พิเศษ
นับถอยหลัง "LISBOA-DAKAR 2006"
ศึกแรลลีหฤโหดรายการ ดาการ์ แรลลี เป็นรายการแข่งขันที่ท้าทายมากที่สุดรายการหนึ่งของโลกด้วยเส้นทางการแข่งขันที่พาดผ่านลัดเลาะไปตามท้องทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ระยะทางยาวกว่า 14,000 กม. ท่ามกลางอากาศร้อนจัดในเวลากลางวัน ตกกลางคืนอากาศหนาวเย็นยะเยือกกับการเดินทางกว่าครึ่งเดือนข้ามทวีปจากยุโรป มุ่งหน้าสู่แอฟริกา ผ่านพบอุปสรรคนานัปการไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา หรือเหตุการณ์คับขันเฉพาะหน้าที่ไม่อาจคาดเดาได้
ดาการ์ แรลลี ปีนี้ มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย โดยออกสตาร์ท ณ เมืองลิสโบอา (LISBOA) ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศโปรตุเกส และใช้ชื่อรายการว่า LISBOA-DAKAR 2006 จัดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 28
กำหนดการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 17 วัน ข้ามทวีปจากยุโรป มุ่งหน้าสู่แอฟริกา ผ่านประเทศที่สำคัญมากถึง 5 ประเทศ คือ โมรอคโค, มอริตาเนีย, มาลี, กานา และสิ้นสุดที่เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล
ความท้าทายของสนามแข่งแรลลีข้ามทะเลทรายรายการเก่าแก่อย่าง ดาการ์ ที่จัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี 1979 จนถึงปัจจุบันในปี 2006 เส้นทางข้ามทะเลทรายในซาฮารา ยังคงดึงดูดให้นักแข่งจากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน ที่ต้องฝ่าด่านและใช้ทักษะในการสำรวจมากมาย
ปีนี้มีจำนวนรถแข่งสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดมากเป็นประวัติการณ์ถึง 725 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 180 คัน มอเตอร์ไซค์ 350 คัน รถบรรทุก 75 คัน และรถบรรทุกสัมภาระต่างๆ รวมทั้งรถเซอร์วิศอีก 240 คัน เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังมีนักแข่งและทีมงานจากกว่า 30 เชื้อชาติมากถึง 1,700 คน ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
"ปีนี้มีทีมและผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากกว่าที่เราคาดไว้มาก ถือว่าเป็นความสำเร็จ และความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้จัดและทีมงานทุกคน ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้การแข่งขันดาการ์ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ เป็นเพราะความหฤโหดของเส้นทาง เป็นสิ่งที่สร้างความท้าทาย และแรงบันดาลใจ ให้ผู้คนจากทั่วโลก อยากเป็นส่วนร่วม" เอเทียนน์ ลาวิจ์น (ETIENNE LAVIGNE) ผู้อำนวยการ ดาการ์ แรลลี กล่าวในวันแถลงข่าวสื่อมวลชน
สำหรับกำหนดการแข่งขัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28-30 ธันวาคม 2548 กรรมการจะทำการตรวจสภาพรถแข่งทุกคัน ก่อนไปออกสตาร์ท ในช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม จากลิสโบอา เมืองหลวงของประเทศโปรตุเกส ลงสู่ทางตอนใต้ สู่ชายแดน เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ทวีปแอฟริกา เป็นการประเดิมศึกดาการ์ แรลลี 2006 โดยขบวนดาการ์ จะผ่านทะเลทรายของประเทศโมรอคโค เป็นด่านแรกนักแข่งจะได้สัมผัสสภาพอากาศที่ผันผวนของทะเลทรายในแถบแอฟริกา ตอนกลางวันร้อนระอุขณะที่อุณหภูมิติดลบตอนกลางคืน
ก่อนจะลงใต้เข้าสู่ประเทศมาลี, กานา และเซเนกัล และเป็นการปิดท้ายโดยจัดงานฉลองปีใหม่รับมอบรางวัลในวันที่ 15 มกราคม 2549 ที่ชายฝั่งทะเลสาบโรส เมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล
การแข่งขันในครั้งนี้มีนักแข่งที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คอลิน แมคเร (COLIN MCRAE) และอารี วาทาเนน (ARI VATANEN) อดีตนักขับ รายการ เวิร์ลด์ แรลลี โดยทั้งคู่ประจำการในทีมนิสสัน ชเตฟาเน เพเทร์ฮันเซล (STEPHANE PETERHANSEL) แชมพ์เก่าสมัยที่แล้ว ที่เป็นอีกหนึ่งตัวเก็งที่จะคว้าแชมพ์อีกในปีนี้ รวมทั้ง มานะ พรศิริเชิด นักซิ่งแรลลีดาวรุ่ง ไฟแรงหน้าใหม่ของเมืองไทยที่ไปลงแข่งในนามทีม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย พร้อมรถ มิตซูบิชิ ทไรทัน ใหม่ คู่ใจ หวังเก็บ
ชัยชนะกลับบ้านเช่นกัน
ด้าน คอลิน แมคเร อดีตแชมพ์ เวิร์ลด์ แรลลี สังกัดทีมแข่ง นิสสัน ยุโรป กล่าวว่า "สำหรับการลงแข่งขัน ดาการ์ แรลลี ปีหน้ากับทีม นิสสัน ผมค่อนข้างจะมั่นใจ ผมเองได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงตัวรถสำหรับลงแข่งในปีหน้ากับทีม นิสสัน ด้วย" เพื่อให้ แมคเร ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนารถสำหรับเตรียมแข่งขันได้อย่างเต็มที่
สำหรับการแข่งขัน "เทเลโฟนิกา บาร์เซโลนา-ดาการ์ 2006" ในปีนี้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดเตรียมรถแข่งรุ่นพิเศษ มิตซูบิชิ ทไรทัน ซึ่งได้รับการพัฒนาจากเทคโนโลยีล่าสุด โดยมีการนำเอาเครื่องยนต์แบบดีเซลคอมมอนเรล รหัส 4M41 ขนาด 3.2 ลิตร DI-D HYPER COMMON RAIL ที่พัฒนาโดยตรงจากสายพันธุ์แกร่ง มิตซูบิชิ ปาเจโร พร้อมเทอร์โบชาร์จ แบบใบพัดคู่เสริมด้วยระบบรองรับแบบพิเศษ ช่วยเสริมสมรรถนะการขับขี่บนพื้นทราย พร้อมทั้งได้พัฒนาระบบท่อไอดีและไอเสียเพื่อเพิ่มแรงบิดมากขึ้น ในด้านของการดีไซจ์น ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความโค้งมนตามหลักอากาศพลศาสตร์ (AERODYNAMICS) ทั้งนี้รถรุ่นดังกล่าวได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับนักแข่งชาวไทยใช้ในการแข่งขันครั้งนี้โดยเฉพาะซึ่งการนำรถเข้าร่วมการแข่งขันในสังเวียนอันหฤโหดนี้ ไม่เพียงแต่ถือเป็นบทพิสูจน์ในศักยภาพของนักแข่งและทีมงานชาวไทยเท่านั้น หากแต่เป็นสมรภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพิสูจน์ นวัตกรรมยานยนต์รุ่นใหม่ของ มิตซูบิชิ
ในส่วนของตัวนักแข่งทีมไทย ปีนี้ทีม มิตซูบิชิ ได้ มานะ พรศิริเชิด นักแข่งดาวรุ่งของวงการมาประจำการ ร่วมกับ ชอง ลูซี อดีตนักแข่งดาการ์ ชาวฝรั่งเศส มาทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง
4 WHEELS ได้สัมภาษณ์ มานะ พรศิริเชิด นักแข่งสังกัดทีม มิตซูบิชิ ถึงความพร้อมในการแข่งขันการเตรียมทีม รวมทั้งเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ
4 WHEELS : เข้าสู่วงการแข่งรถได้อย่างไร ?
มานะ : ตั้งแต่ผมจำความได้ผมก็อยู่ในสนามแข่งแล้ว บวกกับที่บ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับการแต่งรถมอเตอร์ไซค์เพื่อการแข่งขัน บางครั้งก็ตามคุณพ่อไปสนามแข่ง ทำให้ชีวิตตั้งแต่เด็กคลุกคลีอยู่กับรถแข่งมาตลอด ผมเริ่มต้นการแข่งรถครั้งแรกจากรถโกคาร์ท ตอนนั้นที่เริ่มแข่งอย่างจริงจังอายุประมาณ 13-14 ปี โดยเริ่มจากรุ่นเล็กก่อน โดยมีคุณพ่อคอยแนะนำเทคนิคการขับ ว่าการแข่งรถเราต้องใช้สมองใช้ความคิดตลอดเวลา อย่าใช้แต่กำลัง หลังจากนั้นก็ขยับขึ้นมาเป็นรถโกคาร์ทฟอร์มูลา 110 และ 150 และได้แชมพ์ในรุ่นมือใหม่ และโอเวอร์ออลล์
หลังจากนั้นประมาณปี 2538-2539 มีคนมาชวนให้มาขับรถยนต์แรลลี ดูบ้าง ก็เลยอยากลองดูเพราะในตอนแรกเคยแข่งแบบทางเรียบมาก่อน ในสนามพัทยาเซอร์กิท ซึ่งการแข่งแบบทางเรียบเราจะรู้อยู่แล้วว่าสนามข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่พอมาแข่งแรลลีก็รู้สึกชอบทันที เพราะต้องแข่งกับตัวเอง ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ที่สำคัญการแข่งแบบแรลลีนั้นมีทั้งเส้นทางลุย เจอเนิน เจอสิ่งกีดขวางต่างๆ ต้องใช้ความคิด แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา โชคดีที่ผมมีพื้นฐานจากการขับรถโกคาร์ทมาก่อน จึงทำให้ปรับตัวได้เร็ว ตอนนั้นได้ไปแข่งที่ประเทศมาเลเซีย ได้ตำแหน่งรองแชมพ์กลับมา
4 WHEELS : มาร่วมงานกับทีม มิตซูบิชิ ได้อย่างไร ?
มานะ : เพิ่งมาเมื่อปีที่แล้ว ผมได้รับการทาบทามจากทีมครอสส์คันทรีของ มิตซูบิชิ หลังจากที่ปรึกษากับคุณพ่อแล้ว ก็ตัดสินใจตกลง เพราะเราก็ชอบแข่งแบบครอสส์คันทรี มากกว่า เริ่มจากขับมิตซูบิชิ สตราดา ขับเคลื่อนสี่ล้อ รู้สึกว่าง่ายกว่า เพราะไม่ค่อยลื่น ต้องระวังก็เพียงแค่ความสูงและน้ำหนักของตัวรถที่มากกว่า ซึ่งเราต้องปรับตัวให้ได้ แต่โชคดีที่เรามีพื้นฐานมาบ้าง และได้คำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เป็นนักแข่ง เลยทำให้ปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น พอเราปรับตัวได้ก็ลงแข่ง 3 รายการหลักๆ ของเมืองไทย และสามารถคว้ารองแชมพ์ประเทศไทย มาได้ 2 รายการ
4 WHEELS : พอทราบว่าต้องไปแข่งแรลลี ดาการ์ คุณรู้สึกอย่างไร ?
มานะ : หลังจากนั้นผมก็ทราบข่าวว่าได้รับการคัดเลือกจาก ชอง ปิแอร์ ฟนเตเน อดีตแชมพ์ ดาการ์แรลลีให้เข้าร่วมทีม มิตซูบิชิ ไปแข่งรายการ ลิสโบอา-ดาการ์ รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะการที่เราจะไปแข่งในรายการใหญ่อย่างนั้นได้ เราต้องมีความพร้อมทุกด้าน ซึ่ง มิตซูบิชิ ได้เล็งเห็นในจุดนี้ จึงได้ส่งผมไปอบรมเทคนิคการขับที่ประเทศจีน นาน 1 สัปดาห์ โดยมี ฟนเตเน เป็นผู้ฝึกสอนด้วยตัวเอง ผมได้ลองขับบนทะเลทรายจริงๆ และได้ทราบเทคนิคต่างๆ ที่จำเป็นในการแข่งรถบนทะเลทราย เช่น การวิ่งการจอดการเอาตัวรอดจากหล่มทราย ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
4 WHEELS : เป็นการแข่งระดับโลก ต้องปรับตัวอย่างไร ?
มานะ : มีบ้าง เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างจากบ้านเรา รวมทั้งทีมงานที่มาจากหลายชาติ หลายภาษา ต้องทำความเข้าใจกันก่อน โดยเฉพาะผู้นำทางของผมที่เป็นชาวฝรั่งเศสเราต้องซักซ้อมทำความเข้าใจกันมากหน่อย แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากการบอกเส้นทางเราใช้เป็นรหัสสากล ทำให้สื่อสารกันได้ง่าย และเข้าใจได้รวดเร็ว
4 WHEELS : ความพร้อมของตัวรถและทีมงาน คุณมั่นใจแค่ไหน ?
มานะ : ปีนี้เราได้ทีมเซอร์วิศ จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นทีมงานมืออาชีพระดับสุดยอดเพราะเป็นทีมงานที่เคยผ่านการแข่งขันต่างๆ มาแล้ว มีประสบการณ์สูงมาก ทำให้เรามั่นใจในการแข่งขันครั้งนี้มากเนื่องจากประสบการณ์ในการแข่งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา หากมีปัญหาทางด้านเทคนิคระหว่างการแข่งขันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทีมช่างผู้มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์สูง ในส่วนของตัวรถนั้น ปีนี้ผมได้ใช้ มิตซูบิชิ ทไรทัน ซึ่งถือว่าเป็นรถกระบะที่มีสมรรถนะดีเยี่ยม เมื่อได้รับการปรับแต่งจากทีมงาน ทำให้รถมีสมรรถนะไม่เป็นรองใครแน่นอน
4 WHEELS : ตั้งเป้าหมายการแข่งขันในครั้งนี้ไว้แค่ไหน ?
มานะ : การแข่งขันแรลลี ดาการ์ มีชื่อเสียงในเรื่องความโหดของสภาพสนามด้วยเส้นทางที่มีทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทะเลทราย ทางป่า โคลน หิน มีทุกอย่าง และมีระยะทางมากกว่า 14,000 กม. ทำให้มีนักแข่งไม่ถึงครึ่งที่จบการแข่งขัน ผมตั้งใจว่าจะขับแบบระมัดระวัง และอาศัยความแน่นอนมากที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะเข้าเส้นชัยให้ได้ โดยไม่ห่วงว่าจะได้อันดับที่เท่าใด เพราะถ้ามัวแต่ห่วงเรื่องเวลาและอันดับ โอกาสพลาด รถพังหรือประสบอุบัติเหตุ ยิ่งมีสูง
ย้อนรอย 28 ปี
กับการแข่งแรลลีสุดโหด "ดาการ์"
การแข่งขันรายการ ดาการ์ มีต้นกำเนิดเมื่อ เธียร์รี ซาบีน (THIERRY SABINE) นักร้องชื่อดังชาวฝรั่งเศสหลงทางระหว่างการเข้าร่วมแข่งขันแรลลี ABIDJAN-NICE RALLY ในทะเลทรายลิเบีย เมื่อปี 1977 ต่อมาเขาถูกพบในสภาพที่ย่ำแย่มากและกลับสู่ฝรั่งเศส ผ่านทางทะเลทรายได้ในที่สุด จากเหตุการณ์นี้ทำให้ชาวฝรั่งเศสผู้นี้ มีความตั้งใจที่จะแบ่งประสบการณ์และพาทุกคนให้ได้สัมผัส รับรู้ถึงเสน่ห์ของธรรมชาติบนผืนทะเลทรายที่กว้างใหญ่แห่งนี้ ต่อมาไม่นานการแข่งขันที่ ซาบีน เป็นผู้ริเริ่มก็เป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว
การแข่งขัน ดาการ์ ครั้งแรกเริ่มต้นในปี 1978 ที่ PLACE DU TROCADRO มีผู้เข้าแข่งขัน 170 คนซึ่งเป็นการแข่งขันในระยะทางทั้งสิ้น 10,000 กม. ผ่าน 5 ประเทศ ในครั้งนั้น ซิริลล์ เนวิว (CYRILL NEVEU) สามารถคว้าแชมพ์ให้กับทีม ยามาฮา สร้างชื่อเสียงให้กับเขาและทีมเป็นที่รู้จักและโด่งดังอย่างรวดเร็ว
ถัดมาเพียงปีเดียวเมื่อชื่อเสียงของการแข่งขันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ทีมผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังจากทุกมุมโลก อาทิ โฟล์คสวาเกน, ลาดา และบีเอมดับเบิลยู ต่างตบเท้านำรถของตัวเองเข้าร่วมพิสูจน์ความแกร่งกันอย่างคับคั่ง
ปี 1986 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อเฮลิคอพเตอร์ที่ ซาบีน โดยสารมาประสบสภาพอากาศเลวร้าย และตกลงใจกลางทะเลทราย ทำให้ ซาบีน พร้อมกับกัปตันและทีมงานอีก 4 คนเสียชีวิตทันที บรรดาทีมงาน นักแข่ง และผู้ชม ต่างเศร้าสลด และเถ้ากระดูกของ ซาบีน ถูกนำไปโปรยลงใจกลางของทะเลทราย
กิลเบิร์ท ซาบีน (GILLBERT SABINE) บิดาของ เธียร์รี ซาบีน พร้อมด้วยคู่หู แพทริค เวอร์ดอย (PATRICK VERDOY) เข้ารับช่วงบริหารต่อ และประกาศจะสานต่อความฝันของลูกชาย และจะทำให้การแข่งขันเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก
ครบรอบสิบปีของการแข่งขันดาการ์ สถิติถูกทำลายเกลี้ยง ! ในปีนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมแข่งขัน มากกว่า 600 คน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมากกว่า 100 คน ซึ่งมากที่สุดเช่นกัน ต้องขอถอนตัวกลางคันเมื่อทนกับสภาพสุดโหดของการแข่งขันไม่ไหว
การแข่งขันดำเนินมาเรื่อยๆ และบ่อยครั้งที่มีผู้เข้าแข่งขันต้องมาเสียชีวิตระหว่างการแข่งขัน ทำให้กิลเบิร์ท ซาบีน ทนต่อแรงกดดันไม่ไหว จึงขอถอนตัว และให้กลุ่ม AMAURY SPORT ORGANIZATION เข้าดำเนินงานแทน พร้อมกับเส้นทางการแข่งขันใหม่ที่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น รวมทั้งมาตรการจำกัดความเร็วในบางช่วง นอกจากนี้ยังมีการนำระบบจีพีเอส หรือระบบนำทางผ่านดาวเทียมมาใช้ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีลดลงอย่างชัดเจน
ABOUT THE AUTHOR
ส
สิทธิพงศ์ วิยาภรณ์
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)