เล่นท้ายเล่ม
พระบรมธาตุ
มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ว่า เมืองไทยเรานี้ได้อยู่กันมาด้วยความสงบสุข และด้วยความอุดมสมบูรณ์ตามควร เพราะมีพระพุทธศาสนาเป็นเหตุปัจจัยอันสำคัญอย่างหนึ่ง
ผมพลอยมีความเชื่อเช่นนั้น เพราะผมก็เป็นคนไทยนับถือพุทธคนหนึ่ง ได้เรียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาเหมือนกับคนอื่นๆ ความเชื่อของผมยังเชื่อว่าคนไทยกับพระพุทธศาสนาเป็นของคู่กันอย่างเหมาะสม
ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้านั้นมีเรื่องราวของพระบรมธาตุรวมอยู่ด้วย เป็นเรื่องราวที่ผมคาดว่ายังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากต้องการรู้ และต้องการทำความเข้าใจ มากกว่าการได้รับเชิญให้เข้าไปกราบไหว้เพื่อการบูชาตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้ในพุทธมณฑลสถาน
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่นิพพาน ณ เมืองกุสินารา ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว มีการแจกพระบรมธาตุให้แก่ผู้ที่เลื่อมใสเพื่อเอาไปบรรจุลงไว้ในพระสถูป การแจกนั้นรวมแจกแปดแห่งด้วยกัน
บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ไม่นับถือพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าเท่าบริโภคเจดีย์สี่แห่ง
ความในตอนหนึ่งของหนังสือปฐมสมโพธิเกี่ยวกับเรื่องนี้กล่าวไว้ว่า เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานนั้น พระอานนท์กราบทูลถามว่า พุทธบริษัทเคยเห็นพระพุทธองค์ขณะมีพระชนม์อยู่ หากเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วจะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ ควรจะปฏิบัติสถานไรจึงจะแก้ได้ทรงตอบว่า แม้นใครคิดถึงตถาคตก็จงไปปลงธรรมสังเวช ณ สังเวชนียสถานสี่ตำบล
สังเวชนียสถานทั้งสี่แห่งนั้นคือ ที่ประสูติ ลุมพินีวัน กรุงกบิลพัสดุ์ ที่ตรัสรู้ เมืองพุทธคยาที่ประกาศพระศาสนา อิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี และที่ป่าสาละวัน เมืองกุสินารา ที่นิพพาน
การณ์เป็นดังนี้ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธสาวกทั้งปวงก็มุ่งแต่การบูชาสังเวชนียสถานทั้งสี่ตำบล เรื่องราวของพระบรมธาตุที่แจกกันไปแปดแห่งจึงเงียบหายไป จนพุทธกาลล่วงแล้วสองร้อยปีเศษ พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นพุทธศาสนูปถัมภก มีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์สถานเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า จึงได้เที่ยวรวบรวมพระธาตุที่แยกย้ายกันไปถึงสองร้อยปีเศษ นัยว่าเอามาได้เจ็ดแห่งด้วยกัน
พระบรมธาตุส่วนที่รามคาม อันเป็นแห่งที่แปดนั้น ไม่สามารถเอามาได้ เพราะพระยานาคราชผู้เป็นเจ้าของมีความหวงแหน
เรื่องราวที่ได้มาจากเมืองอินเดียยังบอกต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชรวบรวมมาได้แล้วพวกที่นับถือพุทธจะมาทูลขอไปประดิษฐานวัดใด พระเจ้าอโศกมหาราชก็จะประทานไปให้เป็นส่วนละน้อย มากมายหลายแห่งจนนับได้ถึงแปดหมื่นสี่พันแห่งด้วยกันทีเดียว
อย่างไรก็ตาม พระธาตุแปดแห่งนั้นมาปรากฏภายหลังว่า พระเจ้าอโศกมหาราชไม่ได้ไปอีกแห่งหนึ่ง คือเมืองกบิลพัสดุ์ อันเป็นพระบรมธาตุส่วนที่ศากยวงศ์ได้ไป พวกศากยวงศ์อันเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้านั้นได้เอาไปก่อพระสถูปไว้ตามประเพณี
พระบรมสารีริกธาตุหรือ พระบรมธาตุได้รับการประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ดังเช่นในกรุงเทพมหานครก็มีอยู่ที่ภูเขาทอง พระเจดีย์สำคัญซึ่งมีชื่อว่า "บรมบรรพต" นั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่บนยอด ตั้งอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นวัดที่เริ่มสร้างแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และมาสำเร็จลงในรัชกาลที่ 5
ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 2 ครั้ง ครั้งแรกโปรด ฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รักษาไว้ในพระบรมราชจักรีวงศ์ มีกระบวนแห่ออกจากพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐาน ตรงกับพุทธศก 2420 ครั้งที่สองโดยในปี
2441 มิสเตอร์วิลเลียม แคลกตัน เปปเป ชาวอังกฤษได้ขุดพบอัฐิธาตุในพระสถูป ณ ที่ใกล้ตำบลปิปราหวะ ปลายแดนเนปาลคือเมือง กบิลพัสดุ์ มีอักษรจารึกเป็นอย่างเก่าที่สุด ทางอินเดียบอกว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คือส่วนที่กษัตริย์ศากยราชในกรุงกบิลพัสดุ์ได้รับแบ่งปันหลังจากที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว
เวลานั้น มาเควส เคอสัน เป็นอุปราชครองอินเดีย ก่อนหน้านั้นเคยอยู่กรุงเทพ ฯ มีความคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรารภว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในโลกปัจจุบันนี้ ก็เห็นมีแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวมีความประสงค์จะถวายพระบรมสารีริกธาตุนั้นแด่พระองค์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม-ขณะเป็นเปรียญ) แต่ครั้งยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้แทนประเทศไทยออกไปเชิญ
ครั้งนั้น พวกที่นับถือพระพุทธศาสนาในนานาประเทศทั้ง ญี่ปุ่น พม่า ลังกา และประเทศไซบีเรีย ต่างก็ส่งทูตเข้ามาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไปตามประสงค์ พระบรมสารีริกธาตุที่เหลือ โปรด ฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทองสัมฤทธิ์เป็นที่บรรจุแล้วโปรด ฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรรจุในพระเจดีย์บนยอดบรมบรรพต ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2442
การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรเสด็จพระราชดำเนินไม่ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา เสด็จแทนพระองค์
อนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน "พระทันตธาตุ" ที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "พระเขี้ยวแก้ว" ของพระพุทธเจ้า โปรด ฯ ให้นำไปประดิษฐานไว้บนบรมบรรพต เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาในคราวมีงานเทศกาลประจำปีตลอดมา
จนกระทั่งมีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในปี 2493 ระหว่างดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบนบรมบรรพตไปเก็บรักษาไว้ หยุดงานเทศกาลประจำปีเป็นการชั่วคราว เสร็จเรียบร้อยแล้วได้ทูลเชิญเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิธีมณฑล ณ บรมบรรพต วัดสระเกศ ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์บนยอดบรมบรรพต เมื่อวันที่ 22 มกราคม พุทธศักราช 2497
ถึงปี 2509 กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระบรมบรรพตวัดสระเกศราชวรวิหาร โดยมี จอมพลประภาส จารุเสถียร (ครั้งยังเป็นพลเอก) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน คณะกรรมการ ฯ ได้บุโมเสกสีทองที่องค์พระเจดีย์ยอดบรมบรรพต และสร้างพระเจดีย์เล็กเป็นเจดีย์บริวารอีก 4 มุม พร้อมกับการปรับปรุงบางส่วน
การดำเนินการโดยเทศบาลนครกรุงเทพ ฯ เป็นที่แล้วเสร็จทันงานนมัสการประจำปี 2509และได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์บนลูกแก้ว โดยทรงชักสายสูตรขึ้นไป ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2509 เวลา 9.00 น.
พระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระบรมธาตุอันเป็นอัฐิของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกตามพระธาตุส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธเจ้า เช่นพระทันตธาตุ หมายถึง เขี้ยว พระเกศธาตุ หมายถึงเส้นพระเกศา พระอุรังคธาตุ หมายถึงพระธาตุส่วนที่เป็นกระดูกหน้าอก
อีกตอนหนึ่งของคัมภีร์ "พระปฐมสมโพธิ" ฉบับพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ทรงรจนาถวายฉลองพระราชศรัทธาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงอาราธนา พุทธศก 2387 มีความดังนี้
"พระบรมสารีริกธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระโลกนาถอันประดิษฐานอยู่ในที่ต่าง ๆ นั้น เมื่อมิได้เครื่องสรรพปูชนียภัณฑ์แล้ว พระบรมธาตุทั้งปวงก็เสด็จไปสู่ที่อันประกอบด้วยเครื่องสักการบูชา ถ้ามีบุคคลบูชาอยู่ในประเทศใดแล้ว ก็เสด็จไปสู่ประเทศนั้นด้วยกำลังอธิษฐานแห่งองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค
ครั้นกาลล่วงไป ที่ทั้งหลายทั้งปวงปราศจากเครื่องสักการบูชาแล้ว พระบรมธาตุก็จะมารวมกันเข้าแล้วเสด็จไปสู่มหาเจดีย์ในลังกาทวีป แล้วเสด็จไปสู่ราชายตนะเจดีย์ในนาคทวีป แล้วก็เสด็จไปสู่โพธิบัลลังก์ กระทำอาการเป็นพระพุทธรูปเหมือนอย่างองค์พระศรีสุคต ประดิษฐานเหนือบัลลังก์ใต้ควงไม้มหาโพธิ ทรงพระรัศมีสีสันพรรณโอภาส
เมื่อพระธาตุประชุมกันครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายจะได้เห็นก็หามิได้
ฝูงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลจะพากันเข้าประชุมพร้อม ในลำดับนั้นก็จะเกิดมีไฟเผาผลาญสังขารพระบรมธาตุให้ย่อยยับจนไม่มีเหลือ...ฯ"
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม