SKILL DRIVING EXPERIENCE: ขับเป็น...ขับปลอดภัย กับ สื่อสากล จุดเด่นหลักสูตรการฝึกทักษะการขับขี่ที่เข้มข้น พร้อมรถยนต์ที่ใช้ในกิจกรรมที่หลากหลาย โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากค่ายรถ BYD (บีวายดี) MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) และ MITSUBISHI (มิตซูบิชิ) กับหลากหลายรูปแบบตัวถัง และระบบขับเคลื่อน ได้แก่ ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า เมื่อความหลากหลายของรูปแบบการส่งกำลังที่ส่งผลต่อการบังคับควบคุมรถ
รถที่ใช้ฝึกสอน คือ MITSUBISHI TRITON ATHLETE (มิตซูบิชิ ทไรทัน แอธลีท) การฝึกอบรมสถานี OVERSTEERING จำลองสถานการณ์รถยนต์เกิดอาการ “ท้ายปัด” หรือหมุนในทางโค้ง จากการสูญเสียการยึดเกาะถนนของล้อคู่หลังขณะเข้าโค้ง โดยครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถานีให้มีความคล้ายคลึงกับการเลี้ยวกลับรถในมุมแคบ แล้วผู้ขับทำการกดคันเร่งขณะทำการเลี้ยว ทำให้เกิดอาการท้ายปัดเช่นกัน การแก้ไขสถานการณ์ต้องอาศัยการหักเลี้ยวไปในทิศทางตรงกันข้ามที่ทันท่วงที ผนวกกับการชะลอความเร็วโดยการยกคันเร่ง ทันทีที่รถออกอาการท้ายปัดบนพื้นผิวเปียกน้ำของสถานีนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจะได้สัมผัสการหมุนของตัวรถด้วยตนเอง รวมถึงการฝึกจับอาการท้ายปัด และแก้ไขอย่างทันท่วงที
รถที่ใช้ฝึกสอน คือ MERCEDES-BENZ C350 E (เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี 350 อี) A 200 (เอ 200) และ GLA 200 AMG DYNAMIC (จีแอลเอ 200 เอเอมจี ไดนามิค) สถานีนี้ คือ EMERGERNCY BRAKING กับการกดแป้นเบรคอย่างรวดเร็ว และหนักแน่น จนกระทั่งระบบ ABS ทำงาน นอกจากนี้ ผู้ฝึกอบรมจะเบรคที่ความเร็วแตกต่างกัน เพื่อรับรู้ระยะเบรคที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงความสำคัญของเวลาจากการตอบสนองของผู้ขับจากการพบเจอสิ่งกีดขวาง และทำการกดแป้นเบรคลงไป แม้เป็นเวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่ก็ใช้ระยะทางหลายเมตรแล้ว การมีสติขณะขับรถเป็นสิ่งที่ควรตระหนักให้ดี ต่อกันด้วย UNDERSTEERING หรือที่คุ้นเคยกับคำว่าอาการ “แหกโค้ง” ตัวรถจะหักเลี้ยวน้อยกว่าที่ต้องการ จากการใช้ความเร็วสูงเกินระดับที่ล้อคู่หน้าจะยึดเกาะถนนได้ ตามปกติความเคยชินของผู้ขับบางคนจะพยายามหักเลี้ยวมากขึ้น แต่ความจริงแล้ว อาการ UNDERSTEERING จะยิ่งเกิดมากขึ้นแทน การแก้ไข คือ รีบลดความเร็วลงมาด้วยการยกคันเร่ง หรือทำการเบรคเบาๆ (ป้องกันรถไม่ให้เกิดอาการสะบัดในโค้ง) จนกระทั่งล้อคู่หน้ามีการยึดเกาะถนนอีกครั้ง สามารถควบคุมทิศทางได้ตามต้องการ อาการของตัวรถลักษณะนี้มักเจอได้บ่อยกว่ารูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ล้อหลัง หรือ 4 ล้อก็ตาม
รถที่ใช้ฝึกสอน คือ BYD SEAL (บีวายดี ซีล) ATTO 3 (อัตโต 3) และ DOLPHIN (ดอลฟิน) กับสถานี EMERGENCY LANE CHANGE คือ การฝึกวิธีการหลบหลีกสิ่งกีดขวางในระยะกระชั้นชิดด้วยการหักเลี้ยวอย่างรวดเร็ว ดังนี้แล้ว ตำแหน่งเบาะนั่งที่เหมาะสม ตลอดจนการจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง มีความจำเป็นมาก แม้ช่องว่างของการหักเลี้ยวรถจะค่อนข้างแคบ แต่ผู้ฝึกอบรมสามารถแล่นผ่านไปได้ แม้ใช้ความเร็วค่อนข้างมาก (40-60 กม./ชม.) เป็นอีกทักษะการขับขี่ที่มีประโยชน์ไม่น้อย ต่อด้วย ELK TEST หรือการหลบหลีกสิ่งกีดขวางบนถนนในระยะกระชั้นชิด (เช่น สัตว์ใหญ่ หรือวัตถุขนาดใหญ่) เป็นการหักเลี้ยว 2 ครั้งต่อเนื่องกัน สลับซ้าย/ขวา จำลองสถานการณ์การหลบสิ่งกีดขวาง และหักเลี้ยวกลับมายังเลนเดิม สำหรับถนนที่เป็นเลนสวนทาง การควบคุมพวงมาลัย และสายตาที่มองไปยังจุดปลอดภัยแต่ละตำแหน่ง ช่วยให้ผู้ขับหลบสิ่งกีดขวางได้ทันท่วงที และหักเลี้ยวต่อเนื่องได้อย่างมั่นคง แม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่การบังคับควบคุมสามารถใช้หลักการเดียวกันกับรถยนต์สันดาป
ขอขอบคุณผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ ดังต่อไปนี้
1. บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
2. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด
4. บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
สถานที่สำหรับการฝึกสอน SKILL DRIVING EXPERIENCE: ขับเป็น...ขับปลอดภัย กับ สื่อสากล ณ สนามแข่งรถปทุมธานีสปีดเวย์