พิเศษ(formula)
เปิดปูม ฮอนดา บนสังเวียน ฟอร์มูลา 1
คนที่เพิ่งเริ่มสนใจการแข่งขันรถสูตร 1 หรือ ฟอร์มูลา 1 อาจเข้าใจผิดคิดว่า ทีมแข่งสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง ฮอนดา เป็นทีมน้องใหม่ แต่ที่จริงแล้ว ฮอนดา เข้าร่วมชิงชัยมาตั้งแต่ 43 ปีที่แล้ว แถมทำผลงานดีเสียด้วย จนมาถึงฤดูกาลปัจจุบัน แม้ ฮอนดา ยังไม่คืนฟอร์มเก่ง แต่ดูเหมือนแฟนๆ ก็ยังคงเอาใจช่วยอยู่เสมอ
43 ปีที่ผ่านมา ฮอนดา เข้าร่วมการแข่งขัน ฟอร์มูลา 1 อย่างไม่ต่อเนื่อง แต่ละครั้งจะสร้างทีมตามความเหมาะสมของเหตุปัจจัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน
ยุคแรก ปี 2507-2511
โครงการที่น่าตื่นเต้นนี้เริ่มต้นในปี 2506 เมื่อ ฮอนดา มีความคิดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์นั่งโดยอาศัยช่องทางจากการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ท ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับรถจักรยานยนต์ โดยเตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน ฟอร์มูลา 1 ในปีถัดไป แต่ปรากฏว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2507 ทีมแข่งของอังกฤษที่ซี้กันมานาน กลับยกเลิกโครงการนี้กับ ฮอนดา อย่างฉับพลัน
ฮอนดา จึงอยู่ในภาวะที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลื่อนการเข้าร่วมแข่งขันออกไปอีก หรือสร้างทีมของตนขึ้นมาเอง แต่จากการที่ ฮอนดา เคยทดลองใช้เครื่องยนต์รหัส RA270E 1.5 ลิตร และโครงสร้างรถแข่งที่พัฒนาขึ้นมาเอง ผลที่ได้ คือ เข้าเกณฑ์ที่เรียกว่า "มีหวัง" ฮอนดา จึงตัดสินใจเลือกข้อหลังเพื่อเดินหน้าโครงการนี้
รถแข่ง ฮอนดา ปรากฏตัวครั้งแรกด้วยเครื่องยนต์ RA271 ที่พัฒนาต่อเนื่องจากเครื่องเดิม โดยมีรอนนี บัคฮัม (RONNIE BUCKNUM) เป็นนักขับชาวอเมริกันคนแรกของทีม การแข่งขันครั้งนี้ ฮอนดา ติดอันดับทอพเทน ก่อนที่จะต้องออกจากการแข่งขันไปเพราะระบบรองรับเสียหาย แต่ก็ทำให้ทีมได้มีประสบการณ์ และทุ่มเทจนถึงสนามสุดท้ายของฤดูกาล
และก็เป็นผล เมื่อ ฮอนดา เพิ่มโอกาสให้ตัวเอง ด้วยการดึงตัวนักแข่งที่ชื่อว่า ริชี กินเธอร์ (RICHIE GINTHER) มาร่วมแข่งขันในสนามที่เมกซิโก ภายใต้กฎของเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร กินเธอร์ เป็นผู้นำตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน จนกระทั่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ฮอนดา จึงสามารถคว้าชัยชนะได้ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมการแข่งขันมาได้เพียง 11 รายการเท่านั้นเอง ส่วน บัคฮัม ก็ไม่แพ้กัน เพราะทำผลงานติดอันดับที่ 5
ปี 2509 ฮอนดา พัฒนาเครื่องยนต์ และแชสซีส์ใหม่ และก็เป็นอีกครั้งที่เครื่องยนต์ของ ฮอนดา มีความเหนือชั้นกว่าคู่แข่งในด้านพละกำลัง แต่กลับเสียเปรียบเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แม้ว่า กินเธอร์จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2 แต่ในช่วงท้ายๆ ก็จำเป็นต้องออกจากการแข่งขันเพราะยางเกิดระเบิด
ปี 2510 ฮอนดา ได้ จอห์น เซอร์ทีส (JOHN SURTEES) ซึ่งเป็นแชมพ์โลกทั้งในรายการแข่งรถประเภท 2 และ 4 ล้อ มาร่วมทีม พร้อมๆ กันกับเครื่องยนต์ใหม่เอี่ยม RA300 ที่เพิ่งพัฒนาสำเร็จโดยหลังจากที่ผู้ชมจับตาการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดระหว่าง จิม คลาร์ค (JIM CLARK) และ แจค บราบแฮม (JACK BRABHAM) ผู้เลื่องชื่อ แต่ เซอร์ทีส กลับคว้าพุงเพียวๆ ไปกิน โดยเข้าเส้นชัยก่อนนักแข่งทั้ง 2 ด้วยเวลาที่ดีกว่าคือ 0.20 วินาที
เพื่อให้ทีมมีศักยภาพสูงขึ้น ปี 2511 ฮอนดา จึงพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่ขึ้นมาในรหัส RA301 ส่วนตัวรถเป็นแบบโมโนคอก แกร่ง และเบากว่า อย่างไรก็ตาม แม้ ฮอนดา จะแข่งขันกับคู่ปรับได้อย่างสูสี แต่กลับไร้โชค เนื่องจากปัญหาด้านเทคนิค ก่อนจะประสบกับปัญหาของระบบรองรับมาซ้ำเติม จนทำให้พลาดโอกาสที่จะคว้าชัยในหลายสนาม รวมถึงการที่ต้องออกจากการแข่งขันเนื่องจาก เซอร์ทีส ขาหัก จากการหักหลบรถแข่งคันอื่นที่เสียหลักหมุนขวางถนน
นานาปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2511 น่าจะเป็นผลมาจากความต้องการของ ฮอนดา ที่พยายามจะพัฒนารถแข่งให้ฉีกแนว และมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรถคันอื่นๆ และมีเป้าหมายร่วม คือการประชาสัมพันธ์ และการทำตลาดให้กับรถยนต์ในสายการผลิตรุ่นใหม่ ที่ใช้เครื่องยนต์แบบระบายความร้อนด้วยอากาศเช่นเดียวกับรถแข่ง ฮอนดา
ในปี 2512 ฮอนดา ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันชั่วคราว แต่ก็ยาวนานถึง 15 ปี โดยนำเทคโนโลยีที่ได้จากในสนามแข่งไปพัฒนารถยนต์นั่งขนาดกะทัดรัดในสายการผลิตของตัวเองตลอดช่วงหลายปีนับจากนั้น
ยุคที่ 2 ปี 2526-2535
หลังจากสร้างชื่อตนเองให้ก้าวเข้ามาเทียบชั้นบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของโลกได้แล้ว ฮอนดา ก็กลับมาสานความฝันต่อ โดยเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้งในปี 2526 ทว่าในช่วงที่หายไปนาน 15 ปี โลกของการแข่งขัน ฟอร์มูลา 1 เปลี่ยนไปมาก เครื่องยนต์ที่ใช้ในสนามเปลี่ยนเป็นเทอร์โบทั้งหมด ฮอนดา จึงต้องทำงานหนักกว่าที่คิดไว้
แค่ช่วงแรกของการแข่งขัน ฮอนดา ก็เริ่มล้าแล้ว เพราะต้องรับหน้าที่ผลิตทั้งเครื่องยนต์ และแชสซีส์ใหม่เองทั้งหมด ฮอนดา จึงมองหาพันธมิตรที่เป็นทีมแข่งสัญชาติอังกฤษ เพื่อรับหน้าที่ผลิตแชสซีส์โดยเฉพาะ ส่วนเครื่องยนต์พลังเทอร์โบเครื่องแรกของ ฮอนดา คือ รหัส RA163E โดยติดตั้งลงในรถแข่ง ภายใต้ชื่อทีม สปิริท-ฮอนดา (SPIRIT-HONDA) โดยมี สเตฟาน โจฮันส์สัน (STEFAN JOHANSSON) เป็นนักขับ แต่อันดับก็ยังไม่สวยนัก
ปี 2526 ทีมแข่งพันธมิตรชั้นแนวหน้าอย่าง วิลเลียมส์ (WILLIAMS) ก็เห็นถึงศักยภาพเครื่องยนต์ของ ฮอนดา ในเวลาต่อมาจึงสนับสนุนเครื่องยนต์ และตั้งชื่อทีมใหม่ออกแนวคู่หู คือ วิลเลียมส์-ฮอนดา (WILLIAMS-HONDA) การพัฒนาเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแทบไม่ต้องอาศัยเวลาพิสูจน์ เมื่อ คีคี รอสเบิร์ก (KEKE ROSBERG) นักแข่งชาวฟินด์แลนด์ จบการแข่งขันอันดับที่ 5 ทำสถิติให้ ฮอนดา อย่างรวดเร็วในการคว้าคะแนนแรกจากการแข่งขัน
ปี 2527 ฮอนดา พัฒนาเครื่องยนต์ RA164E ที่เบาลง และประหยัดขึ้น เนื่องจากกฎใหม่ของการแข่งขันที่กำหนดความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ที่ 220 ลิตร และยกเลิกเติมน้ำมันระหว่างการแข่งขันในทุกกรณีแม้ช่วงแรกของการแข่งขัน จะพบปัญหาความร้อนสูง อันเนื่องมาจากท่อดูดอากาศ แต่ก็ยังคว้าแชมพ์ได้ที่เมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา
สำหรับเครื่องยนต์ RA165E ตัวใหม่ ได้สร้างชื่อให้กับทีมอีกครั้งในครึ่งฤดูกาลหลัง เนื่องจากสามารถคว้าแชมพ์ใน 3 สนามสุดท้ายของปี ส่วนเครื่องยนต์ RA166E ตัวใหม่กว่า เปิดตัวออกมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกฎการแข่งขันลดความจุถังน้ำมันลงมาที่ 195 ลิตร ฮอนดา พัฒนาได้ดีจนทีม วิลเลียมส์-ฮอนดา แทบผูกขาดแชมพ์รวมกันถึง 9 สนาม และคว้าแชมพ์โลกประเภททีมผู้ผลิตในปี 2529 มาครอง และปีถัดมารถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์ของ ฮอนดา ทั้ง โลทัส และ วิลเลียมส์ ก็คว้าแชมพ์มาได้ถึง 11 จาก 16 สนาม โดยคะแนนรวมสูงสุดที่ทำได้ต่อสนามมาจากการแข่งขันในรายการอังกฤษ กรองด์ปรีซ์ เมื่อรถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์ของ ฮอนดา พาเหรดกันเข้าเส้นชัยใน 4 อันดับแรก
แต่ ฮอนดา ก็มาสิ้นสุดสายสัมพันธ์กับ วิลเลียมส์ เมื่อจบการแข่งขันในปี 2530 แลัวมาจับมือพันธมิตรใหม่อย่าง แมคลาเรนส์ (McLARENS) โดยใช้ชื่อว่า แมคลาเรนส์-ฮอนดา การจับมือครั้งนี้ทำให้หลายคนกล่าวขานว่ารถของทีมเป็นสุดยอดนวัตกรรมของ ฟอร์มูลา 1 และเกือบที่จะสร้างสถิติสมบูรณ์แบบได้ด้วยการคว้าแชมพ์มาครองถึง 15 จาก 16 สนาม
ปี 2535 หลังจาก FIA ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบในการแข่งขัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เมื่อสิ่งที่ตัดสินความเร็วของรถในสนาม จะมาจากการออกแบบแชสซีส์เป็นหลัก นั่นเองจึงเป็นเวลาที่ ฮอนดา ได้ยุติบทบาทของตน หลังจากผูกขาดความสำเร็จในสนามแข่งมานานหลายปี
ยุคที่ 3 ปี 2543-ปัจจุบัน
ฮอนดา กลับเข้ามาในสังเวียน ฟอร์มูลา 1 โดยยึดหลักการเดิม คือ การฝึกฝนฝีมือของบรรดาวิศวกรอีกทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์บแรนด์ ฮอนดา ในตลาดโลก โดยในปี 2543 ฮอนดา สนับสนุนเครื่องยนต์ให้พันธมิตรที่เป็นทีมแข่งรุ่นใหม่อย่าง บริทิช อเมริกัน เรซิง (BRITISH AMERICAN RACING) ทั้งรับหน้าที่โพรแกรมการพัฒนาตัวถังของทีมแข่งด้วย ผลงานในปีนี้สามารถเก็บได้ทั้งหมด 7 คะแนนและในปี 2544 สามารถทำได้ดีกว่าด้วยการขึ้นรับรางวัลบนโพเดียมเป็นครั้งแรกในยุคที่ 3 จากรายการแข่ง สเปน กรองด์ปรีซ์ 2001 และตามด้วยการเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 3 ที่รายการ เยอรมนี กรองด์ปรีซ์
เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในปี 2546 เมื่อ ฮอนดา เลือกที่จะสนับสนุนเครื่องยนต์ให้เฉพาะทีม บาร์ ฮอนดา (BAR HONDA) เท่านั้น และยังดึงนักแข่งชาวอังกฤษคนใหม่อย่าง เจนสัน บัททัน (JENSON BUTTON) ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ว่ามีความสามารถมากพอที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแชมพ์โลกในอนาคต แม้จะขับแข่งมาแค่ 4 ปี โดยในปีนั้นเอง บัททัน สร้างผลงานที่โดดเด่น เก็บคะแนนสะสมได้ 17 คะแนน มากกว่าเพื่อนร่วมทีมของเขาที่เป็นอดีตแชมพ์โลกถึง 11 คะแนน
ปี 2547 ทีม บาร์ ฮอนดา ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขัน เมื่อมีคะแนนสะสมในประเภททีมผู้ผลิตอยู่ในอันดับ 2 รองจาก สกูเดรีอา แฟร์รารี (SCUDERIA FERRARI) เท่านั้น โดยนักแข่งทั้ง 2 คนในทีมจบการแข่งขันแบบได้ขึ้นรับรางวัลบนโพเดียมมากถึง 11 ครั้ง ขณะที่ บัททัน มีคะแนนสะสมประเภทนักแข่งอยู่ในอันดับ 3
ปลายปี 2548 ฮอนดา ตัดสินใจเพิ่มบทบาทของตนด้วยการซื้อหุ้นจากทีม โดยถือหุ้นทั้งหมด 100 % พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทีม ฮอนดา เรซิง เอฟ 1 (HONDA RACING F1 TEAM) อย่างเป็นทางการและนี่คือ การเปิดศักราชใหม่ของ ฮอนดา ในการแข่งขัน ฟอร์มูลา 1 ในยุคนี้อย่างเต็มตัว
ปี 2549 ฮอนดา สนับสนุนเครื่องยนต์ วี 8 และงานด้านเทคนิคให้กับทีมน้องใหม่อย่าง ซูเพอร์ อกิวรี ฟอร์มูลา 1 (SUPER AGURI FORMULA 1) และดึง รูเบนส์ บาร์ริเชลโล (RUBENS BARRICHELLO) นักแข่งชาวบราซิล ผู้มากประสบการณ์มาร่วมทีม โดยเขาเป็นนักแข่งมายาวนานถึง 13 ปี คว้าแชมพ์มาหลายสนามในสมัยที่เป็นนักแข่งให้กับทีม สกูเดรีอา แฟร์รารี
ขณะที่ บาร์ริเชลโล ที่ทั้งแข่ง และใช้ประสบการณ์ร่วมพัฒนารถแข่งกับ ฮอนดา ไปพร้อมกัน บัททันก็ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม สามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในรายการ ฮังการี กรองด์ปรีซ์ แม้จะออกสตาร์ทในอันดับที่ 14 ก็ตาม ผลต่อเนื่อง ก็คือ ช่วยให้ ฮอนดา มีคะแนนรวมประเภททีมผู้ผลิตอยู่ในอันดับ 4
แม้ผลงานในปีนี้ของทีม ฮอนดา เรซิง เอฟ 1 จะยังไม่คืนฟอร์มเก่งก็ตาม ดูได้จาก 3 สนาม ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และบาเรห์น ซึ่ง ฮอนดา ยังไม่สามารถเก็บแต้มได้เลยทั้งประเภทนักแข่ง และทีมผู้ผลิต จนมีข่าวลือหนาหูว่า บัททัน อาจตีจาก ฮอนดา แต่ก็ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าตัวแล้วว่าไม่เป็นความจริงอีกทั้ง บัททัน เองก็มีสัญญาระยะยาวกับ ฮอนดา ตั้งแต่ถูกดึงตัวจากทีม วิลเลียมส์ เมื่อปี 2548
แต่แม้ บัททัน จะยืนยันในการร่วมหัวจมท้ายกับ ฮอนดา แต่ผู้จัดการส่วนตัวก็ยังไม่วายพูดถึงเงื่อนไขประการสำคัญว่า "ปีที่ผ่านมา ฮอนดา ต้องเสียช่างเทคนิคมือดีไปหลายคน ทีมงานเหล่านี้ต้องสร้างขึ้นมาทดแทน เพราะ บัททัน ไม่สามารถไปเร็วกว่านี้ได้ ถ้ารถแข่งยังวิ่งช้าอยู่"
แม้ผลงานของ ฮอนดา ในต้นปีนี้จะไม่ดีเอาเสียเลย แต่อย่าลืมว่าเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ฮอนดา สามารถเก็บชัยชนะมาได้ และได้คะแนนประเภททีมมาเป็นอันดับ 4 ยิ่งในปี 2547 ฮอนดา ก็สามารถคว้าตำแหน่งคะแนนสะสมอันดับ 2 ประเภททีมผู้ผลิตมาได้ และถ้าย้อนไปในอดีตที่เคยประสบความสำเร็จ ก็ยืนยันได้ถึงความตั้งใจแน่วแน่ของ ฮอนดา ที่อาจต้องการเวลาอีกสักนิด เพื่อกลับไปสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง
รถแข่ง "โลกในฝัน"
สังเกตไหมว่าปีนี้ ฮอนดา มีการตกแต่งรถฉีกแนวไปจากทุกๆ ค่าย และแตกต่างไปจากรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เป็นเพราะทีม ฮอนดา เรซิง เอฟ 1 มีแนวคิดใหม่ ที่เน้นการกระตุ้นเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
รถแข่ง ฟอร์มูลา 1 รุ่นใหม่ มาพร้อมกับรูปลักษณ์ที่นำเสนอถึงภาพขนาดใหญ่ และสดใสของโลกแทนที่จะตกแต่งด้วยโลโกของผู้สนับสนุนทีมเหมือนหลายทศวรรษที่ผ่านมา และก็เป็นที่น่ายินดี ที่แม้ผู้สนับสนุนมากมายของ ฮอนดา จะไม่ได้แสดงโลโกบนตัวรถ แต่ก็ช่วยผลักดัน และเห็นพ้องไปในทางเดียวกัน
กิจกรรมผ่านทางเวบไซท์ www.myeartdream.com เป็นสิ่งที่ ฮอนดา จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้ที่มีแนวคิดร่วมกันได้ตั้งพันธสัญญากับตัวเองในการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และบริจาคเงินแก่กองทุนการกุศล โดยแต่ละคนจะได้รับการบรรจุชื่อในรูปแบบของจุดเล็กๆ (PIXEL) ปรากฏลงในภาพใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงโลกของเรา แต่ละชื่อจะมองเห็นผ่านทางเวบไซท์ และผ่านทางแว่นขยายเมื่อส่องไปที่ภาพโลกบนตัวรถแข่ง
[table]
นักแข่ง ฮอนดา,
เจนสัน บัททัน,
สัญชาติ ,อังกฤษ
วันเกิด ,19 มกราคม 2523
สูง (เมตร) ,1.83
น้ำหนัก (กก.) ,68.5
สถานภาพ ,โสด
งานอดิเรก ,กีฬาทางน้ำ/จักรยาน/สกีท่องเที่ยว
เวบไซท์, www.jensonbutton.com
[/table]
[table]
รูเบนส์ บาร์ริเชลโล
สัญชาติ ,บราซิล
วันเกิด ,23 พฤษภาคม 2515
สูง (เมตร) ,1.72
น้ำหนัก (กก.) ,71
สถานภาพ ,สมรส มีบุตรชาย 2 คน
งานอดิเรก ,รถโกคาร์ท/กอล์ฟ/โบว์ลิง
เวบไซท์ ,www.barrichello.com.br
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ศ
ศิธา เธียรถาวร
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)