บทความ
30 ปี "ฟอร์มูลา"
30 ปีไม่ใช่เวลาเล็กน้อย...
ปลายปี 2519 "ฟอร์มูลา" ถือกำเนิดขึ้น เป็นน้องใหม่ในวงการนิตยสารรถยนต์ ซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 หัว(ไม่นับ "ฟอร์มูลา ยานยนต์" หัวดั้งเดิมของเรา) ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศ นับแล้วนับอีก ยังไม่ถึง 2 แสนคัน
ด้วยการนำเสนอความคิดเห็นที่เที่ยงตรง เนื้อหาที่เข้มข้น และข้อมูลที่เชื่อถือได้ ตามสโลแกน "สาระสะใจคนรักรถ" ทำให้ "ฟอร์มูลา" ได้รับการสนับสนุนจากผู้อ่าน และเพื่อนพ้องในวงการยานยนต์ไทยมาโดยตลอด
30 ปีไม่ใช่เวลาเล็กน้อย...
จากวิกฤติน้ำมันขาดแคลนปี 2528 วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และวิกฤติน้ำมันแพงในปัจจุบัน จากยอดขายเพียง 2 แสนคัน ต่อไปจนถึงการฉลองยอดผลิตรถในประเทศครบ 1 ล้านคันในปีที่ผ่านมา
ทุกข์สุข ร้อนหนาวเหล่านี้ เราได้ผ่านมาพร้อมกับผู้อ่าน และผู้คนในแวดวงยานยนต์ โดยไม่เปลี่ยนจุดยืนจากการนำเสนอ "สาระสะใจ"
30 ปีไม่ใช่เวลาเล็กน้อย อาจเท่ากับครึ่งชีวิตของใครบางคน แต่สำหรับ "ฟอร์มูลา" ทุกปีที่ผ่านมา คือการสั่งสมประสบการณ์ และวาระแห่งการเริ่มต้น การพัฒนาสู่สิ่งใหม่ ทั้งรูปแบบ และเนื้อหา
เราจึงเป็นนิตยสารรถยนต์ที่หนุ่มเสมอ โดยไม่ต้องวงเล็บ (หนุ่ม) ต่อท้าย
อย่างไรก็ตาม โอกาสนี้สมควรต้องฉลอง ด้วยบทความพิเศษ 2 เรื่อง ที่บ่งบอกถึงการสั่งสมประสบการณ์ และการพัฒนาทั้งในส่วนของเรา และวงการยานยนต์ไทย ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้
เพราะนี่คือโอกาสครบรอบ 30 ปี "ฟอร์มูลา" และ 3 ทศวรรษแห่ง "สาระสะใจ" ในวงการรถยนต์ไทย
3 ทศวรรษยานยนต์ไทย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในแวดวงยานยนต์ไทยมากมาย หลายคนพยายามค้นคว้าเรื่องราวเหล่านี้ แต่มักหาคำตอบไม่ได้
โอกาสสำคัญนี้ "ฟอร์มูลา" จึงขอเป็นตัวแทนนำเสนอรายละเอียดเหตุการณ์สำคัญในรอบ 30 ปี ให้แก่ผู้อ่านด้วยเนื้อหา 15 หน้าเต็มต่อจากนี้ ส่วนถ้าใครสนใจเหตุการณ์สำคัญทั้งหมด 550 เรื่อง ในช่วงเวลา 30 ปี อ่านได้ที่แผ่นพับหน้าซ้ายมือ
ปี 2520
มกราคม
กำเนิดรถกระป้อ
บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด เปิดตัว รถบรรทุกเล็ก ไดฮัทสุ เอส 40 พี ขนาด 550 ซีซี ซึ่งในประเทศไทยไม่เคยมีรถประเภทนี้มาก่อน ยุคหลังเรียกกันว่ารถกระป้อ นิยมรับ/ส่งผู้โดยสารตามตรอกซอกซอยต่างๆ จนวันนี้ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
กันยายน
อีซูซุ สร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย
อีซูซุ ประเทศญี่ปุ่น/ประเทศไทย และบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ร่วมลงทุน 160 ล้านบาท ตั้งบริษัท อีซูซุบอดี้ ประเทศไทย จำกัด ผลิตตัวถังรถยนต์ และชิ้นส่วนรถบรรทุกโดยเฉพาะ มีทุนจดทะเบียนขั้นต้น 50 ล้านบาท สามารถผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนรถบรรทุกได้ประมาณปีละ 40,000 ชุด และตัวถังเหล็กกล้าประมาณ 1,400 ชุด
พฤศจิกายน
กรมทางหลวง ตัดถนนในเขตภูมิภาค 11 สาย
ได้แก่ สายที่ 1 นครสวรรค์-พิษณุโลก/สายที่ 2 ชัยบาดาล-ด่านขุนทด/สายที่ 3 บ้านบึง-แกลง/สายที่ 4 บ้านบึง-บ้านค่าย/สายที่ 5 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี/สายที่ 6 บ้านสาลี-อยุธยา/สายที่ 7 สามโคก-อำเภอเสนา/สายที่ 8 บ่อพลอย-อู่ทอง/สายที่ 9 บ่อพลอย-ด่านช้าง/สายที่ 10 หาดใหญ่-สามแยกคูหา และสายที่ 11 หาดใหญ่-ชนะ ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 2,200 ล้านบาท ในยุคนั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้การคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงกันมากขึ้น
ปี 2521
เมษายน
ดีเซลคันแรกของ โฟล์ค ฯ
บริษัท คอมเมอร์เชียลมอเตอร์ส จำกัด เปิดตัว โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 50 แรงม้านับเป็นรถเล็กของ โฟล์ค ฯ รุ่นแรกในไทยที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ธันวาคม
ห้ามใช้รถส่วนบุคคล เป็นรถรับจ้าง
เนื่องจากมีรถป้ายดำลักลอบวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก ร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พระราชบัญญัติรถยนต์ จึงห้ามนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างรับส่งผู้โดยสาร เช่น การนำรถส่วนตัวไปใช้รับจ้างเป็นรถแทกซีป้ายดำ ใครฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 1,000 บาท
ห้ามนำเข้ารถยนต์
เนื่องจากสงครามตะวันออกกลาง ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก กระทรวงพาณิชย์จึงประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป โดยกระทรวงอุตสาหกรรมห้ามเพิ่มจำนวนรุ่นรถยนต์ที่ผลิต รวมทั้งห้ามตั้งโรงงานใหม่ แต่ให้โรงงานเดิมสามารถปรับปรุง และขยายได้ ด้านกระทรวงการคลังปรับอัตราอากรขาเข้าชิ้นส่วนภายในประเทศของรถยนต์นั่งจากร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 80 เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ
ปี 2522
มกราคม
นิสสัน เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย
ประธานในพิธีครั้งนั้น คือ ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้กดปุ่มเปิดโรงงาน มีตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นมาร่วมงานมากมาย เป็นการเปิดศักราชใหม่ของรถยนต์ นิสสัน ที่ประกอบในประเทศไทย
กรกฎาคม
รถวิ่งช้า ต้องชิดซ้าย
พรบ.จราจรทางบกฉบับใหม่ (ปี 2522) บัญญัติไว้ว่า รถบรรทุก/รถบรรทุกโดยสาร/รถจักรยานยนต์รวมถึงรถที่มีความเร็วช้า หรือใช้ความเร็วต่ำกว่ารถยนต์คันอื่นที่วิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องพยายามขับชิดซ้ายเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การจราจรมีระเบียบ และลดอุบัติเหตุไปพร้อมกัน
สิงหาคม
ไทยผลิต เอธานอลสำเร็จ
โครงการผลิตแอลกอฮอล์จากพืชผลทางเกษตรเพื่อผสมกับน้ำมันเบนซินใช้กับรถยนต์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ประสบความสำเร็จด้วยดี เมื่อได้ผสมแอลกอฮอล์ในอัตราส่วนร้อยละ 20 และมีค่าออคเทนใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซินชนิดซูเพอร์ โครงการนี้จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
ธันวาคม
"เบนซ์" เมดอินไทยแลนด์
บริษัท ธนบุรีพาณิชย์ จำกัด เปิดตัว เมร์เซเดส-เบนซ์ 230 ที่ประกอบในไทยรุ่นแรก สนนราคา 8 แสน 7 หมื่นบาท เป็นที่นิยมกันมากสำหรับเศรษฐียุคนั้น
ปี 2523
มีนาคม
รถยนต์ผลิตในไทย แพงที่สุดในโลก
ตัวแทนฝ่ายขาย บริษัท กมลสุโกศล จำกัด กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้รถยนต์ในประเทศไทยมีราคาแพงที่สุดในโลก คือ 1) การที่รัฐบาลกำหนดให้ผู้ค้ารถยนต์ (รถยนต์นั่ง) ต้องประกอบในประเทศ และต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 25 กับการตั้งกำแพงภาษีที่สูงผิดปกติ
รถที่ประกอบในประเทศซึ่งต้องซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ เป็นสาเหตุให้ราคารถสำเร็จรูปแพงขึ้นนั้น เพราะผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละรายต้องลงทุนในการทำแม่แบบ หรือแม่พิมพ์หลายชุดเพื่อที่จะป้อนชิ้นส่วนให้แก่ผู้ประกอบรถยนต์หลายราย โดยผู้ประกอบรถยนต์แต่ละรายต้องการชิ้นส่วนเหล่านั้นรายการละไม่กี่ 100 ชิ้น ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ต้องลงทุนในการทำแม่แบบชิ้นหนึ่งนับแสนบาท เมื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้น้อย ก็ต้องเพิ่มราคาต้นทุนเข้าไปในสินค้าของตน
เมื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สั่งชิ้นส่วนสำเร็จรูปเข้ามา จะต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 80 กับค่าธรรมเนียมต่างๆ คิดรวมเป็นร้อยละ 92 เมื่อประกอบรถเสร็จ จะต้องเสียภาษีการค้าที่ประเมินจากยอดขายอีกร้อยละ 33 นอกนั้นยังมีภาษีโภคภัณฑ์ ภาษีเทศบาล และเมื่อผู้บริโภคซื้อรถออกไป ต้องเสียภาษีป้ายและอื่นๆ อีก
มิถุนายน
แกสธรรมชาติในอ่าวไทย ใช้ได้นาน 40 ปี
ทองฉัตร หงส์ลดารมณ์ ผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (สมัยนั้น) กล่าวว่า ปริมาณแกสธรรมชาติในอ่าวไทยที่พบเป็นการแน่นอนแล้วว่ามีจำนวนถึง 12 ล้านลูกบาศก์ฟุต ถ้าใช้อย่างประหยัดจะสามารถใช้ได้นาน 40-50 ปี
การพัฒนาแกสธรรมชาติที่กำลังดำเนินงานอยู่เวลานี้ได้แก่ การพอกท่อและจะเริ่มวางท่อในทะเลจากแท่นผลิตแกสมาขึ้นฝั่งที่ระยอง และวางท่อ ตามแนวทางหลวงแผ่นดินไปยังโรงไฟฟ้ากังหันแกสที่บางปะกง จากนั้นจะวางท่อตามแนวทางหลวงไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ รวมความยาวของท่อที่วาง ในทะเลและบนบกประมาณ 425 กม. ซึ่งแหล่งแกสธรรมชาติจะพัฒนาขึ้นมาใช้ในอันดับแรก ได้แก่ แหล่งแกสธรรมชาติในโครงสร้างเอราวัณ
ปัจจุบัน ปตท. ได้ค้นพบอีกหลายแหล่ง และยังบอกเหมือนเดิมว่า สามารถใช้ได้นาน 40-50 ปี
สิงหาคม
กมล สุโกศล เสียชีวิต
กมล สุโกศล ประธานกลุ่มธุรกิจ กมลสุโกศล ผู้จำหน่ายรถยนต์ มาซดา สิ้นใจอย่างสงบในโรงพยาบาลของนครจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยวัย 67 ปี ผู้ใกล้ชิดเปิดเผยว่า กมล เดินทางไปพักผ่อนและฉลองวันเกิด แต่มีอาการป่วย ผู้ติดตามจึงนำส่งที่โรงพยาบาล และสิ้นใจในเวลาต่อมา
ปี 2524
มกราคม
ค่าทางด่วน 5 บาท
หลังจากที่มีการสร้างทางด่วนสายดินแดง-ท่าเรือ มาตั้งแต่ปี 2520 ปีนี้ได้สร้างเสร็จพร้อมใช้ ด้วยความยาว 8.9 กม. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเสียค่าบริการ คันละ 5 บาท รถบรรทุกคันละ 10 บาท ช่วงนั้นมีการวิเคราะห์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้ว่า "ทางด่วนนี้จะลดเวลาการเดินทางไป 20-30 นาที ประหยัดน้ำมันกว่า 40-50 บาท"
เชลล์/เอสโซ เริ่มหาน้ำมัน
มีรายงานข่าวว่า ขณะนั้นเริ่มมีการลำเลียงเครื่องขุดเจาะน้ำมันของบริษัททั้ง 2 เข้ามาในประเทศไทยแล้วบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รับสัมปทานตรวจน้ำมันบนแนวที่ราบสูงจังหวัดนครราชสีมา ส่วนบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้รับสัมปทานตรวจเจาะบริเวณจังหวัดตามแนวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่กำแพงเพชร ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา
ปี 2525
มกราคม
พระราชทานนาม ทางพิเศษ "เฉลิมมหานคร"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อทางด่วน 3 สายของกรุงเทพฯ ว่า "เฉลิมมหานคร" เพื่อเป็นการต้อนรับ และอนุสรณ์ของการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม
รัฐบาลจัดตั้ง "คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรม" เพื่อพิจารณาเสนอมาตรการต่างๆ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมฉบับที่ 5 ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็น 1 ในอุตสาหกรรมสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ ทำให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
สิงหาคม
มิตซูบิชิ โคลท์ ขับล้อหน้า
บริษัท สิทธิผล มอเตอร์ส จำกัด เปิดตัว มิตซูบิชิ โคลท์ มิราจ ขับเคลื่อนล้อหน้า เครื่องยนต์ 2 ขนาดคือ 1.3 ลิตร 55 แรงม้า และ 1.5 ลิตร 70 แรงม้า รถเล็กราคาประหยัดขับเคลื่อนล้อหน้ารุ่นแรกของ มิตซูบิชิ ที่ขายในประเทศไทย
ปี 2526
มกราคม
ซันนี เอฟเอฟ
บริษัท สยามกลการ จำกัด เปิดตัว นิสสัน ซันนี เอฟเอฟ เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร 4 ประตู เป็นงานเปิดตัวรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยจัดในประเทศ ซันนี เอฟเอฟ ประสบความสำเร็จด้านยอดจำหน่าย และไมเนอร์เชนจ์หลายครั้งในระยะเวลามากกว่า 10 ปี ก่อนจะปรับโฉมใหม่หมด และเปลี่ยนชื่อเป็น เซนทรา
กันยายน
ลดตะกั่วในเบนซิน
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2526 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 725 (2526) เรื่อง การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันเบนซินสาระสำคัญ คือ การกำหนดมาตรฐานน้ำมันเบนซิน จะเป็นมาตรการที่ช่วยลดภาวะเกี่ยวกับสารพิษจำพวกตะกั่วให้น้อยลง คือ มาตรฐานน้ำมันเบนซินใหม่จะมีปริมาณตะกั่วได้สูงสุดเพียง 0.45 กรัม/ลิตร จากเดิมที่สูงสุด 0.48 กรัม/ลิตร
ปี 2527
พฤษภาคม
โฮลเดน กลับมาแล้ว
บรรเทิง จึงสงวนพรสุข ประธานกรรมการ บริษัท ยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดแถลงข่าวการนำรถยนต์นั่ง โฮลเดน เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง โดยมีการเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ยานยนต์เครดิตจำกัด มาเป็น บริษัท ยานยนต์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยรถ โฮลเดน ที่จะนำมาจำหน่าย คือ รุ่น คอมโมโดร์ 3 รุ่น คือ เอสแอล/เอสแอลเอกซ์ ใช้เครื่อง 4 สูบ 1.8 ลิตร 75 แรงม้า ส่วน เอสแอลอี ใช้เครื่อง 6 สูบ 2.8 ลิตร 100 แรงม้า
มิถุนายน
อีซูซุ เปิดตัว อัสกา
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด แนะนำ อีซูซุ อัสกา 2 รุ่น ที่โรงแรม ไฮแอทเซนทรัล พลาซา คือ อัสกาแอลที 1,800 และ แอลเอกซ์ 2,000 ซึ่งเป็นรถเก๋งรุ่นแรกของ อีซูซุ ที่จำหน่ายในประเทศไทย
กรกฎาคม
เก๋งกะทัดรัด จาก ฮอนดา
บริษัท ฮอนดาคาร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ฮอนดา ซีวิค 4 ประตู เครื่องยนต์วางหน้า ขับเคลื่อนล้อหน้า เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 4 สูบ 85 แรงม้า รูปทรงลิ่ม ห้องเก็บของท้ายรถเชิดสูงขึ้น เป็นรถที่ขายดีรุ่นหนึ่งของ ฮอนดา
ตุลาคม
โตโยตา เปิดตัว โคโรลลา เออี 82 ขับล้อหน้า
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดย ไอ ซาโต ประธาน บริษัท โตโยตามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัว โตโยตา โคโรลลา ใหม่ เครื่องยนต์ ATOP รหัส 2A และ 3A มี 4 รุ่น คือ 1.3 ลิตร 4 ประตู 4 จังหวะ/1.3 ลิตร 4 ประตู 5 จังหวะ/1.6 ลิตร 4 ประตู อัตโนมัติ และ 1.6 ลิตร 5 ประตู ลิฟท์แบค 5 จังหวะ โคโรลลา เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า แบบแรกที่ โตโยตา ประกอบออกจำหน่ายใน
ประเทศไทย
ปี 2528
เมษายน
โตโยตา เปิดตัว โคโรนา
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัว โตโยตา โคโรนา ขับเคลื่อนล้อหน้ารุ่นแรกในตระกูลมี 2 แบบให้เลือกคือ รุ่น 4 ประตู เครื่องยนต์ 4 เอ 1.6 ลิตร 77 แรงม้า และ 5 ประตู ลิฟท์แบคเครื่องยนต์ 1 เอส 1.8 ลิตร 85 แรงม้า
กันยายน
อีซูซุ
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดตัว รถกระบะ อีซูซุ ฟาสเตอร์ เซด "สเปศแคบ" เป็นรถรุ่นแรกในเมืองไทยที่มีแคบ และยังได้พัฒนาต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงเป็นที่นิยมของคนใช้รถพิคอัพเป็นอย่างมาก
ธันวาคม
เริ่ม แกสโซฮอล ในไทย
ธนู วีชะรังสรรค์ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า สำนักงานได้ประสานงานกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และภาคธุรกิจเอกชน คือ ผู้ผลิตแอลกอฮอล์และผู้จำหน่ายน้ำมันที่ผสมแล้ว เพื่อเผยแพร่การใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำมันเบนซินกับรถยนต์ ทั่วประเทศ อันเป็นการสนับสนุนโครงการใช้แอลกอฮอล์เป็นพลังงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้
ปี 2529
กรกฎาคม
มิตซูบิชิ เปิดตัว แชมพ์
บริษัท สิทธิผล มอเตอร์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ มิตซูบิชิ เปิดตัว แลนเซอร์ แชมพ์ เครื่องยนต์1.3 ลิตร ราคา 269,000 บาท เป็นรถราคาประหยัดที่ขายได้มากในยุคนั้น
บังคับพิคอัพ ใช้เครื่องยนต์ในประเทศกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศให้ "รถบรรทุกขนาดเล็ก" ต้องใช้เครื่องยนต์ที่ผลิต หรือประกอบภายในประเทศ เพื่อให้ราคาถูกลง
ในปีนั้นเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผู้ผลิตรถพิคอัพต้องปรับปรุงรูปแบบของรถเพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาว่า คนไทยใช้งานรถพิคอัพในลักษณะบรรทุกไม่มาก ผู้ผลิตจึงเพิ่มห้องโดยสารเป็น 2 ตอน เช่น มีแคบ หรือรถ 4 ประตู เป็นต้นคิดทำให้เกิดรถอนุพันธ์ของพิคอัพตามมาอีกมาก รถพิคอัพไทยจึงโดดเด่น และแตกต่าง มีส่วนส่งผลให้ตลาดขยายตัวมากจนถึงปัจจุบัน
"เบนซ์" อนุกรมใหม่
บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เปิดตัว เมร์เซเดส-เบนซ์ อนุกรมใหม่ ดับเบิลยู 124 เป็นรุ่นแรกที่ใช้รหัส ดับเบิลยู ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้รหัส ซีอีเอส และอีกมากมายตามมาในภายหลัง
ปี 2530
มกราคม
เตรียมปรับค่าออคเทน
กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเพิ่มออคเทนในน้ำมันเบนซิน เพื่อต้อนรับการพัฒนาของเครื่องยนต์เบนซินยุคใหม่ที่ผู้ผลิตกำลังพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งยังตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องออคเทนในน้ำมันเบนซิน เนื่องจากการพัฒนาเครื่องยนต์เบนซินก้าวหน้าไปมาก จนเกิดปัญหาเชื้อเพลิงที่ใช้ไม่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ เมื่อเทียบแล้วน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้นให้ค่าออคเทนในอัตราที่ต่ำเกินไป และนับวันเครื่องยนต์ที่เคยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีออคเทนเดิมกำลังจะหมดไป
สำหรับอัตราที่คาดว่าจะปรับใหม่ คือ เบนซินธรรมดา เดิม 82.6 จะเพิ่มเป็น 86 เบนซินซูเพอร์ เดิม94.6 เป็น 96-98
กันยายน
ยูดี เปิดตัว 10 ล้อ ติด เทอร์โบ
บริษัท นิสสัน ดีเซล จำกัด เปิดตัวรถบรรทุก 10 ล้อ ติดเทอร์โบ รุ่น ซีดับเบิลยู 41 เอมเอชอาร์ รุ่นแรกที่ประกอบขึ้นในประเทศ ให้กำลังสูงสุด 265 แรงม้า จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดแบบไดเรคท์อินเจคชัน พร้อมหัวฉีดน้ำมันหล่อลื่น ระบบขับเคลื่อนแบบ 2 เพลา (6x4) มีระบบ DIFF LOCK ระบบเกียร์ 6 จังหวะ เกียร์โอเวอร์ดไรฟ และ 10 เกียร์ ไฮ-โลว์
ธันวาคม
โตโยตา เปิดตัว โคโรลลา 16 วาล์ว
ที ฟูจิโมโต รองประธาน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ เอ วาดา กรรมการ โตโยตามอเตอร์ คอร์พอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว โตโยตา โคโรลลา ใหม่ ทวินแคม 16 วาล์ว ภายใต้นโยบาย "ยุคหน้าของเทคโนโลยีและคุณภาพที่เหนือชั้น" โคโรลลา เป็นรถนั่ง 4 ประตูรุ่นที่ 2 มีให้เลือก 2 แบบ คือ จีแอล/เอกซ์แอล เครื่องยนต์มีทั้งแบบ 1.3 ลิตร เดิม 12 วาล์ว ในรุ่น เอกซ์แอล และ 1.6 ลิตร ใหม่ในรุ่น จีแอล ระบบช่วงล่างแบบ GEO-SUS อิสระทั้ง 4 ล้อ ต่อมาพ่อค้ารถมือสองเรียกรถรุ่นนี้ว่าว่า "โดเรมอน" และเป็นรุ่นที่ทำให้คนทั่วไปคุ้นหูกับคำว่า "ทวินแคม 16 วาล์ว"
ปี 2531
มีนาคม
เปิดตัว ซูซูกิ แคริเบียน
บริษัท สยามอินเตอร์เนชันแนล คอร์เปอเรชัน จำกัด เปิดตัวรถขับเคลื่อน 4 ล้อ แคริเบียน ใช้เครื่องยนต์เบนซิน โอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ ขนาด 1.3 ลิตร 63 แรงม้า เกียร์เดินหน้า 5 จังหวะ เหมาะในทุกสภาพโอกาส ทั้งในเมือง และสภาพสมบุกสมบัน เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อที่ราคาถูกที่สุด ในแวดวงรถเรียกกันว่า "เจ้าแมงหวี่" คนนิยมใช้กันมาก ต่อมาปรับเป็นรุ่น แคริเบียน สปอร์ที มีแคบ และกระบะหลัง เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างกระแสรถประเภทนี้ในไทย
มิถุนายน
ดีเซลเครื่องแรกของ นิสสัน
ปรีชา พรประภา ประธานบริษัท อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย จำกัด และ ฮิโรยูกิ ซากาอิ กรรมการผู้จัดการเปิดตัวเครื่องยนต์ดีเซลเครื่องแรกของ นิสสัน ที่ผลิตในประเทศไทย มี ดร. ถาวร พรประภา ประธานกลุ่มสยามกลการ และคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช รองผู้จัดการใหญ่ อาวุโส บริษัท สยามกลการ จำกัด ร่วมงาน
กรกฎาคม
นิสสัน ใช้คอมพิวเตอร์ผลิตรถยนต์
บริษัท สยามกลการ จำกัด ลงทุน 10 ล้านบาท ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการพัฒนาขั้นตอนการผลิตรถยนต์ และติดต่อควบคุมการสั่งซื้อชิ้นส่วนสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบบริการหลังการขายทั่วประเทศ ให้มีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์ตามโครงการ YOU COME FIRST นับว่าเป็นบริษัทรถยนต์แห่งแรกที่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการบริหารงาน
ปี 2532
มีนาคม
นิสสัน เปิดตัว บลูเบิร์ด
หลังจาก บริษัท สยามกลการ จำกัด ได้เปิดตัว นิสสัน "บลูเบิร์ดใหม่" ทำยอดจองเป็นประวัติศาสตร์ 580 คัน นิสสัน กล่าวว่า ยอดจองทั้งหมดเป็นยอดสั่งจองจากลูกค้าโดยตรง ไม่ใช่ยอดจองจากตัวแทนจำหน่าย ซึ่งสาเหตุที่ลูกค้าให้ความสนใจ เนื่องจากได้รับรู้ถึงระบบเครื่องยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของรถ ซึ่งบางอย่างไม่มีในรถรุ่นอื่น นอกจากนั้นรถ นิสสัน ยังใช้เทคนิคการออกแบบล้ำหน้า "เออร์โก ดีไซจ์น" หรือ "ฮิวแมนเทคโนโลยี" ที่ใกล้เคียงกับสรีระของมนุษย์ รถที่แนะนำมี 3 รุ่นด้วยกันคือ รุ่น 4 ประตู 1.8 ลิตร เกียร์ 5 จังหวะ/รุ่น 4 ประตู 2.0 ลิตร หัวฉีดอีเลคทรอนิคส์ เกียร์ 5 จังหวะ/รุ่น 4 ประตู 2.0 ลิตร หัวฉีดอีเลคทรอนิคส์ เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ
ฮอนดา เปลี่ยนสีสัญลักษณ์
บริษัท ฮอนด้าคาร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2527 ตลอดระยะเวลาดำเนินธุรกิจใช้สัญลักษณ์ "สีฟ้า-ขาว" เป็นสีของบริษัท ฯ ณ เวลานั้น บริษัท ฮอนด้าคาร์ส(ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทที่มีรูปแบบของการบริหารงานแบบนานาชาติ ซึ่งเหตุผลดังกล่าว ทำให้ฝ่ายบริหารของ ฮอนด้าประเทศไทย เปลี่ยนสัญลักษณ์ จาก "สีฟ้า-ขาว" เป็น "สีแดง-ขาว" เช่นเดียวกับ บริษัท ฮอนดา ทั่วโลก
ปี 2533
มีนาคม
นิสสัน เปิดตัว เซฟีโร
เป็นที่ฮือฮากันยกใหญ่ เมื่อบริษัท สยามกลการ จำกัด เปิดตัว เซฟีโร ราคาเหยียบล้าน โดยงานนี้ผู้บริหาร นิสสัน จากประเทศญี่ปุ่น ยูทากะ คูเม ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น บินมาเพื่อร่วมงานนี้โดยเฉพาะ มีให้เลือกทั้ง เกียร์อัตโนมัติ และ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ
ฮอนดา เปิดตัว แอคคอร์ด
บริษัท ฮอนด้าคาร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ฮอนดา แอคคอร์ด เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 12 วาล์วโครงสร้างนอทช์แบค 4 ประตู เครื่องยนต์วางหน้าขับเคลื่อนล้อหน้า ให้กำลัง 85 แรงม้า เกียร์เดินหน้า 5 จังหวะ
ธันวาคม
ซูซูกิ เปิดตัว สวิฟท์
บริษัท สยามอินเตอร์เนชันแนล จำกัด เปิดตัว ซูซูกิ สวิฟท์ เครื่องยนต์ 1.3 ลิตร 4 ประตู 5 จังหวะจุดเด่น คือ มีเหล็กกันโคลงทั้งหน้า/หลัง พร้อมระบบกันสะเทือนอิสระสตรัท และคอยล์สปริง เบาะหลังสามารถเปิดทะลุถึงที่เก็บของด้านหลังได้ เป็นรถเก๋งขนาดเล็กที่มีคุณภาพดีที่สุดคันหนึ่งในยุคนั้น
ปี 2534
กุมภาพันธ์
เปิดตัว ไดฮัทสุ มีรา
บริษัท ไดฮัทสุ-พระนคร มอเตอร์ จำกัด เปิดตัวรถยนต์ ไดฮัทสุ มีรา รถพิคอัพขนาดเล็ก สำหรับการเดินทางในเมือง ด้วยเครื่องยนต์ 850 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำ 3 สูบเรียง 4 จังหวะ ประหยัดน้ำมัน 28.5 กม./ลิตร ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. มีรา ขายดิบขายดี ถือเป็นรถขนาดจิ๋ว (ยุคนั้นนิยมเรียกว่า "ซิทีคาร์") ที่สร้างความฮือฮา และยังมีให้เห็นกันบนท้องถนนในปัจจุบัน
กรกฎาคม
ครม. โอเคภาษีใหม่
รัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป ที่มีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2.0 ลิตร ส่งผลให้ราคารถยนต์นั่งในประเทศปรับตัวลดลง 15-20 % ส่วนรถพิคอัพราคาลดลงประมาณ 5 % ทำให้รถนำเข้าทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก เป็นกุศโลบายหนึ่งของรัฐบาลยุคนั้น ที่เร่งผลักดันคุณภาพการผลิตของรถที่ประกอบในประเทศ
เปิดตัว มิตซูบิชิ ปาเจโร
บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด เปิดตัว รถขับเคลื่อน 4 ล้อ มิตซูบิชิ ปาเจโร ด้วยเครื่องยนต์เบนซิน 4สูบเรียง 2.5 ลิตร 117 แรงม้า ทำให้ตลาดรถขับเคลื่อน 4 ล้อไทยกลับมาบูมขึ้น จนมีคำถามเล่นกันในหมู่เด็กๆ ว่า "ปาอะไรขึ้นเขาได้ ?" ตอบ "ปาเจโร"
ปี 2535
มกราคม
เปิดตัว ฮันเด 3 รุ่น
ยูไนเต็ด โอโต เซลส์ ฯ เปิดตัว ฮันเด 3 รุ่น ได้แก่ เอกเซล 1.5 ลิตร/เอลันทรา 1.5 และ 1.6 ลิตรทวินแคม 16 วาล์ว และ โซนาตา 2.0 ลิตร ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งจากแดนโสมเจ้าแรกที่ลุยตลาดประเทศไทย
มีนาคม
เปิดตัว โคโรลลา
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นำ โตโยตา โคโรลลา เครื่องยนต์ 1.3 และ 1.6 ลิตรเข้าสู่สายพานการผลิตในประเทศไทย โดยการคาดเดาว่า โคโรลลา จะเป็นรถยอดนิยมในอนาคต และวันนี้ผลสรุปแล้วว่าคาดไม่ผิด
ซาบ กลับมาแล้ว
รถยนต์ ซาบ ที่พัฒนาด้วยแนวคิดจากเครื่องบิน ส่งตรงจากสวีเดนมาสู่ไทยอีกครั้ง หลังห่างหายไปเกือบ 20 ปี โดยบริษัท ออโต้เทคนิค (ประเทศไทย) จำกัด วันนี้ ซาบ ยังเป็นรถคุณภาพ ครองใจผู้ใช้รถยนต์นั่งสมรรถนะดีตลอดมา
ปี 2536
มกราคม
เก็บภาษี พิคอัพ
กรมสรรพสามิตประกาศจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์พิคอัพ จากที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน โดยรถพิคอัพที่ต่อเติมห้องโดยสาร จะต้องเสียภาษีอัตราเดียวกับรถยนต์นั่งทั่วไปร้อยละ 32.5 สำหรับรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 2.4 ลิตร และร้อยละ 38 สำหรับรถยนต์ที่มีความจุเกิน 2.4 ลิตร นอกจากนี้ยังได้จัดเก็บภาษีมหาดไทยอีกร้อยละ 10
กรมสรรพสามิตเชื่อว่าในอนาคตห้องโดยสารของรถพิคอัพจะกว้างขึ้นจนเสมือนเป็นรถยนต์นั่งที่แปลง
มาในรูปของรถพิคอัพ รัฐต้องสูญเสียเงินรายได้จากภาษีสรรพสามิตส่วนนี้ไป จึงออกประกาศดังกล่าว
มาบังคับใช้เพื่อกันไว้ก่อน
กันยายน
เปิดตัว นิสสัน เอนวี
บริษัท สยามกลการ จำกัด เปิดตัว นิสสัน เอนวี รถอเนกประสงค์ 5 ประตู ออกจากสายการผลิตคันแรกในเมืองไทย เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร เอนวี ราคาถูกที่สุดในขณะนั้น และเป็นพื้นฐานให้กับรถกระบะที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนถึงปัจจุบัน ที่ปรับหน้าตาและเปลี่ยนชื่อเป็น" วิงโรด" แล้ว
ปี 2537
มกราคม
แดวู จากแดนโสม
บริษัท ไทยแดวู มอเตอร์เซลส์ จำกัด เปิดตัว แดวู แฟนทาซี 1.5 ลิตร และ เอสเพโร 2.0 ลิตร นับเป็นรถเกาหลีอีกยี่ห้อที่เข้ามาทำตลาดในไทย รถทั้ง 2 รุ่นนี้ ใช้ตัวถัง และเครื่องยนต์เก่าของรถในเครือ GM ซึ่งให้ความร่วมมืออยู่ในยุคนั้น
กุมภาพันธ์
เปิดตัว ไครสเลอร์ นีออน
บริษัท ไทยไครสเลอร์ จำกัด เปิดตัวรถขนาดเล็ก ไครสเลอร์ นีออน ซึ่งเป็นรถที่ใช้เวลาออกแบบ และพัฒนายาวนานถึง 31 เดือน ใช้ทีมงานถึง 740 คน และหมดค่าใช่จ่ายไป 1,300 ล้านเหรียญ หวังทุบตลาดรถญี่ปุ่นทั่วโลก ในประเทศไทย นีออน มีความน่าสนใจ และเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก กลายเป็นเก๋ง ไครสเลอร์ รุ่นแรกรุ่นเดียวในบ้านเรา
มีนาคม
รัฐบาลเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมัน
การเปิดโรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศและส่งออก อีกทั้งยังเป็นการรองรับการผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่ว ที่มีปริมาณความต้องการสูงขึ้น สืบเนื่องจากในปี 2536 มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันไร้สารตะกั่วถึง 879.44 ล้านลิตร สูงกว่าปี 2535 ถึง 365.58 ล้านลิตร หรือประมาณร้อยละ 75 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2537 ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วจะสูงขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
พฤษภาคม
กรมขนส่งยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ
เหตุผล คือ ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบัน การยกเลิกครั้งนี้จะไม่กระทบคนที่มีอยู่เดิม ของใหม่ใบขับขี่รถส่วนบุคคลจะใช้ได้ 5 ปี รถสาธารณะ 3 ปี หมดอายุตามวันเกิด และต้องทดสอบความสามารถเมื่อมาต่ออายุ เป็นการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนอีกทางหนึ่ง
ปี 2538
สิงหาคม
เปิดตัว ซังยง มูโช ในเมืองไทย
บริษัท ธนบุรีอุตสาหกรรมยานยนต์ จำกัด เปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ซังยง มูโช ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ เคน กรีนลีย์ ผู้ออกแบบ แอสตัน มาร์ทิน และ โรลล์ส-รอยศ์
มูโช ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 5 สูบ 2.8 ลิตร ตัวเดียวกับที่ใช้ใน G-WAGEN ของ เมร์เซเดส-เบนซ์ พร้อมหัวฉีดอีเลคทรอนิคของ โบช ให้แรงม้าสูงสุด 108 แรงม้า นอกจากเครื่องยนต์แล้วยังใช้เกียร์แบบเดียวกับเมร์เซเดส-เบนซ์ อีกด้วย ไหนๆ ก็ใช้ของ เบนซ์ แล้ว ขายได้สักพักจึงหันมาแปะตรา เบนซ์ ทั้งบนกระจังหน้าและบั้นท้าย
เปิดตัว ฮอนดา ออดิสซีย์
บริษัท ฮอนด้าคารส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ฮอนดา ออดิสซีย์ เอมพีวี คันแรกในตระกูล ฮอนดาสู่ตลาดโลก และเมืองไทยด้วยเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร
ฟอร์ด-มาซดา ผลิตรถพิคอัพในไทย
ฟอร์ด จับมือกับ มาซดา เซ็นสัญญาลงนามร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตรถพิคอัพในประเทศไทย โครงการร่วมทุนดังกล่าว ทั้ง 2 ฝ่ายต่างถือหุ้นเท่าๆ กัน ร่วมกับผู้ร่วมทุนฝ่ายไทย และเข้าร่วมบริหารในฝ่ายจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ โรงงานนี้ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมอีสต์เทิร์น ซีบอร์ด
ตุลาคม
เปิดตัว พิคอัพ วีเอมซี
บริษัท สยาม วี.เอ็ม.ซี. ยานยนต์ จำกัด เปิดตัวพิคอัพ วีเอมซี ที่มีสายการผลิตในประเทศไทย ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ขนาด 2.5 ลิตร 105 แรงม้า ผลิตโดย V.M MOTORI S.P.A และส่งชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องยนต์ดีเซลให้ ตัวถังใช้ชิ้นส่วนจากพิคอัพหลายรุ่นผสมกัน รูปลักษณ์จึงดูแปลก มีดีที่ความแรงที่สุดในยุคนั้น แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าไร ขายได้ไม่นานก็ล้มเลิกไป
ปี 2539
พฤษภาคม
เปิดตัว ฮอนดา ซิที
บริษัท ฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวรถราคาย่อมเยา ฮอนดา ซิที ออกมาเขย่าตลาดระดับล่าง เล่นเอาผู้ผลิต ที่เป็นญี่ปุ่นกันเอง รวมทั้ง เกาหลี โดนซ้อนแผน "ปิดประตูตีแมว" รถเกาหลี โดนพิษ ซิที หนักที่สุด เพราะอยู่ในระดับทางปืนเดียวกันพอดี เลยกระอักกระอ่วนตกอยู่ในภาวะ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก จนภายหลัง รถเก๋งเล็กของเกาหลีในเมืองไทยก็ต้องปิดฉาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งกันเองระหว่าง ซิที กับ โซลูนา ที่เปิดตัวภายหลัง
สิงหาคม
เปิดตัว ฮอนดา ซีอาร์-วี
บริษัท ฮอนด้าคาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ซีอาร์-วี รถยนต์อเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ
อัตโนมัติเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 130 แรงม้า ที่ใช้งานได้ทั้งในเมือง/นอกเมือง เป็นการเปิดตัวรถในอนุกรมใหม่ และเป็นรถยอดฮิทของใครหลายๆ คนจนถึงทุกวันนี้
กันยายน
เปิดตัว อีซูซุ เวอร์เทกซ์
บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดตัว อีซูซุ เวอร์เทกซ์ รถยนต์นั่งซีดาน ซึ่งใช้พื้นฐานเดียวกับ ฮอนดา
ซีวิค รถรุ่นนี้เป็นรถเก๋งเพียงรุ่นเดียวที่ผลิตในโรงงาน OEM (ORIGINAL EQUIPMENT
MANUFACTURING) ในเมืองไทยของ อีซูซุ
เปิดตัว ฮอนดา ทัวร์มาสเตอร์
ฮอนดา ทัวร์มาสเตอร์ นับเป็นรถกระบะรุ่นแรกของที่ออกจำหน่ายภายใต้ชื่อ ฮอนดา โดยใช้โครงสร้างแบบของกระบะ อีซูซุ ขนาด 1 ตัน จากข้อตกลงทางด้านการค้าในระบบ OEM ระหว่าง ฮอนดา กับ อีซูซุ โดย อีซูซู เป็นผู้ผลิตรถกระบะ ทัวร์มาสเตอร์ ส่งให้ ฮอนดา
ทั้ง 2 รุ่นนี้ ทำให้คนไทยรู้จัก OEM มากขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายของทั้ง 2 ค่ายโดยขณะนี้ เวอร์เทกซ์ ยังพอมีวิ่งให้เห็นบ้าง แต่ ทัวร์มาสเตอร์ แทบจะหายสาบสูญไปจากท้องถนน
ปี 2540
มกราคม
เปิดตัว โตโยตา โซลูนา
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัว โตโยตา โซลูนา จากโครงการรถยนต์สำหรับครอบครัวที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย หรือ AFC (AFFOADABLE FAMILY CAR) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ ฮอนดา ซิที 1.5 ลิตร โดยต้องการเน้นความเป็นรถซีดานคันแรกของครอบครัว ราคาไม่แพงเครื่องยนต์หัวฉีดขนาด 1.5 ลิตร และถุงลมนิรภัย
พฤษภาคม
เปิดตัว โอเพล แคมโป
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวรถพิคอัพ โอเพล แคมโป ใช้พื้นฐานเดียวกับพิคอัพ อีซูซุ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาพิคอัพ โอเพล ในประเทศไทย และตอบสนองความต้องการของลูกค้า โอเพล ที่ต้องการใช้รถพิคอัพ และต่อมาเป็นรถหายากอีกรุ่นของเมืองไทย
กันยายน
เปิดตัว แดวู ลาโนส
บริษัท ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ จำกัด เปิดตัว รถยนต์ แดวู ลาโนส รถเกาหลีสไตล์ยุโรป ภายใต้สโลแกน "ยนตรกรรมเขย่าโลก" ด้วยเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร กำลังสูงสุด 115 แรงม้า ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดจาก แดวู มอเตอร์ส เกาหลี ที่หวังว่าจะเปิดตัวในบ้านเรา อีก 2 รุ่น คือ นูบีรา และ เลอกันซา แต่ยังไม่ทันได้เปิดตัวก็ต้องพับโครงการไปเสียก่อน ทำให้ ลาโนส เป็นรถรุ่นสุดท้ายของ แดวู ในบ้านเรา
ปี 2541
กรกฎาคม
โทลล์เวย์เชื่อมดอนเมือง
การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ทุ่มงบ 87 ล้านบาท จ้างโทลล์เวย์สร้างทางเชื่อมเข้าสนามบินดอนเมือง เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้โทลล์เวลย์ที่ต้องการเข้าสนามบินดอนเมือง อีกทั้งยังบรรเทาการจราจรของถนนวิภาวดีได้อีกด้วย
สิงหาคม
เปิดตัว ฟอร์ด เรนเจอร์
บริษัท ฟอร์ด เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เลือกใช้ชื่อ "ฟอร์ด เรนเจอร์" รถพิคอัพที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดสหรัฐอเมริกา แทนชื่อเดิม "มาราธอน" ซึ่ง ฟอร์ด ได้ลงทุนออกแบบใหม่ทั้งคัน เพื่อตลาดรถพิคอัพในเมืองไทยโดยเฉพาะ ที่สำคัญยังเป็นพิคอัพที่ชูเรื่องความปลอดภัยเป็นจุดขาย เช่นถุงลมนิรภัย และเบรค เอบีเอส รุ่นแรกที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
พฤศจิกายน
ฮอนด้า ฯ ฉลอง 50 ปี
ฮอนด้า มอเตอร์ส ฯ ฉลองครบรอบ 50 ปี ฮอนด้าคาร์ส์ ประเทศไทย ฯ ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยร่วมเฉลิมฉลอง และใช้โอกาสนี้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ได้แก่ ซีอาร์-วี และ ซิที รุ่น 50 TH ANNIVERSARY EDITION
ธันวาคม
เปิดตัว โตโยตา ไฮลักซ์ สปอร์ท ไรเดอร์
หลังจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัวรถกระบะ ไฮลักซ์ ไทเกอร์ 3.0 จีโอเอเครื่องยนต์ดีเซลกระบะขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย โตโยตา ยังเพิ่มทางเลือกใหม่ ด้วยการเปิดตัว ไฮลักซ์ สปอร์ท ไรเดอร์ ในรูปแบบของพิคอัพดัดแปลงหรือ พีพีวี รุ่นแรกที่ประกอบจากโรงงานโดยตรง
ปี 2542
มกราคม
ลดกำมะถันในดีเซล
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติบังคับใช้ดีเซลกำมะถันต่ำ โดยประกาศให้ลดธาตุกำมะถันในน้ำมันดีเซลลงให้เหลือ ไม่เกินร้อยละ 0.05 ทำให้มลภาวะลดลง สร้างมาตรฐานใหม่ของอากาศบนท้องถนนเมืองไทย
เปิดตัว เชฟโรเลต์ ซาฟีรา
บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ซาฟีรา ที่ออกแบบภายในให้ใช้ระบบ ฟเลกซ์ 7ที่นั่ง สามารถปรับเปลี่ยนตามลักษณะการใช้งาน และเป็นรถรุ่นแรกที่ผลิตในโรงงานประกอบรถยนต์ของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ฯ ในนิคมอุตสากรรม อีสเติร์น ซีบอร์ด จังหวัดระยอง ซึ่งขายดี และยังเป็นก้าวแรกของรถสไตล์ เอมพีวี ในเมืองไทย จุดประกายให้อีกหลายค่ายสนใจ และมองหาความเป็นไปได้ในการทำตลาด เอมพีวี อย่างจริงจัง
กุมภาพันธ์
ยกเลิกบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนในประเทศ สำหรับการประกอบรถยนต์นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 ตามพันธกรณีที่มีต่อองค์การค้าโลก และเนื่องจากผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาตามนโยบายการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ประสบความสำเร็จ ประกอบกับทิศทางการแข่งขันตามระบบเศรษฐกิจเสรี โดยอาศัยกลไกการตลาด ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังได้พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีของอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อให้สอดรับ ทั้งวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป
จนถึงสินค้าสำเร็จรูป
ปี 2543
บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ปะทะ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์บริษัท บาเยอริเช โมโทเรน แวร์เค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 3 ซึ่งทางฝั่ง บริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ฤกษ์ เปิดตัว เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ เช่นกัน ทั้ง 2 รุ่นนี้เป็นรถในระดับเดียวกัน ที่จงใจเปิดตัวในเวลาไล่เลี่ยกัน
พฤศจิกายน
เปิดตัว บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5
เอกซ์ 5 เป็น เอสยูวี รุ่นแรกของ บีเอมดับเบิลยู และคู่ปรับของ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอม-คลาสส์ ด้วยการนำเอาแนวความคิดใหม่ สำหรับรถยนต์ยุค "2000 SPORTS ACTIVITY VEHICLE" หรือ SAV มาใช้สร้างรถยนต์ เอกซ์ 5 มาพร้อมเครื่องยนต์เบนซิน วี 8 สูบ ขนาด 3.5 และ 4.4 ลิตร และเครื่องยนต์ดีเซล 3.0 ลิตร ทำให้ตลาดรถ 4x4 หรู คึกคักขึ้นมาอีกครั้ง
ปี 2544
กุมภาพันธ์
ประธานคนใหม่ โตโยต้า ฯ
เรียวอิจิ ซาซากิ เข้ารับตำแหน่งประธาน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และดำรงตำแหน่งมาถึงปัจจุบัน สร้างความก้าวหน้า และพัฒนาระบบบริหารงานของบริษัทให้ดียิ่งขึ้นมาโดยตลอด
ตุลาคม
ยกเว้นภาษีเอธานอล
กระทรวงการคลัง โดยการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการออกกฎกระทรวง และประกาศกระทรวงการคลังลงวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตของเอธานอลหน้าโรงงาน และยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในส่วนของเอธานอลที่นำมาผสมกับเบนซิน เพื่อสนับสนุนการใช้แกสโซฮอล
พฤศจิกายน
เปิดศึก พีพีวี
บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด เปิดตัว สตราดา จี-แวกอน พีพีวี รุ่นแรกของ มิตซูบิชิ ในเมืองไทย สู้กับโตโยตา ไฮลักซ์ สปอร์ทไรเดอร์ ฝั่งบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัว โตโยตา ไฮลักซ์ ไทเกอร์ D-4D เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร คอมมอนเรล ไดเรคท์อินเจคชัน DOHC 16 วาล์ว รหัส 2KD-FTV และ 1KZ-TE เทอร์โบ รถพิคอัพรุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์คอมมอลเรลในเมืองไทย
ปี 2545
มิถุนายน
โตโยต้า ฯ ฉลอง 40 ปี
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ฉลองครบรอบ 40 ปี ในการดำเนินงานในประเทศไทย
ด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนให้กับมูลนิธิโตโยตาประเทศไทย จาก 250 เป็น 400 ล้านบาท การเพิ่มทุนครั้งนี้ทำให้มูลนิธิโตโยตาประเทศไทย สามารถดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือและพัฒนาสังคมไทยได้กว้างขวาง และหลากหลายมากยิ่งขึ้น
กันยายน
สยามกลการ ฯ ฉลอง 50 ปี
บริษัท สยามกลการ จำกัด ฉลองครบรอบ 50 ปี ซึ่งการฉลองความสำเร็จครั้งนี้ นิสสัน ได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม 50 กิจกรรม เช่น น้อมเกล้า ฯ ถวายรถยนต์ นิสสัน เซฟีโร คันที่ 1 ล้าน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เปิดตัวรถยนต์รุ่น 50 ปี ได้แก่ เซฟีโร/ซันนี และฟรอนเทียร์ รุ่นละ 500 คัน ในราคาพิเศษ มอบเครื่องยนต์ นิสสัน เพื่อการศึกษาแก่สถาบันอาชีวศึกษา ฯลฯ
ธันวาคม
มวยเล็ก ซิที ปะทะ วีออส
ฮอนดา เปิดตัว ฮอนดา ซิที ใหม่ ถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ 2 ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก สิ่งที่ ซิที ได้รับการพัฒนาต่างจากรุ่นก่อนที่ระบบเกียร์อัติโนมัติ ซีวีที 7 จังหวะ และห้องโดยสารที่ให้ประโยชน์ใช้สอยใกล้เคียงรถอเนกประสงค์ ส่วนคู่แข่งอย่าง โตโยตา ได้เปิดตัวโซลูนา วีออส จุดเด่นของรถรุ่นนี้นอกจากเครื่องยนต์ที่ได้รับการพัฒนาใหม่ และรูปร่างที่ปราดเปรียวแล้ว ยังออกแบบให้มาตรวัดของ วีออส อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางคอนโซลหน้า ทั้ง 2 รุ่นนี้ท้าชนกันจริงจัง
และเป็น ทอล์ค ออฟ เธอะ ทาวน์ ในกลุ่มนักขับรถยนต์ทั่วไป
ปี 2546
พฤษภาคม
อีซูซุ 1 ปี 1 แสนคัน
หลังจากที่ อีซูซุ ดี-แมกซ์ ได้เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่เมืองไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า สร้างยอดขาย 1 ปี 1 แสนคัน ปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีรถยนต์ใดๆทำได้มาก่อน
กันยายน
ทีอาร์ แบงคอค แทกซี
บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ส จำกัด (มหาชน) เปิดตัวรถต้นแบบ ทีอาร์ แบงคอค แทกซี (TR BANGKOK TAXI) หรือ ทีอาร์ แบงคอค ลีมูซีน (TR BANGKOK LIMOUSINE) ต่อมาโครงการนี้ได้ผ่านการเห็นชอบ รถ 7 ที่นั่ง สามารถใช้เป็นแทกซีได้ ทำให้ โตโยตา อินโนวา และ ซูซูกิ เอพีวี รถประเภทเดียวกัน ได้รับผลพลอยได้ไปด้วย
ธันวาคม
เปิดตัว ฮอนดา แจซซ์
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว ฮอนดา แจซซ์ รถขนาดเล็ก 5 ประตู เครื่องยนต์ I-DSI ขนาด 1.5 ลิตร เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ และเกียร์อัตโนมัติแบบ ซีวีที รุ่นนี้ขายดีมาก ช่วยกระตุ้นยอดขายของ ฮอนดา ที่ไม่สมหวังกับ ซิที ซึ่งขายได้น้อยกว่า โตโยตา โซลูนา วีออส แต่ขณะเดียวกัน ความสำเร็จด้านยอดขายของ แจซซ์ ทำให้ โตโยตา ต้องหารถในอนุกรมเดียวกันมาท้าชน คือ ยารีส
ปี 2547
กรกฎาคม
อวันซา มวยหลงรุ่น
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัว โตโยตา อวันซา จากโรงงานประกอบรถยนต์อินโดนีเซีย ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้รถอเนกประสงค์ 5 ประตู 7 ที่นั่ง โดยติดตั้งเครื่องยนต์ 1.3 ลิตร VVTI 16 วาล์ว ให้กำลังสูงสุด 88 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหลัง แต่ขายไม่ดีนัก และเป็นคู่ชกที่ผิดฝาผิดตัวกับ แจซซ์
พฤศจิกายน
รัฐดันขายแกสโซฮอล
กระทรวงพลังงานจับมือบริษัทรถยนต์รับประกันรถยนต์ของค่ายรถต่างๆ สามารถเติมแกสโซฮอลได้ทันทีโดยไม่ส่งผลเสียต่อเครื่องยนต์ ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมการใช้น้ำมันแกสโซฮอล และประกาศอย่างมั่นเหมาะว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 จะยกเลิกขายเบนซิน 95 เปลี่ยนเป็นแกสโซฮอล 95 ทั้งหมด
ปี 2548
ตุลาคม
เปิดตัว ฟอร์ด โฟคัส
ฟอร์ด ประเทศไทย ฯ เปิดตัว ฟอร์ด โฟคัส รุ่นแรกในประเทศไทย (เดิมจำหน่ายรุ่น เลเซอร์) ออกสู่ตลาดด้วยราคาที่ต่ำ เนื่องจากคาดว่ารัฐจะลดภาษีรถที่สามารถใช้ แกสโซฮอล E20 แต่ผลกลับออกมาว่า ไม่สามารถลดภาษีได้อย่างที่คิดไว้
ธันวาคม
ขาดแคลนเอธานอล
คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ กชช. เปิดเสรีการผลิตเอธานอล ซึ่งเหตุผลเนื่องมาจากมีผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตเอธานอล 24 ราย รวมกำลังการผลิตประมาณ 4.7 ล้านลิตร/วัน มีการผลิตจริงเพียงรายเดียว คือ บริษัท ไทยแอลกอฮอล์ จำกัด ผลิตประมาณ 2 แสนลิตร/วัน ขณะที่พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล ฯ และไทยอะโกรเอ็นเนอร์ยี่ ฯ ได้หยุดการผลิต เพราะติดปัญหาความคุ้มทุน และการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ส่วนบริษัท ไทยง้วนเอทานอล จำกัด จะผลิตได้เฉพาะในช่วงเดือนเท่านั้น เพราะต้องรอผลผลิตมันสำปะหลังฤดูใหม่ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงต้องขอหลักการนำเข้าเอธานอลเพิ่มอีก เนื่องจากภายในประเทศไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ
ปี 2549
มีนาคม
เปิดตัว ยารีส
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดตัวรถยนต์นั่ง โตโยตา ยารีส คู่แข่งของ ฮอนดา แจซซ์เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้มีสไตล์ตามสโลแกน "ชีวิตฉีกทเรนด์" เครื่องยนต์ 1NZ-FE VVT-I 1.5 ลิตร ตัวเดียวกับ วีออส โดยแนะนำตัวเองว่าเป็นรถเล็กระดับพรีเมียม จึงตั้งราคาสูงกว่าคู่แข่ง
มิถุนายน
ลดภาษี รถติด CNG
ครม. อนุมัติลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ให้กับรถยนตนั่งขนาดไม่เกิน 3 ลิตร ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้CNG นอกโรงงาน หรือต่างโรงงาน จะได้รับการลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 30 เหลือเพียงร้อยละ22 หรือไม่เกิน 50,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับปรุงไลน์ผลิตรถยนต์ที่เครื่องยนต์ใช้ CNG โดยตรงจากโรงงาน หรือไลน์ผลิตจะได้รับการลดภาษีเหลือร้อยละ 20 ตามประกาศของกรมสรรพสามิต ช่วยผลักดันให้คนใช้ CNG มากขึ้น ในยุคน้ำมันแพง
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนกฤต นรพันธุ์พงศ์/ถาวร พรมพิทักษ์/ปาจรีย์ ทัศนาญชลี
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : บทความ