จริง : แต่ยังไม่ดีพอในบางสถานการณ์ แนะนำให้ใช้น้ำยาหล่อเย็นเติมจะดีกว่า เพราะน้ำเปล่ามีจุดเดือดที่ต่ำกว่าน้ำยาหล่อเย็น จึงมีโอกาสโอเวอร์ฮีทสูง
เรารู้กันดีว่า หลักการทำงานของเครื่องยนต์ คือ ดูด อัด ระเบิด และคาย เพื่อแปรเปลี่ยนพลังงานความร้อนเป็นพลังงานกล โดยอาศัยของเหลวมาสัมผัสผิวโลหะด้านนอกห้องเผาไหม้ เพื่อรับความร้อน และ “นำไปทิ้ง” นอกเครื่องยนต์ ของเหลวที่ว่านี้ จะต้องไม่ระเหยง่าย ไม่เป็นสารพิษ ไม่กัดกร่อน และหาได้ง่าย แน่นอนว่าคุณสมบัติเหล่านี้หาได้ใน “น้ำสะอาด” และไม่ต้องถึงกับบริสุทธิ์จัดแบบน้ำกลั่น แค่น้ำเปล่า หรือน้ำประปาบ้านเราก็พอ แต่มันก็ยังดีไม่พอในบางสถานการณ์ครับ
ในสมัยก่อนเครื่องยนต์ให้กำลังไม่สูงนัก ความร้อนที่ “คาย” ออกมาจึงไม่มากนัก แต่ปัจจุบันเครื่องยนต์มีกำลังเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับความจุที่เท่ากัน สมมติว่าต้องขับรถขึ้นภูเขาสูง เครื่องยนต์ก็ต้องใช้กำลังสูงเพื่อสู้กับความชัน โดยยิ่งสูงความดันบรรยากาศยิ่งลดลง จุดเดือดของน้ำลดลง ผสานกับความร้อนที่เครื่องยนต์คายออกมาเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำเดือดเร็ว เกิดวงจรวิกฤตขึ้นทันที เพราะไอน้ำในสถานะแกส เป็นตัวนำความร้อนที่แย่มาก เครื่องยนต์จึงยิ่งร้อนขึ้น น้ำก็ยิ่งเดือดมากขึ้น หากไม่ดับเครื่องยนต์ก็จะชำรุดในเวลาไม่กี่นาที
ดังนั้นจึงต้องหาสารมาผสมกับน้ำ เพื่อเพิ่มจุดเดือดของน้ำ ซึ่งก็คือ เอธิลีน กไลคอล (ETHYLENE GLYCOL) หรือสารหล่อเย็นที่เรารู้จักกันดี เพราะระบายความร้อนได้ดีกว่า และมีจุดเยือกแข็งที่ต่ำ ถ้ามีใครมาบอกเราว่า ไม่ต้องใส่เอธิลีน กไลคอล ให้เปลืองเงินหรอก แค่น้ำเปล่าก็พอแล้ว อย่าไปเชื่อเชียวครับ ! แม้ไม่ได้ให้มันทำหน้าที่กันน้ำแข็งตัว หรือยกระดับจุดเดือด ก็ต้องผสมเอธิลีน กไลคอล ไว้เสมอ เพราะมีสารต้านการเกิดสนิม และการกัดกร่อน ผสมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีสารช่วยหล่อลื่นผิวที่เสียดสีกันในปั๊มน้ำของเครื่องยนต์ ช่วยให้อายุใช้งานยืนยาวขึ้น ทุกครั้งที่ซ่อมระบบหล่อเย็น หรือมีการรั่วของน้ำหล่อเย็น ต้องเติมน้ำยาหล่อเย็น (เอธิลีน กไลคอล) ให้ได้ความเข้มเหมาะสมไว้เสมอ อายุใช้งานของน้ำยาหล่อเย็นไม่ควรเกิน 3 ปี ถ้าจะให้ดีเจาะจงให้ศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาหล่อเย็นใหม่ทุกๆ 2 ปีจะดีที่สุดครับ