พิเศษ
พลังงานทดแทน
ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางของการเมืองจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาซื้อ/ขาย น้ำมันดิบในตลาดโลก ลงได้ โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นขาขึ้น และยุคทองของการซื้อขายน้ำมัน หลังจากปรับเปลี่ยนมาใช้กลไกตลาดแบบราคาน้ำมันลอยตัวทำให้ทุกคนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในด้านน้ำมันสูงขึ้นเกือบเท่าตัว
นี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการแสวงหา ค้นคว้าและวิจัย พลังงงานทดแทนรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยลดการนำเข้าน้ำมัน
ปัจจุบันนี้พลังงงานทดแทน ที่จำหน่ายกันอยู่ในตลาด เท่าที่ได้รับความนิยม มี 4 รูปแบบ คือเบนซินแกสโซฮอล ทั้ง 91 และ 95, น้ำมันดีเซลแบบไบโอดีเซล, แกสธรรมชาติ CNG หรือบ้านเรานิยมเรียกกันว่า NGV, แกส LPG
พลังงานเหล่านี้เริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่เชื่อว่าหลายคนต้องการรู้จักและเข้าใจมันมากขึ้น ก่อนตัดสินใจเลือกใช้
เราจึงได้รวบรวมที่มาที่ไปของพลังงานทดแทนที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ มาแนะนำให้รู้จัก
แกสโซฮอล
ประเทศไทยได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันแกสโซฮอลอย่างต่อเนื่อง มีโรงงานผลิตเอธานอล เพื่อนำมาผสมทำน้ำมันแกสโซฮอล จำหน่ายที่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ ตอนนี้มีการผลิตเอธานอลออกสู่ตลาดวันละ 125,000 ล้านลิตร โดยนำมาผสมกับน้ำมันในสัดส่วน 10 % เพื่อเป็นน้ำมันแกสโซฮอล 1,250,000 ล้านลิตร
วันที่ 1 มกราคม 2550 รัฐบาลกำหนดให้มีการใช้น้ำมันแกสโซฮอล 95 ทั่วประเทศ และยกเลิกเบนซิน 95 ในปี 2548 ได้เร่งขยายสถานีให้บริการจาก 730 แห่ง ให้มีมากถึง 4,000 แห่ง และส่งเสริมการใช้น้ำมันแกสโซฮอลให้ได้ถึง 4 ล้านลิตร หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำมันเบนซิน 95 และปี 2551 จะส่งเสริมให้ใช้น้ำมันแกสโซฮอล 91 และ 95 ทั่วประเทศ โดยมีการปรับราคาแกสโซฮอล 95 ให้มีส่วนต่างจากน้ำมันเบนซิน ออคเทน 95 อยู่ที่ลิตรละ 1.50 บาท จากเดิมที่มีส่วนต่างเพียง 75 สตางค์/ลิตร สำหรับผู้ที่ต้องการเติมน้ำมันแกสโซฮอลจะเน้นรถยนต์ที่มีระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดเท่านั้น
แกสโซฮอล เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ที่ใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน มีส่วนผสมระหว่างเอธานอลหรือเอธิลแอลกอฮอล์ ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 % ผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วนน้ำมัน 9 ส่วน เอธานอล 1 ส่วน ได้เป็นน้ำมันแกสโซฮอล ที่มีออคเทนเท่ากับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ใช้สาร MTBE (METHYL TERTIARY BUTYL ETHER) เป็นสารเพิ่มค่าออคเทน ซึ่งสาร MTBE มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดการปนเปื้อนกับน้ำใต้ดินและน้ำดื่ม ในหลายประเทศจึงมีนโยบายเลิกใช้สาร MTBE แล้ว
บริษัทผู้ผลิตยังให้ข้อมูลว่าแกสโซฮอล มีการเผาไหม้สมบูรณ์กว่าน้ำมันเบนซินเนื่องจากมีส่วนผสมของเอธานอล ซึ่งมีโมเลกุลของออกซิเจนในเนื้อน้ำมันมากส่งผลให้เกิดมลพิษน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน และพบว่าทำให้สมรรถนะของเครื่องยนต์ดีขึ้น หรือเท่ากับการใช้น้ำมันเบนซินปกติ
ปัจจุบันบริษัทผู้ค้าน้ำมันแกสโซฮอล ต่างออกมายืนยันว่าสามารถใช้กับเครื่องยนต์เบนซินที่มีระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดได้ โดยรถยนต์รุ่นต่างๆ จะถูกชี้แจงผ่านทางเอกสารแนะนำหรือสามารถโทรศัพท์เข้าไปสอบถามกับทางบริษัทได้ว่ารถรุ่นไหนสามารถเติมได้บ้าง
แต่แกสโซฮอล พลังงานที่จะบังคับใช้กันทั่วประเทศในปี 2550 ดูแล้วก็ยังเป็นพลังงานที่ขาดการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่ชัดแจ้งมากกว่านี้ ถึงแม้จะมีบริษัทผู้ค้าน้ำมันหลายรายต่างๆ ออกมายืนยันและรับประกันการซ่อม หากมีความเสียหายที่เกิดจากการเติมน้ำมันแกสโซฮอล แต่ต้องเป็นรถในรุ่นที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันให้การรับรองเท่านั้น ส่วนรุ่นอื่นๆคงต้องหาข้อมูลกับทางกระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน หรือสอบถามกับทางบริษัทผู้ผลิตรถ และบริษัทผู้ค้าน้ำมัน
และหากบังคับใช้น้ำมันแกสโซฮอล ในปี 2550 แล้วบรรดาผู้ใช้รถเก่าซึ่งยังเป็นเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์รวมทั้งบรรดาสิงห์มอเตอร์ไซค์ทั้งหลาย จะสามารถเติบน้ำมันแกสโซฮอลได้หรือไม่ใช้แล้วรถจะสึกหรอมากขึ้นหรือไม่ สึกหรอแค่ไหน ไม่มีใครออกมายืนยัน
แม้ภาครัฐจะส่งสัญญาณให้เห็นแล้ว แต่เมื่อยังไม่ใกล้ตัว ปัญหาต่างๆ ยังไม่เกิด ผู้ใช้รถหลายๆรายพยายามเลือกเติมน้ำมันเบนซิน 95 และแกสโซฮอลสลับกันไป เพราะข้อมูลที่ออกมายังไม่ชัดเจน แม้กระทั่งการเติมน้ำมันแกสโซฮอลในราคาที่ถูกกว่า ลิตรละ 1.50 บาท ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เมื่อเติมน้ำมันในจำนวนลิตรเท่ากันกับเติมน้ำมันเบนซิน 95 จะวิ่งได้ระยะทางเท่ากันหรือไม่ ถ้าเติมแกสโซฮอลแล้วได้ระยะทางที่สั้นกว่า ก็คงจะไม่คุ้มค่าแน่ๆ นอกจากนี้ ระยะยาวจะมีผลกับการสึกหรอหรือไม่ เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่เตรียมผลิตรถยนต์ที่ใช้กับน้ำมันเบนซินแกสโซฮอลมาโดยเฉพาะ
ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ และไบโอดีเซล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในภาวะราคาน้ำมันแพง จึงทรงดำริให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ร่วมดำเนินการวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ในเรื่องพลังงานทดแทน ปัจจุบันทรงจดสิทธิบัตรการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ผสมกับน้ำมันดีเซล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้สนองพระราชดำริด้วยการร่วมมือกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทำการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ จนสามารถใช้กับรถยนต์ดีเซลของโครงการส่วนพระองค์ ฯ ได้โดยไม่ประสบกับปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งได้เปิดจำหน่ายดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ให้แก่ประชาชนที่สนใจด้วย
ปัจจุบัน ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ จำหน่ายโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ผสมกับน้ำมันดีเซล ในสัดส่วนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ไม่เกินร้อยละ10 โดยปริมาตร สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลได้ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซล ตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์
ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ที่ ปตท. ออกจำหน่ายขณะนี้ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลสำหรับใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็ว ไม่มีความแตกต่างกันในเชิงคุณสมบัติของน้ำมัน ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับปัจจุบัน สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว กล่าวคือ คุณสมบัติที่สำคัญ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ ค่าซีเทน ไม่ต่ำกว่า 47 ของน้ำมันดีเซลจะบ่งชี้ถึงคุณภาพในการต้านทานการนอค หรือความสามารถของน้ำมันดีเซลที่จะเผาไหม้โดยปราศจากการนอคในเครื่องยนต์ ค่าความหนืดที่ 40 ในช่วง 1.8-4.1 CST. ซึ่งเหมาะสมต่อการใช้งาน
ค่าความร้อนจากการเผาไหม้ กากถ่าน ไม่สูงกว่าร้อยละ 0.05 โดยน้ำหนัก ค่าของกากถ่านจะบ่งชี้ถึงการสะสมของกากถ่านในเครื่องยนต์มากน้อยเพียงใด หากมีมากเครื่องยนต์จะสกปรกอาจมีการอุดตันในส่วนต่างๆ ทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ไม่ราบเรียบ เครื่องยนต์จะเดินไม่สม่ำเสมอ
คุณสมบัติในการหล่อลื่น ทดสอบโดยวิธี HFRR จะเกิดการสึกกร่อนไม่เกิน 460 ไมโครเมตรปริมาณธาตุกำมะถัน ไม่สูงกว่าร้อยละ 0.05 โดยน้ำหนัก เนื่องจากเมื่อมีการเผาไหม้ น้ำมันก็จะก่อให้เกิดมลภาวะของกำมะถันต่อสภาพของงานที่ใช้และต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
สำหรับคุณสมบัติอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนี้ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ จะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซล ตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์ทุกประการ รถยนต์สามารถเติมดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ผสมกับน้ำมันที่เหลือในถังได้เลย โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันในถังหมด และผู้ใช้รถไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด เพราะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์
สามารถช่วยลดปริมาณมลพิษจากท่อไอเสีย โดยสามารถลดปริมาณควันดำลงได้อย่างมีนัยสำคัญ น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีปริมาณกำมะถันน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลเมื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในเมืองใหญ่และพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้
ผู้ที่ใช้ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ เติมในรถยนต์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งเครื่องยนต์นอกจากนี้ยังมีผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศ คือ ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศในการลดการนำเข้าน้ำมันดีเซล สร้างความพึงพอใจด้านราคาให้กับเกษตรกร รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการแทรกแซงราคาน้ำมันปาล์ม การช่วยลดมลพิษทางอากาศส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของประชาชน
ปัจจุบัน ปตท. มีสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่ายน้ำมันดีเซลปาล์ม 4 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสุขาภิบาล 3 สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสวัสดิการสำนักพระราชวัง สนามเสือป่า สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขากรมช่างอากาศ สะพานแดง
สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สวัสดิการ ร. 1 รอ. (ถ. วิภาวดีรังสิต) โดยกำหนดราคาจำหน่ายให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล ประมาณ 50 สตางค์/ลิตร
นอกจากนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)ยังให้การสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด โดยร่วมทดลองผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล (B2 ในระยะแรก และ B5 ในปัจจุบัน) ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ถ. มหิดล จ. เชียงใหม่ เมื่อกลางปี 2547
ในระยะแรก จำหน่ายให้แก่รถยนต์รับจ้างสองแถวที่เข้าร่วมโครงการ 1,300 คัน (ในราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 50 สตางค์/ลิตร) ต่อมาได้ขยายการจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปและเปิดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่ อ. สันกำแพง
นอกจากนี้ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการ "กรุงเทพ ฯ ฟ้าใสด้วยไบโอดีเซล" ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสูตร B5 โดยระยะแรกจะเปิดจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันในเขตกรุงเทพ ฯ 4 แห่งที่สาขาประชาชื่น เรวดี บางบัวทอง และวัดกำแพง ทั้งนี้เพื่อให้ชาวกรุงเทพ ฯ มีโอกาสใช้น้ำมันซึ่งมีราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 50 สตางค์/ลิตร เป็นการช่วยลดรายจ่ายของผู้ใช้น้ำมันในยุคที่น้ำมันมีราคาแพง และยังเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศในเมืองหลวงด้วย
ไบโอดีเซล (BIODIESEL) คือน้ำมันเชื้อเพลิง หรือน้ำมันสัตว์ รวมทั้งน้ำมันใช้แล้วจากการปรุงอาหาร มาทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแอลกอฮอล์ เรียกอีกอย่างว่า สารเอสเตอร์ (METHYL ESTER) มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมาก และในกระบวนการผลิตยังได้ กลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมและเครื่องสำอางอีกด้วย
คุณค่าของไบโอดีเซลต่อการใช้งาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มการหล่อลื่นให้เครื่องยนต์ได้ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลทั่วไป เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดการปล่อยแกสเรือนกระจก (GREEN HOUSE EFFECT) เพราะผลิตจากพืช การผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ช่วยลดการนำไปประกอบอาหารซ้ำ หรือนำไปประกอบอาหารสัตว์ เพราะน้ำมันพืชใช้แล้วมีสารก่อมะเร็งและก่อมลพิษทางน้ำ ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพราะผลิตจากพืชเกษตร ลดการนำเข้าน้ำมันได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งทดแทนการนำเข้าสารหล่อลื่นจากต่างประเทศ
ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์และไบโอดีเซล จึงเป็นพลังงานทดแทนของน้ำมันดีเซล ที่สามารถเลือกเติมได้ตามต้องการ แต่คงต้องมองไปที่ความเหมาะสมกับรถแต่ละรุ่นด้วย อย่างเครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่ ที่มีระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคอมมอนเรล ที่มีการฉีดจ่ายน้ำมันแบบแรงดันสูงหัวฉีดเล็กและฉีดเป็นฝอยละเอียด ก็ควรที่จะสอบถามจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันก่อนเลือกเติมเพื่อความปลอดภัยและการรับประกันจากบริษัทรถยนต์ ส่วนเครื่องยนต์ทั่วไป ที่ใช้ในรถยนต์หรือในอุตสาหกรรมด้านการเกษตรหรือโรงงาน ก็สามารถเลือกใช้น้ำมันปาล์มดีเซล และไบโอดีเซลได้ในราคาที่ถูกกว่า 50 สตางค์
แกสธรรมชาติ (CNG)
ประเทศไทยได้สำรวจแหล่งแกสธรรมชาติในอ่าวไทยและนำขึ้นมาใช้ตั้งแต่ปี พศ. 2524 เริ่มแรกใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และในโรงงานอุตสาหกรรม ทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันเตา ที่มีราคาสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่ามหาศาล ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน
การนำแกสธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการพึ่งพาพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศของเราเองอย่างเป็นรูปธรรม และเนื่องด้วยแกสธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด คุณภาพดีและราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทำให้ปริมาณการใช้แกสธรรมชาติของไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตแกสจึงได้เสาะแสวงหาแหล่งแกสใหม่ๆ เพื่อนำแกสจากแหล่งที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้พยายามนำแกสธรรมชาติมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และยานพาหนะ
แกสธรรมชาติเผาไหม้ได้ดีกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และไม่มีกากของเชื้อเพลิงหลังจากการเผาไหม้แกสธรรมชาติไม่มีฝุ่นออกไซด์ของกำมะถันและไนโตรเจน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อน และปล่อยความร้อนสู่บรรยากาศโลกน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น นอกจากนี้ยังขนส่งโดยทางท่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ซึ่งขนส่งทางรถยนต์หรือทางเรือแกสธรรมชาติมีประสิทธิภาพในการสันดาปดีกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น ถ่านหินหรือน้ำมัน
ไม่ทำลายหรือกัดกร่อนอุปกรณ์ และวัสดุในกระบวนการผลิต
ปัจจุบันแกสธรรมชาติจากอ่าวไทย ยังคงมีราคาอยู่ในระดับเดียวกับ 20ปีที่แล้วเมื่อประเทศไทยเริ่มผลิตแกสครั้งแรก ราคาแกสของไทยขณะนี้ ประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐ/ต่อค่าความร้อน 1 ล้านบีทียู ในขณะที่ในสหรัฐอเมริการาคา 4 ดอลลาร์สหรัฐ และในญี่ปุ่น 5-6 ดอลลาร์สหรัฐปัจจุบันนี้แกสธรรมชาติผลิตขึ้นมาใช้ในตลาดทั่วโลก จึงทำให้มีการแข่งขันด้านราคาสูงซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้ราคาแกสต่ำตามหลักเศรษฐศาสตร์
อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยคาดว่าปริมาณแกสที่รองรับความต้องการของตลาดในเมืองไทยในช่วง พศ. 2543 มีอยู่อย่างน้อย 45-58 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้แกสไปทั้งสิ้นประมาณ 4.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หากไม่ค้นพบแหล่งแกสใหม่เพิ่มเลย ด้วยอัตราการใช้ในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังมีแกสธรรมชาติเหลือเพียงพอใช้อีกถึง 60-70 ปี ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมยังค้นพบแหล่งแกสใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาจากสถิติของ บริษัท ยูโนแคล ฯ ผู้สำรวจและผลิตแกสรายใหญ่ที่สุดของไทย พบว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท ฯ สามารถค้นพบแหล่งแกสใหม่ๆ ได้มากกว่าการผลิตขึ้นมาใช้ถึง 1.5 เท่า
CNG มีส่วนประกอบของแกสหลายชนิด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า กาชมีเทน อีเทน โพรเทน และบิวเทน แกสพวกนี้เป็นสารไฮโดรคาร์บอนทั้งสิ้น เมื่อจะเอามาใช้ต้องแยกแกสออกจากกันและกันเสียก่อน จึงจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ แกสมีเทน ใช้ผลิตไฟฟ้า และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งใช้กับรถยนต์ แกสอีเทน+โพรเทน ใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานปิโตรเคมีแกสโพรเพน+บิวเทน ใช้เป็นแกสหุงต้ม และใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานและรถยนต์
นอกจากนี้ยังเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ แต่มีปัญหาที่หาซื้อยากกว่าถ่านหินขนใส่เรือมาไม่สะดวกและราคาแพงมาก จึงต้องวางท่อแกสมายังโรงไฟฟ้า ซึ่งปกติแล้วต้องมีส่วนที่ผ่านป่า ชุมชน และสวนไร่นาของชาวบ้านจึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอยู่พอสมควร
แกสธรรมชาติ เป็นแกสเชื้อเพลิงที่มีแกสมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ได้เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินและดีเซล แกสธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NATURAL GAS FOR VEHICLE หรือ NGV) โดยทั่วไปเรียกว่า แกส NGV (เอนจีวี) คือ แกสธรรมชาติที่ถูกอัดจนมีความดันสูง (มากกว่า 3,000 ปอนด์/ตารางนิ้ว, PSI) ซึ่งในบางประเทศเรียกว่า COMPRESSED NATURAL GAS (CNG) หรือ แกสธรรมชาติอัด ดังนั้นแกส NGV และแกส CNG คือตัวเดียวกันนั่นเอง
แกส NGV มีส่วนดีตรงที่สัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และมีคุณสมบัติเป็นแกส ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้แกสธรรมชาติ มีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำ หรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ปัจจุบันแกส NGV เริ่มได้รับความนิยมและความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะราคาน้ำมันที่ยังพุ่งสูงขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงมาเท่าเดิมอีกแล้ว นอกจากนี้ NGV ยังเป็นแกสที่ระเหยไปในบรรยากาศได้อย่างรวดเร็ว ทำให้โอกาสติดไฟแทบไม่มีให้เห็น ความปลอดภัยค่อนข้างสูง
แต่ NGV ก็ยังมีข้อด้อยกว่าพลังงานอื่นๆ อีกมาก ถึงแม้จะเป็นพลังงานที่ได้รับการสนับสนุน และผลักดันจากภาครัฐ แต่ยังไม่สามารถสร้างกระแสความนิยมได้มาก ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากจำนวนปั๊มที่ให้บริการมีน้อยมาก ถึงแม้ว่าโครงการติดตั้งปั๊ม NGV
จะกำลังเร่งดำเนินการที่แล้วเสร็จครอบคลุมทั่วกรุงเทพ ฯ ปริมณฑล รวมถึงในต่างจังหวัดแต่ก็ยังค่อนข้างช้า
นอกจากนี้แรงผลักดันด้านประชาสัมพันธ์ยังมีน้อย การให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน โดยเฉพาะในวงการรถยนต์ยังไม่เพียงพอ แถมไม่มีการทดสอบเปรียบเทียบกับพลังงานอื่นๆ ให้เห็นหรือการแนะนำจากผู้รู้ให้เข้าใจ แบบละเอียดถี่ถ้วน อีกทั้งราคาค่าติดตั้งไม่ว่าจะเป็นระบบหม้อต้ม ประมาณราคาชุดละ 30,000-40,000 บาท หรือหัวฉีด อยู่ที่ 45,000-60,000 บาท เพราะส่วนใหญ่ต้องใช้อุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด
ผู้ที่ต้องการติดตั้งบางรายจึงรอตัดสินใจอยู่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ราคาค่าติดตั้งจะถูกลงมาอีกหรือไม่ ไม่มีแม้ข้อมูลข่าวสารว่าในอนาคตอันใกล้ จะมีผู้ให้บริการติดตั้งในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม แต่ถ้าสามารถผลิตอุปกรณ์ติดตั้งได้เองในประเทศ อาทิ ถัง หรือหม้อต้ม ท่อภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ราคาติดตั้งต้องถูกไปกว่าเดิมแน่นอน
นอกจากราคาแล้ว ข้อด้อยอีกอย่างของ NGV คือ ต้องเติมแกสบ่อย แม้ถังจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ดังนั้นเมื่อต้องเติมแกสบ่อย แต่จำนวนสถานีบริการยังเติบโตช้ามากจึงไม่สามารถรองรับและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่ต้องการติดตั้งแกสในระบบ NGV ได้เหมือนกับ LPG
LPG
แกสหุงต้ม มีชื่อทางราชการว่า "แกสปิโตรเลียมเหลว" (LIQUIDFIELD PETROLEUM GAS) หรือ LPG ที่นิยมเรียกกันว่า แกสหุงต้ม มีส่วนประกอบหลักคือ โพรเพน (PROPANE) บิวเทน (BUTANE) ปัจจุบันแกสหุงต้มใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ยานพาหนะ และในอุตสาหกรรมมากขึ้น
แกสหุงต้มได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ (โรงกลั่น) คิดเป็นสัดส่วน โพรเพน 20 % บิวเทน 80 % และได้จากกระบวนการการแยกแกสธรรมชาติ ที่โรงแยกแกส ฯ ปตท. ในสัดส่วนโพรเพน 60 % บิวเทน 40 %
มีคุณสมบัติของแกสหุงต้ม คือ จุดเดือดต่ำประมาณ -17 องศาเซลเซียส โพรเพน -42.07 องศาเซลเซียส บิวเทน -11.73 องศาเซลเซียส เมื่อออกสู่บรรยากาศภายนอกจะระเหยกลายเป็นไอทันที เมื่อเกิดแกสรั่วไหลจะเห็นเป็นหมอก หรือควันสีขาวและเกล็ดน้ำแข็ง จากความชื้นรอบๆ บริเวณได้รับความเย็นจัดขณะแกสระเหย
เป็นแกสที่ไวไฟและติดไฟง่าย สัดส่วนแกสต่ออากาศ ประมาณ 2-9 % โดยปริมาตร (โพรเพน 2.4-9.5 % บิวเทน 1.8-8.4 %) ติดไฟได้เมื่อมีประกายไฟหรือแหล่งความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 500 องศาเซลเซียส น้ำมันเบนซินที่อุณหภูมิ 280-430 องศาเซลเซียส และน้ำมันดีเซล 250-340 องศาเซลเซียส น้ำหนักเบากว่าน้ำและหนักกว่าอากาศ เบากว่าน้ำประมาณ 0.5 เท่า หนักกว่าอากาศประมาณ 1.5-2 เท่า อุณหภูมิเปลวไฟประมาณ 1,900-2,000 องศาเซลเซียส ใช้กับงานที่ต้องการความร้อนสูง และสะอาดสามารถหลอมโลหะได้
แกส LPG เหลว 1.6 ลิตร ขยายตัวเป็นไอได้ประมาณ 250 ลิตร ดังนั้นการเติมควรบรรจุไม่เกิน 85 % ของภาชนะบรรจุ เพื่อให้มีที่ว่างในการขยายตัวของแกส ค่าออคเทนประมาณ 100-115 สูงกว่าน้ำมันเบนซิน จึงสามารถใช้กับรถยนต์ได้สบาย ไม่มีสี และไม่มีกลิ่น แต่เติมสารประกอบซัลเฟอร์ (เอธิลเมอร์แคพเทน) เพื่อให้ผู้ใช้ รู้หรือทราบเมื่อเกิดแกสรั่ว
ดังนั้นแกส LPG จึงเป็นทางเลือกที่นิยมมากสำหรับผู้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน เพราะมีค่าออคเทนสูงพอที่จะสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเบนซิน ที่ใช้อยู่ และกำลังเป็นพลังงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าอนาคตทิศทางราคาแกสหุงต้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหรือไม่ ตัวอย่างที่ดีคือ บรรดารถแทกซี ทั้งรุ่นเก่า/ใหม่ที่ติดตั้งไปแล้วมากมาย จนใช้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับบรรดารถบ้าน ที่สามารถสอบถามปัญหาข้อดี/ข้อเสีย ของรถใช้แกส LPG ได้
หากเทียบระหว่างแกส LPG และ NGV แน่นอนที่สุดว่า LPG ต้องได้รับความนิยมมากกว่าเพราะราคาค่าติดตั้งที่ถูกกว่าเท่าตัว ประมาณ 12,000-35,000 บาท มีให้เลือกทั้งแบบหม้อต้ม และหัวฉีด เช่นเดียวกับอกส NGV และยังมีสถานีบริการในการเติมแกสมากกว่า ครอบคลุมทั่วกรุงเทพ ฯ ปริมณฑล รวมทั้ง ต่างจังหวัด และในอนาคตน่าจะเปิดให้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถดำเนินการให้บริการโดยเอกชนได้เลย นอกจากนี้ในการเติมแต่ละครั้งในถังขนาดเดียวกัน LPG ยังสามารถใช้งานได้นานกว่า จึงไม่จำเป็นต้องแวะเติมบ่อยแต่สถานีบริการกลับมีอยู่มากมาย
แกส LPG มีข้อเสียอยู่ที่ ติดไฟง่าย หนักกว่าอากาศ ดังนั้นถ้าเกิดแกสรั่วไหลจึงค่อนข้างอันตรายกว่าแกส NGV ที่มีน้ำหนักเบา ติดไฟยาก นอกจากนี้ยังผ่านการแต่งกลิ่นมาแล้วหากอุปกรณ์คุณภาพไม่ดี หรือติดตั้งไม่ดี จะทำให้รถมีกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายกับระบบทางเดินหายใจ
ขอขอบคุณกระทรวงพลังงาน และบริษัทน้ำมัน เอื้อเฟื้อข้อมูล
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเวช ยอดแสง
ภาพโดย : เอกลักษณ์ จุลสุคนธ์นิตยสาร 417 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)