เล่นท้ายเล่ม
222 ปีสุนทรภู่
นับถึงวันนี้ สุนทรภู่ ก็อายุครบ 222 ปี เพราะท่านเกิดในปีพุทธศักราช 2329 ที่คลองบางกอกน้อย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากกรุงเทพมหานครเกิดแล้ว 4 ปี
สุนทรภู่ เขียนนิราศไว้หลายเรื่อง รวมทั้ง นิราศเมืองแกลง ส่วน 2 เรื่องสุดท้ายก่อนอนิจกรรมในปี 2398 คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร
บิดามารดาของ ภู่ (นามเดิม) คือ ขุนศรีสังหาร (พลับ) และแม่ช้อย หลังคลอดภู่ได้ไม่นานบิดามารดาก็แยกกันอยู่ โดยบิดาไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง
ส่วนแม่ช้อยยังคงเป็นนางนมพระธิดา ในกรมพระราชวังหลัง โดยตัวสุนทรภู่เองได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่ยังเล็ก
สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน อยู่ในพระราชวังหลังก็ไปเกิดมีความรักกับแม่จัน นางข้าหลวงวังหลัง ถูกจับไปจองจำได้ไม่นานก็ปล่อยตัวออกมาในปี 2349 เป็นห้วงเวลาต่อมาที่สุนทรภู่เดินทางไปเมืองแกลง เขียน นิราศเมืองแกลง ขึ้น
นอกจากได้เขียนบทนิราศแล้ว สุนทรภู่ยังได้ถือโอกาสไปถึงบ้านกร่ำ เมืองแกลง เพื่อตามหาบิดาที่จากกันนานกว่า 20 ปี
จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา
เป็นบรรทัดหนึ่งบรรทัดเดียวจาก นิราศเมืองแกลง ที่เป็นอมตะ และได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง
การเดินทางเป็นแรงบันดาลใจให้คนเจ้าบทเจ้ากลอนอย่างสุนทรภู่เขียนโคลงเป็นนิราศไว้ทุกสถานที่ ซึ่งตนเดินทางไปถึง
เปรียบเทียบการเดินทาง หรือ JOURNEY น่าจะเหมือนกับชีวิตของ JOURNALIST หรือ นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว ที่ต้องมีการเดินทาง เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ นำมาเขียน เป็นทั้งนิราศ และบทความ
หนึ่งบรรทัดจาก นิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่ที่นำมาพูดถึงข้างต้นนั้น มีความเป็นนัยชวนให้คิดค้น รวมทั้ง บ้างก็ว่าการเดินทางไปเมืองแกลงของสุนทรภู่ เป็นราชการลับ เพราะไม่มีใครทราบว่าไปทำไม แล้วก็ไม่รู้ว่าเจ้านายใดเป็นผู้ใช้
ผมเห็นว่า นิราศเมืองแกลง ก็เป็นบทกลอนอีกบทหนึ่งของสุนทรภู่ที่น่าอ่าน ยิ่งเข้าวัยอาวุโสเกินเจ็ดสิบเช่นผม ยิ่งอ่านสนุก เพราะจะได้ทบทวนบ้านเมืองของเราในอดีตกาลว่ามีตำบล หมู่บ้าน หรือมีย่านใดบ้าง พอจะคิดถึง
ถึงยามสองล่องลำนาวาเลื่อน พอดวงเดือนดั้นเมฆขึ้นเหลืองเหลือง
ถึงวัดแจ้งแสงจันทร์จำรัสเรือง แลชำเลืองเหลียวหลังหลั่งน้ำตา
ยามสอง น่าจะเป็นชั่วโมงระหว่างสามทุ่มถึงเที่ยงคืน และทำให้ผมเข้าใจว่าดวงจันทร์ของชาวกรุงรัตนโกสินทร์สมัยนั้น ไม่มีแสงสว่างเป็นสีนวลใย แต่จะเป็นสีเหลืองเหลืองมากกว่า
วัดแจ้ง ก็คือ วัดอรุณ ฯ ผมมองภาพเห็นว่าแสงดวงจันทร์สีเหลืองคงสาดกระทบพระปรางค์วัดอรุณ ทำให้ดูเป็นแสงวาววับ
นิราศ มักเกี่ยวข้องกับความรัก เป็นเรื่องราวของการระเหระหนที่ต้องพรรณาถึงการจากกัน เพราะฉะนั้นผู้เขียน (นึกอะไรไม่ทัน) ก็ต้องคิดถึงกลอยใจของตัวเองไว้ก่อน
ขึ้นต้นมาก็แสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่เดินทางด้วยเรือ สองฟากฝั่งเจ้าพระยาจึงมีอยู่เต็มในนิราศฉบับนี้ แต่บางย่านของกรุงเทพ ฯ อย่าง สามปลื้ม หรือ สำเพ็ง ซึ่งไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำเหมือน ท่าเตียน หรือ ปากคลองตลาด ก็ยังมีสิทธิ์เข้ามาแทรกได้
ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้น ดูเลื่อมลื่นเลนลากลำละหาน
เขาแจวจ้องล่องแล่นแสนสำราญ มาพบบ้านบางระจ้าวยิ่งเศร้าใจ
ความตื้นเขินย่อมมีเลนเป็นธรรมชาติ เข้าใจว่าคงประจวบเวลาน้ำลง ส่วนบ้านบางระจ้าวที่กล่าวถึงนั้น ผมเข้าใจว่าคงจะใช่ บ้านบางกระเจ้า ของวันนี้
ถึงชะแวกแยกคลองสองชะวาก ข้างฝั่งฟากหัวตะเข้มีมะขาม
เขาสร้างศาลเทพาพยายาม กระดานสามแผ่นพิงไว้บูชา
ตะลึงแลแต่ล้วนลูกจระเข้ โดยคะเนมากมายทั้งซ้ายขวา
สักสองร้อยลอยไล่กินลูกปลา เห็นแต่ตากับจมูกเหมือนตุ๊กแก
ตรงนี้ผมคิดไม่ออกว่าเป็นตรงไหนในวันนี้ของกรุงเทพ ฯ นิราศของสุนทรภู่กล่าวไว้หลังจากถึงคลองขวาง บ้านบางกระเทียม ซึ่งผมก็นึกไม่ออกและจำไม่ได้
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าก็เป็นฝูงจระเข้ เฉพาะลูกของมันสุนทรภู่ก็คะเนไปถึงกว่า 200 ตัวที่คอยวิ่งไล่กินลูกปลา ยืนยันว่าท้องถิ่นตรงนี้มีจระเข้อาศัยเป็นจำนวนมาก แล้ววิธีการดูจระเข้นั้นไม่ว่าจะเป็นจระเข้ยุคไหนก็เหมือนกัน คือ จะเห็นแค่ลูกตากับส่วนจมูกของมัน
ลำพังดูส่วนนี้แล้ว ก็เหมือนเรามองดูตุ๊กแกสมัยนี้ เห็นแต่ตากับจมูกพอกันครับ
ที่คลองเดียวกันนี้บนฝั่งยังอุดมสมบูรณ์ด้วยลิง ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ประเภทนี้ยังพอมองเห็นบ้างในปัจจุบันตามพงแสมข้างทางตามชนบท เรียกว่า ลิงแสม
สุนทรภู่นำภาพของลิงแสมไปเปรียบเทียบกับสำนวนไทยโบราณว่าดังนี้
คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลลุกลน เขาด่าคนจึงว่าลิงโลนลำพอง
คนเราเวลาจองหองแล้วก็มักกร่าง จนได้เรื่อง หรือไม่ก็ จนเกิดเรื่อง ใครอยากจะเปลี่ยนธรรมชาติจากเผ่ามนุษย์เป็นพันธุ์ลิงวานรก็ลองพองขนดูบ้างไม่ว่ากัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงตั้งสุนทรภู่เป็น ขุนสุนทรโวหาร และพระราชทานที่ดินให้ปลูกเรือนอยู่ที่ท่าช้าง (เข้าใจว่าเป็นท่าช้างวังหลัง) เวลาเสด็จประพาส มักโปรด ฯ ให้สุนทรภู่ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน
สุนทรภู่เขียนวรรณคดีหลายเรื่อง รวมทั้งบางส่วนของ รามเกียรติ์ และบทเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม ซึ่งเข้าใจว่าแต่งในสมัยรัชกาลที่ 2
สมัยผมเป็นนักเรียนก็ได้อ่านวรรณกรรมของสุนทรภู่เรื่อง พระอภัยมณี จำได้แต่ ชีเปลือย สุดสาครกับฤาษี และม้ามังกร ส่วน สุภาษิตสอนหญิง สุนทรภู่มาเขียนเอาในระยะหลังระหว่างปี 2380-2383
ผู้ใดเกิดเป็นสตรีอันมีศักดิ์ บำรุงรักกายไว้ให้เป็นผล
สงวนงามตามระบอบให้ชอบกล จึงจะพ้นภัยพาลการนินทา
เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า
แม้นแตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง
สุภาษิตนี้ยืนยันว่าผู้หญิงสมัยก่อนค่อนข้างจะล้ำค่า เพราะสุนทรภู่เป็นข้าราชการในรั้วในวัง และยืนยันว่าผู้หญิงสมัยก่อนเนื้อตัวหอมไปสิ้น เพราะฉะนั้นแล้วก็อย่าทำให้กลิ่นหอมในตัวเองหายไป
สุนทรภู่มีความบรรเจิดในการเขียนกลอนเป็นอย่างยิ่ง และยากที่จะลืมเสียได้ดังอีกตอนหนึ่งในสุภาษิตเดียวกัน รจนาไว้ดังนี้
อันตัวต่ำแล้วอย่าทำให้กายสูง ดูเยี่ยงยูงแววยังมีที่วงหาง
ค่อยเสงี่ยมเจียมใจจะไว้วาง ให้ต้องอย่างภริยาเป็นารี
และอีกบทอีกตอนที่ผมอยากฝากถึงคุณผู้หญิง ช่วยอ่าน และคะนึงเก็บรักษาไว้เป็นคำสอน น่าจะเกิดผลบริสุทธิ์เป็นมงคลกับชีวิตตลอดไป
อย่าเดินกรายย้ายอกยกผ้าห่ม อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี
อย่าพูดเพ้อเจ้อไปไม่สู้ดี เหย้าเรือนมีกลับมาจึงหารือ
...อย่านุ่งผ้าพกใหญ่ใต้สะดือ เขาจะลือว่าเล่นไม่เห็นควร
อย่าลืมตัวมัวเดินให้เพลินจิต ระวังปิดปกป้องของสงวน
...อันนัยน์ตาพาตัวให้มัวหมอง เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส
จริงมิจริงเขาเอาไปเล่าแช คนรังแกมันก็ว่านัยน์ตาคม
แต่ผมไม่กล้าแนะนำบรรทัดต่อไปนี้ครับ
แม้นชายใดหมายประสงค์มาหลงรัก ให้รู้จักเชิงชายที่หมายมั่น
อันความรักของชายนี้หลายชั้น เขาว่ารักรักนั้นประการใด
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม