โลกใต้ทะเล
ดำน้ำที่ ปาเลา
ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมกับเพื่อนๆ รวมเก้าคนได้เดินทางไปดำน้ำที่ สาธารณรัฐปาเลา (REPUBLIC OF PALAU) ซึ่งเป็นหมู่เกาะเล็กๆ ของกลุ่มประเทศหมู่เกาะไมโครนีเซีย (MICRONESIA) ได้แก่ ประเทศไซปัน (SAIPAN), กวม (GUAM) และ ยัป (YAP)อยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิคห่างจากเมืองมะนิลา (MANILA) ของประเทศฟิลิปปินส์ ประมาณ 1,600 กม. ลงมาทางใต้ ใช้เวลาในการบินเกือบสามชั่วโมง
ประเทศนี้ ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อย ประมาณ 343 เกาะ แต่ละเกาะนั้น เขียวชอุ่มไปด้วยไม้โกงกาง แต่มีไม่ถึงสามสิบเกาะที่มีคนอาศัยอยู่ ประชากรทั้งหมดมีประมาณ 19,000 คน
เกาะที่ใหญ่ที่สุดชื่อ บาเบลดาอบ (BABELDAOB) และมีเมืองหลวงชื่อ โคโรร์ (KOROR) เราสามารถขับรถจากหัวเกาะไปยังท้ายเกาะได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง และรถที่นี่ส่วนใหญ่เป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ สำหรับนักเล่นรถละก็ น่าสนใจมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นรถมือสองสภาพ 60-70 % เช่น มิตซูบิชิ ปาเจโร หรือ อีซูซุ ทรูเพอร์ ราคาไม่เกิน 2,000 เหรียญสรอ. (ประมาณ 80,000 บาท) ส่วนรถเก๋งสภาพเก่าๆ ก็ไม่เกิน 400 เหรียญสรอ. และรถมือสองเหล่านี้มาจากญี่ปุ่น เป็นส่วนใหญ่
พวกเราทั้งหมดจะต้องค้างคืนที่มะนิลา ก่อนที่จะต่อเครื่องมายังเมืองโคโรร์ ซึ่งสนามบินนั้นเล็กมาก มีอาคารเพียงหลังเดียว ถ้าจะเปรียบกับสนามบินบ้านเรา คงพอจะเปรียบเทียบกับสนามบินระนองได้ จากห้องตรวจขาเข้า เราได้รับการต้อนรับคล้ายๆ ที่ฮาวาย คือ มีพวงมาลัยมาคล้องคอ แต่ไม่ใช่จากสาวๆ นุ่งน้อยห่มน้อยนะครับ เป็นพนักงานสาวของบริษัทดำน้ำที่เราติดต่อไว้
ก่อนจะไปดำน้ำ ผมได้ศึกษามาแล้วว่า การดำน้ำที่นี่ ส่วนใหญ่มักจะพบกับพวกปลาใหญ่ๆ ต่างกับเรื่องที่แล้วที่ผมไปอินโดนีเซีย ซึ่งพบพวกสัตว์ตัวเล็กๆ จนถึงต้องใช้แว่นขยาย แต่ที่นี่พวกเราต้องเตรียมกล้องที่มีเลนส์มุมกว้างไปด้วย ดังนั้นการที่เราจะไปดำน้ำที่ไหนก็ตาม ควรจะต้องศึกษาถึงสถานที่ที่เราจะไป ว่าจะใช้กล้องชนิดไหน เลนส์ชนิดไหน เพื่อให้เหมาะกับสัตว์ ที่เราจะพบ และยังต้องศึกษาถึงกระแสน้ำว่าเป็นอย่างไร และผมก็ทราบมาว่ากระแสน้ำที่นั่นแรงมาก เพราะเป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทร ดังนั้นผมจึงทำเครื่องมือพิเศษ คือ ตะขอที่มีรูปร่างเหมือนเบ็ดตกปลา แต่มีขนาดใหญ่ประมาณ 5 นิ้ว และผูกด้วยเชือกขนาดนิ้วก้อยยาวสามฟุตไปด้วย โดยเอาปลายเชือกผูกกับข้อมือไว้ เมื่อพบกับกระแสน้ำแรงๆ เราก็จะเอาตะขอเกี่ยวกับก้อนหิน (ไม่ใช่ปะการัง) และเอามือจับเชือกไว้เพื่อมิให้ปลิวไปตามกระแสน้ำ มิหนำซ้ำยังทำให้สามารถถ่ายรูปได้ด้วย แต่บางครั้งกระแสน้ำก็รุนแรงจนตะขอเหล็ก ซึ่งใหญ่เกือบเท่านิ้วก้อยยืดออก ทำให้พวกเราปลิวไปตามกระแสน้ำไกลออกไปหลายร้อยเมตรทีเดียว พวกเราก็จะพยายามอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เมื่อคนหนึ่งคนใดเกิดปลิวหลุดไป ทุกคนก็จะปลดตะขอจากหินและปล่อยตัวปลิวไปด้วยกัน คล้ายกับเป็นใบไม้ที่ปลิวไปตามลมเป็นกลุ่มเพื่อมิให้พลัดจากกัน
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมพวกเราจะต้องไปดำน้ำในสถานที่ที่มีกระแสน้ำแรงๆ เพราะว่ากระแสน้ำแรงๆ นั้น พวกปลาฉลาม ปลากระเบน และปลาใหญ่ๆ แม้กระทั่งบางครั้งพวกเราก็เห็นปลาโลมา มาเป็นฝูงหลายสิบตัวมาล่าเหยื่อปลาตัวเล็กๆ ทำให้เราได้เห็นภาพที่ตื่นเต้นมาก ในบางครั้งเมื่ออยู่กลางน้ำที่ใสเป็นสีน้ำเงินนั้น เหนือศีรษะของพวกเรามีฉลามขนาด 1-2 ม. ประมาณ 7-8 ตัว และข้างล่างใต้เท้าของเราลงไปอีกหน่อย จะเห็นปลาฉลามขนาดนั้นอีก 10 กว่าตัวไล่เหยื่อปลาตัวเล็กๆ เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากมากทีเดียว
บางครั้งเราใช้ตะขอพิเศษนั้น เกาะเกี่ยวกับหน้าผาชันเป็นเส้นดิ่งลงไปของภูเขาใต้น้ำ เพื่อซ่อนตัวเองให้พ้นจากกระแสน้ำ และเฝ้าดูพวกปลาฉลาม และกระเบน วนเวียนไปมาข้างหน้าผา ซึ่งมองลึกลงไปจากหน้าผา จะไม่เห็นพื้นทะเล ซึ่งลึกถึง 200-300 ม. แม้ว่าน้ำจะใสปานใดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีกระแสน้ำเราก็จะไม่ได้เห็นภาพต่างๆ เหล่านี้ เวลาลอยอยู่กลางน้ำนอกหน้าผา โดยเฉพาะพวกที่ถ่ายรูป จะต้องระวังอย่าให้กล้องในมือหลุดเป็นอันขาด
นอกจากนั้น เมื่อขึ้นมาบนผิวน้ำก็ต้องเจอกับคลื่นบนผิวน้ำสูงเกือบเมตร กว่าจะปีนขึ้นบนเรือได้ต้องออกแรงกันยกใหญ่ ดังนั้นนักดำน้ำที่จะมาดำน้ำที่นี่ ควรมีประสบการณ์ค่อนข้างสูง ถ้ายังมีประสบการณ์น้อยก็ควรจะไปดำน้ำแถวอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย ซึ่งกระแสน้ำกับคลื่นไม่ค่อยแรง แต่สัตว์ที่เห็นก็จะเป็นสัตว์ตัวเล็ก
การดำน้ำในปาเลานี้ นอกจากจะมีชื่อเสียงดึงดูดนักดำน้ำในเรื่องของปลาฉลาม ปลากระเบนแล้วยังมีสิ่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือ ทะเลสาบแมงกะพรุน ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำกร่อย ที่เป็นภูเขาล้อมรอบน้ำทะเลซึมเข้ามาทางด้านล่างได้ และในทะเลสาบแห่งนี้ มีแมงกะพรุนนับหมื่นๆ ตัวอาศัยอยู่ เมื่อแสงอาทิตย์ส่องถูกผิวน้ำ มันจะลอยขึ้นมาจากข้างล่าง มาอยู่แถวๆ ผิวน้ำ เพราะว่าแมงกะพรุน ต้องการแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นพลังงานในการสันดาป และในทุกๆ ตารางฟุตของน้ำบนผิวน้ำจนถึงความลึกประมาณ 3-4 เมตร จะมีแมงกะพรุนไม่ต่ำกว่า 10-20 ตัว ไม่ว่าเราจะว่ายน้ำไปทางไหน ก็ต้องกระทบถูกมัน ทั้งแขน/ขา/หน้า และตัว แต่ก็น่าแปลกอยู่ ตามปกติแล้ว ผู้อ่านก็เข้าใจดีกว่า แมงกะพรุนมีพิษ เมื่อเราถูกมันก็จะคัน แสบร้อน หรือบางครั้งถึงกับเป็นรอยไหม้
เกรียม แต่แมงกะพรุน ในทะเลสาบนี้ ได้กลายพันธุ์เป็นแมงกะพรุนที่ไม่มีพิษ พวกเราลงไปว่ายน้ำจับมันเล่นบ้าง เวลามันชนเข้ากับแก้มของเรา หรือชนปาก เราจะไม่รู้สึกอะไรเลยแม้กระทั่งคัน มีนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มากันเต็มไปหมด ทั้งที่กว่าจะมาถึงทะเลสาบ ต้องนั่งเรือเร็วเกือบชั่วโมง เมื่อจอดเรือต้องปีนขึ้นเขาประมาณสิบห้านาที และลงจากเขาอีกสิบห้านาที จึงจะถึงทะเลสาบ
ภาพพวกเราโปะตัวกันขาววอกนั้น อย่าตกใจครับ เพราะเรากำลังเสริมสวยให้กับผิวของตัวเอง หลังจากตากแดดมาหลายวัน จุดที่เรือจอดอยู่ระหว่างเกาะเล็กๆ หลายเกาะ และมีอ่าวอยู่ตรงกลาง เกาะเล็กๆ เหล่านี้ เป็นเกาะภูเขาหินปูนเหมือนแถวกระบี่-พังงา ขนาดบ้านของเรามีเขาตะปู แค่เพียงเขาเดียวยังมีชื่อเสียงก้องโลก และรู้จักในนามของ เจมส์บอนด์ ไอส์แลนด์ (JAMES BOND ISLAND) แต่ที่นี่มีภูเขาแบบเขาตะปูมากมาย และนอกจากนั้นยังมีเกาะรูปเห็ดอีกมากมาย ทางตอนใต้ของหมู่เกาะปาเลา มีกลุ่มของเกาะลักษณะนี้ถึง 70 แห่ง เกาะนี้มีชื่อว่า รอค ไอส์แลนด์ (ROCK ISLAND) ซึ่งสงวนไว้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล และที่เป็นสีขาวแบบหินปูนนั้นละเอียดอ่อนนุ่มมากคล้ายกับดินสอพอง ที่นี่อยู่ใต้น้ำและละเอียดอ่อนนุ่มโดยธรรมชาติเกิดจากการที่ฝนตกชะเอาหินปูนจากเกาะภูเขาไหลลงมาพร้อมกับตะไคร่ หรือสาหร่ายเล็กๆ ซึ่งเป็นอาหารของพวกหอยมือเสือขนาดใหญ่ เมื่อมันกินเข้าไปก็จะคายหรือย่อยเอาหินปูนออกมา มันจึงละเอียดตามธรรมชาติ พวกเราดำน้ำลงไปโกยเอาขึ้นมาพอกกับผิวหนังกันใหญ่ เป็นการทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มเหมือนกับในบางประเทศที่เขาใช้โคลนทาตัว
ที่ใกล้ๆ กัน มีถ้ำใต้น้ำชื่อ ถ้ำโคมระย้า (CHANDELIER CAVE) เมื่อดำเข้าไปในถ้ำสามารถโผล่ขึ้นผิวน้ำได้ มีอากาศอยู่ในถ้ำ เราสามารถหายใจได้ และข้างบนนั้นเป็นหินย้อยมีเกล็ดเรืองแสงเหมือนโคมไฟระย้า ห้องอากาศที่อยู่ใต้น้ำนี้มีถึงสามห้อง แต่ละห้องต้องดำลง และว่ายไปโผล่ขึ้นผิวน้ำไปยังอีกห้องหนึ่ง ภายในห้องอากาศนั้นมืดสนิท เราต้องใช้ไฟฉายส่องขึ้นไปดู ถ้าเป็นนักดำน้ำมือใหม่ จะมีความกลัวว่า เมื่อโผล่ขึ้นผิวน้ำจะเจองูตามผนังถ้ำ แต่ความจริงไม่มีเลย แม้กระทั่งปลา !
พวกเราผจญกับคลื่นและกระแสน้ำรุนแรงวันละสามครั้งเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เต็มๆ จนกระทั่งวันสุดท้าย และรุ่งขึ้นอีกวันพวกเราจะต้องพักเพื่อความปลอดภัยก่อนขึ้นเครื่องบิน เพราะตามกฎของการดำน้ำ จะขึ้นเครื่องบินเลยไม่ได้ ต้องพักอย่างน้อย 18 ชม. เวลาว่างของวันสุดท้าย เราไปที่อ่าวแห่งหนึ่งใกล้ตัวเมือง ซึ่งมีการศึกษา และค้นคว้าเกี่ยวกับการฝึกปลาโลมา และใช้ปลาโลมาเป็นเครื่องมือช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่พิการ โดยเอาทุ่นผูกเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้ปลาโลมาหนี เราได้ฟังคำบรรยายเกี่ยวกับการศึกษาปลาโลมา โดยผู้เชี่ยวชาญชาวท้องถิ่น เลยได้ความรู้ว่า ปลาโลมา นั้นเวลากินปลาจะไม่เคี้ยว ใช้วิธีกลืนเข้าไป ดังนั้นจะต้องใช้ปลาที่ไม่มีเกล็ดเป็นอาหาร ซึ่งศูนย์ ฯ สั่งลูกปลาอินทรีย์บ้าง และลูกปลาอย่างอื่นบ้าง จากประเทศแคนาดา ซึ่งเปลืองมากทีเดียว จึงต้องขอเงินบริจาคจากนักท่องเที่ยวในการชมและถ่ายภาพปลาโลมา
เรามีความสนใจเรื่องธรรมชาติมาก จึงอยู่คุยกับผู้ฝึกปลาโลมา เลยรู้ว่าการให้อาหารที่สั่งซื้อมาจากประเทศแคนาดา มิใช่เรื่องง่าย เพราะลูกปลาที่สั่งมา จะต้องแช่แข็ง และจะปล่อยให้อาหารซึ่งแช่แข็งอ่อนตัวลงเฉยๆ ไม่ได้ เพราะในเนื้อปลาเหล่านั้น จะไม่มีน้ำเหลืออยู่ ทางศูนย์จะต้องฉีดน้ำเข้าไปในเนื้อปลาก่อน มิฉะนั้นปลาโลมากินเข้าไปแล้วก็จะขาดน้ำ ทำให้มันอยู่ไม่ได้
ขากลับก็เช่นกัน พวกเราจะต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่มะนิลา โดยไม่ค้างคืน พรรคพวกทั้งหมดแปดคนเปลี่ยนเครื่องกันไปแล้ว เหลือผมต้องอยู่ประชุมเกี่ยวกับธุรกิจการดำน้ำกับประเทศฟิลิปปินส์ อีก 3-4 วัน ผมเลยต้องอยู่คนเดียวเหมือนเดิม
ABOUT THE AUTHOR
ศ
ศรันต์ กิตติวัณณะกุล
ภาพโดย : ลดาวัลย์ สุพรรณธะริดานิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : โลกใต้ทะเล