พิเศษ
SIMEX MISSION TO INDIA (จบ)
เรื่องราวการผจญภัยของกลุ่มนักเดินทางชาวมาเลเซีย ยังไม่จบ จากครั้งที่แล้ว พวกเขาเดินทางถึงทิเบต ผ่านพบเรื่องน่าตื่นเต้นมากมาย ในฉบับนี้ เราจะมาติดตามความเร้าใจจากการเดินทางที่มีมนุษย์เพียงไม่กี่คนที่สามารถทำได้อย่างพวกเขา...
ลฮาซา
ความผาสุกเริ่มต้น
พวกเรากินข้าวเช้ากันตอน 07.45 น. บนเรือกลไฟที่อบอุ่นและผาสุกที่ภัตตาคารลูลัง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังลฮาซา (LHASA) เมืองหลวงทิเบต
จากโบมี (BOMI) ไปลฮาซา ห่างกันถึง 400 กม. ในวันที่ 5 พฤษภาคม ขบวนต้องใช้เส้นทางบนเขาไปยังญิงชิ (NYINGCHI) ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,500 ม.
ญิงชิ เป็นเมืองสมัยใหม่ที่มีทิวทัศน์สวยงามในเขตรอบนอกเมือง ตั้งอยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำ ยาร์ลุง จังโบ (YARLUNG TSANGBO) ที่ระดับความสูง 3,000 ม. สายน้ำใสของแม่น้ำยาร์ลุงตัดกับแนวขอบฟ้าของหิมาลัย ก่อให้เกิดแกรนด์แคนยอน ยาร์ลุง จังโบ ซึ่งลึกที่สุดในโลก
ฉากของเขาที่ยอดปกคลุมด้วยหิมะที่สะท้อนลงบนแม่น้ำสีฟ้านั้น สวยงามยากเกินกว่าจะบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร การทำไร่และปลูกดอกไม้ดูจะอุดมสมบูรณ์จากอากาศแบบกึ่งเขตร้อน ภาพของดอกสีเหลืองสวยงามอร่ามทั่วทั้งไร่อย่างน่าอัศจรรย์ใจ และน่าชื่นใจที่ได้เห็นต้นหลิวขึ้นเป็นทิวแถวตลอดสองฝั่งของถนน
ลฮาซาเป็นเมืองหลวงของทิเบต มีชื่อเสียงทางด้านวัดที่มีผู้คนเดินทางมาเที่ยวมากที่สุด ลฮาซาครอบคลุมพื้นที่กว่า 544 ตร. กม. เป็นดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้า ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำลฮาซา ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำยาร์ลุง จังโบ ตั้งอยู่บนระดับความสูง 3,700 ม.
ซิกัตเซ
เมืองเก่าแก่กว่า 600 ปี
ในวันที่ 7 พฤษภาคม ขบวนได้เดินทางต่อไปยังซิกัตเซ (XIGATSE) ตอน 08.00 น. ด้วยระยะทางห่างจากลฮาซา ประมาณ 365 กม. ในภาษาทิเบต ซิกัตเซ หมายถึง ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ เพราะมันตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของแม่น้ำยาร์ลุง จังโบ และแม่น้ำญังชู (NYANGCHU) จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมจึงมีการเพาะปลูกตลอดเส้นทาง มีการใช้ม้าและวัวในการทำเกษตรกรรม
อากาศที่ประมาณ 8 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน ช่วยให้การเดินทางผ่านหมู่บ้านและทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่เป็นไปด้วยดี ตลอดทางไปยังซิกัตเซ เราได้แวะวัดตาชิลุงโป (TASHILHUNPO) ที่เก่าแก่กว่า 400 ปี ซิกัตเซเป็นเมืองเก่าแก่กว่า 600 ปีที่ปกครองโดยอดีตลามะปันเชน เป็นหนึ่งในสองผู้มีความสำคัญที่สุดและเป็นผู้นำทางศาสนาในทิเบตที่ดูแลวัดตาชิลุงโป
จุดหมายต่อไปของเราก็คือ ติงกรี (TINGRI) หลังจากที่เราพักนอนหลับกันที่โรงแรมซิกัตเซ ติงกรี เป็นหมู่บ้านที่เชื่อมต่อแนวเทือกเขาหิมาลัยกับจุดส่องกล้องของภูเขาหิมาลัย วันนี้พวกเราได้มาถึงยอดมิลฮา ซึ่งสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 5,200 ม. เมื่ออยู่ระหว่างทางไปติงกรี เป็นจุดที่สูงที่สุดของการเดินทางครั้งนี้
ที่จุดที่เรียกว่า หลังคาของโลก มันน่ากลัวยิ่งกว่าน่ากลัว มีหิมะปกคลุมอยู่มากสุดแนวสายตาไปจนถึงสุดขอบฟ้า เท่าที่เห็นได้มาเมื่อขับรถตามทางบนภูเขา เราเชื่อว่ามันเป็นช่วงเวลาที่พวกเราทุกคนต้องการมีเวลามากๆ ที่จะบันทึกความทรงจำและฟอกปอดด้วยอากาศที่สดชื่นที่สุด ทำให้มีนักขับหลายๆ คนไม่พอใจที่มีเวลาในช่วงนี้น้อยเกินไป
ตั้งแคมพ์
ที่ตีนเขาเอเวอเรสต์
เมื่อพวกเราตั้งแคมพ์ในตอนกลางคืนที่ตีนเขาเอเวอเรสต์ (ฝั่งเหนือ) ตอน 21.30 น. ที่ติงกรี ที่พักนั้นมีลมแรงและหนาวจัดมาก มันเป็นที่ๆ กว้างใหญ่ อากาศในตอนกลางคืนติดลบไปถึง -8 องศาเซลเซียส ลมที่พัดนั้นหนาวจนแทบแข็ง น้ำแร่ถูกทำให้เป็นน้ำแข็งในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่พวกเราก็รอดมาได้ท่ามกลางสภาวะอากาศที่เลวร้ายเช่นนั้น
พวกเราส่วนใหญ่ต้องการมองไปยังเขาที่สูงที่สุดในโลก เมื่อแสงแรกตัดกับแนวสันเขาในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วพวกเราก็ได้เห็นตอน 07.45 น. พวกเราเป็นหนึ่งในชาวมาเลย์ไม่กี่คนที่ได้ไปด้านเหนือของเทือกเขาเอเวอเรสต์และประสบความสำเร็จในการขับข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปยังเนปาล โดยทางถนน
ซัง มู
เมืองชายแดนเนปาล และทิเบต
ซัง มู (ZHANG MU) หรือที่รู้จักกันในชื่อคาซา (KASA) เป็นเมืองที่เกาะอยู่บนด้านข้างเขา ตั้งอยู่ห่าง 10 กม. จากสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำซุนโคซิ (SUN KOSI) ที่คั่นอยู่ระหว่าง 2 ประเทศ ทางเข้าเมืองต้องอาศัยถนนแคบๆ ที่ใช้ทั้งไปและกลับในเส้นทางเดียว ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งที่ไม่ปกติของที่ตั้งเมืองที่อยู่บนไหล่เขา ขบวนของรถบรรทุกที่มีต่อเนื่องขนส่งสินค้าเข้าและออกไปยังเมืองชายแดนที่มีการจราจรที่พลุกพล่านในเมืองซัง มู เป็นเมืองท่าทางการค้าหลักระหว่างเนปาลและทิเบต
ชายแดนที่ข้ามไปยังเนปาลนั้นราบรื่นด้วยดี เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของทิเบต ให้รายละเอียดทุกอย่างสำหรับการเดินทางต่อไปข้างหน้า ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ชั่วโมงในการขับข้ามไปยังเนปาล
กัตมันดุ
เมืองลึกลับของเนปาล
เนปาลเป็นเมืองที่น่ามหัศจรรย์เพราะมียักษ์ใหญ่ประกบเป็นแซนด์วิชอยู่ โดยมีจีน อยู่ทางเหนือ และอินเดีย อยู่ทางด้านใต้ เป็นราชอาณาจักรเล็กๆ บนพื้นที่ 140,800 ตร. กม. กับประชากร 24 ล้านคน วัดเก่าแก่และทางเดินเท้าที่ดีที่สุดในโลก
กัตมันดุ (KATHMANDU) ยังคงมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามอยู่ และมีวัฒนธรรมผสมผสานท่ามกลางการพัฒนาสู่เมืองสมัยใหม่ อากาศเริ่มอุ่นขึ้นเมื่อเราเริ่มมุ่งสู่ทางตอนใต้ ในกัตมันดุอากาศจะอยู่ที่ประมาณ 27 องศาเซลเซียส และมันเป็นช่วงหน้าร้อนในเนปาล
ธาเมล (THAMEL) ตลาดข้างทางที่มีชื่อเสียงในกัตมันดุ มีเสน่ห์มาก ธาเมลตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 5 ตร. กม. ทางตอนกลางของเมืองกัตมันดุ นักท่องเที่ยวมักนิยมมาเที่ยวโดยเฉพาะพวกเงินหนักที่กำลังแสวงหาที่พักอาศัย อาหาร ที่ฟังดนตรี อุปกรณ์กีฬาผจญภัย อย่างเช่น การปีนเขา ล่องแก่ง บริการตัวแทนท่องเที่ยว ขนส่ง และสวรรค์ของนักชอพพิง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยัง ไบห์ราฮาวา/ซานัวลี (BHAIRAHAWA/SANUALI) ชายแดนของอินเดีย พวกเราถือโอกาสแวะลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่สุดในเนปาล
อินเดีย
ร้อนและแออัด
การข้ามชายแดนไปยังอินเดียตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมง เป็นการเปิดหูเปิดตาพวกเรา การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากทิเบตและเนปาล ไปยังอินเดีย นับว่ามีความแตกต่างอย่างมาก จากที่ราบว่างเปล่าในทิเบต ทิวเขาในเนปาล ไปยังที่ซึ่งทั้งการจราจรและมนุษย์พลุกพล่านในอินเดีย
ในที่สุดพวกเราก็มาถึง ซานัวลี (SANUALI) ที่ซึ่งอากาศร้อนถึง 39 องศาเซลเซียส ในขณะที่นิวเดลฮี ร้อนกว่าถึง 50 องศาเซลเซียส ที่ซึ่งคลื่นความร้อนเข้ากระทบอินเดียอย่างเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
เมืองโกรักห์เปอร์ (GORAKHPUR) แออัดไปด้วยผู้คน จักรยาน วัวเทียมเกวียน วัว มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถบัสและรถบรรทุก ที่แย่คือทั้งรถทั้งคน วิ่งและเดินอยู่กลางถนนอย่างไม่สนใจเสียงบีบแตรรถไล่ ซึ่งต่อมาขบวนรถของพวกเราก็ต้องคืบคลานไปอย่างกับหอยทากเดินเมื่อผ่านกลางเมือง
พาราณสี
เมืองศักดิ์สิทธิ์
พาราณสี (VARANRSI) ตั้งอยู่ทางฝั่งด้านซ้ายของช่วงโค้งแม่น้ำคงคา เป็นเมืองที่สวยงามมาก เป็นเมืองที่อยู่อาศัยโบราณในอินเดีย เป็นศูนย์กลางทางศาสนาใหญ่ของชาวฮินดู เป็นที่ๆ ซึ่งมีผู้แสวงบุญมาที่นี่หลายล้านคนในทุกปี
วันรุ่งขึ้นเดินทางต่อไปอีก 12 กม. จากพาราณสี ไปยังสารนาธ (SARNATH) และพักค้างคืนที่กันเปอร์ (KANPUR) สารนาธเป็นที่ๆ พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าสาวกเพื่อให้เกิดความสงบ เกิดปัญญา และรู้แจ้งในที่สุด
นิวเดลฮี
เกิดเรื่องยุ่งๆ
ใน นิวเดลฮี (NEW DELHI) เมืองหลวงของอินเดีย ทีมนักผจญภัยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณะรัฐบาลและการท่องเที่ยวของอินเดียที่ประตูทางเข้าเมืองตอนประมาณ 20.30 น.
อีกสองวันถัดไปในนิวเดลฮีไม่ว่างเนื่องจากทางรัฐบาลอินเดีย เจ้าหน้าที่ขั้นสูงของมาเลเซีย การท่องเที่ยวของอินเดียได้จัดเลี้ยงอาหารมื้อค่ำท่ามกลางแขกเหรื่อกว่า 250 คน ที่มีทั้งสื่อมวลชน นักข่าวและเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการต่างๆ มากมาย
ที่ประทับใจพวกเรามากที่สุด เห็นจะเป็นพิงค์ซิทีในไจเปอร์ (JAIPUR) มีอายุเก่าแก่ถึง 700 ปี ที่น่าพิศวงคือ สถาปัตยกรรมของชาวโมกุลที่สองฝั่งถนน ทำเป็นตึกสองแถวที่มีความคงทน ได้รับอิทธิพลมาจากการรวมกันของวัฒนธรรมชาวมูริช ฮินดู และมุสลิม
มุมไบ
เมืองแห่งมวลชน
มุมไบ (MUMBAI) แบ่งแยกโดยทะเลอารเบีย เป็นเกาะที่เชื่อมต่อกับอินเดียโดยทางสะพานในเมืองมหาราช (MAHARASHTA) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมตั้งแต่สิ่งทอไปยังปิโตรเคมี ศูนย์กลางการเงินการธนาคาร เป็นเมืองจักรวรรดิภายใต้อาณานิคมของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์การปกครองของรัฐบาลมุมไบ
โกอา
หาดสวรรค์ของอินเดีย
ระยะทางไปโกอา (GOA) นั้นไกลมาก หลังจากที่แวะเที่ยวสถานที่น่าสนใจในมุมไบช่วงเช้าแล้ว เราเริ่มออกเดินทางต่อในเวลา 14.30 น. เพื่อให้เดินทางถึงโกอาในเช้าวันรุ่งขึ้น
โกอาตั้งอยู่ชายฝั่งด้านตะวันตกของอินเดีย เป็นสถานที่แรกๆ ในอินเดียที่ถูกค้นพบโดยท่านเซอร์ ฟรันซิส ซาวีแอร์ (FRANCIS XAVIER) และมิชชันนารีชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 13 มีโบสถ์สีขาวตั้งอยู่บนพื้นหญ้า ต้นมะพร้าวและหาดทรายสีเงินทอดยาวสลับกับฟองคลื่นสีขาว
จากการได้รับอิทธิพลของโปรตุเกส ทำให้ทุกสิ่งในโกอายังคงเป็นแบบยุโรป ถนน ตรอก ซอกซอยใช้ชื่อโปรตุเกส รวมทั้งสถาปัตยกรรม สีของบ้านและโบสถ์ ที่อยู่ในบรรยากาศริมทะเล
สิ้นสุดปลายทาง
ที่เชนไน
สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบเกี่ยวกับเชนไน (CHENNAI) ก็คือ เป็นสถานที่เดียวในอินเดียที่สามารถลิ้มลอง โรตี คาไนที่มีลักษณะเหมือนแพนเค้กในมาเลเซีย จากวันแรกที่เราเข้ามาในอินเดีย พวกเรากินแต่เพียงขนมปัง หลังจากที่พวกเราไม่ได้กินอาหารมาเลเซียเป็นเวลากว่าเดือนมาแล้ว พวกเราทั้งหมดกินโรตี คาไนนี้ไปกว่า 60 อัน ที่ร้านค้าข้างถนน ก่อนที่พวกเราจะเข้ามาในเชนไน
พวกเรามีความสุขและโล่งอกโล่งใจที่มาถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย เสียใจที่ต้องมาถึงจุดสิ้นสุดการเดินทางที่น่าตื่นเต้นแล้ว หลังจากใช้เวลาถึง 36 วันกับเพื่อนๆ นักผจญภัยด้วยกัน ไม่อยากที่จะแยกจากกัน
เชนไน หรือ มาดราส (MADRAS) เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ในอินเดีย และเป็นเมืองหลวงของ ตามิลนาดู (TAMILNADU) เป็นเมืองที่แตกต่างในด้านความงามของสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของการเป็นเมืองอาณานิคมได้อยู่
เมืองท่าเชนไนยังกระจายการพัฒนาไปยังเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และที่เมืองท่าเชนไนนี้เป็นจุดที่ส่งรถพวกเรากลับไปยังมาเลเซีย
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2545
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)