สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีนี้ผันผวน และตกต่ำอย่างน่าใจหาย ผลสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน สงคราม การเมือง อีกทั้งตลาดรถอีวี ก็แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด จนหลายฝ่ายมองว่า ยอดขายรถทั้งตลาดน่าจะน้อยกว่าช่วง COVID-19 เสียด้วยซ้ำ โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 5-6 แสนคันเท่านั้น
ปีนี้ถือเป็นปีทองของค่ายรถจากประเทศจีน จากปีก่อนที่มีเพียง 4-5 บแรนด์เท่านั้น แต่ตอนนี้มีมากกว่า 10 บแรนด์ ล่าสุดค่ายยักษ์ใหญ่ STELLANTIS (สเตลแลนทิส) ประกาศแต่งตั้ง บริษัท พระนครยนตรการ จำกัด (PNA) เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ LEAPMOTOR (ลีพมอเตอร์) อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เป็นก้าวแรกที่ PNA กลับมาคว้าสิทธิ์บแรนด์รถยนต์อีกครั้ง
ค่ายรถจีนประกาศสงครามราคา แข่งกันลดค่าตัวรุ่นละเป็นแสน คาดว่าเนื่องจากสตอคสินค้ามีจำนวนมาก ส่งผลกระทบสะเทือนตลาดทั้งรถสัญชาติเดียวกัน รถญี่ปุ่น รถเกาหลี รวมถึงรถยุโรป ที่ต้องปรับราคาสู้ พร้อมอัดแคมเปญแบบไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ศึกสงครามราคาครั้งนี้ ผลดีมาตกกับผู้บริโภคที่กำลังมองหารถใหม่
กลายเป็นข่าวฮือฮา เมื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นยกเลิกแผนผลิตรถยนต์ในไทย เริ่มด้วย SUBARU (ซูบารุ) ประกาศว่า ตั้งแต่ปี 2568 รถที่จำหน่ายในตลาดประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา จะเป็นรถนำเข้า หรือ COMPLETE BUILD UP (CBU) จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึง SUZUKI (ซูซูกิ) ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และปรับแผนเป็นการนำเข้ารถที่ผลิตจากภูมิภาคอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น และอินเดีย
บอร์ดอีวี ไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิต “แบทเตอรีระดับเซลล์” สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน ผู้ลงทุนต้องเป็นผู้ผลิตแบทเตอรีชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีแผนการผลิตเซลล์แบทเตอรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และสามารถผลิตเซลล์แบทเตอรีสำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ได้ด้วย กำหนดลงทุนภายในปี 2570 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน และพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ ทั้งรถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบทเตอรีล้วน (BEV) โดยมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้คงที่ ในช่วงปี 2571-2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น 2 % ทุก 2 ปี (ปัจจุบันจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 จะเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 8 % สำหรับรถที่ปล่อยคาร์บอนเท่ากับ หรือน้อยกว่า 100 กรัม/กม. หากถ้าปล่อย 101-120 กรัม/กม. เก็บ 16 %) คาดว่าจะดึงค่ายรถมาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
กระทรวงพลังงานประกาศ “ยกเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล” ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ซึ่งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังจะร่วมกันบริหารจัดการราคาขายปลีก โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
บริษัทแม่ KIA MOTOR CORPORATION (เกีย มอเตอร์ คอร์พอเรชัน) ประกาศแต่งตั้ง บริษัท เกีย เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 ส่วนผู้แทนจำหน่ายเดิม ยนตรกิจ เกีย มอเตอร์ฯ กลายเป็นเพียงดีเลอร์รายหนึ่งเท่านั้น และล่าสุด บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศทุ่มงบฯ 1,000 ล้านบาท ผ่านโครงการ EV 3.5 ขึ้นโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดอีก 2 ปีเริ่มผลิต พร้อมส่งรถ IONIQ 5N (ไอโอนิก 5 เอน) ลุยตลาด
บริษัท วินฟาสต์ ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาตั้งบริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 108,360,000 บาท และนำรถเข้ามาอวดโฉมหลายรุ่น ทั้ง VF E34 (วีเอฟ อี 34), VF5 (วีเอฟ 5), VF6 (วีเอฟ 6), VF7 (วีเอฟ 7), VF8 (วีเอฟ 8) และ VF9 (วีเอฟ 9) รวมถึงรถกระบะไฟฟ้า VF WILD (วีเอฟ ไวลด์) ตัวใหม่ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มขาย VINFAST (วินฟาสต์) ก็ประกาศชะลอแผนการทำธุรกิจในไทย เนื่องจากสงครามราคาของรถจีนที่รุนแรง แม้แต่ญี่ปุ่นยังเซ VINFAST จึงขอกลับไปตั้งหลักใหม่
กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยผุดแนวคิด จัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (CONGESTION CHARGE) ในกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรหนาแน่น ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมจัดทำระบบรองรับด้านขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ ปฏิรูปรถเมล์, ปฏิรูประบบขนส่งทางราง เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียว ปราศจากมลพิษ PM2.5 โดยเบื้องต้น วางแผนจะเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 50 บาท/คัน และนำเงินรายได้ไปสนับสนุนการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
“มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” ประสบความสำเร็จสุดยิ่งใหญ่ มีบริษัทรถยนต์ร่วมงาน 42 บแรนด์ จาก 9 ประเทศ ได้แก่ AION, AUDI, AVATR, BMW, BYD, BYD COMMERCIAL, DEEPAL, DENZA, FORD, FOTON, GEELY, GREAT WALL MOTOR, HONDA, HYUNDAI, ISUZU, JEEP, JUNEYAO, KIA, KING LONG, LEAPMOTOR, LEXUS, LOTUS, MASERATI, MAZDA, MERCEDES-BENZ, MG, MINI, MITSUBISHI, NETA, NISSAN, OMODA & JAECOO, PEUGEOT, POCCO, PORSCHE, RIDDARA, SUZUKI, TESLA, TOYOTA, VOLVO, WULING, XPENG และ ZEEKR รวมถึงชุดแต่ง/ผู้นำเข้าอิสระ M’Z SPEED
รถจักรยานยนต์ 22 บแรนด์ จาก 7 ประเทศ ได้แก่ AJ EV, ALPHA VOLANTIS, BMW MOTORRAD, DECO, EM MOTOR, FELO, HANWAY, HARLEY-DAVIDSON, HONDA, KAWASAKI, LAMBRETTA, NIU, RAPID, ROYAL ALLOY, ROYAL ENFIELD, SOLAR, STROM, SUZUKI, TRIUMPH, YAMAHA, ZEEHO และ ZONTES
บทความแนะนำ