FORD PERFORMANCE ของประเทศไทย กับความท้าทายในการแข่งขันบนเส้นทางสมบุกสมบันของรายการ ASIA CROSS COUNTRY RALLY 2024 ซึ่งเป็นการส่งทีมเข้าแข่งขันเป็นปีที่ 2 กับทีม FEELIQ INNOVATION MOTORSPORT ตัวแข่งใช้พื้นฐานจากกระบะตัวแรง นั่นคือ FORD RANGER RAPTOR (ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์) เครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบคู่ ขนาด 2.0 ลิตร ในคลาสส์ T2A-D
ทีมนักแข่ง 4 คน กับรถแข่ง 2 คัน ได้แก่ หมายเลข 118 นำโดย ไมเคิล ฟรีแมน ผู้อำนวยการทีมมากประสบการณ์ในการแข่งขันทางเรียบ และไชยยา ชมมาลี ผู้นำทางมือฉมังในวงการแรลลี ซึ่งเคยได้ลงสนามร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว และหมายเลข 131 ได้แก่ วุฒิชัย ศรแดง นักแข่งแรลลีมืออาชีพ ดีกรีแชมพ์ถ้วยพระราชทานที่มากความสามารถด้านการนำทางมาตั้งแต่วัยเยาว์ จับคู่กับผู้นำทาง คือ ชรินทร์ หาญสูงเนิน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และการแข่งขันมานานกว่า 30 ปี
สำหรับการแข่งขันในคลาสส์ T2A-D จะอิงสเปคของรถยนต์ที่ผลิตเพื่อทำตลาดจริงในหลายส่วน สามารถปรับแต่งได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เช่น รถยนต์ที่ผลิตจะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 500 คันขึ้นไปในแต่ละปี (ภูมิภาคเอเชีย), เครื่องยนต์จะต้องเป็นบลอคเดียวกันกับที่ใช้งานในรถที่ทำตลาดจริง และจะถูกจำกัดขนาดของช่องรับอากาศเทอร์โบที่ 39 มม. (สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล), การปรับบูสต์ของเทอร์โบสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถปรับแต่งระหว่างทำการแข่งขัน หรืออุปกรณ์ปรับบูสต์ภายในห้องโดยสาร, ระบบรองรับจะต้องใช้รูปแบบเดิมจากรถที่มาจากโรงงาน แต่สามารถเสริมความแข็งแรงได้, กล่อง ECU จะต้องมีกล่องที่ติดตั้งมากับตัวรถด้วย สามารถใช้กล่องพ่วงได้ แต่ไม่สามารถใช้กล่องปรับแต่งเครื่องยนต์แบบเดี่ยวๆ และชุดเกียร์ต้องใช้เสื้อเกียร์เดิม ปรับแต่งอัตราทดได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ชุดเกียร์แบบซีเควนเชียล
การแข่งขัน ASIA CROSS COUNTRY RALLY 2024 ในปีนี้มีทั้งหมด 6 ช่วงการแข่งขัน ปีนี้เส้นทางการแข่งขันจะถูกจัดในประเทศไทยทั้งหมด โดยรถยนต์มีจำนวนทั้งหมด 48 คัน (นอกจากนี้ ยังมีคลาสส์ของรถมอเตอร์ไซค์ และรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างด้วย) เส้นทางการแข่งขันปีนี้เน้นความสมบุกสมบันเป็นพิเศษ จัดเป็นความท้าทายของนักแข่ง และตัวรถ รวมถึงบรรดาทีมงานที่ทาง FORD PERFORMANCE ประเทศไทย เพิ่มจำนวนทีมช่างมากกว่าปีที่แล้ว เพื่อความพร้อมสูงสุดของการแข่งขันในปีนี้
จากการได้สอบถามทางกับทีมนักแข่ง จุดเด่นของ FORD RANGER RAPTOR คือ ระบบรองรับที่มีความได้เปรียบจากรถแข่งยี่ห้ออื่นๆ (ในคลาสส์ T2A) โดยเฉพาะช่วงล่างด้านหลังแบบคอยล์สปริงหนึ่งเดียวในคลาสส์ รวมถึงสมรรถนะจากเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบคู่ 2.0 ลิตร อย่างไรก็ตาม จุดที่ยังสามารถนำไปปรับปรุงได้ในอนาคตอันใกล้ คือ น้ำหนักโดยรวมของตัวรถที่ค่อนข้างมากจากการเสริมความแข็งแรงของตัวถังในสไตล์กระบะตัวแรง
เราได้มีโอกาสเข้าไปชมตัวแข่ง FORD RANGER RAPTOR อย่างใกล้ชิด บริเวณส่วนเซอร์วิศของทีม FORD PERFORMANCE ที่ให้การสนับสนุนทีม FEELIQ INNOVATION MOTORSPORT พบว่าตัวรถมีความใกล้เคียงกับรุ่นผลิตจริงมาก บ่งบอกถึงองค์ประกอบ และศักยภาพของตัวรถที่มีอย่างเต็มเปี่ยม สิ่งที่ถูกเสริมเข้ามา คือ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น จอแสดงผลข้อมูลขณะขับขี่, การถอดเบาะด้านหลังออกไป และถูกแทนที่ด้วยชุดโรลล์บาร์ รวมถึงอุปกรณ์ใช้งานต่างๆ ส่วนท้ายกระบะยังคงใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ทำตลาดจริง แต่มีการบรรทุกยางอะไหล่ในตัว
ระหว่างการชมมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ! กับรถยนต์หมายเลข 118 ที่ประสบอุบัติเหตุขับรถยนต์ที่ร่วมการแข่งขัน ทำให้ส่วนหน้าของรถมีความเสียหายอย่างหนัก (แต่สามารถซ่อมแซมเบื้องต้น และนำรถกลับมาที่จุดเซอร์วิศได้ทันเวลา) จัดเป็นหน้าที่ของทีมซ่อมบำรุงที่ต้องซ่อมแซมให้ตัวรถกลับมาอยู่ในสภาพเดิม ในช่วงค่ำเรากลับไปที่จุดเซอร์วิศอีกครั้ง เพื่อดูการทำงานของทีมงาน พบว่าทุกคนต้องทำหน้าที่ซ่อมบำรุงกันอย่างแข็งขันจนถึงเวลาค่ำ และทราบในภายหลังว่า ทีมงานใช้เวลาถึงช่วงตี 5 ของวันถัดมา สามารถนำรถกลับมาอยู่ในสภาพ “พร้อมลงแข่ง” ได้อย่างเหลือเชื่อ ก่อนเข้าสู่การแข่งขันในช่วงที่ 4 ในวันถัดไป
แม้เป็นการแข่งขันในปีที่ 2 ของทีม FORD PERFORMANCE และ FEELIQ INNOVATION MOTORSPORT แต่ทีมแข่งมีการพัฒนาขึ้นในหลายส่วน การทำเวลาในแต่ละช่วงการแข่งขันมีอันดับดีขึ้นโดยลำดับ (ในคลาสส์ T2A-D) เชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า และข้อมูลจากการแข่งขันที่เป็นประโยชน์สู่การพัฒนาทีมในปีถัดไป จุดสำคัญ คือ ตัวแข่ง FORD RANGER RAPTOR ที่มีองค์ประกอบจากรุ่นผลิตจริงในหลายส่วน ความแกร่งจากสนามแข่ง คือ สิ่งที่ผู้ได้ครอบครองรถกระบะตัวแรงรุ่นนี้ได้รับมาอย่างเท่าเทียมกัน !