เล่นท้ายเล่ม
ธรรมาภิบาล
ความจริง ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคำว่า ธรรมาภิบาล สมัยเรียนหนังสือระดับชั้นมัธยม อันเป็นห้วงเวลาประเทศไทยเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา 2484 และเพิ่งได้ยินเมื่อไม่กี่ปีมานี้
พจนานุกรมไม่มีคำว่า ธรรมาภิบาล และข้าพเจ้าเข้าใจว่าคำสมัยใหม่นี้มาจากการบวกกันของคำสองคำคือคำว่า ธรรมะ และ อภิบาล หมายถึงการปกครองในกรอบแห่งความดี มีความซื่อตรงต่อกัน และรักษาคำมั่น
โดยนัยดังกล่าวแล้ว ธรรมาภิบาล ก็น่าจะเป็นเรื่องของผู้ปกครองมากกว่าเป็นเรื่องของคนไทยที่อยู่ในการปกครองเช่นข้าพเจ้า แต่การครอบคลุมประเด็นของคำนี้ ทำให้ประชาชนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
และมันก็คงทำหน้าที่คล้ายกับศีล 5 ของคนไทยนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งกำกับและดูแลวิถีชีวิตเป็นเบื้องต้น
เมื่อข้าพเจ้าไปพักผ่อนเมืองพัทยา ได้มีโอกาสไปที่วัดแห่งหนึ่ง เพื่อทำบุญเนื่องในวันแม่แห่งชาติ เจ้าประคุณเจ้าอาวาสวัดนั้นได้บรรยายธรรมสั้นๆ ว่า ชีวิตของเรานั้นขอเพียงประพฤติตนอยู่ในศีล 5 ก็ถือเป็นการทำบุญ
ผมเข้าใจว่าท่านหมายถึงการทำดี และเป็นการประพฤติดีทั้งกาย วาจา และใจ
ธรรมาภิบาล ก็เช่นกัน ถือเป็นบทเบื้องต้นที่เราจะอยู่ในการปกครองแบบไปด้วยกันกับวิถีชีวิตของพวกเราได้หรือไม่
ข้าพเจ้าพ้นสมัยการเล่าเรียนมานาน ไม่ได้ติดตามการเรียนการสอนของสมัยนี้ว่าได้เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะวิชาหน้าที่พลเมือง และศีลธรรม
เมื่อยังเป็นเด็ก ทุกวันปลายสัปดาห์ข้าพเจ้าต้องสวดมนต์เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นบทสวด คำนมัสการคุณานุคุณ อันเป็นบทประพันธ์ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
องค์ใดพระสัมพุทธ/สุวิสุทธสันดาน/ตัดมูลเกลศมาร/บ่มิหม่นมิหมองมัว ฯ
นั่นเป็นบทเริ่มต้นคำนมัสการพระพุทธคุณ ต่อด้วย คำนมัสการพระธรรมคุณ
ธรรมะคือคุณากร/ส่วนชอบสาธร/ดุจดวงประทีปชัชวาล/แห่งองค์พระศาสดาจารย์/ส่องสัตว์สันดาน/สว่างกระจ่างใจมล ฯ
และคำนมัสการพระสังฆคุณ ซึ่งขึ้นต้นและลงท้ายดังนี้
สงฆ์ใดสาวกศาสดา/รับปฏิบัติมา/แต่องค์สมเด็จภควันต์/...จงช่วยขจัดโพยภัย/อันตรายใดๆ
/จงดับและกลับเสื่อมสูญ
ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าท่อนสุดท้าย เปล่งเสียงซะสูงปรี๊ด เพราะดีใจที่สวด 3 บทจบแล้ว จะได้กลับบ้านเสียที
ถึงวันนี้ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า ยังมีโรงเรียนใดหรือนักเรียนคนใดชั้นเรียนใด สวดคำนมัสการเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
ความจริงในวิถีชีวิตของเรา หากมีเพียงธรรมะ (ยังไม่ถึงระดับบวกกับคำว่า อภิบาล) เป็นผู้กำกับและดูแล ชีวิตเราก็น่าจะอยู่ในสังคมร่มเย็นเป็นสุข มีความเอื้ออาทรเกื้อกูลกันและกันให้ทุกประเทศริษยา
แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเราวันนี้ แตกต่างจากสมัยก่อนสิ้นเชิง คนบนถนนสายเดียวกัน ไม่มีใครรู้จักใคร แม้อยู่บ้านติดกันในหมู่บ้านจัดสรรเดียวกัน ยังไม่รู้จักกันว่าชื่อเรียงเสียงไร ทำตัวเป็นต่างคนต่างอยู่ไปวันหนึ่งๆ
คนบนถนนสายเดียวกันนี้ ยังรวมถึง สายอาชีพ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนยึดถือสภาวะของความแยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย
นั่นก็ถือเสียว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ ซึ่งจัดว่าเป็นคำใหม่ของข้าพเจ้าอีกคำหนึ่ง
สังคมไทยเราสมัยก่อน อยู่ในวงแคบเพราะจำนวนพลเมืองของประเทศไม่ใช่ 63 ล้านคนเช่นวันนี้
แม้บ้านเมืองก็ยังฉวยโอกาสเปลี่ยนโฉมหน้า กรุงเทพ ฯ สมัยประมาณปี 2491 ให้มีสภาพที่ต่างกว่าวันนี้เหมือนขาวกับดำ
แต่คนไทยก็ยังโชคดี ด้วยอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างบ้านเมืองมิให้มีปัญหารุนแรงเท่าไร ตลอดมาก็ดูร่มเย็นเป็นสุขตามฐานะ ความไม่สงบที่ยาวนานเกิดขึ้นกับ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเกิดจากปัญหาของพื้นที่เป็นสำคัญ
นอกจากธรรมะแล้ว คนไทยยังโชคดีมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคน มีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงปกครองชาวสยามด้วยทศพิธราชธรรม
แม้แต่พระราชพิธีใดๆ ก็มีส่วนน้อมนำให้ประชาชนเกิดความสำนึกในความมีวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม ที่ไทยมีมาแต่โบราณกาล และตระหนักในหน้าที่ของพลเมืองที่ดีเพื่อรักษาไว้ซึ่งมรดกเปี่ยมด้วยคุณค่าเหล่านั้น
ทุกอย่างมีการเชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างมีเหตุผล ดังจะเห็นได้จากหนังสือ พิธีสิบสองเดือน ของพระยาตรัง เป็นต้น
ถ้าพูดถึงบทเพลงอันเป็นห้วงเวลาการพักผ่อน ข้าพเจ้าก็ยังหาความเข้าใจและยากที่จะตามสมัยได้ทัน บทเพลงสมัยก่อน ทั้งเพลงไทยเดิม และเพลงไทยสากล ตลอดกระทั่งเพลงรำวง ล้วนเป็นบทเพลงสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตเรียบง่ายของคนไทยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าแตกต่างกับบทเพลงสมัยนี้
คุณพ่อข้าพเจ้าถนัดการเล่นดนตรีไทย ที่ถนัดมากก็เป็นการดีดจะเข้ 3 สาย รองลงมาก็เป็นการตีขิม และซอ ทั้งซอด้วง และซออู้ เพลงไทยเดิมเพลงหนึ่งที่ข้าพเจ้าจำแม่นยำในการดีดจะเข้คือ เพลง ลาวดวงเดือน
โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย พี่มาเว้า รักเจ้าสาว คำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ พี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอ ขวัญตาเรียม
จะหาไหน มาเทียม โอ้เจ้าดวง เดือนเอย (ซ้ำ)
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสู ของเรียมเอย (ซ้ำ)
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้น ยัง บ่เลย เนื้อหอมทรามเชย เอยเราละเหนอ ฯ
ข้าพเจ้าพรรณาไม่ถูกว่า ความไพเราะของบทเพลงนี้ควรจะต้องพรรณาความอย่างใดจะสาสม เหมือนกับเพลงไทยสากลอย่าง ม่านบังตา
ถึงเธอจะพรากจากฉัน ไกลกันสุดความหวัง ฉันก็ยังรักเธอ
ฉันยังซื่อตรงเสมอ แม้เธอเป็นของใคร ฉันไม่แปรผัน
ถึงโลกจะแหลกสลาย จันทร์จะมืดแลหาย ฉันไม่คลายสัมพันธ์
ขอเธออย่าลืมเลือนฉัน แล้วเราคงพบกัน เหมือนจันทร์ที่คู่ดารา ฯ
เนื้อความก็เป็นภาษาไทยธรรมดา แต่ร้องออกมาแล้วได้อารมณ์ และความกินใจ ซึ่งข้าพเจ้าก็เห็นว่าผิดกับบทเพลงสมัยใหม่ ที่เข้ากันกับความรีบร้อนของลำนำชีวิตผู้คนสมัยนี้
บางบทเพลง เป็นเพลงที่ประชดชีวิต และโดนใจคนฟังรวมทั้งคนโบราณเช่นข้าพเจ้าเหมือนเพลง ผีกาก้า และล่าสุด ดูเธอทำ ของศิลปิน จ๊อบ บรรจบ
ดูดู๊ดูดูเธอทำ ทำไมถึงทำกับฉันได้
ดูดู๊ดูดูเธอทำ ทำไมถึงทำกับฉันได้
เรารักกันชอบกันก็หลายวันอยู่ อยู่ดีดีจู่จู่เธอก็จากไป
แต่ข้าวของเครื่องใช้ก็ยังอยู่ดี แต่ซีดีบอบมาร์เล่กลับหายไป
ฉันเก็บเงินสะสมซื้อทุกชุด ทั้งแผ่นใหม่แผ่นสะดุดเธอก็เอาไป
เอาข้าวของเงินทองฉันจะไม่ว่า แต่อย่าเอาเสื้อลายกัญชาของฉันไป
ครับ...คุยกันเบาๆ อย่าเครียด...สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้ เครียดจนน่าเป็นห่วงสุขภาพจิต
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม