เจาะสนามแข่งต่างประเทศ
AUTOBACS ASIA CROSS COUNTRY RALLY 2005
การแข่งขันครอสส์คันทรี รายการ AUTOBACS ASIA CROSS COUNTRY RALLY 2005 ในปีนี้เลือกพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย เป็นสนามพิสูจน์ความเป็นเจ้าทางฝุ่น โดยมีรถเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 43 คัน มีทั้งทีมจากประเทศญี่ปุ่น นำโดย อูเคียว คาตายามะ/ไออิชิ อูซามิ นักแข่ง F1 ชาวญี่ปุ่นซึ่งผ่านการแข่งขันแรลลี ปารีส-ดาการ์ มาอย่างโชกโชน ส่วนประเทศเกาหลี ส่งรถ ซังยง มูโชกับเกีย โซเรนโต ลงสู้ศึก มาเลเซียเพื่อนบ้านใกล้ชิดก็เข้าร่วมเช่นเคย ไต้หวันมาพร้อมกับนักแข่งจากแอฟริกาใต้ และประเทศไทย ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับนักแข่งแชมพ์เอเชีย 2004 ชูศักดิ์ ทัศนวิริยกุล และวรพจน์ บุญช่วยเหลือ อดีตแชมพ์เอเชีย 2 สมัย
การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นโดย ORTEV INTERNATIONAL GROUP ร่วมกับ ORTEV THAILAND ร่วมกับ AUTOBACS, YOKOHAMA GEOLANDAR, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รับรองโดยราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (รยสท.) ซึ่งอยู่ในความควบคุมของสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ (FIA)
เลกแรก การแข่งขันเริ่มปล่อยสตาร์ทที่บริเวณสนามหลวง ในเวลา 18.30 น.จากนั้นเดินทางด้วยระยะทาง 80.70 กิโลเมตร เข้าพัก ณ จ. พระนครศรีอยุธยา
เลก 2 จาก จ. พระนครศรีอยุธยา เดินทางสู่ช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 1 ด่านช้าง-บ้านไร่ ระยะทาง 71.50 กิโลเมตร โดยสภาพเส้นทางเป็นทางป่า ช่วงระยะ 10 กิโลเมตร มีบ่อโคลนดัก ซึ่งสามารถสร้างปัญหาให้กับนักแข่งเป็นอย่างมาก ช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 2 บ้านแม่ปลื้ม-คลองลาน ระยะทาง 110.80 กิโลเมตร มีจุดดักอยู่ที่ระยะ 61.30 กิโลเมตร ซึ่งรถแข่งต้องขับรถข้ามคลองที่น้ำไหลเชี่ยวมาก โดยส่วนใหญ่รถแข่งไม่สามารถผ่านได้คงติดคาอยู่ในคลอง และเมื่อจบการแข่งขัน เวลารวมตกเป็นของนักแข่งจากประเทศเกาหลี เซอุง-ชุล จุน/ฮัน-จิน โช ด้วยเวลา 3.03.24 ชั่วโมง อันดับ 2 วรพจน์ บุญช่วยเหลือ/อุกฤษณ์ ขุนทอง 3.04.34 ชั่วโมง อันดับ 3 ธวัชชัย ผสมทรัพย์/พรเทพ สุขขะหุต 3.11.48 ชั่วโมง
เลก 3 ออกสตาร์ทจาก อ. แม่สอด เดินทางสู่ อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน เข้าสู่ช่วงทดสอบพิเศษเอสเอส 3 บ้านแม่ลาน้อย-เขาแม่ลา ระยะทาง 89.90 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างการแข่งขันฝนตกตลอด ทำให้เส้นทางเพิ่มความยากเป็นสองเท่า นักแข่งแทบทุกคันต้องใช้ความสามารถทั้งวินช์ ทั้งลาก เพื่อเข้าสู่จุดลงเวลา เมื่อจบช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 3 ซึ่งจะต้องแข่งขันต่อในช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 4
นายสนามเห็นว่าเส้นทางอาจเกิดอันตราย จึงให้แข่ง ช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 4 ในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งจรัส แจ้งกมลกุลชัย/ประกาย น้ำใจทหาร ทำเวลาเร็วสุดคือ 1.27.00 ชั่วโมง ตามมาด้วย ไพฑูรย์ อุ่นอารมณ์/ พีรพงษ์ สมบัติวงศ์ 1.27.00 ชั่วโมง และอันดับ 3 เป็นของ ธวัชชัย ผสมทรัพย์/พรเทพ สุขขะหุต 1.28.00 ชั่วโมง
เลก 4 ย้อนจากแม่ฮ่องสอนเพื่อเข้าสู่จุดสตาร์ท ช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 4 ห้วยแฟน-แม่ฮ่องสอนระยะทาง 81.50 กิโลเมตร เส้นทางเป็นเขาสูง แคบ ลัดเลาะป่า จากนั้นเดินทางเข้าแข่งขันต่อในช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 5 ซึ่งได้ตัดเส้นทางช่วงแรกออกไปเพื่อให้ทันต่อการแข่งขัน จาก อ. ปาย-อ.เวียงแหง ระยะทาง 82.50 กิโลเมตร ซึ่งเส้นทางผ่านยอดดอยสูง เหว โดย ดำรง ยิ่งสกุล/บรรพต อัมพรมหา ทำเวลารวมในวันนี้เข้ามาในอันดับ 1 ด้วยเวลา 2.16.00 ชั่วโมง อันดับ 2 เซอุง-ชุล จุง/ฮัน-จิน โช ด้วยเวลา 2.17.00 ชั่วโมง ส่วนแชมพ์เอเชียคนล่าสุด ชูศักดิ์ ทัศนวิริยกุล/ธนู จันทร์เมืองเข้ามาในอันดับ 3 กับเวลา 2.18.03 ชั่วโมง
เลก 5 จ. เชียงราย มุ่งหน้าลงสู่ จ. พะเยา เข้าแข่งช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 6 บ้านแม่ยาง-พะเยา ระยะทาง 85.70 กิโลเมตร ซึ่งเปลี่ยนจากเส้นทางเขา มาลัดเลาะตามคลองส่งน้ำชลประทานใช้ความเร็วได้อย่างเต็มที่ จากนั้นเข้าแข่งขันต่อในช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 7 ใช้พื้นที่รอบ จ. พะเยา ระยะทาง 90.70 กิโลเมตร เป็นทางเร็วสลับทางป่า ซึ่งเร็วได้แต่ต้องแม่นในเส้นทาง เพราะทางแยกมีมาก วรพจน์ บุญช่วยเหลือ ที่เวลารวมมาเป็นอันดับ 2 ก็ต้องมาเสียท่าชนกับ จรัส แจ้งกมลกุลชัย ทำได้เพียงประคองรถเข้าเส้น แต่ไม่สามารถแข่งต่อได้อีก ซึ่งวันนี้ ณัฐพล อังฤธานนท์/ประกอบ ชาวทะเล ทำเวลาเข้ามา 2.53.06 ชั่วโมง ตามมาด้วย ชูศักดิ์ ทัศนวิริยกุล/ธนู จันทร์เมือง กับเวลา 2.56.00 ชั่วโมง อันดับ 3 เป็นรถของ วิวัตน์ เอี่ยวเล็ก/ปราโมทย์ อรรถาชิต กับเวลา 2.61 ชั่วโมง
เลก 6 เป็นวันที่มีระยะทางทั้งแข่งขันและเดินทางมากที่สุดคือ 658 กิโลเมตร เริ่มจาก จ. สุโขทัยเข้าสตาร์ทที่ จ. เพชรบูรณ์ ช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 8 ท่าด้วง-เขาพวง ระยะทาง 67.40 กิโลเมตรเส้นทางช่วงแรกเป็นทางลูกรังที่ชาวบ้านใช้สัญจร จากนั้นผ่านไร่มัน ไร่ข้าวโพด ก่อนจะขึ้นเขาพวงซึ่งเส้นทางเป็นหินลอย ช่วงทดสอบพิเศษ เอสเอส 9 ลำสนธิ-ลำตะคอง ระยะทาง 111.50 กิโลเมตร สภาพทางเร็วสลับช้าในป่าละเมาะ คินยา โมริกาวา/มาซายูกิ ฟูกาโน จากญี่ปุ่น สามารถทำเวลาในวันนี้ดีสุด 2.43.75 ชั่วโมง อันดับ 2 เป็นรถจากประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน ด้วยเวลา 2.47.60 ชั่วโมง อันดับ 3 เป็นรถ ซูซูกิ แคริเบียน ของ นพดล/พัลลภ มีนิล จากภูเก็ต 2.47.60 ชั่วโมง
เลก 7 ออกจาก อ. ปากช่อง ตัดขึ้นเขาใหญ่เพื่อมาลง จ. ปราจีนบุรี เดินทางเข้าแข่งในช่วงทดสอบพิเศษเอสเอส 10 อ. ปลวกแดง ระยะทาง 51.70 กิโลเมตร ตัดสินแชมพ์เอเชียปี 2005 ซึ่งเส้นทางนี้ใครไม่นิ่งก็จบ เพราะมีให้หลงอยู่หลายระยะ โดยเมื่อจบการแข่งขันทั้ง 7 เลก ผลโอเวอร์ออลล์ ตกเป็นของเซอุง-ชุล จุง/ฮัน-จิน โช รถ ซังยง มูโช จากประเทศเกาหลี กับเวลารวม 15.09.44 ชั่วโมงจากนั้นเดินทางสู่พิธีปิดการแข่งขันที่ อมารี ออร์คิด รีสอร์ท พัทยา
[table]
ผลการแข่งขัน AUTOBACS ASIA CROSS COUNTRY RALLY 2005
OVERALL,,,,
อันดับ,ชื่อ,ทีม,รถแข่ง ,เวลา(ชม.)
1., เซอุง-ชุล จุง,SEOUG-CHUL JUNG ,ซังยง มูโซ ,เวลารวม 15.09.44 ชั่วโมง
,ฮัน-จิน โช,,,
2., ชูศักดิ์ ทัศนวิริยกุล ,SILVERSTONE THAILAND,ตโยตา ไฮลักซ์ วีโก,เวลารวม 15.18.02 ชั่วโมง
,ธนู จันทร์เมือง,,,
3., ดำรง ยิ่งสกุล ,,อีซูซุ ดี-แมกซ์ ,เวลารวม 15.40.39 ชั่วโมง
,บรรพต อัมพรมหา,,,
T1G (เบนซิน),,,,
1., เซอุง-ชุล จุง,SEOUG-CHUL JUNG ,ซังยง มูโช ,15.09.44 ชั่วโมง
,ฮัน-จิน โช,,,
2., อูเคียว คาตายามะ , UKYO WITH OSAKA ,โตโยตา ปราโด,17.31.49 ชั่วโมง
,,TOYOTA GROUP,,
3., บัณฑิต ปัณฑิตา,AZTEX FORCE ,ซูซูกิ วีทาราเวลารวม ,18.37.37 ชั่วโมง
,สมชาย ศรีโมรา,S.T.C. HYPER POWER,,
T1D (ดีเซล),,,,
1., ชูศักดิ์ ทัศนวิริยกุล,SILVERSTONE THAILAND ,โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก, 15.18.02 ชั่วโมง
,ธนู จันทร์เมือง,,,
2., ดำรง ยิ่งสกุล ,,อีซูซุ ดี-แมกซ์ ,15.40.39 ชั่วโมง
,บรรพต อัมพรมหา,,,
3., วิวัตน์ เอี่ยวเล็ก ,,อีซูซุ ดี-แมกซ์ ,15.58.00 ชั่วโมง
ประเภททีม,,,,
อันดับ,ทีม ,,,
1., ทีม SIAM NISSAN BANGCHAK PIRELLI ,,,
2., ทีม BANGCHAK THAILAND ,,,
[/table]
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร พรมพิทักษ์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : เจาะสนามแข่งต่างประเทศ