เขาว่า... : ไฟไหม้รถ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟฟ้า...จริงไหม ?
จริง : เพราะรถชนิดไหนก็สามารถเกิดไฟไหม้ได้ จากอุปกรณ์บางอย่างที่ทำงานบกพร่อง จนเกิดความร้อนสูงไปโดนวัสดุที่ติดไฟ
ขึ้นชื่อว่า “รถ” ต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ “น้ำมันเชื้อเพลิง” “น้ำมันหล่อลื่น” “กระแสไฟฟ้า” หรือแม้แต่ “อุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์” ทุกสิ่งล้วนมีโอกาสเกิดเพลิงลุกไหม้ได้จากความร้อน แม้ผู้ผลิตรถยนต์จะพยายามปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ให้ต้านการติดไฟได้ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันรถรุ่นใหม่ก็มีการใส่อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มจากเดิมหลายเท่า
ตั้งแต่ปีใหม่ 2568 ก็มีข่าวรถยนต์เกิดเพลิงไหม้มากมาย ตั้งแต่รถยนต์ไฮบริด (HEV), พลัก-อิน ไฮบริด (PHEV), รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) หรือแม้แต่รถที่หลายคนชอบโทษในทันทีที่เห็นไฟไหม้รถอย่าง “รถติดแกส” ทำไมรถทุกชนิดเกิดไฟไหม้ได้ละ เราไปทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน
เพลิงไหม้ในรถยนต์เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
“ความร้อนจากท่อไอเสีย”
โดยเฉพาะส่วนที่ใกล้กับเครื่องยนต์ของรถเทอร์โบ ซึ่งตรงจุดนี้ท่อไอเสียระหว่างเครื่องยนต์ และเทอร์โบจะร้อนจัด จนอาจลุกไหม้ได้
“น้ำมันเชื้อเพลิง”
เรารู้กันดีว่าสิ่งนี้พร้อมจะติดไฟได้ตลอดเวลา ถ้าถูกกระตุ้นด้วยความร้อนที่สูงพอ โดยเฉพาะเมื่อรั่วไหลออกจากท่อเชื้อเพลิง
“กระแสไฟฟ้า”
ทำให้เกิดการสปาร์คเป็นประกาย ไปกระตุ้นให้เชื้อเพลิงลุกไหม้ขึ้นมาได้ หรือไม่ก็เกิดการลัดวงจรแบบไม่ผ่านฟิวส์ ทำให้ลวดทองแดงร้อนจัด จนกระตุ้นให้เปลือกสายไฟลุกไหม้
“น้ำมันหล่อลื่น”
แม้จะไม่ไวไฟเท่าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ก็ติดไฟได้ง่ายเช่นกัน
สุดท้าย “อุปกรณ์ไฟฟ้า”
พวกสวิทช์ต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นมอเตอร์หมุนได้ จะเกิดความร้อนสูงเป็นพิเศษ แม้ผู้ผลิตรถยนต์จะพยายามปรับปรุงคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ให้ต้านการติดไฟได้ดีขึ้น แต่สถิติเพลิงไหม้รถกลับไม่ลดลงเท่าไร เนื่องจากรถรุ่นใหม่มีการใส่อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า เมื่อเทียบกับรถไม่กี่ 10 ปีที่ผ่านมา
การหาสาเหตุเพลิงไหม้ของรถเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูงด้านนี้โดยเฉพาะ ใครใช้รถรุ่นไหนอยู่ ลองหาข้อมูลจุดอ่อน ของรถจากอินเตอร์เนทครับ ถ้าสงสัยแนะนำให้สอบถามไปยังบริษัทใหญ่ในต่างประเทศได้เลย เขามีผู้รับผิดชอบคอยตอบปัญหาของลูกค้าทั่วโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้ เรายังสามารถป้องกันความเสียหายไม่ให้บานปลายได้ ด้วยการพกอุปกรณ์ดับเพลิงติดรถไว้ จะอุ่นใจขึ้นครับ