บันทึกธุรกิจ(formula)
บุญผ่อง ฯ รุกตลาดปี 46/เมร์เซเดส-เบนซ์ คว้ารางวัล/ออโตเมติค บิสซิเนส ฯ เปิดตัวสัญญาณกันขโมย/มิตซูบิชิ ปรับโครงสร้างใหม่
บุญผ่อง ฯ
รุกตลาดปี 46
วีรเวช ศุภวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญผ่อง แอชฟอร์ด จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนที่จะขยายศูนย์เดนท์สดัน เพิ่มขึ้นในปีนี้อีก 10 ศูนย์ โดยที่ผ่านมาเมื่อเดือน ธันวาคม 2545 ได้เปิดศูนย์ที่จังหวัดกาญจนบุรีส่วนสาเหตุที่บริษัทขยายศูนย์ไปสู่ตลาดต่างจังหวัดนั้น มีผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตหรือการพัฒนายกระดับศูนย์ซ่อมสี-ตัวถังรถยนต์ในตลาดต่างจังหวัดนั้นนับว่ายังมีช่องว่างอยู่และมีการขยายตัวอย่างล่าช้า
ทั้งนี้พบว่าปริมาณการใช้รถยนต์ในต่างจังหวัดมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของศูนย์ซ่อมสี-ตัวถังรถยนต์ที่มีความเพียบพร้อมด้วยเครื่องมือทันสมัย และการทำงานที่เป็นระบบแบบแผน ราคายุติธรรมยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้รถตรงจุดนี้จึงเป็นสาเหตุให้บริษัทมีแผนที่จะขยายศูนย์ไปสู่พื้นที่ในต่างจังหวัด
บรรยายภาพ
วีรเวช ศุภวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เมร์เซเดส-เบนซ์
คว้ารางวัล จาก EURO NCAP
รายงานข่าวจาก บริษัท เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด รถยนต์ เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ผ่านการทดสอบการชน ของ EUROPEAN NCAP (NEW CAR ASSESSMENT PROGRAM) พร้อมรับคะแนนระดับ 5 ดาว จากองค์การ EURO NCAP ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงสุดในการทดสอบและมีรถเพียงไม่กี่คันในโลกเท่านั้นที่สามารถทำคะแนนได้ในระดับนี้
ทั้งนี้จากแนวคิดและกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยของ เมร์เซเดส-เบนซ์ได้ประมวลจากการวิเคราะห์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงแล้วนำมาพัฒนาเป็นขบวนการด้านความปลอดภัยสำหรับยานพาหนะโดยรวมถึงระบบอีเลคทรอนิคส์ซึ่งใช้เพื่อการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ การปกป้องผู้อยู่ในรถตามความรุนแรงของอุบัติเหตุและการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้อยู่ในรถได้เร็วที่สุดภายหลังการชน
สำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถรุ่น อี-คลาสส์ มีมากมาย เช่นถุงลมนิรภัยสำหรับคนขับ และผู้โดยสารด้านหน้าซึ่งปรับตัว 2 ระดับตามความรุนแรงของอุบัติเหตุถุงลมนิรภัยด้านข้างและที่หน้าต่าง เข็มขัดนิรภัยระบบพิเศษ และอีกมากมาย
บรรยายภาพ
เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์
ออโตเมติค บิสซิเนส ฯ
เปิดตัวสัญญาณกันขโมย
วิบูลย์ ว่องศิลป์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออโตเมติค บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด หรือ เอบีจี เปิดเผยว่าบริษัทได้นำเทคโนโลยีล้ำสมัยสัญญาณกันขโมยแบบใหม่ ที่นำเสนอการใช้นวัตกรรม BIO FINGER PRINT หรือลายนิ้วมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับรถยนต์
โดยคุณสมบัติเด่นของระบบสัญญาณกันขโมยด้วยลายนิ้วมือนี้ในด้านอุปกรณ์อ่านลายนิ้วมือจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันรถยนต์ยุคใหม่ที่ทำการอ่านลายนิ้วมือของเจ้าของรถหรือผู้ที่ได้รับอนุญาตในการใช้รถยนต์คันนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยบริการ 24 ชม.คอยให้บริการและแนะนำการใช้งานของระบบสัญญาณกันขโมยซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะสามารถรองรับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชม.โดยช่างผู้ชำนาญ
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของระบบสัญญาณกันขโมยรถยนต์จะเป็นลูกค้ากลุ่มพรีเมียมหรือกลุ่มลูกค้าที่ใช้รถยุโรปตั้งเป้าในปี 2546 นี้จะมีรถที่มาใช้บริการไม่เกิน 2,000 คัน ระบบดังกล่าวมีราคาอยู่ประมาณ 55,000 บาท
วิบูลย์ กล่าวต่ออีกว่าภาพรวมตลาดอุปกรณ์และสัญญาณกันขโมยในปี 2546 ยังมีโอกาสเติบโตถึงร้อยละ 30 จากปี 2545 ทั้งนี้เพราะความต้องการทั้งในตลาดรถยนต์ระดับกลางและล่างไปจนถึงระดับพรีเมียมยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก
บรรยายภาพ
วิบูลย์ ว่องศิลปวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออโตเมติก บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด (DSCO5603)
มิตซูบิชิ
ปรับโครงสร้างใหม่
โตชิยูกิ ยามานิชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด เปิดเผยว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากแผนทำให้บริษัทสามารถมีกำไรในปี 2545 สำหรับตำแหน่งใหม่ที่ปรับในครั้งนี้ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าบริหารปฏิบัติการประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านข้อมูลซึ่งจะเข้ามาช่วยให้งานแต่ละด้านมีอิสระและคล่องตัวขึ้นกว่าเดิมโดยผู้บริหารทั้งหมดจะมาจากเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา
ในส่วนของ ดร. วัชระ พรรณเชษฐ์ จากเดิมดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สิทธิผล เซลส์ จำกัด ส่วน ดร. วัชรี พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่จะไปบริหารกิจการของครอบครัวในฐานะของประธาน สิทธิผล โฮลดิง กรุพ
การปรับเปลี่ยนองค์กรและการบริหารครั้งนี้เป็นผลมาจากการศึกษาและวางแผนอย่างละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกันกับแผนงานพัฒนาธุรกิจหลักของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งดำเนินการพร้อมกันทุกแห่งทั่วโลกและผลจากการปรับเปลี่ยนนี้ยังจะทำให้บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด จะไม่เป็นเพียงผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตรถพิคอัพภายในภูมิภาคของ มิตซูบิชิ อีกด้วย
บรรยายภาพ
โตชิยูกิ ยามานิชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด
ฮอนดา
ลงทุน 2.4 พันล้าน
ซาโตชิ โตชิดะ ประธานกรรมการบริหาร และซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2546 ฮอนดา มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้แบ่งเป็นการลงทุนสำหรับธุรกิจรถยนต์ 1,500 ล้านบาท รถจักรยานยนต์ 500 ล้านบาทและธุรกิจเครื่องยนต์อเนกประสงค์ 400 ล้านบาท โดยการลงทุนทั้งหมดนี้เป็นการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น
สำหรับการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของรถยนต์ ซึ่งดูแลโดย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มจาก 100,000 คัน/ปี เป็น 120,000 คัน/ปี ส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์ โดยบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1 ล้านคัน/ปี เป็น 1.4 ล้านคัน/ปีและการผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์จาก 1 ล้านเครื่อง เป็น 1.2 ล้านเครื่อง/ปีทั้งนี้เพื่อรองรับตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ
ส่วนในปี 2546 ฮอนดา ตั้งเป้ายอดจำหนายรถยนต์ไว้มากกว่า 60,000 คัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกจะมีการแนะนำแอคคอร์ด ใหม่ นอกจากนี้ในส่วนของการส่งออกในปี 2546 ฮอนดา จะมีการขยายตัวมากกว่า 200 % โดยจะมีมูลค่าการส่งออกรวม 50,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ที่ทำได้ 19,000 ล้านบาท
บรรยายภาพ
การแถลงนโยบายปี 2546 (DSCO5723)
เอ.พี.ฮอนด้า ฯ
เผยนโยบายปี 2546
เค ยามากูจิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า สภาพตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2545 มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อันมีผลมาจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ของแต่ละค่ายผู้ผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถราคาประหยัดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ฮอนด้าบรรลุเป้าหมาย 1 ล้านคันในปี 2545
สำหรับแผนงานในปี 2546 เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาบริษัทจะเร่งพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยี รูปลักษณ์ คุณภาพ และราคาประหยัด เพื่อมุ่งสู่การมีอัตราการถือครอง 3 คน/1 ตัน หรือมีจำนวนถือครอง 20 ล้านคันในปี 2548 ส่วนด้านยอดจำหน่ายในปีนี้บริษัทตั้งเป้าการจำหน่ายไว้ที่ 1.4 ล้านคัน
นอกจากนี้ในส่วนของร้านตัวแทนจำหน่าย ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนา ร้านจำหน่ายตัวอย่าง หรือ MODEL SHOP ซึ่งเป็นร้านที่มีศักยภาพในองค์ประกอบ 5S คือ SALES การขาย SERVICE การบริการหลังการขาย SPARE PARTS การบริการด้านอะไหล่ SOCIAL การดำเนินกิจกรรมด้านสังคม SECOND HAND การให้บริการครบครันด้านรถมือสอง
ในส่วนของ MODEL SHOP บริษัทมีเป้าหมายที่จะมีอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง โดยภายในปี 2547 จะมี 100 แห่งนอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้ใช้ จะดำเนินการเปิดศูนย์บริการมาตรฐาน HONDA AUTHORIZED SHOP หรือ HAS เพื่อรองรับการบริการที่ขยายตัว คาดว่าภายในปี 2547 จะดำเนินการเปิดร้าน HAS ได้จำนวน 1,000 แห่งทั่วประเทศ
บรรยายภาพ
เค ยามากูจิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด
คาลเท็กซ์ ฯ
เปิดตัว ฮาโวลีน ใหม่
สุธิศ ไอวาร์ สกอท ผู้จัดการทั่วไป บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด บริษัทในเครือของเชฟรอน เทกซาโกเปิดเผยว่า น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน คาลเทกซ์ ฮาโวลีน ใหม่ เหนือกว่ามาตรฐานสูงสุด API SL มีให้เลือกใช้ 3 สูตร ได้แก่ น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ฮาโวลีน เอเนอร์จี/ฮาโวลีน ซินเธติค เบลนด์ และฮาโวลีน ฟอร์มูลา
ทุกสูตรมีคุณสมบัติโดดเด่นในการปกป้องเครื่องยนต์ ช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและยืดอายุการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ทุกสูตรเหนือกว่ามาตรฐานสูงสุด API SL ตอกย้ำคุณภาพและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีน้ำมันเครื่อง
สำหรับการเปิดตัวครั้งแรกในงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 19" ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าชมงานสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 5,000 แกลลอน มีวางจำหน่ายแล้วตามสถานีบริการน้ำมันคาลเทกซ์ ร้านอะไหล่ยนต์และศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องชั้นนำทั่วไป
บรรยายภาพ
สุธิศ ไอวาร์ สกอท ผู้จัดการทั่วไป บริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2546
คอลัมน์ Online : บันทึกธุรกิจ(formula)