พิเศษ(formula)
ปีใหม่ ไปทางไหนดี ?
เมื่อถึงสิ้นปี ช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน หลายครอบครัวพร้อมใจเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนและกลับภูมิลำเนา สภาพการจราจรบนเส้นทางหลักเลยติดขัด ทำให้เสียเวลา ทั้งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพราะรถมาก ไม่เคารพกฎ และเมา
"ฟอร์มูลา" จึงร่วมกับกองบังคับการตำรวจทางหลวง ประชาสัมพันธ์แนะนำเส้นทางเลี่ยงรถติดให้ถึงที่หมายไว และปลอดภัยกว่าเดิม
จุดที่ติดขัดเป็นประจำ
1. ต่างระดับบางปะอิน และต่างระดับคาร์สเบิร์ก (ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน กม.52-56 ) เนื่องจากรถที่มาจากวงแหวนตะวันตก และวงแหวนตะวันออก (มอเตอร์เวย์ สาย 9 ) จำนวนมากจะเข้ามาในถนนพหลโยธินช่องทางคู่ขนาน ไม่สามารถเข้าช่องทางด่วนได้
ดังนั้น ถ้าคุณมาจากด้านสมุทรปราการ และภาคตะวันออก ควรหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา โดยไปทางฉะเชิงเทรา หรือนครนายก ถ้ามาจากกรุงเทพ ฯ ให้ใช้เส้นทางรังสิตองครักษ์ ไปนครนายก กบินทร์บุรี ไปนครราชสีมา หรือใช้ถนนรามอินทราไปทางฉะเชิงเทราพนมสารคาม กบินทร์บุรี ไปนครราชสีมา และถ้ามาจากภาคตะวันออกยังสามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 348 สระแก้ว นางรอง บุรีรัมย์ไป สุรินทร์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี ได้อีกทางหนึ่ง
2. ต่างระดับสระบุรี ขาไปและขากลับ (ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน กม.106) รถที่จะเลี้ยวไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนมาก แต่มีทางต่างระดับเลี้ยวขวาเพียง 2 ช่องทาง ทางกรมตำรวจทางหลวงได้วางแผนรองรับโดยให้รถบรรทุก รถที่เคลื่อนตัวช้าใช้เส้นทางคู่ขนาน เลี้ยวขวาแทน โดยกั้นรถทางตรงที่จะออกจากสระบุรีให้ไปใช้ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี พร้อมเปิดช่องทางพิเศษสวนทางเดินรถขาเข้ากรุงเทพ ฯ 1 ช่อง (กรณีที่ติดมาก) โดยใช้เส้นทางผ่านค่ายทหารม้าอดิศร เป็นทางระบายรถ นอก
จากนั้นยังสามารถเลี่ยงไปใช้ทางเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันตก และเส้นทางเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันออก ไปเข้าถนนมิตรภาพที่ กม.120 ก่อนถึง อ. แก่งคอย เมื่อถึง อ. หินกอง ใช้ทางต่างระดับเลี้ยวขวาไป อ. บ้านนา นครนายก ตามทางหลวงหมายเลข 33 ถนนสุวรรณศร แล้วเลี้ยวซ้าย ไปถนนมิตรภาพ กม.122 ก่อนถึง อ. สระบุรี
3. เนินทับกวาง (ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ กม.129 ทับกวาง สระบุรี) สภาพเส้นทางเป็นทางชันช่องทางจราจรเป็นคอขวด รถแล่นช้า ใช้ทางเลี่ยงตามข้อ 1 ไม่ต้องผ่านถนนมิตรภาพ หรือใช้เส้นทางไป จ. เพชรบูรณ์เลี้ยวขวาที่ทางแยก อ. ม่วงค่อม ไปตามทางหลวงหมายเข 2256 ไป อ. ด่านขุนทดนครราชสีมา เพื่อไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
4. บางใหญ่-บางบัวทอง (ทางหลวงหมายเลข 9 ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) สภาพเป็นคอขวด จาก 5 ช่องจราจรเหลือ 2 ช่องจราจร ระยะทาง 1 กม. เศษ หากจะไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เลี้ยวขวาเข้ากรุงเทพ ฯ ที่แยกบางใหญ่เข้าถนนรัตนาธิเบศ
เส้นทางเลี่ยงรถติด
ภาคเหนือ
1. ถนนวงแหวนตะวันตก (กาญจนาภิเษก) และถนนบางบัวทอง-ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 340) ผ่าน อ. บางบัวทอง อ.ลาดหลุมแก้ว-อ. บางปลาม้า-จ. สุพรรณบุรี-อ. ศรีประจันต์-อ. สามชุก-อ. เดิมบางนางบวช-อ. หันคา เส้นทางนี้จะไปบรรจบกับทางหลวงเอเชีย บริเวณ อ. มโนรมย์ จ. ชัยนาท ถ้าจะไปเหนือต่อให้แยกซ้าย ใช้เส้นทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์
2. ทางด่วนอุดรรัถยา ผ่านงามวงศ์วาน-เมืองทองธานี-บางพูน-ธรรมศาสตร์-วงแหวนตะวันตก-ซ้ายถนนปทุมธานี-ปางปะหัน (ทางหลวงหมายเลข 347) ผ่านทางแยกเข้า อ. บางปะอิน-แยกเสนา-แยก จ.พระนครศรีอยุธยา บรรจบทางหลวงเอเชีย ที่ กม.88 ต่างระดับบางปะหัน มุ่งสู่ จ. อ่างทอง-จ. สิงห์บุรี-จ. ชัยนาท-จ. อุทัยธานี และจ. นครสวรรค์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน
1. ถนนพหลโยธิน-บายพาสส์ จ. สระบุรี-พุแค-หล่มสัก (ทางหลวงหมายเลข 21) ผ่านพุแค อ. พัฒนานิคม-แยกม่วงค่อม-ใช้เส้นทางม่วงค่อม-ด่านขุนทด (ทางหลวงหมายเลข 2256) ตรงไปถึงทางแยกด่านขุนทด ใช้เส้นทางสีคิ้ว-หนองบัวโคก (ทางหลวงหมายเลข 201) มุ่งสู่ จ. ชัยภูมิ จ. ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์
2. ตามข้อ 1 ผ่าน อ. พัฒนานิคม ตรงไป อ. ชัยบาดาล-อ. ศรีเทพ-อ. บึงสามพัน ถึงสี่แยกราหุล-ขวาใช้เส้นทางหนองบัว-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 225) ผ่าน อ. ภักดีชุมพล-อ. หนองบัวระเหว-อ. บ้านเขว้า มุ่งหน้าสู่ จ. ชัยภูมิ-จ. ขอนแก่น-จ.อุดรธานี-จ. เลย-จ. สกลนคร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง
1. ถนนวงแหวนตะวันออก (ทางหลวงพิเศษ 9) ลงต่างระดับธัญบุรี ผ่าน อ. ธัญบุรี อ. องครักษ์-อ. บางอ้อ-ถึงแยกเข้า อ. บ้านนา ใช้เส้นทางบ้านนา-แก่งคอย (ทางหลวงหมายเลข 3222) ถึงต่างระดับ แก่งคอย-ใช้เส้นทางมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่าน อ. มวกเหล็ก อ. กลางดง อ. ปากช่อง มุ่งสู่ จ.นครราชสีมา และจังหวัดต่างๆ
2. ถนนรังสิต-นครนายก (ทางหลวงหมายเลข 305) เริ่มต้นที่ต่างระดับรังสิต ผ่าน อ. ธัญบุรี -อ. องครักษ์- อ. ปากพลี-จ.ปราจีนบุรี-อ. ประจันตคาม-อ. กบินทร์บุรี- ใช้เส้นทาง กบินทร์บุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 304) ผ่าน อ. วังน้ำเขียว-อ. ปักธงชัย-มุ่งสู่ จ. นครราชสีมา หรือเส้นทาง สีคิ้ว-อุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 24) เดินทางไปยัง จ. บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ จ. สุรินทร์-จ.อุบลราชธานี
3. ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) เริ่มต้นที่ จ. สมุทรปราการ ผ่าน อ. บางบ่อ-อ. บางปะกง ใช้เส้นทางกบินทร์บุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 304) ผ่าน จ. ฉะเชิงเทรา -อ. พนมสารคาม-อ.กบินทร์บุรี-อ. วังน้ำเขียว-อ. ปักธงชัยมุ่งสู่ จ. นครราชสีมา หรือใช้เส้นทาง สีคิ้ว-อุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 24) เดินทางไปยัง จ.บุรีรัมย์-จ. ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์-จ. อุบลราชธานี
ภาคใต้
1. ใช้เส้นทาง ถ. พระราม 2 หรือ สายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่าน สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม เลี้ยวซ้ายเข้า ถ. เพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) การจราจรมีการชะลอตัวเป็นระยะช่วงสะพานพระราม 9 ดังนั้นควรคำนวณเวลาก่อนเดินทาง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปแออัดกันบนท้องถนน
2. ใช้เส้นทางสาย เพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่าน พุทธมณฑล-จ. นครปฐม-จ. ราชบุรี
ข้อมูลอุบัติเหตุน่ารู้
สรุป สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2549 (ระหว่างวันที่ 29 ธค. 2548 - 4 มค. 2549) 29 ธค. 48 เกิดอุบัติเหตุ 408 ครั้ง เสียชีวิต 37 คน บาดเจ็บ 495 คน ส่วนใหญ่เกิดจากขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 34.38 เมาสุรา ร้อยละ 18.75 และขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ร้อยละ 15.63
30 ธค. 48 เกิดอุบัติเหตุ 773 ครั้ง เสียชีวิต 81 คน บาดเจ็บ 867 คน สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.35 เมาสุรา ร้อยละ 23.53 และขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ร้อยละ 14.71
31 ธค. 48 เกิดอุบัติเหตุ 882 ครั้ง เสียชีวิต 87 คน บาดเจ็บ 999 คน เกิดจากการดื่มสุรา ร้อยละ 43.42ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 23.47 และขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 10.54
1 มค. 49 เกิดอุบัติเหตุ 852 ครั้ง เสียชีวิต 78 คน บาดเจ็บ 947 คน สาเหตุเกิดจาก เมาสุรา ร้อยละ 44.60 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 19.48 ขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ร้อยละ 8.69
2 มค. 49 เกิดอุบัติเหตุ 503 ครั้ง เสียชีวิต 59 คน บาดเจ็บ 572 คน สาเหตุเกิดจาก เมาสุรา ร้อยละ 35.59 ขับรถเร็ว เกินกำหนด ร้อยละ 16.90 ไม่มีใบขับขี่ ร้อยละ 10.74
3 มค. 49 เกิดอุบัติเหตุ 400 ครั้ง เสียชีวิต 51 คน บาดเจ็บ 456 คน สาเหตุเกิดจาก เมาสุรา ร้อยละ 28.25 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 18.75 ขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ร้อยละ 12.50
4 มค. 49 เกิดอุบัติเหตุ 346 ครั้ง เสียชีวิต 41 คน บาดเจ็บ 436 คน สาเหตุเกิดจาก เมาสุรา ร้อยละ 21.97 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 18.21 ขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ร้อยละ 11.85
จำนวนอุบัติเหตุสะสม 7 วัน (วันที่ 29 ธค. 2548-4 มค. 2549) รวม 4,164 ครั้ง เสียชีวิตรวม 434 คน บาดเจ็บรวม 4,772 คน สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากเมาสุรา ร้อยละ 37 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.19
เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ทางตรงของถนนสายจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จ. ศรีสะเกษ รวม 20 คน รองลงมา จ. นครราชสีมา รวม 17 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ จ.นครราชสีมา บาดเจ็บ รวม 167 คน รองลงมา จ. เชียงใหม่ 156 คน
[table]
สรุปยอดผู้เสียชีวิต/บาดเจ็บ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2549
วันที่, เสียชีวิต (คน), บาดเจ็บ (คน)
,จำนวน ,จำนวน
29 ธค. 2548 ,37 ,495
30 ธค. 2548 ,81 ,867
31 ธค. 2548 ,87 ,999
1 มค. 2549 ,78 ,947
2 มค. 2549 ,59 ,572
3 มค. 2549 ,51 ,456
4 มค. 2549 ,41 ,436
รวม 7 วัน ,434 ,4772
หมายเหตุ : ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน,,
[/table]
เตรียมตัวก่อนเดินทางเพื่อป้องกันอุปสรรค และปัญหายุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขับรถเดินทางไกลในช่วงเทศกาลปีใหม่และเพื่อให้สามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้ตามกำหนดโดยปลอดภัย ผู้ขับรถเดินทางจึงควรเตรียมตัว และเตรียมรถ ดังนี้
เมาไม่ขับ
ถึงแม้ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อไหร่ที่ดื่มก่อนหรือขณะขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุให้เดือดร้อนคนอื่น หากถูกตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มล./% (คือดื่มเบียร์เกิน 2 กระป๋องเล็ก) จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องจำคุก 3 เดือน ปรับ 2,000-10,000 บาท พร้อมทั้งถูกนำตัวส่งฟ้องศาล ถูกคุมประพฤติ ด้วยการให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และตัดคะแนนใบอนุญาตขับขี่ 40 คะแนน
ง่วงไม่ขับ
คนที่อดนอนติดต่อกันหลายวัน ร่างกายจะสะสมความอ่อนล้าไว้ และจะงีบหลับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าขับรถอยู่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต
การอดนอนมีผลต่อการขับรถเหมือนการดื่มแอลกอฮอล์ที่ระดับ 50 มล. ดังนั้นควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง ถามผู้รู้หรือหน่วยบริการตำรวจทางหลวง เพื่อกำหนดเส้นทางการเดินทางว่าจากจุดใดไปจุดใด มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือจุดพักรถที่ใดบ้าง
ไม่ขับรถเร็วเกินควร
การขับรถเร็วเกินไปเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่มีการตายสูงถึงร้อยละ 30 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และสูงถึงร้อยละ 50 ในประเทศด้อยพัฒนา
พี่ๆ ตำรวจทางหลวงได้นำกล้องตรวจจับความเร็วแบบเลเซอร์อินฟราเรด สามารถถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานได้นำมาใช้งาน เครื่องนี้ปฏิบัติการได้ทั้ง กลางวันและกลางคืน และสามารถถ่ายทะเบียนรถ หรือถ้าทัศนวิสัยดี ก็สามารถถ่ายภาพผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้าได้ (ควรย้าย "กิ๊ก" ไปนั่งเบาะหลังด่วน!) จากนั้นจะส่งใบสั่ง และภาพถ่ายไปยังบ้านผู้ขับขี่ หรือผู้ครอบครองรถ ในภายหลัง
เตรียมรถให้พร้อม
ระหว่างที่ขับรถเดินทางไกล โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ปัญหาอย่างหนึ่งที่ไม่อยากพบ คือ รถเสียทำให้การเดินทางล่าช้า หรือไม่ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ นำมาซึ่งความสูญเสีย ดังนั้น การตรวจสภาพรถก่อนเดินทางจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่หรือรถเก่า
การตรวจเชครถขั้นพื้นฐานที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ หรือถ้าใครขับเป็นอย่างเดียว แนะนำให้นำรถเข้าศูนย์ตรวจบริการเชคสภาพ เพียงเท่านี้การเดินทางของคุณก็ราบรื่นไปกว่าครึ่งแล้ว โดยตรวจสอบดังนี้
1. ตรวจสภาพการทำงานของเครื่องยนต์ว่ามีเสียงที่ผิดปกติจากที่เคยมีหรือไม่
2. ตรวจช่วงล่าง คันชัก คันส่ง พวงมาลัย
3. ตรวจสภาพยางรถยนต์ ลมยาง ยางอะไหล่ นอทล้อทั้ง 4 ล้อ
4. ตรวจระบบเบรค น้ำมันเบรค
5. ตรวจสภาพการทำงานของเบรคมือ
6. ตรวจสายพานเครื่องยนต์ แตก หัก หย่อนหรือไม่
7. ตรวจระบบไฟชาร์จ ว่าชาร์จไฟเก็บในแบทเตอรีตามปกติหรือไม่
8. ตรวจดูน้ำกลั่นในแบทเตอรี
9. ตรวจแตร
10. ตรวจไฟส่องสว่าง และไฟสัญญาณของรถทุกดวง
11. ตรวจการทำงานของระบบฉีดน้ำล้างกระจก
12. ตรวจระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำ พรือหม้อพักน้ำ
13. ตรวจน้ำมันเกียร์และเฟืองท้าย ลดจากระดับปกติหรือไม่
14. ตรวจระบบทำความเย็น (แอร์) และน้ำยาแอร์
15. ตรวจการรั่วไหลของของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น และน้ำหล่อเย็น
อุปกรณ์ที่ควรมีติดรถไว้ ได้แก่ แม่แรง ยางอะไหล่ ที่ขันนอทล้อ สายพ่วงแบทเตอรี ฟิวส์ของไฟหน้าและไฟท้าย ที่สำคัญต้องขับรถโดยปฏิบัติตามกฏจราจรอย่างเคร่งครัดด้วย
สอบถามเส้นทาง
กองบังคับการตำรวจทางหลวง โทร. 1193
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร พรมพิทักษ์
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)