พิเศษ(formula)
สำรวจ เส้นทางนักออกแบบยานยนต์ไทย
ถ้าคุณสงสัยว่า มีนักออกแบบยานยนต์ที่เป็นคนไทยอยู่ในโลกด้วยหรือ ? คำตอบคือ มีและไม่ใช่แค่คนหรือสองคน อย่างน้อยเราก็ค้นพบแล้วถึง 4 คน ซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการรถยนต์เต็มตัว ยังไม่นับคนรุ่นใหม่ ที่ฝันและใฝ่ในอาชีพนี้อีกมาก จากสถาบันการศึกษา 2 แห่งที่เปิดการเรียนการสอนด้านออกแบบยานยนต์โดยตรง ขณะที่ความต้องการบุคลากรในตลาดเริ่มมีมากขึ้น
"ฟอร์มูลา" เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว ในวงการที่เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์มาเสนอเริ่มจากการทำความรู้จักกับ 4 หนุ่มนักออกแบบของเราก่อนดีไหม ?
4 หนุ่มนักออกแบบยานยนต์ไทย
อภิชาติ ภูมิศุข
อาจารย์พิเศษ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
"ผมอยากออกแบบรถที่เปลี่ยนแปลงส่วนประกอบให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้"
ฟอร์มูลา : คุณจบการศึกษาจากสถาบันใด ?
อภิชาติ : จบปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์ศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประมาณปี 2530 หลังจากนั้นไปศึกษาต่อสาขาการออกแบบยานพาหนะที่ออสเตรเลีย (RMIT) กลับมาทำงานกับบริษัท ไทยรุ่ง ยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ในแผนกออกแบบได้มีส่วนในการดีไซจ์นรถ แอดเวนเจอร์ (รุ่นแรก) ในขณะนั้น แล้วก็ไปทำงานกับ
ARRK CORPORATION เป็นบริษัททำ โพรโทไทพ์ (PROTOTYPE) ผลงานที่ทำ และเป็นที่รู้จักคือ ชุด สปอร์ท คิท (5 ชิ้น) รุ่น สปอร์ที 2.0/เชฟโรเลต์ ซาฟีรา หลังจากนั้นก็ออกจาก ARRK มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ยานพาหนะ คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร จนถึงปัจจุบัน
ฟอร์มูลา : เพราะเหตุใดถึงเลือกไปเรียนออกแบบยานพาหนะที่ออสเตรเลีย ?
อภิชาติ : ในช่วงที่เรียนศิลปะอุตสาหกรรม มีวิชาเรียนที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบยานพาหนะด้วยซึ่งเป็นการศึกษาในหนังสือ ไม่มีใครสอน และระหว่างศึกษามีความรู้สึกชอบเพราะต้องใช้ทักษะความเข้าใจที่แตกต่างจากการออกแบบอื่นๆ ค่อนข้างมาก เลยสนใจ และคิดว่าน่าศึกษาที่สุด
อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นงานออกแบบที่ค่อนข้างซับซ้อน เงินลงทุนสูงนักออกแบบรถยนต์นั้นต้องมีอะไรพิเศษจริงๆ ต้องมีทักษะที่ไม่เหมือนคนอื่น ทั้งด้านความเข้าใจในการผลิตที่ซับซ้อน วัสดุผลิตที่หลากหลาย และต้องเข้าใจเรื่องของวัตถุเคลื่อนผ่านของไหล (หลักการแอโรไดนามิค) อีก จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจหาสถานที่ที่จะไปศึกษาต่อ
เมื่อได้ไปเรียน ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่การเขียนออกแบบรถเลย และก็อีกหลายวิชาค่อนข้างหลากหลายแตกต่างจากการออกแบบอย่างอื่น และการออกแบบโพรดัคท์ชิ้นที่ใหญ่ที่สุดของนักออกแบบอุตสาหกรรมเลย นั่นก็คือรถยนต์ ยกเว้นเครื่องบินกับเรือ ซึ่งต้องใช้เทคนิคทางด้านเทคโนโลยี ดีไซจ์น (TECHNOLOGY DESIGN) มากกว่า อาร์ทิสติค ดีไซจ์น (ARTISTIC DESIGN)
เพราะวัตถุประสงค์มันเป็นยานพาหนะที่ต้องบรรทุกของส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นรถยนต์มันต้องการคำว่า "แฟชัน" ค่อนข้างสูง ซึ่งน่าสนใจในเรื่องความเข้าใจ (การตลาด) กลุ่มคนที่ต้องการเลือกซื้อสินค้ามันจึงค่อนข้างท้าทายที่จะต้องไปฝึกทักษะตรงนั้น
ผมเลือกเรียนที่ RMIT ประเทศออสเตรเลีย เพราะชอบอุตสาหกรรมรถยนต์ของออสเตรเลียมีการผลิตที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น เช่น ฟอร์ด ฟอลคอน มีตั้งแต่รถ ซีดาน พิคอัพ และ สปอร์ทโดยใช้พแลทฟอร์มตัวเดียวกัน แต่สามารถผลิตรถได้หลากหลายทำให้ตัดสินใจเลือกเพราะคิดว่าในอนาคตเมืองไทยจะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมที่ลึกที่สุด
ฟอร์มูลา : ช่วงที่ทำงานกับไทยรุ่ง ฯ คุณทำหน้าที่อะไร ?
อภิชาติ : ผมเป็นเจ้าหน้าที่ R&D มีหน้าที่คุมการทำงานในส่วนของการออกแบบ ทีอาร์ แอดเวนเจอร์รุ่นแรกๆ รับผิดชอบการดีไซจ์นทั้งภายใน/นอก (EXTERIOR, INTERIOR, COLOR AND TRIM) หลักๆ มาจากรูปแบบรถ แอดเวนเจอร์ เดิมที่ ทีอาร์ มีอยู่ ซึ่งคอนเซพท์จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งคนจะคุ้นเคยกับรถ อีซูซุ มาแล้ว แต่ยังไม่มีความแตกต่างมากนักในตอนนั้น จึงต้องสร้างให้แตกต่าง โดยใช้คอนเซพท์ว่า แกรนด์ (GRAND) เลยเป็น แกรนด์ แอดเวนเจอร์
ฟอร์มูลา : จากการทำงานที่ผ่านมาในทุกด้าน ผลงานชิ้นไหนที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด ?
อภิชาติ : คิดว่าน่าจะเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะผลงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น แกรนด์ แอดเวนเจอร์ หรือ ซาฟีรา ผมรู้สึก 100 เปอร์เซนต์กับทุกรุ่น และทุกโครงการเลยรู้สึกภูมิใจที่สุดกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาทั้งหมด
ฟอร์มูลา : ถ้าอย่างนั้นผลงานชิ้นไหนที่ชื่นชอบที่สุด ?
อภิชาติ : ชื่นชอบทุกผลงาน เพราะทำเต็มที่ทุกชิ้น แต่ถ้าเป็นความประทับใจที่สุด เห็นจะเป็นโครงการ เชฟโรเลต์ ซาฟีรา รุ่น 2.2 สปอร์ท เวอร์ชัน
ฟอร์มูลา : ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนเรื่องการออกแบบ คิดว่าน่าจะมีการปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง ?
อภิชาติ : คิดว่าคงไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่อยากพูดเรื่องการสร้างโอกาส เพราะสิ่งที่ขาดคือโอกาสที่จะทำให้นักศึกษานำผลงานที่ทำออกมาแสดง ตัวอย่าง งานประกวดออกแบบรถยนต์ หรือ "THAI YOUNG AUTOMOTIVE DESIGNER AWARD" ที่ผมนำมาเสนอกับ บริษัท สื่อสากล จำกัด และคุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน "มหกรรมยานยนต์" ร่วมกับ ฟอร์ด จัดให้มีการประกวด และแสดงผลงานของนักศึกษา นั่นทำให้เกิดการแสดงผลงานของนักศึกษา และเป็นโอกาสที่จะทำให้นักศึกษาได้พบปะกับผู้ผลิตโดยตรง
ฟอร์มูลา : หลักสูตรน่าจะเพิ่มเติมอะไรอีกบ้างหรือไม่ ?
อภิชาติ : หลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน อย่างที่ลาดกระบังจะอยู่ในคณะสถาปัตยกรรม แต่ในขณะที่ศิลปากรจะอยู่ คณะมัณฑณศิลป์ โดยหลักสูตรจะครอบคลุมแตกต่างกัน แต่นักศึกษาจะได้เรียนรู้หลักการออกแบบรถยนต์เหมือนกัน ขาดแต่เรื่องโอกาสที่จะเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยตรงก็ค่อนข้างยาก แต่ขณะนี้ดีขึ้นมาก สิ่งที่อยากเพิ่มเติม คือ การที่นักศึกษาสามารถเข้าไปฝึกงานในโรงงานผลิตรถยนต์ อาจจะมีความลับในเรื่องของตัวสินค้า แต่ถ้าเป็นการเพิ่มเติม นำเอาโครงการที่สามารถนำออกมาให้นักศึกษาทำในห้องเรียนได้ เป็นการดีซึ่งเราจะเห็นได้จากโรงเรียนสอนการออกแบบรถยนต์ระดับโลกที่ดึงเอาบริษัทรถยนต์ต่างๆมาเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนในปีนั้นๆ และหลังจากการเรียนเสร็จสิ้น ทางโรงเรียนจะจัดการแสดงผลงานของนักศึกษาต่อสาธารณชน เพื่อตอบแทนบริษัทรถยนต์ที่มาเป็นผู้สนับสนุนการเรียนในปีนั้นๆ เอง
นอกจากการเรียนออกแบบรถยนต์จะแตกต่างกว่าการออกแบบอย่างอื่นแล้ว โอกาสหางานในอุตสาหกรรมรถยนต์ บางครั้งก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้แก่นักศึกษาที่เรียนก็คือ จะมีทักษะพิเศษที่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มี และถ้าจบไปแล้วไม่ได้เข้าไปทำงานออกแบบรถยนต์ ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะทักษะเรื่องการออกแบบรถยนต์สามารถนำไปใช้กับการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ แต่โอกาสที่เขาจะได้เรียนการออกแบบรถยนต์ต้องมีการทดสอบ ซึ่งทั่วโลกเปิดสอนมีอยู่แค่ 6-7 แห่งเท่านั้น ดังนั้นแค่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ ถึงแม้ว่าไม่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเมื่อเรียนจบก็มีทักษะ ความเข้าใจในงานที่สูง และหลากหลายกว่าคนอื่นๆ นั่นคือพื้นฐานอนาคตที่ไม่มีใครรู้ได้ว่าสักวันหนึ่ง เมื่อโอกาสมาถึง
คุณอาจจะได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานอุตสาหกรรมรถยนต์ก่อนบุคคลอื่นๆ ก็ได้ คนที่มีความพร้อมมากกว่าเท่านั้นถึงจะเป็นผู้ชนะ
ฟอร์มูลา : คุณสมบัติของตัวบุคคลที่เข้ามาเรียนด้านนี้ควรเป็นอย่างไร ?
อภิชาติ : ต้องมีความเข้าใจในการออกแบบรถยนต์ และต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมว่าการออกแบบรถยนต์มันแตกต่างจากการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างอื่น คือคุณต้องมาเริ่มต้นจากศูนย์ แล้วก็ค่อยๆ พัฒนา เพราะฉะนั้นก็ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะมาเรียนรู้ และต้องมีความเข้าใจในอุตสาหกรรม เพราะการทำงานในนี้จะต้องทำเป็นทีม ทั้งวิศวกรออกแบบ ออโทโมทีฟ เอนจิเนียริง
ดีไซจ์น (AUTOMOTIVE ENGINEERING DESIGN) วิศวกรการผลิต โพรดัคชัน เอนจิเนียริง (PRODUCTION ENGINEERING) และนักออกแบบยานยนต์ ออโทโมทีฟ ดีไซจ์น (AUTOMOTIVE DESING) ไม่ได้ทำเพียงคนเดียว ทักษะการทำงานเป็นทีมจึงค่อนข้างสำคัญในสายงานนี้ และที่สำคัญต้องเข้าใจว่าผลิตออกมาเพื่อขายให้กลุ่มลูกค้าทั้งชายและหญิงจำนวนอย่างน้อย 100,000-200,000 คัน/รุ่น ความเข้าใจในเรื่องการตลาด และแฟชันก็เป็นคุณสมบัติส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ระดับแรกๆ เช่นกัน
ฟอร์มูลา : ปัญหาของนักออกแบบไทยคืออะไร ?
อภิชาติ : ขาดโอกาส สมัยก่อนผมต้องเรียนรู้เองจากต่างประเทศ จบมาทำงานได้สักพักก็มาสอนผมก็อยากสร้างโอกาสแบบนี้ให้แก่นักศึกษา ไม่ใช่ว่านั่งรอแล้วให้มันมาเอง ที่ผมคิดไว้ก็คืออยากให้มีการเชิญบริษัทรถยนต์ที่สนใจ สื่อต่างๆ (ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์) มหาวิทยาลัย (ที่มีการผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมรถยนต์) และหน่วยงานของรัฐมาร่วมทำ "เวิร์คชอพ" ว่าทิศทางของการศึกษาควรจะไปทิศทางไหน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคตของประเทศเรา เมื่อนักศึกษาที่เรียนจบออกมา 70 เปอร์เซนต์ ก็คงสามารถรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อย่างแน่นอน
ในต่างประเทศเขาเชิญบริษัทรถยนต์เข้ามาดูนักศึกษา เพราะเมื่อผลิตนักศึกษาสำเร็จแล้วสุดท้ายก็ต้องผลักดันให้ไปทำงานกับบริษัทรถยนต์เหล่านั้น ซึ่งบริษัทพวกนี้ก็มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา
ส่วนในประเทศไทย บริษัท ฟอร์ด ค่อนข้างพอใจกับผลงานของนักศึกษา ที่บริษัทมาเห็นผลงานที่ศิลปากร จากนั้นก็ต้องสานต่อ ให้นักศึกษาของเราไปศึกษาต่อต่างประเทศ พอไปแล้วเขาก็มีโอกาสเลือกว่าจะกลับมาทำงานที่เมืองไทยหรือจะทำที่นั่น แต่ต้องอย่าลืมว่า ตลาดรถขนาดใหญ่ในอนาคตนั้นไม่ได้อยู่ที่ยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา แต่อยู่ในเอเชีย
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าโอกาสของนักออกแบบไทยที่จะเข้าร่วมทำงานกับบริษัทรถยนต์ในไทยมีมากน้อยเพียงใด ?
อภิชาติ : มีครับ ทุกวันนี้ผมมีลูกศิษย์ที่ทำงานในบริษัทรถยนต์เหล่านั้น เกือบครบทุกยี่ห้อในบ้านเราเพียงแต่ยังไม่มีโอกาสเข้าร่วมในการออกแบบรถในโครงการรถต้นแบบจริงๆ เท่านั้น
ฟอร์มูลา : รถในฝันที่คุณอยากออกแบบเป็นอย่างไร ?
อภิชาติ : ต้องเป็นรถประหยัดพลังงาน และคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมเป็นสำคัญ เป็นรถที่สามารถรองรับและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลายในการใช้งาน และเป็นรถที่สามารถดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบบางส่วนได้ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ต้องสามารถดัดแปลงได้หลากหลายไม่ต่ำกว่า 5-6 รุ่น หรือ 5-6 กลุ่มลูกค้าโดยยังใช้โครงสร้างรถเดิม
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันคุณใช้รถรุ่นใด ?
อภิชาติ : ใช้ นิสสัน เทอานา ก่อนหน้านี้ก็เป็น เซฟีโร เพราะชื่นชอบการบริหารงานของการ์โลส โกสน์ ซีอีโอ ของ นิสสัน คนปัจจุบัน (สมัยก่อนเป็น ซีอีโอ ของ เรอโนลต์) และเห็นด้วยกับแนวความคิด "RE-DESIGN NISSAN" ในการควบคุมของ ชิโร นากามูระ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ นิสสัน ดีไซจ์น สหรัฐอเมริกา
เมธินทร์ ฮุ่นตระกูล
SENIOR INDUSTRIAL DESIGNER
บริษัท โปรไดรฟ์ ออโตโมทีฟ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
"การออกแบบไม่ใช่เรื่องของความสวยงามอย่างเดียว"
ฟอร์มูลา : คุณจบการศึกษาจากที่ไหนมา ?
เมธินทร์ : จบการศึกษา การออกแบบอุตสาหกรรมที่ UNIVERSITY OF WESTERN SYDNEY NEPEAN ประเทศออสเตรเลีย
ฟอร์มูลา : เหตุใดจึงเลือกเรียนด้านนี้ ?
เมธินทร์ : เป็นสิ่งที่ถนัด และชอบ ตอนเด็กๆ จะชอบเอาของเล่นมาแกะเพราะความอยากรู้อยากเห็นว่าของมันนำมาประกอบกันอย่างไร และส่วนใหญ่ประกอบคืนไม่ได้ไม่ได้เล่นของเล่นเสียอย่างเดียว พอโตขึ้นก็มีความสนใจมากขึ้นกับความเป็นมา การออกแบบการประดิษฐ์ ก็เลยคิดว่าการเรียนทางด้านนี้น่าจะตรง
ฟอร์มูลา : หลังจบการศึกษาคุณเริ่มทำงานที่ใดก่อน ?
เมธินทร์ : เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2541 เป็นบริษัท ACT LEATHER ทำเครื่องหนัง โซฟา เป็นวิศวกรมากกว่า ไม่ได้ดูเรื่องดีไซจ์นเลย แต่ไปดูเรื่องโครงสร้างของที่นั่งว่าทำอย่างไร หลังจากนั้นก็ได้ทำงานที่ พรอพพาแกนดา ได้ทำงานดีไซจ์นควบคู่กันไป กับพัฒนางานออกแบบของคนอื่น ปี 2546 ก็มาทำที่ โปรไดรฟ์ ฯ ซึ่งในต่างประเทศมีชื่อเสียงด้านกีฬาแข่งรถ คือ แต่งรถให้กับทีม ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์ซี และ ฟอร์มูลา วัน ให้ ฮอนดา แต่ในเมืองไทยจะเป็นออกแบบและวิศวกรรมให้กับบริษัท ฟอร์ด
ฟอร์มูลา : ผลงานที่ผ่านมา และชอบมากที่สุด ?
เมธินทร์ : ฝาครอบล้อของ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ การที่เราออกแบบให้ฝาครอบล้อเป็นลายภูเขากลับกลายเป็นเทรดมาร์คของแบรนด์ไปในตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก ประกอบกับถ้ามองรถในระยะไกล จะเห็นลายภูเขา ซึ่งทำให้รู้ว่าเป็น เอเวอเรสต์
ต่อมาก็เป็นชุดตกแต่งรอบคันของ ฟอร์ด โฟคัส ซึ่งยังมาไม่ถึงที่นี่ แต่เปิดตัวที่ประเทศไต้หวันไปแล้ว ส่วนผลงานแรกที่ออกแบบคือ แพคเกจของ ฟอร์ด เรนเจอร์ เฮอร์ริเคน ที่มีชุดแต่งลุยป่าอย่างเดียว ทำให้รถดูแกร่ง
ฟอร์มูลา : ในฐานะเป็นนักออกแบบ รู้สึกอย่างไรที่ต้องมาออกแบบเพียงรถแค่ยี่ห้อเดียว ?
เมธินทร์ : ไม่เป็นไร รถหนึ่งคันเป็นส่วนรวมของหลายๆ ผลิตภัณฑ์ การออกแบบรถหนึ่งคันโดยคนๆเดียวออกแบบเป็นไปไม่ได้ ชิ้นงานที่ออกแบบชิ้นเล็กๆ แต่ประสบความสำเร็จ ก็ภูมิใจแล้วแต่ถ้าในอนาคตมีโอกาสได้ทำอะไรที่กว้างกว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดี
ฟอร์มูลา : ถ้ามีโอกาสออกแบบรถสักคัน จะออกแบบรถประเภทไหน ?
เมธินทร์ : ไม่จำกัดว่าจะเป็นรถประเภทไหน ถ้าออกแบบรถสักคันถือว่าเป็นโอกาสที่ดีอยู่แล้ว เพราะรถแต่ละแบบมีฟังค์ชันแตกต่างกัน ถ้าเราได้เข้าไปและมีโอกาส นั่นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีแล้ว
ฟอร์มูลา : รถที่ชอบและประทับใจมากที่สุดคือรถอะไร ?
เมธินทร์ : มีทั้งรถเก่าและรถใหม่ รถเก่าที่ชอบ โฟล์คสวาเกน คาร์มันน์ กีอา เป็นรถที่คลาสสิคมากๆ เป็นรถที่อยู่มาหลายสิบปี แต่ดูอย่างไรก็สวย ไม่ล้าสมัย มันเป็นอะไรที่ยากมากสำหรับดีไซจ์เนอร์ ที่จะทำอะไรออกมาแล้วมีอายุยาวนาน ถ้าดีไซจ์เนอร์คนไหนทำได้ผมคิดว่าก็จะประสบความสำเร็จสูงสุด ส่วนรถใหม่ที่ชอบคือ รถต้นแบบ เอซี คอบรา จีอาร์ 1ซึ่งเพิ่งออกมาใหม่ ดูดุดัน แต่ในเวลาเดียวกันจะมีความเรียบง่าย และดูเล็กมากๆ
ฟอร์มูลา : รถในฝันที่อยากเป็นเจ้าของคือรถยี่ห้อใด ?
เมธินทร์ : ตอนนี้เป็น บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 6
ฟอร์มูลา : รถที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นรถยี่ห้อใด ?
เมธินทร์ : บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 รหัส อี 36
ฟอร์มูลา : นักศึกษาที่จะเข้ามาศึกษาด้านนี้ ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ?
เมธินทร์ : อันดับแรก ฝึกวาดรูปมากๆ เพราะการวาดรูปเป็นเครื่องมือสำคัญของงาน การวาดเป็นการคิดและการสื่อสาร อันดับสองคือ ทำความรู้จักกับ ทเรนด์ เพื่อได้รู้ว่าทิศทางจะไปด้านไหน เรียนรู้จากผู้อื่น สมัยเรียนแค่สเกทช์อย่างเดียว หลังจากนั้นทำเป็นโมเดลแต่สมัยนี้มีข้อมูลทางอินเตอร์เนท มากมายมหาศาล น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ได้มากกว่า
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าหลักสูตรการเรียนการสอนด้านนี้ของไทยเป็นอย่างไร ?
เมธินทร์ : ผมไม่ค่อยทราบเรื่องหลักสูตรของไทยเท่าไร แต่คิดว่าหากจะให้หลักสูตรการเรียนการสอนได้ผล อยากให้มีหลักสูตรแบบที่ออสเตรเลีย คือ ให้นักศึกษาเข้าไปฝึกงานกับบริษัทต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทรถยนต์ เป็นบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ ใช้เวลา 3 เดือน เพื่อศึกษาวิธีการทำงาน การผลิต หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างในอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อเตรียมให้มีความพร้อมกับเหตุการณ์จริง ไม่ใช่เพียงบอกให้ออกแบบเพื่อความสวยงามอย่างเดียว ซึ่งความจริงแล้วการดีไซจ์นบางคนคิดว่าเป็นเรื่องของความสวยงาม แต่จริงๆ แล้วมีหลายสิ่งอยู่เบื้องหลังมากกว่านั้น เพื่อเป็นตัวนำทางที่จะทำให้รู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
จุดนี้สำคัญมากที่หลักสูตรควรจะมีเพื่อเตรียมให้นักศึกษาเกิดความพร้อมในการเริ่มทำงาน
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าโอกาสของนักออกแบบไทยควรจะเป็นอย่างไร ?
เมธินทร์ : บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ ประเทศ เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย โอกาสในการเปิดศูนย์ออกแบบในไทยย่อมมีอยู่แล้ว และโอกาสที่คนไทยจะได้เข้าไปทำงานนั้นมันแน่นอนอยู่แล้ว
ฟอร์มูลา : คุณวางเป้าหมายของชีวิตไว้อย่างไร ?
เมธินทร์ : ปัจจุบันทำชุดแต่ง ซึ่งเป็นการต่อยอดให้แก่รถที่มีอยู่แล้ว ขั้นต่อไปถ้ามีโอกาสน่าจะขยับไปทำตัวรถเลย นั่นคืออันดับต่อไปที่อยากจะทำ เพราะจะมีโอกาสคิดได้กว้างกว่าไม่มีกรอบรัดกุม
พงษ์สิทธิ์ จักรสมิทธานนท์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท GRP. HIGHTECH (9999) จำกัด
"ศิลปินทำงานจากแรงบันดาลใจ แต่นักออกแบบต้องทำงานจากโจทย์"
ฟอร์มูลา : ช่วยเล่าประวัติการศึกษาและการทำงานของคุณเป็นอย่างไร ?
พงษ์สิทธิ์ : จบการศึกษาจากคณะมัณฑศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีอาจารย์หลายท่านที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา เช่น อาจารย์ โกศล สุวรรณกูฏ ซึ่งกำลังผลักดันเพื่อเปิดสอนการออกแบบรถยนต์ในเร็วๆ นี้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดเพชรบุรี
ผมจบศิลปากรประมาณปี 2532-2533 หลังจบพี่ ปิติ มโนมัยพิบูลย์ ได้ให้โอกาสทำงานที่บริษัท PDK อยู่กับพี่ วัลลภ เตียศิริ ได้ร่วมออกแบบมอเตอร์ไซค์บางรุ่น เช่น พีดีเค 150 และ แมกนัม ในเจเนอเรชันที่ 2 แต่ต้องหยุดในขั้นตอนต้นแบบเพราะมีปัญหาทางเทคนิค
จากนั้นได้ขอลาไปศึกษาต่อที่ RMIT ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำโครงงานรถเก็บขยะชายหาดซึ่งได้ลงในนิตยสาร CAR STYLING เล่ม 101 ระหว่างเรียนมีโอกาสได้ทำงานออกแบบรถเก็บขยะให้กับบริษัท แมคโดนัลด์ จอห์นสัน และรถมอเตอร์ไซค์วิบากโพรอาร์ม
ให้แก่ชาวออสเตรเลียนคนหนึ่งเพื่อเสนอให้กับบริษัท ยามาฮา
กลับมาเมืองไทยได้รับโอกาสจาก โตโยตา จึงได้เป็นดีไซจ์เนอร์คนแรกของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำงานกับทีมงานที่อบอุ่น ได้ออกแบบฝาครอบล้อรถกระบะ โตโยตา ไฮลักซ์ ซึ่งในสมัยนั้นรถกระบะจะเป็นกระทะล้อเหล็ก ไม่เน้นความสวยงามถือเป็นโครงการแรกที่เริ่มงานจาก งาน สไตลิง ดีไซจ์น (STYLING DESIGN) จนถึง แมสส์ โพรดัคชัน (MASS PRODUCTION) โดยคนไทยและยังได้รับโอกาสให้ไปศึกษางานที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูต้นแบบ โตโยตา โซลูนา ในขณะนั้นยังเป็นความลับอยู่ประมาณปี 2536
จากนั้นลาออกจาก โตโยตา เพื่อช่วยงานของครอบครัว แต่ยังต้องการที่จะทำงานทางด้านออกแบบอยู่จึงเปิดบริษัทเองชื่อบริษัท NEXUS DESIGN ด้วยความเชื่อที่ว่าในเวลานั้นบริษัทที่เป็นของคนไทย 100 % ยังต้องการงานทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท แฟมีลีซึ่งผลิตทีวีเล็กในขณะนั้นให้โอกาสออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายไลน์ผลิต คือให้ออกแบบเครื่องเล่นวีดีโอ ได้รับโอกาสที่สำคัญในชีวิตอีกครั้งจากพี่ ปิติ มโนมัยพิบูลย์ ให้ออกแบบรถโชว์โกคาร์ท เพื่อแสดงในงานมอเตอร์โชว์ ปี 2539 ภายหลัง รถโกคาร์ท ได้พัฒนาจนผลิตและประกอบโดยบริษัท NEXUS DESIGN ซึ่งมีนักออกแบบอีกคนคือ พีรนันท์ บุญดวงเป็นกำลังสำคัญ
ในปี 2539ได้รับการติดต่อจาก มร. มิฮูรา บริษัท ARRK ให้ร่วมงานก่อตั้งแผนกออกแบบและผลิตชุดแต่งรถยนต์โดยใช้ PROCESS RIM ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมากของนักออกแบบที่จะทำงานออกแบบเพื่อส่งเป็นชิ้นส่วน โออีเอม (OEM) ให้กับโรงงาน ชิ้นงานที่ได้ทำ เช่น สเกิร์ทหน้า/หลัง ของ ฮอนดา ซีวิค คูเป สเกิร์ทรอบคัน และสปอยเลอร์หลังของ โตโยตา โซลูนา ฯลฯ และได้ส่งมอบงานทั้งหมดให้แก่ผู้ดูแลต่อ เพราะต้องกลับมาทำงานของครอบครัวอีกครั้งขณะที่ดูแล ได้ถูกชักชวนโดยพี่ อนุ บริษัท GRP. ให้โอกาสสูงสุดของการเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในฐานะดีไซจ์เนอร์ สามารถทำงานที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัทเป็นเวลา และเป็น
PROCESS VACUUM FORMING โดยใช้พลาสติค เอบีเอส (ABS) ซึ่งเป็นแผ่นมาขึ้นรูปชิ้นงาน ที่เคยคิดจะทำเป็นโพรดัคท์ตั้งแต่จบจากออสเตรเลีย เพราะเมื่อเทียบกับพลาสติคฉีดการลงทุนนั้นถูกกว่ามาก และจำนวนผลิตไม่จำเป็นต้องสูงมาก ความยืดหยุ่นในการทำงานทั้งขั้นตอนในการผลิต และขั้นตอนผลิต เมื่อบวกกับฝีมือของคนไทยนั้น ทำให้คุณภาพของชิ้นงานเป็นที่น่าพอใจ เมื่อปีที่แล้วได้ร่วมงานกับดีไซจ์เนอร์หนุ่มไฟแรงจาก โตโยตา ทำชุดแต่ง ไทเกอร์ รุ่น 4 ประตู และรุ่น แคบ โดยบริษัท GRP. เป็นผู้ทำการพัฒนา ผลิต ทำสีรวมทั้งประกอบเป็นชิ้นส่วนโรงงานให้กับ โตโยตา
ฟอร์มูลา : ทำไมถึงมาเลือกเรียนทางด้านนี้ ?
พงษ์สิทธิ์ : เพราะที่บ้านประกอบกิจการปั๊มน้ำมัน ผมเห็นรถ ล้างรถ เช็ดรถ มาตั้งแต่เด็กจึงมีความผูกพันกับรถ พอจบ ม. 3 ก็สอบเข้าศึกษาต่อที่ พระจอมเกล้า พระนครเหนือ ฯ คิดว่าอยากเป็นช่างยนต์ เรียนได้ 2 ปี จึงเริ่มรู้ว่าตัวเองไม่ได้ถนัดทางด้านนี้จึงมาสอบเอนทรานศ์เข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร อันนี้ต้องขอขอบคุณ คุณพ่อ/คุณแม่ ที่เข้าใจและไม่เคยบังคับ ถือการตัดสินใจของลูกเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบเอง ผมถูกเลี้ยงมาแบบนี้
ฟอร์มูลา : ผลงานชิ้นแรกที่ออกแบบในเมืองไทย ?
พงษ์สิทธิ์ : ถ้านับหลังจากจบจาก RMIT ก็ต้องเป็นฝาครอบล้อของ โตโยตา ไฮลักซ์ ที่เป็นรูปกังหันในทุกวันนี้ ยังมีให้เห็นบนท้องถนน บางทีเห็นคนดัดแปลงเอาไปใส่รถเก๋ง 10 กว่าปีแล้วครับ เวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน
ฟอร์มูลา : ผลงานชิ้นไหนที่รู้สึกว่าโดดเด่น และภูมิใจที่สุด ?
พงษ์สิทธิ์ : คงเป็นโครงงานตอนสมัยเรียนที่ RMIT ประเทศออสเตรเลีย เพราะได้ขึ้นหน้าปกของนิตยสาร CAR STYLING ที่วงการออกแบบรถยนต์ต้องรู้จัก แต่ที่ภูมิใจคือผลงานของเรานั้นอยู่ในรถแตกต่างหลากหลายยี่ห้อ ทั้ง โตโยตา/อีซูซุ และ ฮอนดา รวมทั้งรถมอเตอร์ไซค์ สามล้อ แต่ทั้งหมดเป็นเพราะโอกาสที่ผู้ใหญ่ได้มอบให้แก่เรา ไม่ใช่ด้วยความเก่งกาจของตัวเราเองแต่อย่างไร
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าปัจจุบัน และอนาคต นักออกแบบไทยจะเป็นอย่างไร ?
พงษ์สิทธิ์ : ถ้าตัดเรื่องชื่อเสียง รายได้ เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นเจ้าของยี่ห้อรถยนต์ เรามีโอกาสหลายอย่างที่ดีกว่า เช่น ถ้ามองว่ากรุงเทพ ฯ เป็นเมืองแฟชัน เมืองไทยน่าจะเป็นแหล่งออกแบบและพัฒนาชุดแต่งของโลกได้ นอกเหนือจากเป็นดีทรอยท์แห่งเอเชีย รับจ้างประกอบ
รถยนต์ เพราะต่อไปชุดแต่งรถยนต์จะเป็นตัวที่ทำให้ส่วนแบ่งของการตลาด มีโอกาสมากขึ้น
เช่น บริษัทรถยนต์ผลิตรถมาตรฐานมาหนึ่งรุ่น นักออกแบบไทยออกแบบชุดแต่งที่ทำให้รถ
ดูแตกต่างกันสัก 3 แบบ เช่น ทำดุดัน ให้อ่อนหวาน ให้เหมาะกับผู้หญิง ทำให้ดูสปอร์ท ฯลฯ
รถหนึ่งรุ่น ก็จะกลายเป็นหลายรุ่นที่เป็นรสนิยมที่แตกต่างของลูกค้า และด้วยศักยภาพของ
ผู้ผลิตไทยสามารถสู้ได้ทั้งทางด้านราคา และคุณภาพ อยากให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต
ชุดแต่งของโลก
ฟอร์มูลา : หลักสูตร และการเรียนการสอนออกแบบในประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงหรือไม่ ?
พงษ์สิทธิ์ : อันนี้ต้องไปถามอาจารย์ โกศล ท่านกำลังจัดทำหลักสูตรออกแบบยานพาหนะของมหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ แต่เท่าที่ผมมีประสบการณ์ เด็กไทยน่าสงสารในแง่ของเรื่องการเรียนการศึกษา คือหลักสูตรบังคับให้เด็กเรียนมากมายเสียจนกระทั่งไม่รู้ว่าอะไรคือสาระ และอะไรไร้สาระ อาจจะแรงไปหน่อย แต่เป็นความรู้สึกส่วนตัวจริงๆ
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมใช้คำว่า "ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์" ซึ่งภาษาอังกฤษคือ คอมพิวเตอร์ เอด ดีไซจ์น "COMPUTER AID DESIGN" ซึ่งน่าจะแปลว่า "คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ" น้ำหนักมันผิดกันใช่ไหมครับ คนคิดว่าตัวคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการออกแบบ แต่ที่จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์ขบวนการทั้งหมดเกิดจากคน ในที่นี้คือ นักออกแบบ คอมพิวเตอร์เปรียบเหมือนปากกาหรือดินสอ "ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์นักออกแบบก็สามารถออกแบบได้ แต่ถ้าไม่มีนักออกแบบ คอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถออกแบบเองได้" ประเด็นนี้อาจจะมองว่าเป็นประเด็นเล็กๆ แต่ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเรียนรู้ ซึ่งหมายรวมถึงระบบการศึกษาในประเทศไทยว่ายังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรคือเปลือก อะไรคือแก่น อันนี้ไม่ได้มีเจตนาต่อว่าต่อขาน แต่ต้องการจุดประเด็นให้ทุกฝ่ายรวมกันคิด และปรับปรุง เพราะเราย่อมต้องให้เวลาแก่แก่นมากกว่าเปลือก และเงื่อนไขเวลาซึ่งจำเป็นที่ต้องให้กับแก่น จะเป็นสิ่งสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จ
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาของนักออกแบบไทย ?
พงษ์สิทธิ์ : ถ้าตัดเรื่องของการเป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์ที่เป็นของคนไทยเองทิ้งไป ซึ่งหมายถึงการไม่สามารถออกแบบรถยนต์ทั้งคัน ซึ่งประกอบไปด้วยเงื่อนไขมากมายที่เราไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ ปัญหาของนักออกแบบไทยน่าจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปัญหาของนักออกแบบไทย และปัญหาภายนอกที่มอง หรือกระทบกับนักออกแบบ
ปัญหาของนักออกแบบไทยเอง คือต้องเข้าใจว่าตัวเองทำหน้าที่อะไร ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวคิดว่าหน้าที่ของนักออกแบบควรจะต้องมาอันดับแรกคือ มีความคิดสร้างสรรค์ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญและยากที่สุดของการเป็นนักออกแบบที่ดี อันดับสอง ต้องมีการสื่อสารที่ดี เพราะนักออกแบบจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างผู้บริหารระดับสูงสุด วิศวกรนักการตลาด ฝ่ายผลิตอันดับสาม ต้องมีพลังของความร่วมมือ ต้องสามารถร่วมมือกันกับทุกฝ่ายที่กล่าวมาแล้วสุดท้ายต้องมีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลให้เป็นปึกแผ่น ถ้าฟังแล้วอาจจะงงนี่คือคุณสมบัติที่จะต้องสามารถวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ข้อมูลจากทุกฝ่ายและสามารถแปรให้เป็นงานรูปธรรมของการออกแบบ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารระดับสูงต้องการรถราคาประหยัด ฝ่ายการตลาดต้องการรถที่ดูสปอร์ทฝ่ายวิศวกรต้องการรถที่แข็งแรง และฝ่ายผลิตต้องการรถที่ประกอบง่าย ข้อมูลทั้งหมดต้องผ่านนักออกแบบ แล้วทำการร่างภาพออกมา มีการประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า คำถามคือนักออกแบบไทยรู้หน้าที่ของตัวเองหรือไม่ และสามารถทำได้ดีขนาดไหน
ปัญหาภายนอกที่มอง หรือกระทบกับนักออกแบบ คือ มักมีการกล่าวว่า "พวกนี้มันศิลปินเข้าใจยากมันทิสต์ ใช้อารมณ์ ฯลฯ ความจริง คือ ศิลปิน (ARTIST) กับ นักออกแบบ (DESIGNER) ทำงานกันคนละระบบ ศิลปินนั้นทำงานจากแรงบัลดาลใจ ที่มาจากภายในของตัวศิลปินเองดังนั้นผลงานของศิลปินไม่ว่าจะเป็นภาพเขียน ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ฯลฯเป็นผลงานส่วนตัวของศิลปินซึ่งเมื่อปรากฏออกมาแล้วผู้คนที่ชื่นชอบก็อาจจะหามาสะสมแต่สำหรับนักออกแบบนั้นทำงานจากโจทย์ที่ได้รับจากองค์กรแล้วนำมาตีความให้เป็นงานออกแบบปัญหาของไทยคือบางครั้งผู้ให้โจทย์ไม่รู้ว่าอะไรคือโจทย์ และตัวผู้ตอบโจทย์จะทำอย่างไร
ทัศไนย ไรวา
ประธาน บริษัท แมนดีไซน์ สตูดิโอ จำกัด
"เมืองไทยไม่ใช่ศูนย์ออกแบบ ที่ทำกันอยู่คือดีไซจ์นอุปกรณ์ตกแต่งเท่านั้น"
ฟอร์มูลา : เพราะเหตุใดคุณจึงทำงานด้านนี้ ?
ทัศไนย : มันเกิดจากแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กที่คุณแม่ซื้อรถคันเล็กๆ ที่มีรูปทรงต่างๆ กันมากมาย โดยเฉพาะรูปทรงของรถสปอร์ท ที่รู้สึกชอบมาก บวกกับพรสวรรค์ทางด้านการวาดรูปทำให้เริ่มวาดแต่รูปรถตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงอายุ 13 ปี ก็ได้ออกแบบรูปรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ส่งไปประกวดที่เยอรมนีแล้วได้รับรางวัล และผลงานก็ถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้เราค้นพบตัวเอง
ฟอร์มูลา : ที่ว่าค้นพบตัวเองคืออะไร ?
ทัศไนย : เราค้นพบตัวเองว่าเราจะเป็นนักออกแบบรถยนต์คนแรกของไทย เราจะสร้างรถสปอร์ทคันแรกของประเทศไทย ให้ได้ในอนาคต เรามีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอนแล้วตั้งแต่อายุ 13 ปี
ฟอร์มูลา : ในช่วงนั้นมีนักออกแบบรถยนต์ในเมืองไทยแล้วหรือยัง ?
ทัศไนย : เมื่อ 27 ปีที่แล้ว บ้านเมืองเรายังล้าหลังอยู่มาก รถยนต์ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีราคาแพง จึงเป็นไปไม่ได้ที่เมืองไทยจะมีนักออกแบบรถยนต์ เพราะบ้านเราไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ ผมได้มีโอกาสอ่านนิตยสารรถยนต์ต่าง ๆ จึงทราบว่าในต่างประเทศเขามีอาชีพนี้ เราจึงอยากเป็นบ้าง เป็นความฝันของเด็กไทยคนหนึ่งซึ่งคนทั่วไปอาจมองว่าเป็นความฝันแบบลมๆ แล้งๆ เวลาผ่านไปสักพักคงเลิกบ้าไปเองแต่ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าในเมือฝรั่งทำได้ แล้วทำไมคนไทยจะทำไม่ได้
ฟอร์มูลา : คุณไปเรียนที่ไหน ในเมื่อเมืองไทยตอนนั้นยังไม่มีการสอนด้านนี้ ?
ทัศไนย : ไปเรียนที่คณะครุศาสตร์ ภาควิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคณะนั้นจะเรียนศิลปะทุกแขนง ที่จะเป็นประโยชน์กับการเรียนด้านออกแบบรถยนต์ในอนาคต ซึ่งเราก็ได้ศึกษามาแล้วว่า โรงเรียนสอนออกแบบรถยนต์ที่ดีและมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกก็คือ ART CENTER COLLEGE OF DESIGN ที่สหรัฐอเมริกา เราจะต้องไปเรียนให้ได้
เมื่อเรียนจบที่ จุฬา ฯ ก็ทำสาระนิพนธ์ เรื่องการออกแบบรถยนต์เป็นครั้งแรก และได้แสดงผลงานที่ เซนทรัล ลาดพร้าว ทำให้มีนิตยสารรถยนต์หลายฉบับมาสัมภาษณ์ และชวนให้เป็นคอลัมนิสต์ด้านรถยนต์ในเวลาต่อมา เมื่อเรียนจบก็ได้งานทันที เกี่ยวกับการแปลงรถกระบะให้เป็นสเตชันแวกอน และต่อมาได้เปิดอู่เล็กๆ ต่อรถเองที่บ้าน ทำได้ 2 ปี ได้รถต้นแบบสเตชัน แวกอน 1 คัน ตามที่ตั้งใจไว้ แล้วก็ปิดอู่ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เข้าเรียนครั้งแรกที่ UCLA EXTENSION ในหลักสูตร COMPUTER GRAPHICS ANIMATION ซึ่งในขณะนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นในโลก หลักสูตร 1 ปี หลังจากนั้นอีก 6 เดือน ก็ไปสมัครเรียนด้านออกแบบรถยนต์ ตามฝันที่ ART CENTER COLLEGE OF DESIGN ควบคู่กันไป ซึ่งหลักสูตรนี้ใช้เวลา 1 ปี รวมเบ็ดเสร็จเรียน 2 ที่ ใช้เวลา 2 ปี
ตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ถือว่าได้ประสบการณ์ชีวิตมากมายจากการทำงานพิเศษ เช่นเป็นเด็กรับจอดรถที่ร้านอาหาร ทำให้ได้ขับรถเกือบทุกยี่ห้อ ประสบการณ์ตรงนี้ จึงได้ใช้ในการเป็นนักเขียนคอลัมน์รถยนต์ในเวลาต่อมา
ฟอร์มูลา : หลังจากจบกลับมาเมืองไทย คุณคิดทำอย่างไรต่อไปบ้าง ?
ทัศไนย : เมื่อกลับมา งานด้านรถยนต์ยังไม่มีแน่นอน จึงทำงานด้านกราฟิคดีไซจ์น พร้อมกับสานฝันในการสร้างรถสปอร์ทต้นแบบที่ตั้งใจไว้ โดยเงินเดือนที่ได้จากการทำงานก็จ่ายสำหรับโครงการนี้ทั้งหมด ใช้เวลาสร้างอยู่ 8 ปี หมดเงินไป 2.5 ล้านบาท ลองผิดลองถูก โดนหลอกโดนโกงสารพัด ผ่านนรกมาหลายขุม เคยนึกท้อไปหลายที แต่ก็ไม่ยอมล้มเลิก และในที่สุดความฝันข้อแรกก็เป็นจริง ในปี 2541 รถสปอร์ทถูกสร้างขึ้นตามจินตนาการที่เราฝันเอาไว้ อาจจะไม่สมบูรณ์ 100 % แต่ก็เป็นที่น่าพอใจ สื่อมวลชนต่างๆ ทั้ง นิตยสาร โทรทัศน์ เข้ามาสัมภาษณ์อย่างมากมาย และรถได้ถูกเปิดตัวในงาน บางกอกมอเตอร์โชว์ ที่ไบเทค
หลังจากนั้น ทำให้เราเป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบรถยนต์คนแรกของไทย และได้รับการติดต่อจากบริษัทรถยนต์ในเมืองไทย ให้ออกแบบรถรุ่นพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น เริ่มจาก นิสสัน เอนวี/ซูซูกิ วีทารา/นิสสัน ฟรอนเทียร์/นิสสัน เซฟีโร/นิสสัน ซันนี/มิตซูบิชิ จี-แวกอน และ มิตซูบิชิ สตราดา เป็นต้น ชิ้นส่วนทั้งหมดจะต้องผ่านการทดสอบคุณภาพอย่างเข้มข้น หนักหน่วงระดับโลก กว่าเราจะผ่านด่านนี้ได้ก็ถือว่าได้ลงนรกเป็นครั้งที่ 2 แต่มันก็สามารถสร้างฝันข้อที่สองของเราให้เป็นจริงขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์
ฟอร์มูลา : คุณมองว่าวิชาการออกแบบรถยนต์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ?
ทัศไนย : ดีนะ เพราะปัจจุบัน บริษัทรถยนต์เริ่มเข้ามาทำการผลิตในประเทศไทยมากขึ้นก็ควรที่จะมีบุคลากรรองรับในส่วนนี้ให้เพียงพอ
ฟอร์มูลา : คิดว่าหลักสูตรในปัจจุบันควรมีข้อแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ?
ทัศไนย : ปัญหาของนักออกแบบนั้นไม่ใช่เป็นเพราะหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาในเรื่องของนักศึกษาด้วย ตัวอย่างที่นักศึกษาควรแก้ไขคือ คนที่มาเรียนด้านนี้ต้องชอบจริงๆหลักสูตรควรจะเน้นไปที่วิชาการออกแบบรถยนต์เพียงอย่างเดียว ต้องมีเงินลงทุนในการเรียนสูงเนื่องจากอุปกรณ์การเรียนค่อนข้างแพงกว่าการเรียนศิลปะด้านอื่นๆ น่าจะหาผู้สนับสนุน
การเรียนการสอนควรให้นักศึกษาได้เห็นของจริง มีการทำ เวิร์คชอพ ได้เรียนรู้อย่างถูกวิธี ตั้งแต่การปั้น วาด นั่นคืออาจารย์ที่สอนจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานจริง ซึ่งในเมืองไทยบุคลากรด้านนี้มีน้อย เนื่องจากยังไม่มีวิชาออกแบบรถยนต์โดยตรง
อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อจบมาแล้วไม่มีโอกาสได้ทำงานในบริษัทรถยนต์ เพราะเมืองไทยไม่ใช่ศูนย์ออกแบบ ที่ทำกันอยู่คือการดีไซจ์นอุปกรณ์ตกแต่งเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการออกแบบรถทั้งคัน แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้น ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อถึงระดับหนึ่งบุคลากรเหล่านี้ก็จะก้าวไปสู่ระดับโลกได้ในที่สุด
ฟอร์มูลา : รถในฝันของคุณคือรถอะไร ?
ทัศไนย : รถที่ทำออกมาแล้วสวย ถูกใจทุกคน เห็นแล้วต้องหยุดดู การออกแบบ คือ การสร้างสรรค์รูปทรงที่ถูกต้องตามหลักเทคโนโลยี ความสวยงาม ความเหมาะสม กลมกลืนการจัดองค์ประกอบบ่งบอกรสนิยมของคนออกแบบ
ฟอร์มูลา : ปัจจุบันคุณใช้รถยี่ห้ออะไร ?
ทัศไนย : เมร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอลเค เปิดประทุนได้ ซึ่งมีความคลาสสิค ผมดูตั้งแต่เป็นรถต้นแบบเห็นแล้วคิดว่าเราน่าจะซื้อมาใช้ได้ เพราะราคาไม่สูงมากนัก รถรุ่นนี้เป็นรถหลังคาเหล็กที่สามารถเปิดประทุนได้เป็นแบบแรกของโลก
6 รถยอดดีไซจ์น (หน้า 11-12)
ในสายตา 4 นักออกแบบไทย
ไหนๆ ก็คุยกันเรื่องออกแบบรถยนต์มายืดยาวแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเที่ยว เราเลยให้นักออกแบบหนุ่มทั้ง 4 คน โหวทเลือกรถที่เป็นสุดยอดดีไซจ์นในสายตาของพวกเขา ซึ่งได้แก่ 6 คันต่อไปนี้
นิสสัน เทอานา (NISSAN TEANA)
นิสสัน เทอานา เครื่องยนต์ วี 6 สูบ ขนาด 2.3 ลิตร 173 แรงม้า พร้อมด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะโดดเด่นในเรื่องของการออกแบบทั้งภายนอก/ใน ซึ่งสะท้อนรสนิยมออกไปทางยุโรป
ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด (LAMBORGHINI GALLARDO)
ลัมโบกินี กัลญาร์โด คูเป เครื่องยนต์ วี 10 สูบ 40 วาล์ว 500 แรงม้า พร้อมด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบถาวร เป็นรถสปอร์ทที่ยังคงเอกลักษณ์ของ "กระทิงดุ" ไว้อย่างลงตัว
เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ E-CLASS)
เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ เป็นซีดานระดับหรูมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้หลากหลาย ทั้งเบนซิน และเทอร์โบดีเซล ที่ถูกออกแบบได้ภูมิฐาน
โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ (TOYOTA FORTUNER)
โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ รถพิคอัพดัดแปลง ขนาดเครื่องยนต์ เบนซิน 2.7 ลิตร และดีเซล 3.0 ลิตร เป็นรถใหม่ซึ่งถูกออกแบบได้ดีมาก สำหรับรถพิคอัพดัดแปลงที่ให้ความรู้สึกเหมือนรถ เอสยูวี
มิตซูบิชิ สเปศ แวกอน (MITSUBIHSI SPACE WAGON)
มิตซูบิชิ สเปศ แวกอน เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร MIVEC ออกแบบหรูหรา สง่างาม เน้นความสะดวกสบาย และเป็นรถแบบ เอมพีวี ที่ประกอบในประเทศ จึงทำให้มีราคาถูกที่สุดในบรรดารถคู่แข่งที่ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาด้วยราคาเกิน 2 ล้านบาท
โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ (VOLKSWAGEN CARAVELLE)
โฟลค์สวาเกน คาราเวลล์ ใหม่ เครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2.5 และ 3.0 ลิตร ให้ความประหยัด และกว้างขวาง นั่งได้ถึง 11 ที่นั่ง นับว่าเป็นรถตู้ที่ให้ความภูมิฐาน และสะดวกสบายที่สุดในบรรดารถแบบเดียวกัน
นักออกแบบ "THAI YOUNG"
ความหวังใหม่ของวงการ
การประกวดออกแบบยานยนต์ "THAI YOUNG AUTOMOTIVE DESIGNER AWARD" ที่บริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงาน "มหกรรมยานยนต์" ริเริ่มจัดกันตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน นับเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาในสถาบันที่มีการเรียนการสอนด้านออกแบบยานยนต์ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และผลงานของตนอย่างเป็นรูปแบบ รวมทั้งกลายเป็นบันไดขั้นแรกของนักออกแบบหน้าใหม่ ในการก้าวเข้าสู่วงการด้วยความมั่นใจ และนี่คือ 5 หนุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการประกวดออกแบบยานยนต์ครั้งที่ 5 (5 thTHAI YOUNG AUTOMOTIVE DESIGNER AWARD 2004) ในงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 21" ที่ผ่านมา แน่นอน พวกเขาคือความหวังใหม่ของวงการนักออกแบบยานยนต์ไทย
อัฐชัย แก้วสุข/คฑา อุปมา
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
รางวัลชนะเลิศ
"ผลงานที่ได้รับรางวัลมีชื่อว่า AFO CAR ซึ่งย่อมาจาก ออลล์ ฟอร์ วัน คาร์ (ALL FOR ONE CAR) โดยได้ความคิดที่ว่า อยากจะได้รถที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เหมือนใคร ซึ่งพอปรึกษาหารือกับผู้ร่วมงานแล้ว ก็เริ่มสเกทช์ภาพ แล้วค่อยสร้างแบบ ซึ่งกว่าจะทำออกมาเสร็จสมบูรณ์นั้นต้องผ่านปัญหาต่างๆ มากมาย ต้องแก้ไขตลอดเวลา บอกได้คำเดียวว่าเหนื่อยมาก แต่ก็ภูมิใจกับผลงานที่ได้
ในปีหน้าก็คงจะส่งผลงานเข้าร่วมประกวดอีกครั้ง เพราะเป็นปีสุดท้ายแล้ว แต่ก็ไม่คาดหวังอะไรเป็นพิเศษ ขอแค่มีชื่อเข้าร่วมประกวดก็ดีใจแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณโครงการดีๆ อย่างโครงการออกแบบยานยนต์ ที่เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และคิดว่าโครงการนี้เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะพาเราก้าวไปถึงดวงดาว
อยากจะฝากถึงคนที่สนใจว่า อย่าทิ้งโอกาส คนเราต้องแสวงหา ไม่ใช่รอโอกาสเข้ามาหาเรา และเมื่อมีโอกาสแล้วก็อย่าปล่อยให้หลุดลอยไป"
กิตติเศรษฐ์ เก่งการค้า/พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รางวัลอันดับ 2
"พวกเราก็เหมือนกันกับคนอื่นๆ คือเป็นคนที่ชื่นชอบรถยนต์อยู่แล้ว จึงเกิดความคิดที่จะลองออกแบบรถยนต์ดูบ้าง และเมื่อได้รับรางวัลที่ 2 ก็รู้สึกดีใจมาก ยอมรับว่าเกินความคาดหมาย เพราะตนเองก็ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง เพราะทางมหาวิทยาลัยไม่มีคณะออกแบบรถยนต์ แค่มีความรู้ขั้นพื้นฐานด้านรถยนต์น้อยมาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี
ผลงานที่ได้รับรางวัลมีชื่อว่า ฟอร์ด โฟคัส ไลฟ์ (FORD FOCUS LIVE) โดยมีความคิดที่ว่าอยากจะได้รถที่มีชีวิต จึงลองสเกทช์ภาพคร่าวๆ ออกมาก่อน แล้วจึงค่อยลงมือทำ ซึ่งกว่าจะเสร็จสมบูรณ์นั้น ใช้เวลานานเกือบ 1 เดือนครึ่ง ค่าใช้จ่ายประมาณ 5-6 พันบาท แต่ได้รับการสนับสนุนค่าจัดทำโมเดลจากผู้จัด ในเรื่องของอู่สี จึงทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายไปในส่วนหนึ่ง และงานออกมาสวยงามอย่างที่เห็น
ในปีหน้าก็จะเข้าร่วมประกวดอีกครั้ง และจะทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลการประกวดจะออกมาอย่างไรก็ตาม พอสำเร็จการศึกษาแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำงานด้านออกแบบรถยนต์ แต่ในประเทศไทยงานด้านนี้ยังมีน้อย และเราก็ยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มากนัก ก็อาจจะหางานเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์แทนเพราะอย่างน้อยก็ยังเรียนมาทางด้านนี้
สำหรับคนที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องเรียนมาด้านนี้โดยตรงก็ได้ ของอย่างนี้มันอยู่ที่ใจ ถ้าคนเรามีใจรักชอบที่จะทำ ก็ลงมือเลย อย่างน้อยได้ประสบการณ์ใหม่ๆ อีกรูปแบบหนึ่ง"
ขจรยุทธ หิรัญหลาด
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
รางวัลอันดับ 3
"ผมเป็นคนชอบของเล่นอยู่แล้ว แต่จะหนักไปทางของเล่นประเภทรถยนต์ และพอได้เข้ามาศึกษาในคณะออกแบบรถยนต์ ก็เกิดความสนใจที่อยากจะลองออกแบบรถยนต์ดูบ้าง และก็โชคดีด้วยที่โครงการนี้ เปิดโอกาสให้ส่งผลงานเข้าประกวด เลยตัดสินใจส่งผลงาน
ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับรางวัลเพราะเพิ่งจะเคยลองทำเป็นครั้งแรก อีกทั้งตอนนี้ก็ยังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 ในหลักสูตรวิชาเรียนก็ยังไม่เจาะจงมากนัก จะหนักไปในปีที่ 4 แต่เมื่อมีโอกาสและคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ดีก็เลยส่งเข้าประกวด
ผลงานที่ส่งประกวด จากโจทย์ที่ว่า รถยนต์ที่เหนือการคาดหมาย ซึ่งพอได้มาก็เริ่มคิดทันทีว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ซึ่งก็มาจบตรงที่จะต้องเป็นรถที่สามารถวิ่งได้ทั้ง 2 ด้าน ก็เลยลองสเกทช์ภาพออกมา ปรากฏว่าภาพออกมาแล้วมันสามารถที่จะแยกร่างได้ และก็ตรงกับโจทย์ที่ว่า เป็นรถยนต์ที่เหนือการคาดหมายจึงออกมาอย่างที่เห็น
ในปีหน้า คาดว่าจะส่งเข้าประกวดอีก เพราะในหลักสูตรวิชาเรียนก็จะเริ่มสอนแล้ว ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบมากขึ้น จะนำมาพัฒนากับความรู้เดิม แต่ครั้งหน้าอาจจะต้องหาเพื่อนร่วมทำด้วย เพราะครั้งนี้ทำคนเดียวทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คิดเอง สร้างเอง พ่นสีเอง ลำบากมาก เหนื่อยมาก แต่ก็ภูมิใจที่ได้รับรางวัล"
เบื้องหลัง
นักออกแบบรุ่นใหม่
ขณะนี้บ้านเรามีสถาบันการศึกษาที่สอนด้านการออกแบบยานยนต์อยู่ 2 แห่ง คือมหาวิทยาลัยศิลปากร และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังถูกบรรจุวิชาออกแบบยานยนต์ไว้ในหลักสูตรของภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ผลิตนักศึกษาออกไป เป็นมืออาชีพในวงการแล้วหลายรุ่น โดยฝีมือของอาจารย์ 2 ท่าน เป็นผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง
โกศล สุวรรณกูฏ
อาจารย์ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อาจารย์ โกศล สำเร็จการศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบังคณะศิลปะอุตสาหกรรม เมื่อปี 2518 หลังจากนั้นในปี 2519 ก็ออกมาทำงาน พาร์ทไทม์ออกแบบผลิตภัณฑ์ และในขณะเดียวกันก็สอนหนังสือที่เทคนิคโคราชไปด้วยและย้ายมาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปกร คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์
"ตอนนี้คณะออกแบบรถยนต์ของมหาวิทยาลัย ยังไม่มี จะมีก็แต่ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และวิชาเลือกออกแบบรถยนต์ แต่จะต้องเลือกเรียนเมื่ออยู่ปี 4 เท่านั้น
ส่วนคณะออกแบบรถยนต์ ตอนนี้อยู่ในขั้นดำเนินการ แล้วถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าน่าจะรู้เรื่องเร็วๆ นี้ แต่อาจจะไปเปิดที่มหาวิทยาลัยศิลปกรวิทยาเขตเพชรบุรี
ที่ผ่านมาหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาออกแบบรถยนต์ ไม่สามารถรองรับการออกแบบรถยนต์ทั้งคันได้เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเข้าใจขั้นพื้นฐานของรถยนต์ทั้งหมด ไม่ใช่รู้เพียงว่าส่วนประกอบชิ้นใดทำงานอย่างไร แต่ถ้าจะออกแบบส่วนประกอบภายนอก หรืออุปกรณ์บางอย่าง สามารถทำได้ และทำได้ดีด้วย
เป้าหมายที่ตั้งไว้ คืออยากเห็นเด็กไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับการออกแบบรถยนต์จริงๆ ไม่ใช่แค่ผิวเผินเหมือนกับรถ โตโยตา โซลูนา ที่ออกแบบโดยคนไทย และคนไทยเป็นผู้ผลิต แต่ถามจริงๆ ว่าคนไทยมีส่วนร่วมกี่เปอร์เซนต์ ถ้าเป็นจริงได้ก็อยากจะเห็นเด็กไทยออกแบบยานพาหนะให้ครบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก แต่ทางอากาศไม่ได้ฝันถึงจะออกเครื่องบินทั้งลำขอแค่มีส่วนออกแบบห้องน้ำเครื่องบินก็ดีใจแล้ว
มาตรฐานความสามารถของนักออกแบบไทยกับนักออกแบบเมืองนอก ถ้าเป็นเรื่องฝีมือ นักออกแบบไทยไม่เป็นรองใคร และอาจดีกว่าด้วยซ้ำ แต่เขาได้เปรียบเรื่องภาษา การติดต่อสื่อสารดีกว่า เครื่องไม้เครื่องมือก็ดีกว่าทำให้เขาพัฒนาได้รวดเร็ว และดูเหมือนมีมาตรฐานกว่า
การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น ต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น คนเราก่อนแต่งงานก็จะใช้รถเก๋ง แต่พอแต่งงานมีลูก พฤติกรรมก็เปลี่ยนไป หันมาใช้รถอเนกประสงค์แทน ดังนั้น หน้าที่ของนักออกแบบจึงต้องคิดตลอดเวลา"
"การประกวดออกแบบยานยนต์ นักศึกษาให้ความสนใจกันมาก แต่ในความเห็นส่วนตัวไม่อยากให้เป็นการประกวด เพราะดูเหมือนจะเป็นการแข่งขันกัน อยากให้เป็นการแสดงความสามารถในการออกแบบมากกว่า"
คงเดช หุ่นผดุงรัตน์
อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อาจารย์คงเดช สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มานานกว่า 30 ปี
"ตอนนี้ทางสถาบันยังไม่มีคณะออกแบบรถยนต์ มีแต่หลักสูตรการออกแบบรถยนต์ซึ่งจะถูกบรรจุในภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และจะเรียนกันตอนปี 4 โดยที่นักศึกษาจะเริ่มมีโอกาสได้สัมผัสกับการออกแบบรถยนต์ รวมทั้งสร้างแบบจำลองก็ตอนนี้เอง"
ถามว่าถ้าจะนำหลักสูตรการเรียนการสอนของต่างประเทศมาใช้ทั้งหมดได้หรือไม่ ? โดยความเห็นส่วนตัวของอาจารย์แล้วคิดว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกันยกตัวอย่างเช่น เมืองไทยเป็นเมืองร้อนแต่กลับสร้างบ้านตามสไตล์ของต่างประเทศทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเกือบทุกหลังต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แต่วัดกับโบถส์ไม่จำเป็นต้องติดแอร์ก็เย็นสบาย "ไม่มีใครรู้จักคนไทยเท่าคนไทยด้วยกัน ดังนั้นการนำหลักสูตรต่างประเทศ นำมาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรไทยอย่างนี้ ผมเห็นด้วย แต่ถ้านำมาใช้ทั้งหมดไม่เห็นด้วยแน่"
"การเป็นนักออกแบบที่ดีนั้น ต้องมีพื้นฐานของวิชาศิลปะ และวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปจะมีเพียงอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เพราะการมีพื้นฐานของวิชาศิลปะทำให้วาดรูปลายเส้นสวยงาม รู้จักสีและแสงเงา ส่วนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ ทำให้คำนวณอัตราส่วน และส่วนประกอบต่างๆได้อย่างถูกต้อง"
"อนาคตของนักออกแบบไทย คาดว่ามีงานรองรับเรื่อยๆ เพราะไม่ใช่แค่ออกแบบภายในประเทศเท่านั้น แต่งานประเภทนี้ ต่างประเทศยังต้องการอีกมาก เพราะต่างประเทศนั้นเป็นเมืองอุตสาหกรรมจึงต้องแข่งขันกันตลอดเวลา"
"ปัญหาของนักออกแบบไทยในขณะนี้ผมมองว่า อยู่ตรงพื้นฐานการสอนของอาจารย์เพราะอาจารย์บางท่านพื้นฐานการออกแบบรถยนต์ยังไม่ดีพอ และพอนำมาสอนจึงทำให้นักศึกษาไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้เด็กไทยใช้ความสามารถได้อย่างไม่เต็มที่ และพัฒนาได้ช้า"
อยากให้ภาครัฐ เข้ามาสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ เหมือนประเทศสิงคโปร์ที่สนับสนุนวงการออกแบบผลิตภัณฑ์กันอย่างเต็มที่ เช่น ต้นทุนในการออกแบบ 100 บาท ทางรัฐบาลช่วยสนับสนุน 75 บาท เพราะทางรัฐบาลสิงคโปร์มองว่าการออกแบบและผลิตขึ้นมา สามารถส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้"
"เป้าหมายหลักที่อาจารย์คงเดช ตั้งไว้คือ อยากเห็นเด็กไทยคิดเองเป็น เช่น คนไทยสามารถออกแบบรถยนต์เองได้ทั้งค้น แต่ทำไมถึงต้องไปเอาเครื่องยนต์เขามาใช้ ไม่ออกแบบเอง เพราะเชื่อว่าเด็กไทยมีความสามารถพอที่จะทำได้ น่าจะลองคิดเองบ้าง"
"ผลงานออกแบบของตนเองที่ประทับใจที่สุดเห็นจะเป็น เครื่องออกสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะสามารถทำออกมาแล้วใช้ได้จริง และใช้กันทั้งประเทศ ส่วนการออกแบบที่ยากที่สุดคิดว่าเป็นรถจักรยานยนต์ ไม่ใช่รถยนต์อย่างที่หลายๆ คนคิด เพราะรถจักรยานยนต์นั้นต้องออกแบบชิ้นส่วนปกปิดเครื่องยนต์ ไม่ใช่เรื่องง่าย และกลไกการทำงานที่มองว่าไม่ซับซ้อน แต่ที่จริงต้องออกแบบอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่สวยแปลกอย่างเดียว ต้องใช้งานได้ด้วย"
"การประกวดออกแบบยานยนต์ครั้งที่ 5 นักศึกษาให้ความสนใจกันมากส่งผลงานเข้าประกวดกันมากมาย มีทั้งได้รับรางวัล และพลาดรางวัล แต่ก็ถือว่าได้รับประสบการณ์ที่ดี โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าโครงการนี้ให้ประโยชน์มาก และการจัดปีละครั้งถือว่าไม่หนักกับนักศึกษาจนเกินไป"
โอกาสนักออกแบบไทย
ในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
บริษัท GRP. HIGHTECH (9999) จำกัด
GRP เป็นบริษัท ออกแบบอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์
อัศวิน อานามนารถ รองกรรมการผู้จัดการ ให้สัมภาษณ์ว่า
ฟอร์มูลา : บริษัทคุณทำอะไร และก้าวขึ้นมาถึงจุดใดแล้ว ?
อัศวิน : ขอเล่าประวัติความเป็นมาย่อๆของบริษัทแล้วให้ท่านช่วยตัดสินใจให้ด้วยว่าก้าวมาถึงจุดใดแล้ว บริษัท GRP. เริ่มต้นจากคุณพ่อซึ่งเรียนจบมาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ และได้เริ่มทำงานด้านรถยนต์กับบริษัท ATP. ในเครือยนตรกิจ ตั้งแต่ปี 2518 เป็นทีมงานทำ จิก (JIG) ประกอบรถยนต์ยี่ห้อ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 และ 3/เปอโฌต์ 504/ลันชา และ ซีตรอง จากนั้นจึงย้ายมาควบคุมการผลิตกระจกรถยนต์ของบริษัท ATP. และขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายผลิต ได้ยุติการเป็นพนักงานของบริษัท ATP. ในปี 2526 ซึ่งคุณพ่อก็ได้ขอกราบขอบพระคุณบริษัท ATP. ในเครือยนตรกิจ ที่ได้ชุบเลี้ยงสั่งสอนท่านมาเหมือนพ่อสอนลูก ทำให้เกิด GRP. มาจนถึงทุกวันนี้ จากนั้นท่านได้เข้าทำงาน และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตจาก FRP. (ไฟเบอร์กลาสส์) จากบริษัท COBRA ซึ่งก็ต้องขอกราบขอบพระคุณบริษัท คอบรา ที่สั่งสอนท่านมาตลอดระยะเวลา 3 ปีเต็ม พอถึงปี 2529 จึงเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยได้รับความสนับสนุนจากผู้มีพระคุณที่ไม่อาจลืมเลือน คือ บริษัทยนตรกิจ และบริษัท คอบรา จากคนงานเพียงแค่ 2 คน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ 150 คน จากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ขยายสู่ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนแอร์ และรถกอล์ฟ
ปัจจุบันเปิดแผนก R&D ปรับจาก SECOND TIER มาเป็น FIRST TIER และรับงาน TURN KEY โดยมีมาตรฐาน ISO 9001:2000 จาก TUV RHEINLAND THAILAND CO.,LTD.พร้อมทั้งสร้างสินค้าเป็นของตัวเอง โดยเริ่มทำการตลาดเชิงรุกในปี 2548
ฟอร์มูลา : เป้าหมายของบริษัทคืออะไร ?
อัศวิน : 1. ปรับปรุงศักยภาพของตัวเองให้พร้อม อาศัยการยืดหยุ่น และเข้าสู่โลกของการแข่งขันโดยอาศัยวัตถุดิบในการผลิตที่ตัวเองมีศักยภาพ ผสมผสานเป็นความเหมาะสมให้แก่ลูกค้า
2. เป็นทางเลือกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีความเหมาะสมระหว่าง จำนวนการผลิตต่ำกับจำนวนการผลิตสูง นั่นคือระบบ "PLASTIC VACUUM FORMING" แบบผสมผสานอย่างพอเพียงให้เหมาะต่อการแข่งขันทั้งเรื่องของเวลา-ราคา
3. เริ่มทำการตลาดเชิงรุก
4. ผลิตสินค้าโดยใช้แบรนด์ของตัวเองเข้าแข่งขันให้มีสัดส่วนในตลาด
5. ให้บริษัทได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ภายในประเทศ
ฟอร์มูลา : ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับต่างประเทศ เรื่องของฝีมือในการออกแบบ อุปกรณ์ตกแต่งรถ เป็นอย่างไร ?
อัศวิน : ถ้าเปรียบเทียบเรื่องฝีมือ นับว่าใกล้เคียงกัน แต่โอกาสของบ้านเรามีน้อยกว่า โดยเฉพาะแอสเซสเซอรี จำเป็นต้องมีผลงานต่อเนื่องไม่ขาดช่วง เพราะแฟคเตอร์ในการออกแบบจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลทั้งในอดีต-ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งของเขา และของเรามาประมวลกัน ให้ออกมาเป็นผลงาน จึงถือโอกาสนี้ขอแรงสนับสนุนจากบริษัทรถยนต์ ขอได้ให้โอกาสแก่พวกเราด้วย
ฟอร์มูลา : นโยบายของบริษัทเป็นอย่างไร ?
อัศวิน : นโยบายที่หนึ่งของบริษัท คือ ทำให้เกิดศักยภาพที่สมบูรณ์ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบครบวงจร โดยมีความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และมีวัสดุในการผลิตให้ลูกค้าได้เลือก เช่น ไฟเบอร์กลาสส์ หรือการผสมผสานกันด้วย ไฟเบอร์กลาสส์ กับพลาสติค โลหะ
ขอขยายความคำว่า "ครบวงจร" คือ เริ่มตั้งแต่ DESIGN, MOCK UP, PROTOTYPE, MOLD&TOOLING, PRODUCTION, ASSEMBLY ซึ่งทาง GRP. ถือว่าเป็นจุดขายของบริษัทที่สามารถทำได้ทั้งหมด
นโยบายที่สอง คืออาศัยศักยภาพที่มีอยู่ทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองเพื่อให้มีส่วนแบ่งในการตลาดโดยเป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่ง ซึ่งนโยบายทุกอย่างทำให้ GRP. ต้องเตรียมความพร้อมเป็นเวลาประมาณเกือบ 2 ปี เพื่อปรับปรุงสถานที่ บุคลากร และระบบ ISO
นโยบายที่สาม คือ เมื่อสถานที่ บุคลากร และระบบความพร้อม ให้ทำการตลาดเชิงรุกทันทีในปี 2548 กล่าวคือที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง GRP ไม่เคยมีนโยบายการตลาดเชิงรุกเลย คือพูดได้ 100 % เลยว่ายังไม่เคยออกไปหางานในรูปของการตลาดเลย ที่ผ่านมารับงานจากการติดต่อเข้ามาจากภายนอกทั้งสิ้น
ฟอร์มูลา : นโยบายในการสร้างสินค้าของบริษัทเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
อัศวิน : เกิดขึ้นจากบทเรียนในการทำธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และความพร้อมของบริษัท บทเรียน คือ การเป็นผู้รับจ้างผลิตทั้งหมด ปริมาณงานที่เข้ามายากแก่การควบคุม และการจัดไลน์ ทำให้การยืดหยุ่นในการปฏิบัติน้อย ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ และแต่ละบริษัทเองก็ขยายศักยภาพมากขึ้น ทางบริษัทจึงจำเป็นที่จะต้องปรับสภาพเพื่อเข้าสู่สนามการแข่งขัน โดยการสร้างสินค้าที่ทางบริษัทมีศักยภาพ เพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ประกอบกับความพร้อมของบริษัทที่สมบูรณ์เต็มที่ด้วย
ฟอร์มูลา : ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ นักออกแบบไทยมีบทบาทมากน้อยเพียงใด ?
อัศวิน : การออกแบบอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเรา นักออกแบบรถยนต์ที่เป็นคนไทยและทำงานเกี่ยวกับการออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์โดยตรง มีน้อยมาก ทั้งที่ความต้องการมีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์ให้มีสไตล์ สมบูรณ์ และสอดคล้องกับขบวนการต่อไป เช่นทำ MOCK UP, MODEL, MOLD และ MASS จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นักออกแบบที่มีประสบการณ์ในการมองให้ทะลุปรุโปร่งไปข้างหน้า
ฟอร์มูลา : โอกาสของนักออกแบบรถยนต์ไทยที่จะได้รับการยอมรับจากบริษัทรถยนต์ในไทยมีมากน้อยแค่ไหน ?
อัศวิน : คิดว่าโอกาสของนักออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ที่จะได้รับการยอมรับจากบริษัทรถยนต์ในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ แม้แต่ในต่างประเทศก็มีความต้องการ และเป็นที่ยอมรับของบริษัทแม่ที่ผลิตรถยนต์จำหน่ายในบ้านเรา เพราะความเป็นคนไทย มีมุมมองที่สอดคล้องกับรสนิยมในแถบเอเชีย และจากผลงานทำให้เป็นที่ยอมรับของบริษัทรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศผมจึงคิดว่าโอกาสที่จะได้รับการยอมรับของนักออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยมีมากโดยเฉพาะหากได้รับการสนับสนุนจากบริษัทรถยนต์และจากองค์กรของรัฐ และเชื่อมั่นว่ามีนักออกแบบมือฉกาจของไทย รอโอกาสที่จะสำแดงพลังในการดีไซจ์นซึ่งสั่งสมไว้เหมือนภูเขาไฟที่รอการปะทุถ้าไม่เชื่อลองให้โอกาสพวกเขา แล้วจะพบความจริง
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่เมื่อเรียนออกแบบรถยนต์มาแล้วต้องทำงานกับบริษัทรถยนต์ ?
อัศวิน : ไม่จำเป็น เพราะการเรียนกับการทำงานไม่เหมือนกัน เช่นการเรียนอาจจะเรียนตำราเล่มเดียวกัน แต่การปฏิบัติ หรือการทำงานมีแฟคเตอร์มากกว่า มีโอกาสและความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องมาก แต่ถ้าเรียนออกแบบรถยนต์ แล้วมีองค์ประกอบครบและได้ทำงานกับบริษัทรถยนต์ก็ถือว่าเป็นกรณีที่สมบูรณ์ที่สุดเพราะอยู่ในสายเดียวกันโดยมีพื้นฐานที่สมบูรณ์แข็งแรง และบนพื้นฐานที่สมบูรณ์ และแข็งแรงก็จะสามารถปลูกสิ่งก่อสร้างได้สูง และแข็งแรงกว่า
บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)
ไทยรุ่ง ฯ เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของคนไทยที่เปิดโอกาสให้ดีไซจ์เนอร์คนไทยได้แสดงฝีมือในการออกแบบรถยนต์ ทีอาร์ ซึ่งมีหลายรุ่น หลายแบบ
วุฒิชัย เผอิญโชค กรรมการบริหาร ให้สัมภาษณ์ว่า
ฟอร์มูลา : ใน ไทยรุ่ง ฯ มีนักออกแบบรถยนต์กี่คน ?
วุฒิชัย : แบ่งเป็น สไตลิง คือทำหน้าที่ขีดเขียน 7-8 คน และเอนจิเนียริง ในการออกแบบ ประมาณ 30 คน รวมกันเป็น R&D แล้ว ก็มีคนทำต้นแบบอีกประมาณ 20 คน
ฟอร์มูลา : มีแผนที่จะสร้างสินค้าเป็นแบรด์ของตัวเองหรือไม่อย่างไร ?
วุฒิชัย : ในอนาคต ไทยรุ่ง ฯ ก็น่าจะมีรถยนต์ที่เป็นแบรนด์ของคนไทยเอง เพราะตอนนี้ก็มีประสบการณ์ในเรื่องการออกแบบ และการประกอบมานาน จนรถราคาล้านกว่าบาทแล้ว ที่จริงมันก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำรถอื่นมาแทนที่มอเตอร์ไซค์ อย่าง ไทเกอร์ มอเตอร์ไซค์ ก็ดี เป็นสินค้าของไทยที่น่าภาคภูมิใจ และถ้ารัฐบาลให้โอกาสสินค้าไทยได้เสนอแก่ผู้บริโภค เช่น ใช้รถแบรนด์ไทยเป็นรถราชการ ปรับภาษีแบรนด์ไทยถูกลง ก็น่าจะทำให้สินค้าไทยขายได้มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นรถยนต์ ก็จะน่าภูมิใจมาก เพราะมันเป็นสินค้าที่เคลื่อนที่ได้ เป็น PERSONAL USE ที่ชิ้นใหญ่ที่สุด
ฟอร์มูลา : เมืองไทยมีความพร้อมในด้านการออกแบบมากน้อยแค่ไหน ?
วุฒิชัย : เรื่องของ โนว์ฮาว (KNOW HOW) ผมว่าคนไทยทำได้ เพียงแต่ไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเองดังนั้น สำหรับคนที่เขามีก็ต้องเก็บเป็นความลับของเขาไว้ อย่างรถจักรยานยนต์ที่เราใช้กันก็เป็นสเปคสำหรับบ้านเราโดยเฉพาะ ที่อื่นก็ไม่มี แต่ดีไซจ์น์ต้องจากญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่คนไทยเองก็ดีไซจ์นได้ แต่เขาไม่ยอม ซึ่งนั่นก็คือเขาไม่ให้โนว์ฮาว ผมว่าถ้ารัฐบาลไทยสนับสนุนให้มีแบรนด์รถยนต์เป็นของไทยเอง ก็น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมาก
ฟอร์มูลา : ปัญหาเรื่องการไม่มีผู้สนับสนุน จะสามารถแก้ไขได้อย่างไร ?
วุฒิชัย : ค่อนข้างจะตันมาก เพราะการออกแบบส่วนใหญ่ก็จะแค่ผลิตออกมาเป็นรถโมเดลเป็นรูปแล้วก็จบ ไม่มีการนำไปผลิตต่อ ถ้าไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เราก็ทำอะไรไม่ได้
ฟอร์มูลา : ในฐานะที่เป็นบริษัทรถยนต์ของเมืองไทยที่ออกแบบรถยนต์เองจะเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กที่จบการศึกษาใหม่อย่างไร ?
วุฒิชัย : เรามีการประกวดออกแบบรถยนต์ ซึ่งคิดว่าน่าจะมีต่อไปเรื่อยๆ แล้วในอนาคตคิดว่าอาจจะมีการให้ทุนไปเรียนต่อเมืองนอก แต่กลับมาคุณจะต้องมาสร้างแบรนด์รถยนต์ของคนไทยส่วนการประกวดก็อาจขยายออกไปเป็นการประกวดกับต่างชาติ ทำให้มันดูท้าทายมากขึ้นเพราะมันต้องมีการพัฒนาต่อไป และถ้าแบบที่ประกวดชนะเลิศหรือสามารถผลิตได้จริง ก็แสดงว่าคนๆ นั้นประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และแบบ เพราะจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของแบบนั้นๆ
ฟอร์มูลา : โอกาสของนักออกแบบในเมืองไทยเป็นอย่างไร ?
วุฒิชัย : ถ้าเทียบกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ในอดีตเรายังต้องลอกเลียนของคนอื่นแต่ปัจจุบัน เราก็สามารถออกแบบเองได้ และอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกด้วย รถยนต์เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สูงที่สุด ดังนั้นในอนาคตเราก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นนักออกแบบไทยออกแบบรถยนต์สำหรับขายในเมืองไทยมากขึ้น อีกอย่างรถยนต์เองก็ไม่สามารถเป็นโกลบอล์ คาร์ ได้ ดูจากรถบางยี่ห้อต้องมาเปลี่ยนไฟหน้าบ้าง กระจังหน้าบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับบ้านเรา ดังนั้นในอนาคตนักออกแบบไทยก็น่าจะมีศักยภาพพอที่จะมีดีไซจ์นของตัวเอง
โอกาสที่นักศึกษาจะก้าวขึ้นมาเป็นนักออกแบบ มี 2 ทาง คือ เข้าไปทำกับบริษัทต่างประเทศ ที่เข้ามี R&D อยู่ทางแถบบ้านเรา โอกาสที่ 2 คือ เข้าไปอยู่กับบริษัทคนไทย เช่น บริษัทต่อเติมตัวถัง ทำรถขยะ ตู้คอนเทเนอร์ รถทัวร์ รถมีนีบัส ฯลฯ เข้าไปพัฒนาสินค้าพวกนี้ก็ได้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปทำรถทั้งคัน เพียงแค่ดีไซจ์นส่วนใดส่วนหนึ่งของรถก็ได้ อีกอย่างคือ เด็กส่วนใหญ่อยากที่จะออกแบบรถสปอร์ท 2 ประตู แต่ในความเป็นจริงแล้วรถแบบนี้ในเมืองไทยขายแค่ไม่กี่คันเขาน่าจะคิดออกแบบอย่างอื่นที่มันเป็นความจริงอย่างรถเทรเลอร์ รถหัวลากที่มันเก๋ๆ ใช้งานได้จริงทำแล้วขายได้ การออกแบบ มันต้องมีพื้นฐานทางธุรกิจด้วย เราน่าจะสอนให้เด็กคิดแบบนี้กันให้มากขึ้น
ฟอร์มูลา :หลักสูตรการศึกษาด้านการออกแบบรถยนต์ในปัจจุบันเอื้ออำนวยหรือไม่ ?
วุฒิชัย : ปัจจุบันหลักสูตรนี้เป็นเพียงวิชาเลือก ไม่ใช่วิชาหลักเฉพาะทาง เพราะคงไม่มีบริษัทรถยนต์ไหนที่รับคนจบมาเพื่อจะเฉพาะเจาะจงให้ทำรถอย่างเดียว ถ้าอนาคตตลาดรถยนต์บ้านเราเป็นเฉพาะกลุ่มเฉพาะทางมากขึ้น ผมว่าก็คงมีการแยกการศึกษาออกมาให้เป็นเฉพาะทางมากขึ้นเช่นกันปัจจุบันบางคนไปจบจากเมืองนอก มาถึงจะทำงานตรงนี้ อย่างผมจบวิศวกรรมยานยนต์
ถึงจะไม่ได้เรียนออกแบบโดยตรง แต่ก็เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเฉพาะทางเหมือนกัน
ฟอร์มูลา : คุณจะแนะนำเด็กที่จะเข้ามาเรียนทางด้านการออกแบบรถอย่างไร ?
วุฒิชัย : ถ้าอยากทำก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ว่านอกจากความชอบแล้วต้องดูว่าตลาดรถยนต์ต้องการอะไรกันแน่ ตัวเขาเองก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป และมีความมุ่งมั่น มีใจรัก เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์เยอะๆ ส่วนทางแรกที่จะเข้ามาทำงานในด้านนี้ คือพวกดีไซจ์เนอร์ ต้องเรียนทางด้านออกแบบ พยายามฝึกหัดตัวเองอยู่ตลอด ทางที่สอง คือ เอนจิเนียริง หรือวิศวกรที่เกี่ยวกับด้านออกแบบรถยนต์ พวกนี้ต้องเรียนรู้ที่จะคุยกับผู้ผลิต น่าจะมีการรวมตัวกันของบริษัทเหล่านี้เพื่อทำสถาบันการศึกษา เพราะถ้าไม่มีการสร้างคนขึ้นมา คนเก่าๆ ก็จะค่อยๆ หมดไป
ฟอร์มูลา : โอกาสในกลุ่มของเด็กที่เข้าประกวดออกแบบรถยนต์เป็นอย่างไร ?
วุฒิชัย : เห็นผลงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และมีคนที่สามารถดีไซจ์นรถยนต์ให้เหมาะสมกับบ้านเราได้แน่ๆ ส่วนกลุ่มคนที่สนใจออกแบบรถยนต์ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าบริษัทรถยนต์ที่รองรับเขาได้ สามารถผลิตรถยนต์ทั้งคันได้จริง ก็นอนตายตาหลับ เพราะดีไซจ์เนอร์มันต้องมี 2 วิญญาณ วิญญาณแรกคือต้องเป็นศิลปิน ส่วนวิญญาณที่สองคือต้องขายได้ มันเลยน่าภาคภูมิใจมากๆ การจะออกแบบอะไรสักอย่าง จึงต้องเริ่มจับจากกลุ่มผู้บริโภคก่อน เพื่อให้มันขายได้ จากนั้นจึงค่อยๆ เจาะกลุ่ม เฉพาะลงไปเรื่อยๆ
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ/จิฏวีระ ประทุมมณี/ปรียนันท์ สรรพวัฒน์
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)