ฟ้ากว้าง ทางไกล
บันทึกหน้าสุดท้ายของศูนย์อพยพอินโดจีน
ค่ำคืนใต้แสงเทียนเล่มน้อยที่ส่องภาพถ่ายผู้อพยพหญิงม้ง เธอหนีข้ามโขงมาพึ่งแผ่นดินไทยตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ ภาพถ่ายแต่ละใบพร้อมกับคำบอกเล่ากลางดึกในศูนย์อพยพพนัสนิคม ในความมืดและเสียงคุยภาษาม้งลอยมาตามลม คำบอกเล่าเต็มไปด้วยความคิดถึง "แม่กับพ่อ"
ภาษาไทยของเธอคล่อง เพราะเติบโตในไทยมา 20 ปี รูปของชายแก่ร่างสูงหน้ายาวนั้นสะดุดตาแต่งตัวคล้ายเหมาเจ๋อตุง เธอบอกว่าเป็นพี่ชายพ่อที่ไม่เคยขาดการติดต่อ แต่ทั้งคู่เสียชีวิตไปแล้วสมัยพ่อยังหนุ่มลาพี่ชายมาค้าขายเมืองลาวแล้วกลับเมืองจีนไม่ได้ เขาปิดประเทศ จนพบรักกับแม่อยู่กินกับแม่บนดอย กระทั่งลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คอมมิวนิสต์ เวียดนาม บุกเข้ามาครอบครัวต้องหนีตาย ช่วยกันตัดไม้ไผ่ทำเป็นแพข้ามน้ำโขงมาพักพิงศูนย์อพยพบ้านวินัย จังหวัดเลยตอนนั้นอยู่กับพี่สาวหนึ่งคนด้วย เป็นภาพถ่ายขาว/ดำ ผมถักเปียยืนคู่กัน
เธอใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์อพยพมาตลอด ตั้งแต่บ้านวินัย จังหวัดเลย เชียงคำ จังหวัดพะเยา มีน้องสาวเพิ่มอีกคนภายหลังพ่อเสียชีวิตด้วยอาการป่วยหนักในศูนย์อพยพ เธอจึงได้แต่งงานและแม่มีพ่อใหม่ทั้งคู่พาน้องสาวหนีไปสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก พี่สาวมีชีวิตที่มั่นคงอยู่กับสามีในสหรัฐอเมริกาส่วนเธอกำลังรอเวลาไปสหรัฐอเมริกา อีกคน พร้อมกับสามีและลูกทั้งสองคน (เธอเดินทางไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2538)
ศูนย์อพยพพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นประตูสู่ประเทศที่สาม มิใช่ศูนย์อพยพตามแนวชายแดน ศูนย์ ฯแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้อพยพชาวอินโดจีนที่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่สามใน พศ. 2523 และได้รื้อร้างในเดือนมิถุนายน 2538 ผู้อพยพถูกส่งตัวมาจากศูนย์อพยพชายแดนไทย พวกแรกเป็นชาวเขมรต่อมาเป็นชาวลาวพื้นราบ ลาวสูง เผ่าม้ง ขมุ เมี๊ยน ลาหู และชาวเวียดนาม
ประเทศที่รับผู้อพยพไปตั้งถิ่นฐาน มีฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดาและสหรัฐอเมริกา เผ่าม้งหลายแสนคนเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา มากกว่า 5,000 คน/ปีแม้กระนั้นพวกเขายังเป็นชนส่วนใหญ่ในศูนย์ ฯ เพราะเป็นกลุ่มที่ช่วยอเมริกัน สู้รบต่อต้านคอมมิวนิสต์เวียดนามในปี 2537 คนเวียดนาม เหลือนับร้อย เขมรเหลือน้อยที่สุดสิบกว่าคน เผ่าขมุไม่มีเหลือในศูนย์ ฯบ้างได้ไปสหรัฐอเมริกา รุ่นแรกๆ และบางส่วนตกค้างอยู่ตามชายแดนไทย
พระที่หนีภัยสงครามมา ยังคงดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาได้มีการดัดแปลงอาคารให้เป็นศาสนสถานของแต่ละศาสนา มีโบสถ์คาทอลิค โปรเตสแตนท์วัดพุทธของชาวลาวและเขมร วัดพุทธนิกายมหายานของชาวเวียดนามและยังมีพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดิมในทุกชุมชนมีการถวายอาหารเพลพระสงฆ์หรือการสวดมนต์แบบเวียดนามตอนพลบค่ำเวลา 19.00 น. รวมถึงการทำผีในชุมชนชาวเขาของแต่ละเผ่า เช่น การเซ่นผี พวกเขาต้องหาสัตว์เป็นๆ อย่างหมูหรือไก่มาทำพิธีต้องติดต่อกับแม่ค้าในตลาดของศูนย์ ฯ ล่วงหน้าหนึ่งวัน แล้วนำมาทำพิธีเชือดขณะยังเป็นๆ อยู่
ในศูนย์ ฯ มีองค์กรต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือมากมาย ทั้ง โรงเรียน โรงพยาบาล มีคนเวียดนามขายปอเปื๊ยะสด หอยจ้อ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานกันในหมู่คนไทยที่ทำงานในศูนย์ ฯ ชาวเวียดนามจะใส่สังกะสีสีขาวใบใหญ่เดินขายตามองค์กรต่างๆ ส่วนหญิงม้งมีฝีมือปักผ้าคลุมเตียงผืนใหญ่ขายที่ชาวม้งเรียกการปักผ้าของเขาว่า "บั่นเด๊า"
ศูนย์รวมชาวอินโดจีน แห่งนี้ ต้องจัดแบ่งเขตที่พักอาศัยแยกแต่ละชุมชน เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาท เช่นผู้อพยพคู่กรณีอย่างคนเวียดนามกับคนม้ง ให้อยู่คนละฟากถนนของศูนย์ ฯ มีชุมชนลาวพื้นราบและเขมรกั้นชาวเขาอยู่ด้วยกันโดยแบ่งเป็นชุมชนย่อย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนเวียดนาม ต่างกับม้ง อย่างเห็นได้ชัดคนเมืองอย่างเวียดนาม ตกแต่งบ้านเป็นระเบียบ ปลูกดอกไม้รอบบ้านนำสิ่งที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยมาดัดแปลงให้น่าอยู่ พวกเขาชอบห้อยเปลไว้นอนเล่น ปกติอาคารแต่ละหลังภายในศูนย์ ฯ มีลักษณะเหมือนห้องโถงโล่งยาว อยู่แยกเป็นครอบครัว พวกเขาช่วยกันสร้างฝากั้นห้องแต่ละครอบครัวภายในห้องยังแบ่งเป็นห้องส่วนตัวได้อีก
ส่วนชาวม้งดำรงชีวิตแบบอยู่บนเขา ไม่มีการประดับตกแต่งบ้านครอบครัวม้งรวมทั้งญาติยี่สิบกว่าคนนอนอยู่ในอาคารเดียวกันโดยไม่ทำอะไรกั้นมีเพียงแคร่หรือเตียงคลุมด้วยมุ้งของแต่ละครอบครัวตั้งเรียงตามแนวยาวของอาคาร เนื่องจากสถานที่ไม่พอเครื่องครัวทุกชิ้นถูกนำมาไว้หน้าบ้าน บางครอบครัวชอบกินหนู ดักจับกันตอนกลางคืน พอเดินเขาไปในชุมชนม้งจะเห็นหนูตัวใหญ่เทียบเท่าฝ่ามือที่คว้านท้องแล้วตากแห้งเรียงกันหน้าบ้านพอหุงอาหารควันไฟจะช่วยรมให้เนื้อหนูแห้งกรอบ
นอกจากการอนุรักษ์วิถีการกินอยู่ของชาวม้งแล้ว พวกเขายังคงรักษาวัฒนธรรมการคลอดลูกที่บ้านเดิมฝ่ายหญิงทำคลอดเองกับสามีในห้องเพียง 2 คน แล้วใช้ไม้ไผ่ตัดสะดือ ญาติทุกคนรอข้างนอกการคลอดลูกสำหรับเขาเป็นเรื่องง่าย นั่นคือปกติของชีวิตมนุษย์ พอมาอยู่ในศูนย์ ฯ ห้ามคลอดเองในบ้านถ้าเกิดอาการปวดท้องคลอดลูกต้องมาคลอดในโรงพยาบาล ให้สามีรอข้างนอกแทนที่หมอจะทำคลอดกลับเป็นฝ่ายดูและคอยช่วยเหลือ หลังจากนั้นพักฟื้นในโรงพยาบาล 2-3 วัน การบังคับให้มาทำคลอดที่โรงพยาบาลเป็นการฝึกพวกเขาเรื่องการออกสูติบัตรจากโรงพยาบาลวิธีการคลอดลูกลักษณะนี้ยังอนุรักษ์กันอยู่ในอเมริกา หมอปล่อยให้คลอดลูกเอง แต่ต้องมาคลอดที่โรงพยาบาล
แต่ละชุมชนมีงานรื่นเริงประจำปีของตนเอง อย่างวันสงกรานต์ คนไทย ฝรั่ง และลาวต่างสาดน้ำสงกรานต์กันยิงปืนฉีดน้ำกัน วัยรุ่นลาวแต่งหน้าทาแป้งขีดเขียนสีสันบนใบหน้าจนจำไม่ได้ เสียงครึกครื้นวิ่งไล่สาดน้ำกันทั่วศูนย์ ฯ สมัยที่ยังมีชาวลาวพื้นราบอาศัยอยู่มาก พระสงฆ์ออกมายืนหน้าวัดลาวให้คนในศูนย์ ฯ สรงน้ำภายหลังคนลาวลดลง เผ่าม้งย้ายจากศูนย์ชายแดนเข้ามามากขึ้น พอถึงเดือนธันวาคมตรงกับวันปีใหม่ชาวม้งคนม้งนับพันในปี 2536 ฉลองกันเป็นงานใหญ่ แต่งตัวประดับเครื่องเงินที่หนักไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมครึ่ง แม้แต่เด็กเล็กๆแม่จะตัดชุดม้งชุดใหม่เตรียมไว้ใส่วันปีใหม่ มีการโยน "ป๋อป้อ"หนุ่มสาวยืนตรงกันข้ามแล้วโยนลูกบอลเท่ากับลูกเทนนิสส่งให้กัน ร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกันอีกทั้งไก่นับพันตัวถูกฆ่าทำอาหารตามประเพณี
ปีใหม่ม้งปี 2537 แทบจะไม่เหลือความสนุก ชาวม้งลดน้อยลงตามกาลเวลาเช่นเดียวกับชนชาติอื่นในศูนย์ ฯถนนเริ่มเวิ้งว้าง ไม่มีเสียงออดเลิกเรียน ไม่มีดินฝุ่นสีเหลืองปลิวว่อนตามล้อรถขององค์กรช่วยเหลือต่างๆความเงียบเหงาคืบคลานเข้ามา เหลือเพียงซากเสาบ้านกับหลังคารอเวลารื้อถอน
บรรยากาศตอนเที่ยงที่เราได้พบเห็นทุกวันจนกระทั่งมีการปิดศูนย์ ฯ คือ ผู้อพยพแต่งตัวสวยงามทันสมัยกว่าวันอื่นๆโดยเฉพาะคนเวียดนามชอบสวมชุดสูทถือตะกร้าพลาสติคใส่ของจำเป็นพ่อเฒ่าแม่เฒ่าชาวเขาชอบสวมชุดประจำเผ่า ผู้อพยพทุกชุมชนหิ้วกระเป๋า ตะกร้าอาหารพร้อมญาติมิตรไปส่งหน้าประตูศูนย์ ฯ เสียงร่ำไห้เริ่มดังขึ้น หญิงม้งผู้กำลังจะจากไปแจกผลไม้ให้ญาติพี่น้องและเด็กๆ บางคนเป็นเพียงคนรู้จักกันแต่ต่างมาร่ำลา แม่เฒ่ายิ่งเปล่งเสียงสะอื้นดังขึ้น โอบกอดหลานๆ ไม่ยอมให้ห่างออกจากอก พอเที่ยงตรงเจ้าหน้าที่เรียกชื่อหัวหน้าครอบครัว เมื่อจำนวนคนในครอบครัวถูกต้องทั้งครอบครัวได้เดินผ่านรั้วลวดหนาม ข้ามถนนใหญ่ไปรออิสรภาพอีกฝั่ง ให้รถบัสสีส้มหรือพวกเราเรียกว่า รถแดงมารับเพื่อเดินทางสู่สนามบินดอนเมือง
บนรถเต็มไปด้วยความร้อนแผดเผายามบ่าย เกิดอาการเมารถสำหรับคนที่ไม่เคยชินกับการนั่งรถเด็กบางคนอาเจียนมาตลอดทาง ผู้ใหญ่ต้องอดทนให้ถึงสนามบินพอเวลาสี่โมงเย็นรถบัสพนัสนิคมที่หลังคามีกล่องกระดาษสีน้ำเงินล้วนปิดป้ายปลายทาง USA มาถึงสนามบินความโกลาหลเกิดขึ้น เกือบทุกครั้งตั้งแต่ก้าวแรกที่พวกเขาลงจากรถ แม่เฒ่าพ่อเฒ่าม้ง พากันสลบบนฟุตบาทด้วยอาการเมารถ หนุ่มสาวหลายคนหน้าตายุ่งเหยิง
วันที่ 6 มีนาคม 2538 เราพบกับหญิงม่ายชาวม้งและลูก 2 คน ที่ใช้ผ้าที่อุ้มเด็กไว้ข้างหลังตามประเพณีม้งเธอมัดขาลูกคนละข้างผูกติดกับขาแม่เพื่อกันไม่ให้ลูกหายไปไหน
ชาวม้งคุ้นเคยกัยการนั่งกินไก่ต้มและข้าวบนพื้นในสนามบิน เป็นภาพที่น่าเอ็นดูผู้อพยพชาวม้งไปอเมริกาครั้งหนึ่งนับร้อยคน ฉะนั้นที่นั่งย่อมไม่พอแต่นิสัยพวกเขาเคยชินกับการนั่งพื้นมากกว่าบนเก้าอี้สูงส่วนคนเวียดนามจะเตรียมข้าวห่อกับช้อนนั่งกินอาหารเย็นคนละถุงบนเก้าอี้พักผู้โดยสาร
แต่ละคนหนีตายฝ่ากระสุนปืนว่ายน้ำโขงมาขึ้นฝั่งเมืองไทย บางคนข้ามทะเลมาบางคนเดินข้ามเขาสูงด้วยหวังว่าจะมีชีวิตรอด รอวันที่ประเทศตนเองสงบจากสงคราม แล้วกลับประเทศบ้างหวังที่จะไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม ปรารถนาที่จะมีชีวิตดีขึ้น
เมื่อปี 2538 ผู้คนทุกเชื้อชาติต้องเลือกประตูทางออกให้กับตนเองและครอบครัวถ้ากลับถิ่นเดิมทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงหมดแล้ว หรือถ้าอยู่ประเทศที่สามวัฒนธรรมความเป็นอยู่อาจเปลี่ยนไปคนเวียดนามที่ไม่ยอมกลับประเทศยังคงอยู่ในศูนย์สี่คิ้วในขณะนั้นและผู้อพยพชาวลาวพื้นราบและม้งยังคงอยู่นาโพธิ์ จังหวัดนครพนม
ศูนย์อพยพนาโพธิ์ เป็นศูนย์อพยพสำหรับชาวอินโดจีนแห่งสุดท้ายซึ่งรองรับผู้คนจากประเทศลาว ได้ปิดลงในปี 2542 เช่นเดียวกับสงครามอินโดจีนที่ยุติลง ผู้คนเริ่มลืมเลือนความแร้นแค้นสมัยสงครามมีการตั้งต้นชีวิตใหม่ตามมุมต่างๆ ในโลก แม้กระทั่งการกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่บ้านใหม่ในแผ่นดินเกิดหลังจากมาใช้ชีวิตในเมืองไทยหลายปี ทุกชีวิตได้รับผลพวงจากสงครามและนี่อาจเป็นคำตอบของสงคราม
ABOUT THE AUTHOR
ส
สุเทพ กฤษณาวารินทร์
ภาพโดย : สุเทพ กฤษณาวารินทร์นิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : ฟ้ากว้าง ทางไกล (4wheels)