บทความ
ตลาดรถพันทาง
รถพันทาง มลพิษต่ำ เกิดขึ้นจากโครงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผู้ผลิตรถยนต์รวมกับภาครัฐเพื่อลดมลพิษในอากาศ ซึ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา และมีการผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นผลิตรถที่มีมลพิษต่ำ อย่างรถประเภทไฮบริด และไฮโดรเจน ส่งเข้าไปจำหน่ายด้วย
โครงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้ตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์แบบปลอดมลพิษให้ได้ก่อนปี 2000 โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ
1. ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. หาพลังงานอื่นมาทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
3. ลดปริมาณการใช้สารซีเอฟซี ที่เป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศของโลก
วิธีหนึ่งที่วิศวกรของค่ายรถยนต์ชั้นแนวหน้าเลือก คือ การพัฒนาและค้นคิดเครื่องยนต์ลูกผสม หรือ ไฮบริด (HYBRID) ที่นำเอาพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำงานรวมกับเครื่องยนต์เบนซินตั้งแต่ขนาด 0.6 ลิตร ไปจนถึง 2.4 ลิตร ในรถยนต์ทั่วไป
สำหรับในประเทศไทย ที่ยังไม่คิดจริงจังกับเรื่อง โครงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม มากนัก ค่ายรถยนต์ต่างๆ จึงรอคอยการตัดสินใจและการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องรถพันทางประเภทที่ใช้เครื่องยนต์ลูกผสม "ไฮบริด"
ครั้งแรกที่คนไทยได้รู้จักกับระบบเครื่องยนต์แบบ "ไฮบริด" คือ เมื่อราว 6 ปีก่อน โตโยต้า ฯ ได้นำเจ้าปรีอุส รุ่นแรกเข้ามาโชว์ตัว และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยได้ทดลองขับ
ในปีถัดมา ฮอนด้า ฯ ได้เปิดตลาดรถพันทางรุ่นแรก ด้วยเจ้า อินไซจ์ท์ รถขนาดเล็ก 2 ที่นั่งที่เป็นรถไฮบริดที่ได้ชื่อว่าประหยัดที่สุด และอีก 2 ปีต่อมา ฮอนด้า ฯ ได้นำ ซีวิค ไฮบริดพร้อมเปลี่ยนรูปแบบจากการจำหน่ายมาเป็นเช่าใช้กำหนด 4 ปี เดือนละ 36,000 บาท ซึ่งมีเพียงหน่วยบางแห่งตอบรับ
ในปีที่แล้ว รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ทำให้อัตราภาษีรถพันทางลดเหลือ 10 % ทำให้บริษัทนำเข้าอิสระ มองเห็นช่องทางกำไรจากส่วนต่างภาษี และเริ่มนำรถไฮบริดทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เข้ามาจำหน่ายเสริมรุ่นที่มีอยู่เดิม
อย่างนี้แล้ว รถพันทางเหล่านี้ เป็นเรื่องของแฟชัน หรือความหวังใหม่ ของตลาดรถยนต์เมืองไทย ?
รถไฮบริดในตลาด
ฮอนดา อินไซจ์ท์
ฮอนดา ออกแบบ อินไซจ์ท์ ให้มีรูปทรงที่ลู่ลมมากที่สุด โดยมีค่าสัมประสิทธิแรงเสียดทานอากาศเพียง 0.25 ซีดี
คอนโซนหน้าตกแต่งด้วยอลูมิเนียม เน้นความทันสมัยสไตล์สปอร์ท มาตรวัดแบบดิจิทอลแสดงข้อมูลทั้ง ความเร็ว รอบเครื่องยนต์ ระดับความสิ้นเปลือง ระดับกระแสไฟในแบทเตอรีและมาตรวัดแสดงการชาร์จและใช้กระแสไฟฟ้า รวมทั้งสัญญาณเตือนเปลี่ยนเกียร์
เบาะนั่งและแผงข้างประตูบุด้วยวัสดุประเภทใยสังเคราะห์ เพื่อลดน้ำหนัก พื้นหลังเบาะคู่หน้าใช้เก็บแบทเตอรี ส่วนบนเหลือไว้เป็นที่เก็บสัมภาระสำหรับการเดินทาง
ขุมพลังลูกผสม "ไอเอมเอ" (IMA: INTEGRATED MOTOR ASSIST) ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซินแบบ 3 สูบเรียง ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 16 วาล์ว วีเทค ความจุ 1.0 ลิตร 70 แรงม้า กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 144 โวลท์ ให้กำลัง 13.6 แรงม้า และเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
การทำงานของระบบไอเอมเอ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวเสริมกำลังให้กับเครื่องยนต์ เมื่อกดคันเร่งซึ่งต่างกับระบบไฮบริดทั่วไป ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนก่อนเสริมด้วยเครื่องยนต์จึงไม่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ และแบทเตอรีจำนวนมาก ทำให้มีน้ำหนักรวมน้อยจึงสามารถทำความเร็วสูงสุดถึง 184 กม./ชม. และให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายในเวลา 12 วินาที
อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่ถือเป็นสถิติโลก ทำไว้รอบเกาะอังกฤษ คือ 36.4 กม./ลิตร โดยใช้ความเร็วระหว่าง 80-120 กม./ชม.
ฮอนดา ซีวิค ไฮบริด
ฮอนดา แนะนำ ซีวิค ไฮบริด รถในกลุ่มประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรุ่นที่ 2 หลังจากที่เปิดตัว อินไซจ์ท์ รถแบบ 2 ที่นั่ง ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1.0 ลิตร รวมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่เรียกว่า "ไอเอมเอ" (IMA: INTEGRTED MOTER ASSIST) ไปก่อนหน้านั้นประมาณ 2 ปี
ซีวิค ไฮบริด คือ รถประหยัดพลังงานคันแรกที่ ฮอนดา พัฒนาขึ้นจากรถตลาด จึงมีรูปลักษณ์เหมือนกับ ซีวิค รุ่นที่ 7 เพียงแต่เปลี่ยนชิ้นส่วนบางตัว เช่น กระจังหน้าเป็นแบบชิ้นเดียวกับกันชน ไฟท้ายใหม่ สีแดง/ขาว และล้อแมก ต่างจาก อินไซจ์ท์ ที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะประหยัดพลังงาน
นอกจากเรือนไมล์และมาตรวัดระดับไฟฟ้าที่ยกชุดมาจาก อินไซจ์ท์ และลายไม้สีดำที่ใช้ตกแต่งบนชุดคอนโซลกลางแล้ว ทุกส่วนภายในห้องโดยสารไม่ได้ถูกดัดแปลงแก้ไขจาก ซีวิค รุ่น วีทีไอ
ฮอนดา ซีวิค ไฮบริด ติดตั้งเครื่องยนต์ ไอ-ดีเอสไอ วีเทค แบบ 4 สูบ ซิงเกิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 8 วาล์ว หัวฉีด 2 หัวเทียน/สูบ ขนาด 1.3 ลิตร 85.7 แรงม้า ที่ 5,700 รตน. แรงบิดสูงสุด 12.1 กก.-ม. ที่ 3,300 รตน. และมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 10 กิโลวัตต์ ที่ 4,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 5 กก.-ม. ที่ 1,000 รตน. พร้อมกับเกียร์อัตโนมัติส่งกำลังแบบต่อเนื่อง ซีวีที
สมรรถนะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่ 11 วินาที 0-400 ม. ที่ 18.2 วินาที ความเร็วปลาย 178 กม./ชม. ในขณะที่ใช้ความเร็วคงที่ 60 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองเพียง 37.7 กม./ลิตร ดีกว่า อินไซจ์ท์ 2 กม.
ด้วยโครงสร้างภาษีทำให้รถรุ่นนี้มีราคาสูงถึงกว่า 1.7 ล้านบาท บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จึงไม่ได้จำหน่าย แต่ให้เช่าในอัตรา 36,000 บาท/เดือน นาน 4 ปี
โตโยตา ปรีอุส
ปรีอุส ใหม่ แตกต่างไปจากรุ่นแรก ที่ โตโยต้า ฯ นำเข้ามาเพื่อให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ เมื่อ 6 ปีก่อนมาก โดยเฉพาะรูปทรงที่ลู่ลมสวยงาม
ไฟหน้าเรียวยาวเกือบถึงแนวกระจก หลังคาที่โค้งมนลาดเท่ทั้งด้านหน้า/หลังรับกับฝากระโปรงและส่วนท้ายที่สั้นแบบรถ 5 ประตู ช่วยให้ ปรีอุส มีค่าสัมประสิทธิแรงเสียดทานเพียง 0.28 ซีดี
ภายในห้องโดยสารหรูหรา ทันสมัย ด้วยชุดตกแต่งอลูมิเนียม และคอนโซลแบบชิ้นเดียว มาตรวัดความเร็วแบบดิจิทอลซ้อนไว้ใกล้แนวกระจกบังลมหน้า และมีจอมอนิเตอร์แสดงการทำงานของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง
ปรีอุส ใช้เครื่องยนต์เบนซินแบบ 4 สูบเรียง ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร 77 แรงม้า และมอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 17.7 แรงม้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติแปรผันต่อเนือง
ในการออกตัวแบทเตอรีจ่ายไฟให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าและเสริมด้วยกำลังเครื่องยนต์ซึ่งทำให้มีอัตราสิ้นเปลืองต่ำเพียง 30 กม./ลิตร และสามารถทำความเร็วสูงสุดถึง 160 กม./ชม.
สำหรับสนนราคาที่จำหน่าย 1.6 ล้านบาท และหน้าตาที่ต่างไปจาก โคโรลลาจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้นำเข้าอิสระจะจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจ
โตโยตา เอสตีมา ไฮบริด
เอสอีซี กรุ๊ป ฯ ผู้นำเข้ารายใหญ่ ใช้ช่องว่างของภาษีรถยนต์ ที่มีระดับเครื่องยนต์ความจุไม่เกิน 2.4 ลิตร นำเข้ารถเอมพีวี "ไฮบริด" ผสมผสานกำลังจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า 2 รุ่น คือ เอสตีมา (ESTIMA) และอัลฟาร์ด (ALPHARD)
เอสตีมา ไฮบริด เป็นรถยนต์พลังงานผสมขับเคลื่อน 4 ล้อรุ่นแรกของโลก ที่ผลิตออกจำหน่ายจริง (THE WORLD'S FIRST MASS-PRODUCED GASOLINE/ELECTRIC DRIVE VEHICLE)
เอสตีมา และอัลฟาร์ด ใช้ขุมพลังสองสายพันธุ์ คือ เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร มอเตอร์ไฟฟ้า และ เกียร์อัตโนมัติแบบซีวีที (CVT: CONTINUOUSLY VARIABLE RANSMISSION) ขับเคลื่อนล้อหน้ากับมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหลังอีกตัวหนึ่ง ทำให้รถคันนี้กลายเป็นขับเคลื่อน 4 ล้อโดยอัตโนมัติ "อี-โฟร์" (E-FOUR) ซึ่งจะทำงานทันทีเมื่อ "เร่งเครื่องยนต์" หรือเมื่ออยู่บนผิวถนน "ลื่นไถล"
เอสตีมา ไฮบริด เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ติดตั้งระบบอีเลคทรอนิคควบคุมเบรค "อีซีบี" (ECB:ELECTRONICALLY CONTROLLED BRAKE) อีซีบี จะรับสัญญาณความรุนแรงจากแป้นเบรคแล้วส่งการควบคุมกระจายแรงดันน้ำมันเบรคในระบบเบรคทั้งหมดอย่างสมดุล ไม่ว่าล้อรถข้างนั้นจะมีแรงเสียดทานและแรงดันน้ำมันเบรคมากน้อยและต่างกันเพียงใด
ในเรื่องความปลอดภัย โตโยตา ได้ติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด รับภาพจากกล้องโทรทัศน์ติดตั้งอยู่ที่กระจังหน้าตัวรถ แบ่งภาพออกเป็นด้านซ้าย/ขวา ทำหน้าที่จับภาพในส่วนที่ผู้ขับไม่สามารถมองเห็น เช่น กรณีขับรถออกจากปากซอย และมองไม่เห็นรถบนถนนใหญ่ทั้งซ้าย/ขวา และภาพตรงหน้าตัวรถ อำนวยความสะดวกต่อการขับใช้งาน ลดอุบัติเหตุลักษณะเฉี่ยวชน
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 12.2 กม./ชม. ส่วนความสิ้นเปลีองที่ความเร็วคงที่ 60 กม./ชม. อยู่ที่ 18.6 กม./ลิตร
โตโยตา อัลฟาร์ด ไฮบริด
อัลฟาร์ด (ALPHARD) ก็เป็นรถเอมพีวีหรูอีกรุ่นหนึ่ง ที่ โตโยตา ติดตั้งชุดขุมพลัง 2 สายพันธุ์ หรือ "ไฮบริด" และติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกไฮเทคเข้าไปมากมาย
ไม่ว่าจะเป็น ระบบโทรทัศน์วงจรปิด รับภาพจากกล้องโทรทัศน์ติดตั้งอยู่ที่กระจังหน้าตัวรถด้านซ้าย/ขวาเป็นอุปกรณ์สั่งพิเศษ เป็นเพคเกจควบคู่มากับ WIDE MULTI-AV STATION พร้อมทั้งระบบนำทาง DVD ด้วยเสียง
ระบบช่วยจอดโดยโทรทัศน์วงจรปิดผสานการทำงานกับจอภาพเส้นสีและเสียงสัญญาณเมื่อถอยหลัง อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับรถมีนีแวนถอยหลังเข้าจอดในซองที่จอดรถได้ง่ายมากขึ้น และไม่เสี่ยงต่อการเฉี่ยวชนด้านท้ายรถเพราะเป็นจุดบอดที่ผู้ขับไม่สามารถมองเห็นได้ถนัดกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งใช้ "เลนส์มุมกว้าง" ติดตั้งอยู่ที่แผงมือจับประตูบานท้ายรถภาพที่ปรากฏในรถ จะเป็นเส้นสี 2 สี บอกทิศทางให้ผู้ขับกะระยะถอยหลังเข้าจอดได้ง่ายขึ้น
เซนเซอร์วัดระยะห่างท้ายรถส่งสัญญาณไฟเตือนบนหน้าปัดทันทีเมื่อมีรถอื่นวิ่งเข้าใกล้ท้ายรถในระยะที่อาจเกิดอุบัติเหตุชนท้ายได้ ทำงานโดยคลื่นเสียงความถี่สูง (อุลทราโซนิค) ติดตั้งบริเวณท้ายรถและมุมท้ายของรถยนต์
นอกจากนี้ ระบบไฮบริดยังให้กำลังไฟฟ้าสูงถึง 1,500 วัตต์ ไม่ว่าตัวรถจะจอดอยู่กับที่หรือว่าเคลื่อนที่ ปลั๊กไฟ AC 100 วัตต์ที่อยู่ตรงคอนโซลกลางและผนังท้ายรถ อันเป็นระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) สามารถใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านเรือนมาชาร์จหรือใช้ไฟในตัวรถได้โดยสะดวก เช่น. เครื่องเป่าผม เตาไมโครเวฟ รถจักรยานมอเตอร์ไฟฟ้า
ประตูบานเลื่อน 2 ด้านคู่ อำนวยความสะดวกในการขึ้น/ลงรถสำหรับผู้โดยสารตอนกลางและตอนหลัง อีกทั้งสะดวกต่อการหยิบสัมภาระเมื่อจอดรถในที่แคบและติดผนัง พร้อมระบบประตูปิด/เปิดด้วยไฟฟ้า และสามารถบังคับการปิด/เปิดได้ด้วยรีโมท
อัตราความสิ้นเปลีองในความเร็วคงที่ 60 กม./ชม. อยู่ที่ 16.4 กม./ลิตร ทำได้ใกล้เคียงรถขนาดเล็ก
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนสาร เสาวมล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2548
คอลัมน์ Online : บทความ