ร่มไม้ชายศาล
"ซื้อรถใหม่ต้อง..."
จากการที่ผู้คนในบ้านในเมืองรวมทั้งนักการเมือง ออกมาล้งเล้งทะเลาะกันเป็นรายวันสารพัดเรื่องจึงเกิดอาการติดเชื้อแพร่ระบาดไปทุกวงการ จนกระทั่งมีการ "จับคู่" ระหว่างบริษัทผู้ขายรถกับผู้ซื้อรถพันตูกันอยู่เรื่อย
ที่ดังระเบิดเข้าข่ายระดับโลกคือ "กรณีเดือนเพ็ญ" ออกมาทุบรถยี่ห้อหนึ่งที่เธอเซ็ง เพราะคนขายดันไม่รับผิดชอบในคุณภาพเท่าที่ควร ทุกวันนี้ค่ายรถที่โดนเข้าจังเบอร์ ต้องออกมากู้ชื่ออย่างหนักรถรุ่นนั้นทั้งเก่าใหม่ซึ่งเคยเป็นดาวดวงเด่น ซื้อกันทั้งบ้านทั้งเมือง วูบไม่เลิก
ขณะเดียวกันรถค่ายอื่น ไล่ลงมาตั้งแต่รถหรูยอดนิยมของเสี่ยเมืองไทย หรือรถญี่ปุ่นยอดฮิท ก็หนีไม่ออกโดนเหมือนกัน ยังดีที่ไม่หนักเท่ารายแรก แต่ค่ายรถก็ปวดหัว ผู้บริโภคที่เจอกับตัวเองก็ปวดหัว
เกริ่นมาทั้งหมดไม่ได้ฟื้นฝอย แต่ด้วยความปรารถนาดีแก่ทุกฝ่าย จึงขอสะกิดซะหน่อย เพราะยังไงเสียคงจะมีรายการวิวาทะเกิดขึ้นอีกจนได้ เนื่องจากพ่อค้าในเมืองไทยไม่ว่าสัญชาติไหน นิสัยเดียวกันไม่ยอมเสียเปรียบง่ายๆ
แม้กระทั่งพ่อค้าฝรั่ง ซึ่งบ้านเมืองเขาแคร์ลูกค้าอย่างหนัก ชนิดซื้อไปใช้แล้วไม่พอใจ ถ้ายังไม่บุบสลายยินดีรับคืนจ่ายเงินคืน พอแกย้ายมาค้าขายที่เมืองไทย ดันเปลี่ยนสไตล์กลายพันธุ์ซะนี่ เพราะผู้บริโภคของเราอ่อนแอ ทางการไม่ค่อยดูแลว่างั้นเถอะ
ที่อยากสะกิด คือ การซื้อรถยนต์ใหม่ป้ายแดงราคาค่อนข้างโหดในบ้านเรามาใช้ สิ่งพึงปฏิบัติคือไม่บังควรดัดแปลงแต่งเติม อย่างเช่น ช่วงล่าง ฟืนไฟ เครื่องยนต์กลไก โหลดเตี้ยโหลดสูง เพิ่มเติมสายไฟเกี่ยวกับเครื่องเสียง แม้กระทั่งการใช้ล้อหรือยางโตขึ้น ไม่จำเป็น ไม่เหลืออดจริงๆ ไม่น่าทำ
เพราะเท่าที่สังเกตบริษัทรถจะหยิบฉวยมาเป็นข้ออ้าง ปัดความรับผิดไว้ก่อน ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ตามที หาทางเลี่ยงทางเบี่ยงยันป้าย ทะเลาะกันไม่เลิกดังที่เป็นข่าว
หากไม่แน่ใจคุณภาพรถที่ถอยออกมา ไม่มั่นใจความรับผิดชอบของผู้ขาย ไม่มั่นใจเพาเวอร์ของตนว่าจะไล่บี้บริษัทรถได้ ไม่มั่นใจว่าจะมีเวลามีเงินซ่อมรถของตนจนถึงที่สุด ไม่มั่นใจว่าจะทุบรถเผารถที่มีปัญหาโชว์สื่อได้อย่างคุณเดือนเพ็ญ สาวใจเด็ดหนึ่งเดียวที่หาคนเลียนแบบยังไม่ได้ ผู้ชายทั้งดุ้นยังไม่มีรายไหนกล้า
ควรใช้รถไอ้ที่มันเดิมๆ จากบริษัทนั่นแหละปลอดภัยกว่า วิทยุเครื่องเสียงถ้ากระสันจริงๆ จะเปลี่ยนใหม่ ควรไปที่บริษัทซึ่งเราถอยรถออกมา จัดการให้ เพื่อเป็นการปิดปาก พวกเอ็งทำให้ข้านี่หว่า
แน่นอน "นักแต่งรถ" ทั้งหลายซึ่งมีอารมณ์มากๆ ยามถอยรถป้ายแดงออกมาทั้งที ย่อมเกิดอาการหงุดหงิด ในการใช้รถแบบเดิมๆ โดยไม่แตะต้องอะไรเลย ถือว่าไม่จ๊าบไม่มัน ขัดอกขัดใจพอสมควรจึงต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะเลือกเดินทางไหน
อันที่จริง เมื่อก่อนคนซื้อรถก็โดน โดนหนักกว่าเดี๋ยวนี้ซะอีก ซื้อแล้วซื้อเลยแทบทั้งนั้น ชำรุดเสียหายก็ซ่อมกันไปตามเรื่องตามราว รายไหนบริษัทช่วยดูแลให้บ้างก็โชคดีไป การเรียกร้องให้บริษัทขายรถรับผิดชอบอย่างเต็มๆ ตามหลักสากลเพิ่งเกิดกระแสเมื่อไม่นานมานี้เองบริษัทรถในบ้านเราก็ไม่ได้โอนอ่อนผ่อนตามอะไรมากนัก ยังแข็งขืน และโทษผู้บริโภคอยู่เสมอว่า "พวกสูเรื่องมาก" เสียด้วยซ้ำ ไม่เชื่อปลอมตัวไปคุยกับเขาก็ได้ ถล่มแหลกล่ะกัน
เพราะฉะนั้นเวลาซื้อรถมาใช้ หมายถึงป้ายแดง ต้องหลับตาซ้ายเล็งด้วยตาขวา ดูให้ดีว่าเจ้าไหนยี่ห้อไหนมีคุณภาพมีการปฏิบัติต่อลูกค้าที่ไว้ใจได้ และที่แน่ๆ ไม่พยายามดัดแปลงแต่งเติมรถอย่างที่บอกนั่นแล
จะได้ไม่ต้องล้งเล้งกันให้เวียนหัว ลำพังเห็นนักการเมืองกัดกันเป็นรายวันในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องพวกเราก็เอียนเต็มประดาอยู่แล้ว จริงไหมพี่
ตานี้มาว่ากันด้วยเรื่องของคดีความอย่างเคย
คดีนี้น่าสนใจ รู้ไว้ไม่เสียหลายสำหรับนักเลงผ่อนรถเจ้าเก่าเจ้าใหม่ทั้งหลาย เป็นแง่มุมที่ศาลชี้ขาดเอาไว้ที่สำคัญหรือเป็น "จุดตาย" นั่นเทียว
เรื่องของเรื่องก็เป็นไปตามสไตล์ไทยๆ คือ เวลาอยากได้รถมาใช้ ไม่คิดหน้าคิดหลัง คิดถึงขีดความสามารถในการหาสตางค์ อยากโก้ อยากเก๋ อยากเท่ อยากนั่งรถคันหรูอย่างเดียว ความเดือดร้อนที่จะตามมาไม่ค่อยคำนึงถึง
"นายฤทธิ์เดช" แกทำมาหากินอะไรไม่รู้ แต่เมื่อกระสันอยากได้รถราคาแพงก็ไม่รอช้า วันที่ 21 มิถุนายน 2538 ไปเช่าซื้อรถยนต์ไปจาก "บริษัท หยวนน่า จำกัด" ราคา 1,101,532.73 บาท วางดาวน์ 112,149.53 บาท ที่เหลือผ่อนชำระงวดละ 22,055 บาท รวม 48 งวด น้อยซะเมื่อไหร่
ก็อย่างที่บอก เมื่อไม่เจียมบอดี ถอยรถออกมาส่งงวดได้แค่ 3 งวด ก็จอดป้าย ไม่ผ่อนอีกเลยแต่เอารถไปใช้เรื่อยมากว่า 1 ปี เดือน พย. ปีถัดมา บริษัทตามล่ายึดรถคืน และเรียกร้องให้ใช้เงินอีกต่างหาก
นายฤทธิ์เดช ทำเฉย จึงโดนฟ้องพร้อมกับคนค้ำประกัน ซึ่งติดร่างแหตามธรรมเนียม บริษัทเรียกร้องให้ นายฤทธิ์เดช กับพวกชำระ ค่าติดตามรถคืน 3,600 บาท บริษัทเอารถออกขายได้เงินเพียง 372,000 บาท บริษัทได้รับความเสียหาย ขอให้ นายฤทธิ์เดช กับคนค้ำประกันร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย 839,660.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
นายฤทธิ์เดช ยังไม่หมดฤทธิ์ ไม่ยอมให้เหยียบ เพราะบริษัทฟ้องเรียกใช่น้อย จึงจ้างทนายสู้คดีให้การว่า ได้ตกลงกับพนักงานของบริษัทให้ไปเก็บค่างวดที่ภูมิลำเนาของ นายฤทธิ์เดชบริษัทลวดลายไม่ให้พนักงานไปเก็บค่าเช่าซื้องวดที่ 4 ข้าน้อยจึงไม่ได้ผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน บริษัทไม่มีสิทธิ์ยึดรถยนต์ ขอให้ยกฟ้อง
คนค้ำประกันนอนกลุ้มใจอยู่ที่บ้าน ไม่ยื่นคำให้การขาดนัดพิจารณาไม่สู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 462,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
นายฤทธิ์เดช ไม่ถอย ยื่นอุทธรณ์ แต่ไม่ดีขึ้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เรื่องยาวถึงศาลฎีกาเพราะ นายฤทธิ์เดช แกยังมีฤทธิ์ ดิ้นรนจนถึงที่สุด ยื่นฎีกาขึ้นไป ที่สำคัญคือโต้ว่า บริษัทไม่ให้ลูกน้องไปเก็บเงินที่บ้าน จึงไม่ผิดสัญญา นำคดีมาฟ้องร้องไม่ได้ ยึดรถไปไม่ได้คดีขาดอายุความแล้ว
ศาลฎีกาเพ่งดูคดีนี้อย่างสบาย ๆ ไม่มีแรงกดดันเหมือนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นๆแล้วชี้จนขาดออกมาว่า
ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 2 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อจะนำค่างวดไปจ่าย ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบริษัทเจ้าของรถตามกำหนดทุกวันที่ 10 ของแต่ละเดือน ตามสัญญาดังกล่าวกำหนดเป็นภาระหน้าที่ที่ นายฤทธิ์เดช ต้องนำค่างวดไปจ่าย ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบริษัท
การที่ นายฤทธิ์เดช นำสืบว่า มีการตกลงว่าพนักงานของบริษัทจะไปเก็บค่างวดเอง แตกต่างไปจากข้อตก ลงที่ระบุในสัญญา จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมพยานเอกสาร เข้าข่ายต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม วิ. แพ่ง มาตรา 94 (ข) ประกอบกฎหมายแพ่ง มาตรา 572 วรรคสองข้อต่อสู้ของ นายฤทธิ์เดช จึงรับฟังไม่ได้
นายฤทธิ์เดช มีหน้าที่ต้องนำค่างวดไปที่บริษัท เมื่อ นายฤทธิ์เดช เบิกความรับว่า ไม่ได้ชำระค่างวดให้เขา จึงเป็นการผิดสัญญา ที่ระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
การที่ นายฤทธิ์เดช ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดมา ไม่ยอมส่งมอบรถคืนไม่จ่ายค่างวดย่อมทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ไม่อาจครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ได้ บริษัทจึงมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 391 เป็นค่าขาดประโยชน์ หรือค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ นายฤทธิ์เดช ยังครอบครองรถของบริษัท ศาลล่างทั้งสองให้จ่าย 27 เดือน เป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท เหมาะสมแล้วละ
สำหรับข้อต่อสู้ที่ นายฤทธิ์เดช อ้างว่า การเรียกค่าเสียหายและค่าขาดราคามันขาดอายุความแล้วนะครับในเมื่อไม่ฟ้องภายใน6 เดือนนับแต่วันคืนรถ ตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 563 นั้น ศาลฎีกาฟันธงว่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้ง 2 รายการไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 193/30 เพราะ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ให้เช่าฟ้องเกี่ยวกับสัญญาเช่า คดีไม่ขาดอายุความ
ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน
ถ้าจะว่าไปแล้ว การฟ้องการต่อสู้คดีทำนองนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา คดีแล้วคดีเล่า กลายเป็นเรื่องซ้ำซากพอสมควร โลกเจริญมาถึงขนาดนี้แล้ว เราไม่ยักมีสูตรสำเร็จไว้ใช้บังคับคู่กรณี ให้ปฏิบัติตามแนวทางที่ศาลตัดสิน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดไหมท่านผู้ชม
ที่ต้องจำไว้คือ สัญญากำหนดให้จ่ายค่าเช่าซื้ออย่างไรที่ไหน ต้องทำตามนั้น มาอ้างอย่าง นายฤทธิ์เดชไม่ได้ เสียเปรียบไฟแนนศ์นะจะบอกให้
ก็อย่างที่บอก ตราบใดที่เรายังผ่อนรถโดยไม่ดูสังขาร ไม่ดูรายได้ให้มันชัวร์ ออกรถตะพึด ศาลก็ต้องเมื่อยตุ้ม (ยกเว้นผู้พิพากษาหญิง-เดี๋ยวนี้มีแยะ) ต้องนั่งทำคดีกันเรื่อยไปนะโยม
จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่6121/2545
ABOUT THE AUTHOR
&
"จอมยุทธ"
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : ร่มไม้ชายศาล