เล่นท้ายเล่ม
ลำนำบทกวีฤดูฝน
ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน และอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษา พระสงฆ์อยู่กับวัดวาอารามไม่ไปโปรดเวไนยสัตว์ที่ไหน เพราะฝนลงหนัก สร้างความลำบากต่อการเดินเท้า ห้วงเวลาเทศกาลมีระยะเวลา 3 เดือน วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของประเทศ เป็นวันหยุดราชการ 2 วัน คือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เอกชนมักหยุดวันหลัง
สมัยผมเป็นเด็กเล็กๆ เรียนหนังสือที่โรงเรียนต่างจังหวัด ทุกๆ อาทิตย์วันสุดท้ายของสัปดาห์นักเรียนทุกคนก่อนกลับบ้าน ต้องท่องบทสวดนมัสการพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ คำสวดพระพุทธคุณมีดังนี้
องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน ตัดมูลกิเลสมาร บ่มิหม่นมิหมองมัว/หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคีบ่พันพัว สุวคนธกำจร/องค์ใดประกอบด้วย พระกรุณาดังสาคร โปรดหมู่ประชากร มละโอฆะกันดาร/ชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมสานต์ ชี้ทางพระนฤพาน อันพ้นโศกวิโยคภัย/พร้อมเบญจพิธจัก-ษุจรัสวิมลใส เห็นเหตุที่ใกล้ไกล ก็เจนจบประจักษ์จริง/กำจัดน้ำใจหยาบ สันดานบาปแห่งชายหญิง สัตว์โลกได้พึ่งพิง มละบาปบำเพ็ญบุญ/ข้าขอประณตน้อม ศิระเกล้าบังคมคุณ สัมพุทธการุณ-ยะภาพนั้นนิรันดร ฯ
บทนมัสการเป็นบทประพันธ์ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) ส่วนบทนมัสการพระธรรมคุณนั้นขึ้นต้นว่า
ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร ดุจดวงประทีปชัชวาลย์ และจบลงด้วยคำว่า ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง ด้วยจิตและกายวาจา
คำนมัสการพระสังฆคุณขึ้นต้น สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา แด่องค์สมเด็จภควันต์ จบลงด้วยท่อนที่ว่า จงช่วยขจัดโพยภัย อันตรายใดใด จงดับและกลับเสื่อมสูญ
ตอนนั้นผมก็ท่องแบบนกแก้ว ให้ว่าอะไรก็ว่าไป ไม่ได้คิดไม่ได้ศึกษาคำทั้งหลายในบทสวด ยังจำได้ว่าการออกเสียงสวดซึ่งมีทำนองสูงต่ำจบลงด้วยเสียงสูงสุดสุด ...และกล้าบเสื่อมสู้ญ... ที่ออกเสียงสูงมากก็เป็นเพราะดีใจที่จบลงจะได้กลับบ้านซะที
กระทั่งวันนี้ลืมบทสวดแล้ว กลับมาหาอ่านใหม่ ค่อยจับความได้ว่า บทสวดดังกล่าวนอกจากมีคำไพเราะมีความหมายต่อชีวิตแล้ว ยังเป็นความประสงค์ให้เด็กนักเรียนเกิดความสำนึกในพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า สำนึกในพระธรรม และพระสงฆ์ ครบถ้วนพระรัตนตรัย
สมัยนี้ ยังเหลือบทสวดเหล่านี้ตามโรงเรียนหรือไม่ ผมหาข้อมูลไม่พบ
การย้อนรอย 60 กว่าปีกลับเข้าหาอดีตของผมเป็นไปตามประสาคนแก่ และทำให้ผมคิดถึงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา
สมัยผมเป็นเด็กเล็ก จำได้ว่ามีการหยุดโรงเรียนจำเพาะวันเข้าพรรษา ไม่มีวันอาสาฬหบูชา ซึ่งถึงวันนี้ผมจึงทราบว่า วันอาสาฬหบูชา (อ่านว่า อาสานหะบูชา) เพิ่งมาประกาศใช้ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อปีพุทธศักราช 2501 เลยกึ่งพุทธกาลมา 1 ปี
ความจริงชีวิตคนไทยเราสงบร่มเย็นมาได้ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งผมเห็นว่าเป็นเพราะด้วยหลักธรรมพระพุทธศาสนา และด้วยเดชะพระมหากรุณาธิคุณในพระมหากษัตริย์ของเราทุกพระองค์ ที่ทรงงานพระราชพิธีต่างๆ ตามวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา เชื่อมโยงกับราษฎรในด้านจิตใจความอยู่เย็นเป็นสุข และวิถีชีวิตแห่งชาวสยาม
ในแผ่นดิน สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังมีคำโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติอยู่โคลงหนึ่ง ซึ่ง พระยาตรัง-จอมกวีในราชสำนักแห่งรัชกาลที่ 2 ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นผู้แต่งขึ้น ได้พรรณาถึงพระราชพิธีของแต่ละเดือนจนครบ 12 เดือน
พระยาตรัง เดิมชื่อ สีไหน หรือ สีตัน เป็นกวีนิยมแต่งโคลงนิราศ และเป็นกวีร่วมสมัยกับ นายนรินทร์ธิเบศร์
พิธี 12 เดือน 15 บทนี้ พระยาตรัง เขียนขึ้นในปีพุทธศักราช 2361 ตรงกับปีขาล เฉพาะเดือนที่ตรงกับเทศกาลเข้าพรรษาเขียนว่าไว้ดังนี้
เดือนแปดประเทศทั้ง หญิงชาย
เริ่มเรื่องรสธรรมเป็น ปิ่นเกล้า
วิฆเนศอิศรนารายณ์ ฤทธิ์ยิ่ง
ชาวพ่อพฤฒิพราหมณ์เถ้า เทียบถวาย
พระราชพิธีเดือน 8 คือ พระราชพิธีเข้าพรรษา อันประกอบด้วยพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม นอกจากนี้ยังมีการสวดมหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกด้วย
วันอาสาฬหบูชา ได้แก่ การบูชาวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬห หรือวันเพ็ญ เดือน 8 โดยมีเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการ คือ
- เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา การแสดงธรรมครั้งแรกที่มีชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
- เป็นวันที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวชด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง) เกิดพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลก
- เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้มีเพียงพระพุทธและพระธรรม
- เป็นวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหฤกษ์ คือ วันเพ็ญเดือน 8
ครั้นถึงวันรุ่งขึ้นอีกวัน เป็นวันแรม 1 ค่ำเดือนแปด เรียกว่า วันเข้าพรรษา ซึ่งก็มีบทกวี นิราศเดือน แต่งโดยหมื่นพรหมสมพัตสร กวีต้นรัตนโกสินทร์ร่วมสมัยกับ สุนทรภู่ เป็นบทกวีเขียนระหว่างผู้รจนาบวชเป็นพระและอยู่ในวัยหนุ่ม สำนวนจึงออกมาอย่างโลดโผน และแสบคันพอสมควร
ถึงเดือนแปดแดดอับพยับฝน ฤดูดลพระวษาเข้ามาขวาง
จวนจะบวชเป็นพระสละนาง อยู่เหินห่างเห็นกันเมื่อวันบุญ
ประดับพุ่มบุปผาพฤกษากระถาง รูปแรดช้างโคควายขายกันวุ่น
ตุ๊กตาหน้าพราหมณ์งามละมุน ต้นพิกุลลิ้นจี่ดูดีจริง
และอีกท่อนหนึ่งว่าไว้ดังนี้
นึกคะนึงถึงนางกลางพรรษา แต่คอยหาเช้าเย็นไม่เห็นเขา
เที่ยวฟังเทศน์มิได้ขาดดูลาดเลา เห็นแต่เขาคนอื่นไม่ชื่นตา
นั่งพับเพียบเรียบร้อยน้อยไปหรือ ประนมมือฟังธรรมเทศนา
ที่ฟังจริงนิ่งตรับจนหลับตา บ้างก้มหน้าฟังไปมิได้เงย
ที่ฟังเล่นเห็นกันเป็นขวัญเนตร ไม่ฟังเทศน์เอาบุญแม่คุณเอ๋ย
มานั่งเล่นตากัน ฉันไม่เคย ไม่สิ้นเลยเหล่าตะกลามกามคุณ
ที่ท่านแก่แก่ตัวยังชั่วดอก หมายจะออกห่างเหจากเมถุน
ท่านอยากบวชสวดมนต์ขนเอาบุญ ที่แรกรุ่นนี่แลร่าน รำคาญใจ
ด้วยความรักหนักเหลือเหมือนเรือเพียบ จนน้ำเลียบแคมแล้วแจวไม่ไหว
ถ้าผ่อนของขึ้นเสียบบ้างยังชั่วใจ แจวไปไหนไปได้ไม่หนักแรง
โอ้โอ๋อกชาวเราเหล่าหนุ่มหนุ่ม อยากใคร่สุ่มปลาหนองส่องแสวง
ตัวฉันเล่าเฝ้าคลั่ง ด้วยยังแคลง จะพลิกแพลงไปอย่างไรก็ไม่รู้
โอ้ไฉนจะได้สมอารมณ์รัก ใครช่วยชักฉันจะไหว้ให้หัวหมู
ยิ่งร้อนใจในคอให้หมอดู ว่าขัดคู่หนักหนายิ่งอาดูร ฯ
ระหว่างฤดูฝนตกชุกนี้ พระจะไปไหนบ้างก็ได้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต แต่ไม่เกินกว่า 7 ราตรี และเป็นการไปด้วยกรณีจำเป็น เช่น เพื่อนพระด้วยกัน หรือโยมบิดามารดาพระล้มป่วย จำเป็นไปเพื่อดูแล หรือจำเป็นต้องไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมกุฏิวิหารที่ชำรุด เรียกว่าไปด้วยกิจของสงฆ์ เป็นต้น
อ่าน นิราศเดือน แล้ว เห็นภาพเทศกาลเข้าพรรษาสมัยโบราณ ชักรู้สึกสนุก และอยากเข้าวัดฟังเทศน์ เผื่อฟลุคได้ออกแรงแจวเรือ...!
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม