 ปี ที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศเราว่า หายนะในครั้งนี้ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ประการแรก ต้องเป็นตึกของทางราชการ ประการที่ 2 ค่าก่อสร้างน่าจะสูงกว่าการสร้างตึกของเอกชน ประการที่ 3 บริษัทที่ได้สิทธิทำสัญญาก่อสร้าง ต้องเป็น “เจ้าเก่า” หรือ “ขาประจำ” ที่ประชาชนอย่างพวกเรา เห็นชื่อกันจนเบื่อหรือ “เอียน” แล้ว ประการที่ 4 (ข้อนี้ผมไม่ได้หมายถึงประเทศนี้นะครับ แต่เดาจากที่เพื่อนของเพื่อนของผม ที่อยู่ในประเทศสารขันธ์ เล่าให้ฟัง) ว่ามันมาจากการลดต้นทุนก่อสร้าง แบบ “เขมือบทุกเม็ด” โดยไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรม และจรรยาบรรณว่า จะเอาชีวิตของผู้บริสุทธิ์ มาเสี่ยงกี่ร้อย หรือกี่พันคน ผมไม่ได้เก่งขนาดที่จะเดาได้ถูกทุกข้อนะครับ ที่ผิดไป คือ ผมไม่นึกว่า จะมีการส่งต่องานก่อสร้างให้ผู้รับเหมาอีกราย มารับจ้างต่ออีกทอด และที่ยิ่งกว่านี้อีกก็คือ เป็นบริษัทที่เพิ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ณ ถนนพระราม 2 เมื่อไม่กี่วันมานี้ จนมีผู้เสียชีวิตไปหลายคน สิ่งที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ก็เป็นเรื่องจริงล้วนๆ เช่นเดียวกัน ไม่ได้แต่งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างแต่อย่างใดทั้งสิ้น ก่อนที่คานบนถนนพระราม 2 จะถล่มลงมา ประมาณ 3 วัน ผมต้องเดินทางไปทำธุระที่หัวหิน ซี่งย่อมต้องผ่านจุดที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงนี้ และการจราจรก็บังเอิญติดขัดขึ้นมาตรงนี้พอดี ผมแหงนหน้ามองสภาพงานก่อสร้างคานพวกนี้ ด้วยความรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมาทันที แน่นอนว่าผมมองไม่เห็นรายละเอียด ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรอกครับ เพราะมันมีชิ้นส่วนอยู่มากพอสมควร และผมศึกษามาทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล และยานยนต์ แต่จากประสบการณ์ในการทำงานหลายด้านทางวิศวกรรม อยู่หลายสิบปี จนได้รู้จักความคิด และพฤติกรรมของผู้คนในวงการนี้ค่อนข้างมาก จนผมประเมินได้ว่า มีโอกาสอยู่ไม่น้อยเลย ที่คาน และโครงสร้างที่ค้ำยันอยู่เหล่านี้ จะถล่มลงมาทับรถของผม ที่ต้องหยุดอยู่กับที่เป็นช่วงๆ จนร่างผมแหลกอยู่ในรถ ถนนช่วงนี้มี 4 ลู่วิ่ง และผมกำลังใช้ลู่วิ่งในสุด (ขวาสุด) อยู่ เพราะไม่มีรถบรรทุกมาปะปน ผมตัดสินใจเลิกใช้ลู่วิ่งนี้ทันที รีบเปิดไฟเลี้ยวขอเปลี่ยนไปใช้ลู่นอกสุดทันที เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิตอยู่ใต้คานเหล่านี้ เมื่อหมดความเครียด และการจราจรหายติดขีด ผมคิดในใจว่า เรื่องเช่นนี้คงไม่สามารถเอาไปแนะนำแก่ใครได้เลย แค่เล่าให้ฟังอย่างเดียว ก็จะต้องถูกเยาะเย้ยแล้วว่า เรา “ประสาทรับประทาน” หรือเป็นโรค “ปอดแหกจนเกินเหตุ” เพราะคนไทยส่วนใหญ่รักความประมาท คือความประมาท และความสบาย เป็นที่ตั้ง ใครที่เตรียมพร้อม และบังเอิญเกิดเหตุร้ายขึ้นจริงตามคาด ถึงจะได้รับการยอมรับ แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น ก็จะต้องถูกเย้ยหยัน “เป็นปกติธุระ”
กลับมาเรื่องแผ่นดินไหวกันต่อครับ ขณะที่กำลังเศร้าใจต่อความเคราะห์ร้าย ของบรรดาคนงาน และช่าง ที่ต้องเสียชีวิต หรือบาดเจ็บ อยู่ใต้ซากตึกแห่งนี้ ที่ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะมิใช่ชาวไทย แต่ก็เป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา ก็ต้องเกิดความเครียดหนักขึ้นไปอีกหลายเท่า เมื่อต้องฟังรายงานข่าวว่า บรรดาคนขับรถรับจ้าง ซึ่งก็คือ ไอ้พวกคนขับรถแทกซีนี่แหละครับ มันฉวยโอกาสขูดรีดค่าโดยสาร จากประชาชนที่เดือดร้อน เพราะไม่สามารถเดินทางกลับบ้านด้วยพาหนะอื่นได้ มันเลวระดับที่กล้าโก่งค่าโดยสารเป็น 10 เท่าของราคาปกติ เท่าที่ประชาชนรับรู้อย่างเป็นทางการกันก็คือ ถ้าพบเห็นหรือเผชิญพฤติกรรมอุบาทว์ ของมารสังคมพวกนี้ สามารถโทรศัพท์ไปแจ้ง หรือร้องเรียนได้ที่หมายเลข 1 ในสังกัดกรมการขนส่งทางบก หน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะมีคนรับหรือไม่ และแจ้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ปัญหานี้มีมานานมากแล้วครับ ผมว่าใครที่จัดการได้สำเร็จ ถ้าเป็นไปได้ ประชาชนคงเชื่อมั่นในความสามารถ จนอยากให้มาบริหารประเทศนี้เสียด้วยเลย ตามความเห็นของผม น่าจะมีการประสานงานกัน ระหว่างกองบัญชาการตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก เพื่อจะได้จัดการสวะสังคมพวกนี้ ให้ได้ผลจริงจังอย่างเป็นรูปธรรม
ดูตัวอย่างการห้ามรถจักรยานยนต์บนทางเท้าก็ได้ครับ พวกมันกำเริบเสิบสานกัน ถึงขั้นที่บังอาจตะคอก ผู้ที่เดินอยู่บนทางเท้า ให้หลีกทางให้มัน ผมต้องเถียงกับแทบทุกคนในเรื่องนี้ ที่ล้วนเชื่อว่า ไม่มีใครที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะ “พวกมันทำกันทั้งเมือง จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว” ผมโต้แย้งมาตลอดหลายปีว่า ไม่ใช่แค่แก้ได้ แต่ในแบบที่จะสำเร็จได้อย่างง่ายดายด้วย เพียงแค่เพิ่มอัตราโทษ ซึ่งก็คือ ค่าปรับ ให้สูงพอสำหรับคนพวกนี้ และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และไม่จำกัดเวลาด้วย และแล้วสิ่งที่ผมรอคอย ก็บังเกิดขึ้นจริง มีการเพิ่มค่าปรับเป็นครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ในการจับกุมด้วย (มิฉะนั้น เมื่อบรรดาตำรวจจราจรเลิกงาน เช่น ช่วงเย็นหรือกลางคืน มนุษย์พวกนี้ ก็จะละเมิดกฎหมายกันเหมือนเดิม) จบเลยครับ ความปลอดภัยกลับมาสู่ผู้ใช้ทางเท้าทันที เพราะแทบไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับค่าปรับระดับนี้ ผมไม่แน่ใจว่า มี “รางวัลนำจับ” ให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วยหรือไม่ และในอัตราเท่าใด ถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ผมเชื่อว่าประชาชนไม่ขัดข้องหรอกครับ
บทความแนะนำ