เจาะสนามแข่งต่างประเทศ
แฟร์รารี่ ไล่จี้ติด แมคลาเรน ก่อนเข้าช่วงไฮ-ไลท์ ของฤดูกาล
ในช่วงต้นฤดูกาล กว่าทีมม้าป่าลำพองสีแดงเพลิงคืนฟอร์ม การแข่งขันผ่านไปถึงสนามที่ 4 คว้าแชมพ์ในวังของตนเอง ก่อนที่จะไปคว้าแชมพ์ต่อเนื่องอีก 2 สนาม ด้วยรถแข่งรหัสใหม่ F2003 GA แต่เกม เอฟ-1 ปีนี้ เจองานหนัก จากผลงานอันโดดเด่นของดาวรุ่งน้องใหม่ ทั้ง คีมี ไรค์โคเนน ทีม แมคลาเรน และ แฟร์นันโด อาลนโซ ทีม เรอโนลต์ ส่วนทีมระดับกลางสลับกันเก็บแต้มมีสิทธิ์โค่นทีมยักษ์ใหญ่
ศึก ฟอร์มูลา วัน ประจำฤดูกาลปี 2003 ดุเดือดเข้มข้นตั้งแต่สนามแรกจากผลงานของบรรดานักขับน้องใหม่ที่มีโอกาสโชว์ฝีมืออันยอดเยี่ยม ทั้งการคว้าโพลโพสิชันกับการคว้าแชมพ์แรกในชีวิต เอฟ-1 ของ ไรค์โคเนน ดาวรุ่งชาวฟินแลนด์ และ จานการ์โล ฟิซิเกลลานักขับชาวอิตาเลียน แห่งทีม จอร์แดนส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนกฎกติกาใหม่ของทางสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติเอฟไอเอ (FIA)
ส่วนทีมระดับกลาง และระดับท้ายตาราง เริ่มเก็บเกี่ยวแต้มติดมือ ไม่ว่าจะเป็นทีม แจกวาร์ โตโยตา และบาร์ ขณะที่ทีม วิลเลียมส์ คู่ต่อกรของทีม แฟร์รารี เมื่อฤดูกาลที่แล้วออกสตาร์ทไม่ดีนักเริ่มขยับขึ้นมาเข้าเส้นชัยในอันดับต้นๆ หลายฝ่ายคาดว่านัดนี้มีสิทธิ์ถูก แมคลาเรน และ เรอโนลต์ เบียดชิงตำแหน่งรองแชมพ์ไปครองแน่
สเปน กรองด์ปรีซ์
F2003 GA ประเดิมแชมพ์แรก
ก่อนการแข่งขันในรายการ สเปน กรองด์ปรีซ์ สนามที่ 5 ประจำฤดูกาลปี 2003 คีมี ไรค์โคเนน วัย 23 ปี นักแข่ง เอฟ-1 ที่ฟอร์มร้อนแรงสุด ตลอด 4 สนามที่ผ่านมา สามารถสร้างผลงานติดอันดับ 1 ใน 3 ได้ขึ้นโพเดียมติดต่อกันทุกสนาม และที่ กาตาลุนยา เซอร์กิท แห่งนี้ ไรค์โคเนน ผู้มีแฟนสาวเป็นมิสสแกนดิเนเวียน ประกาศขึ้นโพเดียมติดต่อกันเป็นสนามที่ 5
"แม้ว่าสถิติที่บาร์เซโลนา ของผมไม่ค่อยดีเท่าไร แต่หวังว่าทุกสิ่งในปีนี้จะไปได้ดี" ไรค์โคเนนจบการแข่งขันในอันดับ 9 เมื่อปี 2001 ซึ่งเป็นปีแรกลงแข่ง ฟอร์มูลา วัน กับทีมเซาเบอร์ ปีที่แล้วลงแข่งให้กับทีม แมคลาเรน
เซอร์กิทแห่งนี้เป็นสนามที่ แมคลาเรน เคยประสบความสำเร็จในช่วงปี 1998-2000 มิคา ฮัคคิเนน อดีตแชมพ์โลก 2 สมัยซ้อน (ปี 1999-2000) ชาวฟินแลนด์ คว้าแชมพ์ในรายการนี้ 3 สมัยติดต่อกันและ เดวิด คุลธาร์ด คว้ารองแชมพ์ 3 สมัยซ้อนเช่นกัน
การแข่งขันในปีนี้ ทีม แมคลาเรน ไม่จบการแข่งขันทั้ง 2 คัน ลางร้ายเริ่มตั้งแต่ในรอบควอลิฟาย เมื่อไรค์โคเนน พลาดในโค้งที่ 7 ต้องไปออกสตาร์ทท้ายแถวในวันแข่งจริง คุลธาร์ดเครื่องยนมีปัญหาทำเวลาได้อันดับ 8 และในวันแข่งขันจริง ไรค์โคเนน ออกสตาร์ทไปชนท้ายรถของอันโตนิโอ ปิซซานีอา นักขับน้องใหม่ชาวบราซิล ทีม แจกวาร์ ซึ่งออกสตาร์ทในอันดับ 16 ตกขอบทางวิ่งออกจากการแข่งขันไปทั้งคู่ ปิซซานีอา แจ้งว่า ระบบ ลานช์ คอนโทรล (LAUNCH CONTROL) ของรถแจกวาร์ มีปัญหา ทางทีมพยายามแก้ปัญหาอย่างหนักมาโดยตลอด ส่วน คุลธาร์ด ถูกรถของ ตรุลลีทีม เรอโนลต์ ชนท้ายในช่วงสตาร์ท จน คุลธาร์ด ต้องนำรถเข้าพิทเพื่อซ่อมแซม ออกมาแข่งต่อได้โดยมีรถเซฟทีคาร์ออกมาวิ่งเคลียร์พื้นที่ ในรอบที่ 17 ไปเฉี่ยวกับรถของ เจนสัน บัททัน ทีม บาร์ต้องออกจากการแข่งขัน
ช่วงการออกสตาร์ท มิคาเอล คว้าโพลโพสิชัน ตามมาด้วย บาร์ริเชลโล และ อาลนโซ อันดับ 3 อยู่หลัง มิคาเอล ซึ่งทะยาน F2003 GA ขึ้นนำโดย อาลนโซ พยายามแซง บาร์ริเชลโลขึ้นไปแต่ถูกเบียดบังแซงกลับคืน หลังจากรถของ บาร์ริเชลโล ตกขอบทางวิ่ง
F2003 GA ทีม แฟร์รารี ตั้งใจผลิตสร้างให้สมบูรณ์แบบที่สุด และคำว่า GA ต่อท้ายเพื่อเป็นที่ระลึกแก่การจากไปของ จิโอวานนี อันเญลลี (GIOVANNI AGNELLI) ประธานใหญ่ของกลุ่มเฟียต บริษัทแม่ของ แฟร์รารี อันเญลลี คืออดีตประธานสโมสรยูเวนตุสแห่งเมืองตูริน ประเทศอิตาลี แชมพ์ กัลโซ ซีรีส์ เอ
มิคาเอล คว้าแชมพ์ สเปน กรองด์ปรีซ์ ไปครองโดยเข้าพิท 3 ครั้ง และการคว้าชัยชนะครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 5 ในรายการนี้ และเป็นครั้งที่ 66 ในชีวิตการแข่งขัน เอฟ-1ทำเวลา 1 ชม. 33 นาที 46.933 วินาที ทิ้งห่าง อาลนโซ นักแข่งเจ้าถิ่นวัย 21 ปี ด้วยเวลา 5.716 วินาที ตามมาด้วย บาร์ริเชลโล ทีมวิลเลียมส์ ทั้ง 2 คัน รายการนี้ทำอันดับได้ดีขึ้น มนโตยา ควบ F25 เข้าที่ 4 ราล์ฟ ชูมาเคร์ เข้าที่ 5
ทีม โตโยตา เก็บแต้มแรกของฤดูกาลนี้ได้เช่นเดียวกับทีม แจกวาร์ โดย กริสตีอาโน ดา มัตตา ควบ โตโยตา เข้าเส้นชัยในอันดับ 6 มาร์ค เวบเบอร์ เข้าที่ 7 และ ราล์ฟ ไฟร์แมน ทีม จอร์แดนเก็บแต้มแรกในชีวิตเช่นกัน เข้าเส้นชัยอันดับ 8
กาตาลุนยา เซอร์กิท มีความยาวรอบสนาม 4.727 กม. แข่งขันรวม 65 รอบสนาม ระยะทางรวม 307.327 กม. ตั้งอยู่ห่างไปทางตอนเหนือของเมืองบาร์เซโลนา 12 ไมล์
รายการ สเปน กรองด์ปรีซ์ ในอดีตได้เปลี่ยนสนามแข่งขันไปหลายแห่งด้วยกัน ทั่งที่ จารามา เจเรซ มนท พาร์ค JARAMA JEREZ MONTJUICH PARR และ เพดรัล เบส PEDRAL BES จนกระทั่งล่าสุดได้ย้ายมาแข่งขันที่เซอร์กิทแห่งใหม่ล่าสุดที่ กาตาลุนยา เซอร์กิท จัดการแข่งขัน เอฟ-1 เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1991 ในปีแรกนี้ที่โค้ง อีเอลเอฟ เป็นโค้งที่ ไนเจล แมนเซลล์ (เจ้าหนวดหิน) แซงผ่านอาร์ยทัน เซนนา ตำนาน ฟอร์มูลา วัน ชาวบราซิล ช่วงทางตรงสั้นๆ หลังพ้นโค้ง กัมป์ซาได้รับการปรับเป็นโค้งแบบ ชิแคน ในปี 1994 หลังจากอุบัติเหตุที่ อีโมลา เซอร์กิท จนทำให้ เซนนาเสียชีวิตในวันแข่งขัน และ โรแลนด์ รัทเซนเบร์เกร์ นักขับน้องใหม่ชาวออสเตรียน
เสียชีวิตในรอบควอลิฟาย โค้งต่อมาที่ ลา กาอิซา เป็นโค้งที่ แมนเซลล์ ออกจากการแข่งขันไปและอำลาวงการ เอฟ-1ไปในที่สุด เมื่อปี 1995
เกมมอเตอร์สปอร์ทในสเปน เริ่มแข่งขันกันตั้งแต่ปี 1908 เป็นครั้งแรกที่ โกปา กาตาลุนยาใช้ถนนเป็นสนามแข่งขันระยะทางรวม 19 ไมล์ รายการ สเปน กรองด์ปรีซ์ได้รับการบรรจุเข้าตารางการแข่งขัน เอฟ-1 เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1951 เป็นสนามเปิดฤดูกาลที่ต้องมาลุ้นแชมพ์โลกกันที่รายการที่ระหว่าง อัลแบร์โต ซาการี ทีม แฟร์รารี่ กับ ฮูอัน มานูเอล ฟันจิโอทีม อัลฟา โรเมโอ
ครั้งนั้นทีม แฟร์รารี ใช้ล้อที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ และมีปัญหาเรื่องยาง ส่งผลให้ ฟันจิโอคว้าแชมพ์ไปครองพร้อมๆ กับคว้าแชมพ์โลกไปในที่สุด
กาตาลุนยา เซอร์กิท ได้รับการลงมติจากสภากาตาลัน เมื่อเดือนตุลาคม 1982 ให้สร้างสนามแข่งรถระดับมาตรฐานโลกขึ้นในแถบบาร์เซโลนา หลังจากเซอร์กิทที่ MONTJUICH พาร์ค เกิดอุบัติเหตุบ่อย 14 เดือนหลังจากนั้น ราชยานยนต์สมาคมแห่งกาตาลุนยาได้ซื้อที่ดินทางตอนเหนือของเมือง ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากราชยานยนต์สมาคมแห่งกาตาลุนยา หน่วยบริหารงานท้องถิ่นและสภาเมือง มนเตโล งานก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1989 เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 1991 ก่อนรถบรรทุกขนรถแข่ง เอฟ-1 เข้าสนามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
[table]
ผลการแข่งขัน สเปน กรองด์ปรีซ์
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม, เวลารวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์ ,แฟร์รารี ,1 ชั่วโมง 33 นาที 46.933 วินาที
2, แฟร์นันโด อาลนโซ ,เรอโนลต์ ,+ 05.716 วินาที
3, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล ,แฟร์รารี ,+ 18.001 วินาที
4, ฮูฮัน ปาบโล มนโตยา ,วิลเลียมส์ ,+ 1 นาที 02.022 วินาที
5, ราล์ฟ ชูมาเคร์ ,วิลเลียมส์ ,+ 1 รอบ
[/table]
ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์
เอ วัน-ริง เซอร์กิท สนามแข่งขันที่อื้อฉาวจากกรณี "ทีมออร์เดอร์" เมื่อปีที่แล้วของทีม แฟร์รารี รูเบนส์ บาร์ริเชลโล ถอนคันเร่งก่อนเข้าเส้นชัย ปล่อยให้ มิคาเอล ชูมาเคร์แซงขึ้นไปขับแชมพ์แทนท่ามกลางเสียงโห่ฮาของบรรดาแฟนๆ รอบสนามและต่อหน้าผู้ชมการถ่ายทอดสดนับล้านจากทั่วโลก
เอ วัน-ริง เซอร์กิท เป็นสังเวียนประลองความเร็ว เอฟ-1 สนามที่ 6 รายการ ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์ฤดูกาลปี 2003 มีความยาวต่อรอบเท่ากับ 4.319 กม. แข่งขันรวม 71 รอบ ระยะทางรวม 306.578 กม.
ออสเตรีย จัดการแข่งขันกรองด์ปรีซ์ ครั้งแรกเมื่อปี 1964 แข่งขันที่ เซลท์แวก และมาแข่งขันกันที่ เอ-วันริง เซอร์กิท เมื่อปี 1970-1987 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ เอฟไอเอ ประกาศยกเลิกรายการ ออสเตรียกรองด์ปรีซ์ ออกไปจากปฏิทินการแข่งขันไปด้วยเหตุผลบางประการ (น่าจะเป็นรื่องการเมือง) เซอร์กิทแห่งนี้เคยเป็นสนามบินมาก่อน ตั้งอยู่บริเวณหุบเขา เป็นแทรคที่มีความสวยงามมีภูเขาล้อมรอบ บรรยากาศทั่วไปแบบชนบทในยุโรป ตะวันออก มีฝนตกอยู่บ่อยๆ เน้นดินแดนแห่งดนตรีคลาสสิค หลังจากทำการซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยใช้งบประมาณ 17.5 ล้านปอนด์ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์ จึงกลับเข้าตารางการแข่งขันอีกครั้งในปี 1997
เอ วัน-ริง เซอร์กิท เป็นสนามอาถรรพณ์สำหรับ มิคาเอล ชูมาเคร์ มาคว้าแชมพ์ครั้งแรกได้ในรายการนี้เมื่อปีที่แล้วนี้เอง หลังจากลงแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1994 และเป็นการคว้าแชมพ์แบบฉาวโฉ่ กรณีของ "ทีมออร์เดอร์" ในปีนี้คว้าแชมพ์ได้เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน แต่เกือบเอาชีวิตไม่รอดเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้คอคพิท ขณะเข้าพิทเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเจ้าหน้าที่ทีมเซอร์วิศในพิทสามารถดับไฟได้ทันและออกมาแข่งต่อได้ จนคว้าแชมพ์ไปในที่สุดด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 24 นาที 04.888 วินาที ตามมาด้วย คีมี ไรค์โคเน ด้วยเวลาห่าง 03.362 วินาทีเท่านั้น มิคาเอล เก็บแต้มสะสมจี้ติด ไรค์โคเนน ห่างเพียง 2 แต้มเท่านั้น
สาเหตุเพลิงไหม้ในระหว่าง มิคาเอล นำ F2003 GA เข้าพิทในรอบที่ 2 เพื่อเติมเชื้อเพลิงและเปลี่ยนยางขณะที่ทีมงานกำลังถอดสายเชื้อเพลิงออกนั้นเกิดข้อผิดพลาดที่วาล์วของสายเติมเชื้อเพลิง น้ำมันทะลักออกมาบริเวณตัวรถจนเกิดเพลิงไหม้ขึ้นทีมงานในพิทนำถังดับเพลิงฉีดไปที่ตัวรถ สามารถดับไฟได้ทัน ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีจากเหตุการณ์นี้ ทางทีมงานจะสอบสวนกรณีนี้และหาสาเหตุ เพื่อรายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้กับทางเอฟไอเอ ด้วย
มิคาเอล กล่าว "ผมไม่กังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะทราบดีว่ามีความปลอดภัยและได้รับการป้องกันอย่างดีอยู่แล้ว"
การออกสตาร์ทในปีนี้มีปัญหาต้องออกสตาร์กันใหม่ ถึง 3 ครั้ง 2 ครั้งแรกปัญหาจากมีรถจอดติดอยู่ที่กริด เป็นรถของ กรีสตีอาโน ดา มัตตา ทีม โตโยตา ทั้ง 2 ครั้งเนื่องจากระบบ ลานช์ คอนโทรล ส่วน แฟร์นันโด อาลนโซ ต้องใช้รถสำรองลงแข่งระบบไฮดรอลิคเกิดรั่วกะทันหัน
หลังสัญญาณไฟสตาร์ท มิคาเอล ขึ้นนำตามมาด้วย มนโตยา และ ไรค์โคเนน เครื่องยนต์แบบ วี 10มีปัญหาที่ระบบวาล์วหลังจากรอบควอลิฟาย ในรอบที่ 10 รถของ ไรค์โคเนน เกือบหลุดโค้งสุดท้ายบาร์ริเชลโล ที่ตามหลังมาเกือบแซงขึ้นไปได้ ขณะที่ บัททัน ช่วงชิงอันดับ 8 กับ ราล์ฟ
ฝนเริ่มตกลงมาหลังจากผ่านไป 12 รอบ และเริ่มตกหนักขึ้นทีมงานสั่งให้นักแข่งรถเข้าพิทเพื่อเปลี่ยนยาง
มิคาเอล ยังคงนำ ตามมาด้วย มนโตยา เช่นเดิม รอบที่ 21 มนโตยา เข้าพิทก่อน และรอบที่ 23มิคาเอล เข้าพิท จนเกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ เมื่อออกจากพิท มนโตยา ขึ้นนำ ตามมาด้วย ไรค์โคเนนและมิคาเอล
รอบที่ 33 จุดพลิกผันเกิดขึ้น เมื่อรถ วิลเลียมส์ ของ มนโตยา ที่กำลังนำอยู่หัวแถวเกิดควันพวยพุ่งออกมา หลังจากออกจากการแข่งขันตรวจสอบพบว่าเครื่องยนต์มีปัญหาระบบวาล์วและแรงดันมากเกินไป เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากมิคาเอล แซงผ่าน ไรค์โคเนน ขึ้นไป และเริ่มโฟคัสไปที่รถของ มนโตยา แต่รถของ มนโตยาออกจากการแข่งขันไป มิคาเอล ขึ้นมานำ และในรอบที่ 48 ไรค์โคเนน เข้าพิทเป็นครั้งที่ 2หลังจากขึ้นนำ เมื่อ มิคาเอล เข้าพิทในรอบที่ 42 ออกมาอยู่ 3 ส่วน ไรค์โคเนน ออกจากพิทนำอยู่ที่ 3 เช่นกัน ช่วงนี้ บาร์ริเชลโล ขึ้นนำตามมาด้วย มิคาเอล จะเกิดเหตุการณ์ทีมออร์เดอร์เช่นเดียวกับปีที่แล้วหรือไม่ ส่วน อาลนโซ ออกจากการแข่งขันในรอบที่ 45 หลังจากสตาร์ทจากท้ายแถว ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5 จนเครื่องยนต์พัง
ไม่ทันข้ามรอบ มิคาเอล แซง บาร์ริเชลโล ตามมาด้วย ไรค์โคเนน แซงขึ้นไปอีกคันในรอบที่ 50ในช่วงท้ายเกมเป็นการช่วงชิงอันดับ 5 ระหว่าง คุลธาร์ด ทีม แมคลาเรน กับ ราล์ฟ ทีม วิลเลียมส์ในที่สุด คุลธาร์ด แซงขึ้นไปรับอันดับ 5 ได้สำเร็จ ส่วนแชมพ์บราซิล กรองด์ปรีซ์ คนล่าสุดจากทีมจอร์แดน ฟิซิเกลลา ต่างออกจากการแข่งขันไปในรอบที่ 61 รถมีปัญหาเรื่องระบบเชื้อเพลิง
ในช่วงรอบท้ายๆ บาร์ริเชลโล พยายามแซง ไรค์โคเนน แต่ไม่สำเร็จ จนจบการแข่งขัน มิคาเอล คว้าแชมพ์ไปครอง ตามมาด้วย ไรค์โคเนน/บาร์ริเชลโล ส่วนอันดับ 4 เป็นของบัททัน จากทีม บาร์เป็นอันดับดีที่สุดในฤดูกาลนี้ และเป็นอันดับดีที่สุดที่เขาเคยทำได้มาครั้งหนึ่งแล้ว
มาร์ค เวบเบอร์ ทีม แจกวาร์ แม้ว่าจะถูกทำโทษเข้าจอดในพิท 10 วินาที่ เข้าเสันชัยในอันดับ 7ก่อนรถแข่งรหัสใหม่ล่าสุด MP4-18 ของ แมคลาเรน ทางทีมประกาศแล้วว่าลงแข่งขันรายการ ยุโรปกรองด์ปรีซ์ ปลายเดือนมิถุนายนแน่
แจกคี อิกซ์ เป็นผู้คว้าแชมพ์แรก ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์ ที่ เอ วัน-ริง เซอร์กิท เมื่อปี 1970 ให้กับ แฟร์รารี่ ชากส์ วิลล์เนิฟ มาคว้าแชมพ์ให้กับทีม วิลเลียมส์ หลังจากรายการ ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์กลับมาบรรจุในปฏิทินการแข่งขัน เอฟ-1 อีกครั้งเมื่อปี 1997 และปีนี้อาจจะเป็นปีสุดท้ายของศึก ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์ เพื่อเปิดทางให้กับจีน และบาห์เรน ที่ได้รับการบรรจุเข้าตารางการแข่งขันปีหน้า
สนามต่อไปในศึก โมนาโค กรองด์ปรีซ์ เซอร์กิทที่มีมนต์เสน่ห์มากกว่าความปลอดภัยสนามที่มักจะมีความพลิกผันเกินการคาดเดา ว่าใครจะมาคว้าชัยชนะไปจากเซอร์กิทที่ปิดถนนแข่งขันซึ่งเป็นรายการแข่งขันที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ปี 1929
[table]
ผลการแข่งขัน ออสเตรีย กรองด์ปรีซ์
อันดับ,ผู้ขับ, ทีม ,เวลารวม
1, มิคาเอล ชูมาเคร์ ,แฟร์รารี ,1 ชั่วโมง 24 นาที 04.888 วินาที
2, คีมี ไรค์โคเนน ,แมคลาเรน ,ช้ากว่า 03.362 วินาที
3, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล ,แฟร์รารี ,ช้ากว่า 03.951 วินาที
4, เจนสัน บัททัน ,บาร์ ,ช้ากว่า 42.243 วินาที
5, เดวิด คุลธาร์ด ,แมคลาเรน ,ช้ากว่า 59.740 วินาที
[/table]
[table]
สรุปคะแนนสะสม รวม 6 สนาม
ประเภทผู้ขับ,,,
อันดับ, ผู้ขับ, ทีม ,คะแนนรวม
1, คีมี ไรค์โคเนน ,แมคลาเรน ,40
2, มิคาเอล ชูมาเคร์ ,แฟร์รารี ,38
3, รูเบนส์ บาร์ริเชลโล ,แฟร์รารี ,26
4, แฟร์นันโด อาลนโซ ,เรอโนลต์ ,25
5, เดวิด คุลธาร์ด ,แมคลาเรน, 23
[/table]
[table]
ประเภททีมผู้ผลิต
อันดับ, ทีม ,คะแนนรวม
1, แฟร์รารี ,64
2, แมคลาเรน ,63
3, วิลเลียมส์ ,35
4, เรอโนลต์ ,35
5, จอร์แดน ,11
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไททาเนียม
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : เจาะสนามแข่งต่างประเทศ