พิเศษ
ยินดีต้อนรับสู่อุทยานแห่งการเรียนรู้
อุทยานแห่งชาติ มิได้เป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังมีคุณค่าหลากหลายโดยเฉพาะการเป็นแหล่งข้อมูลธรรมชาติที่สามารถเรียนรู้ได้ไม่จบสิ้น
ประเทศไทย มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย วิธีการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านี้อย่างยั่งยืนก็คือการประกาศจัดตั้งพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหล่านี้เป็นอุทยานแห่งชาติ, วนอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ปัจจุบันเรามีอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 148 แห่ง แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางบก 122 แห่งและอุทยานแห่งชาติทางทะเล 26 แห่ง รวมพื้นที่ประมาณ 45.9 ล้านไร่ อุทยาน ฯ เหล่านี้ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เข้าไปพักผ่อน ศึกษาธรรมชาติ ประกอบกิจกรรม เดินป่า ดำน้ำ ล่องแก่ง ขี่จักรยานบางแห่งสามารถเข้าไปพักค้างแรมได้
อุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พศ. 2504 หมายถึง "ที่ดินซึ่งรวมทั้งพื้นดินทั่วไปภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และชายฝั่ง ลักษณะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ที่มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจและมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือครอครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าวก็เพื่อให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป"
เนื่องจากความจำเป็นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากร ที่มีความหลากหลายทั้งในด้านชีวภาพและระบบนิเวศ จึงมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติของไทยกระจายอยู่ทุกภาค ทั้งบนยอดดอยที่สูงสุดของประเทศ เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ไล่ระดับลงไปถึงปากแม่น้ำ เช่น อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ต่อไปยังชายทะเลและกลางทะเล เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ประโยชน์ของอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ การอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกหลานของไทยว่า พืชและสัตว์หายากของไทย ได้รับความคุ้มครองไว้ระดับหนึ่งแล้ว
ธรรมชาติและทรัพยากรที่มีค่าในเขตอุทยานแห่งชาติของไทยอีกประการหนึ่ง คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีความโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวของโลก หรือที่เรียกว่าธรรมชาติและทรัพยากรที่มีเอกลักษณ์ทางธรณีสัณฐาน เช่น สุสานหอย 75 ล้านปี ที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เขาตะปู ณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ถ้ำหินงอกหินย้อย ที่วิจิตรตระการตา ณ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ หาดหินงาม ณ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ลานหินปุ่ม ลานหินแตก ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หินผา ณ ผาหล่มสัก ความเหมาะเจาะของต้นสนสามใบ บนหน้าผา ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
ทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่าอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจไม่มีมากนักในเขตอุทยานแห่งชาติของไทย คือธรรมชาติและทรัพยากรวัฒนธรรมของชุมชน เช่น ชาวเล ณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา เงาะป่าซาไก ณ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน หรือชุมชนชาวเขา ซึ่งวัฒนธรรมการดำรงชีพอย่างดั้งเดิมของชุมชนเหล่านี้ นับวันจะลดน้อยลงไปทุกที
ส่วนที่เหลืออยู่จึงมีคุณค่าในตัวเองอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีธรรมชาติและทรัพยากรทางประวัติศาสตร์นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาพเขียนสีณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หรือร่องรอยและซากไดโนเสาร์ ณ อุทยานแห่งชาติภูเวียงมาจนถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญของชาติ ก็ปรากฏอยู่ในอุทยานแห่งชาติเป็นจำนวนมาก เช่น พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เจดีย์พระนางเรือล่ม ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ทัณฑสถานนักโทษการเมือง ณ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
เป็นหมู่เกาะอยู่ในทะเลอันดามันและติดชายแดนประเทศพม่า ห่างจากฝั่งท่าเรือคุระบุรีประมาณ 70กิโลเมตร ประกอบด้วย 5 เกาะคือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะวี เกาะไข่ และเกาะกลางมีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร
ฤดูฝนของหมู่เกาะสุรินทร์ เริ่มตั้งแต่ กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมโดยปริมาณน้ำในแต่ละปีจะมีค่ามากกว่า 3,000 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ทำให้ในฤดูฝนได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากฝนตกหนักแล้ว ทะเลยังมีคลื่นลมแรง ฉะนั้นการเดินทางไปอุทยาน ฯ ในช่วงนี้ จะไม่ปลอดภัย จึงมีกำหนดฤดูกาล ปิด-เปิด อุทยาน ฯ ประจำปีไว้ดังนี้ ปิดการท่องเที่ยว 16 พฤษภาคม-15 พฤศจิกายน ของทุกปีเปิดการท่องเที่ยว 15 พฤศจิกายน-15 พฤษภาคม ของทุกปี
แหล่งท่องเที่ยวน่าสน
- เกาะสุรินทร์เหนือ เป็นที่ตั้งของอุทยาน ฯ บริเวณด้านหน้าติดหาดทรายทางด้านเหนือและหาดทางด้านใต้ เป็นพื้นที่สำหรับกางเทนท์ ประกอบด้วยชายหาดและอ่าวหลายแห่ง ได้แก่
1. อ่าวแม่ยาย เป็นอ่าวที่ใหญ่ที่สุด มีความสมบูรณ์ของปะการังอย่างมาก ปัจจุบัน ทางอุทยาน ฯ ห้ามไม่ให้มีการดำน้ำบริเวณนี้ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของแนวปะการัง
2. อ่าวไม้งาม เป็นอ่าวที่มีชายหาดสวยงาม สามารถเดินเท้าจากที่พักแรมได้
ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อดำน้ำ ชมปะการัง
- เกาะสุรินทร์ใต้ เป็นเกาะที่ชุมชนชาวเล หรือชาวมอแกน อาศัยอยู่ ช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ชาวเลจะอาศัยอยู่บนเรือ พอถึงช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน จะเปลี่ยนมาอาศัยอยู่บนบก ประกอบด้วย
1. อ่าวสุเทพ มีแนวปะการังตลอดหาด เวลาน้ำลดต่ำสุด
แนวหินและปะการังจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำ
2. อ่าวผักกาด เป็นอ่าวเล็กๆ อยู่ด้านใต้ มีปะการังสวยงาม เหมาะแก่การดำน้ำ
ถ้าไปดำน้ำที่หมู่เกาะสุรินทร์ มีสัตว์ 4 ชนิด ไม่เห็นไม่ได้
1. เต่ากระ ความยาว 90 เซนติเมตร จุดที่มีสิทธิ์พบเต่ากระได้ง่าย คือ แนวปะการังอ่าวเต่า
และอ่าวผักกาด
2. หมึกกระดอง ความยาว 30 เซนติเมตร พบมากบริเวณน้ำตื้นลึกแค่เอว จนถึงน้ำลึกหลายสิบเมตร
พบได้ทั่วบริเวณเกาะสุรินทร์
3. หมึกยักษ์ ความยาว 40 เซนติเมตร พบมากตั้งแต่ในน้ำตื้นแค่เข่า จนถึงน้ำหลายสิบเมตร
สัตว์เหล่านี้มักเข้าไปแอบซ่อนตามใต้ก้อนปะการัง
4. กุ้งมังกรเจ็ดสี ความยาว 40 เซนติเมตร พบมากที่สุดในทะเลอันดามัน ออกหากินยามราตรี
พบมากบริเวณทักษิณหรรษา และอ่าวเต่า
ไปอย่างไร
ทางหลวงเแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) เส้นทางกรุงเทพ ฯ มุ่งหน้า อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงาระยะทางประมาณ 720 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอคุระบุรี ประมาณ 6 กม. บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 721มีทางแยกเลี้ยวเข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กม. จะมองเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อยู่ทางขวามือ
พักที่ไหน
บนอุทยาน ฯ มีบ้านพักไว้คอยบริการ โทรสอบถามกันได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์โทร. (076) 491-378 (บริเวณฝั่ง) โทร. (076) 419-028-9 (บนเกาะ)
การพักอยู่บนเกาะ ต้องมีเวลาอย่างน้อย 2 คืน เพราะกว่าจะเดินทางไปถึงที่เกาะ ต้องใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง เรือส่วนใหญ่จะออกจากท่าเรือคุระบุรี ซึ่งถือว่าใกล้ที่สุดในการไปหมู่เกาะสุรินทร์ หรืออีกทาง ไปลงเรือที่ท่าเรือระนอง หรือท่าเรือทับละมุ
เตรียมตัวเที่ยวอุทยานแห่งชาติอย่างไร ?
1. กำหนดจุดมุ่งหมายและสถานที่ที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวโดยสอบถามรายละเอียดและข้อแนะนำเบื้องต้น รวมทั้งการติดต่อจองบ้านพักล่วงหน้าหากต้องการพักค้างแรม ได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติหรือส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล
2. ศึกษาข้อมูลล่วงหน้า เช่น สถานที่ตั้ง การเดินทาง สภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
3. เมื่อเดินทางถึงอุทยานแห่งชาติ เข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์
4. หากต้องการเดินป่าศึกษาธรรมชาติตามเส้นทางเดินเท้า ในกรณีที่เส้นทางเดินป่ามีระยะทางไกลและต้องค้างแรม ควรแจ้งความประสงค์และติดต่อเจ้าหน้าที่ประจำอุทยาน ฯหรือผู้ที่ชำนาญเส้นทางในการนำทาง ไม่ควรเดินไปเองโดยพลการ
5. ประพฤติตัวเป็นนักอนุรักษ์ที่ดี โดยการเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎข้อห้ามพื้นฐานทั่วไปในการเข้าไปใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ
ทำตัวเป็นนักเที่ยวที่ดี
1. ปฎิบัติตามกฎระเบียบของทางอุทยานฯ ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
2. ดูแลรักษาสภาพธรรมชาติให้คงความงดงามตามธรรมชาติมากที่สุด
3. ควรเคารพสิทธิ์ผู็อื่นในการเข้าไปใช้พื้นที่ธรรมชาติร่วมกัน
4. ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่นหรือรบกวนความเป็นอยู่สัตว์เล็กๆ
5. การเดินป่าศึกษาธรรมชาติต้องเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ อย่าออกนอกเส้นทาง ซึ่งอาจเหยียบย่ำพืชพรรณหรือสัตว์เล็กๆ
6. ห้ามเก็บ นำออก หรือการกระทำใดๆที่เป็นอันตรายตาอสภาพของก้องหิน พืชพรรณและสัตว์ป่า ในเขตอุทยานฯ
7. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในอุทยานฯ เพราะอาจจะเป็นการนำโรคเข้าไปแพร่ในธรรมชาติหรือทางตรงกันข้ามก็อาจจะรับโรคติดต่อจากสัตว์ภายในป่าออกมา
8. ไม่ควรก่อกองไฟในอุทยาน ฯ เพราะการก่อไฟจำเป็นจะต้องใช้ฟืนในธรรมชาติและก่อเกิดมลพิษ ปัจจุบันมีเตาน้ำมันเตาแกส
สารพัดประโยชน์ขนาดพกพา สามารถใช้การได้ดีและทำลายธรรมชาติ หรือหากจำเป็นต้องก่อกองไฟจริงๆ ควรก่อในที่ที่ทางอุทยานฯ กำหนด และดีบให้เรียบร้อย
9. ไม่ควรนำสิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเข้าไปในอุทยานฯ เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง หากนำเข้าไปกรุณาเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด
10. เมื่อพบเห็นการกระทำผิดกฎระเบียบอุทยานฯ หรือการกระทำอับเป็นผลกระทบต่อธรรมชาติ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อดำเนินการต่อไป
11. ร่วมกันชักชวนให้เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมทาง ช่วยกันดูแลรักษาธรรชาติ
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ในสมัยที่เทือกเขายังเป็นเกาะ มีเรือสำเภาจีนบรรทุกผู้โดยสารผ่านมาและประสบกับลมพายุอย่างรุนแรง
จึงนำเรือเข้ามาตามร่องน้ำด้านทิศตะวันตกของเกาะเพื่อหลบพายุ แต่เนื่องจากไม่ชำนาญพื้นที่เรือได้ชนกับหินโสโครกอับปางลง ผู้คนตะเกียกตะกายขึ้นฝั่งได้ 300 คน จึงได้ชื่อว่า "เกาะสามร้อยรอด"ต่อมาเพี้ยนเป็น "เขาสามร้อยยอด"
เขาสามร้อยยอด อยู่ที่ฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ในอำเภอปราณบุรี และอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเล แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อ พศ. 2509 มีเนื้อที่ 61,300 ไร่ หรือ 98.08 ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ
ภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน มีอายุกว่า 280-230 ล้านปีสูงชันริมฝั่งทะเลผสมกับที่ราบฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนและห้วงน้ำทะเลตื้น พื้นที่ราบ น้ำขังตลอดปีเขาสามร้อยยอดเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติมีความสูงถึง 605 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ด้านตะวันตกของเขตอุทยาน คือทุ่งสามร้อยยอดเป็นหนองน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1/4 ของเนื้อที่อุทยานแห่งชาติ
แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ
บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
- เขาแดง อยู่ห่างจากอุทยานประมาณ 400 เมตร เป็นจุดชมวิวที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 157เมตร(เวลาที่เหมาะแก่การชมวิว คือ ตอนเช้ามืดประมาณ 05.30 น.เพราะจะสามารถเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือขอบทะเลบ้านเขาแดง ได้อย่างสวยงาม)
- หาดสามพระยา อยู่ห่างจากอุทยานไปทางทิศเหนือ 5 กม. เป็นชายหาดที่สงบเงียบสามารถกางเทนท์พักแรมได้
- ถ้ำแก้ว อยู่ห่างจากอุทยานไปทางบ้านบางปูประมาณ 13 กม. อยู่บริเวณหุบเขาจันทร์ ภายในถ้ำเป็นหินงอกหินย้อยที่งดงาม ต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุในการนำทาง เพราะภายในถ้ำค่อนข้างมืด
ไปอย่างไร
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี จนถึงอำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บริเวณสี่แยกปราณบุรีเลี้ยวซ้าย ไปตามถนนสายปากน้ำปราณบุรี ประมาณ 4กม. ไปตามถนน รพช.(อำเภอหัวหิน-ป่าละอู) 31 กม. จะถึงที่ทำการอุทยาน ฯ
พักที่ไหน
มีที่สำหรับกางเทนท์และมีเทนท์ไว้ให้บริการ 3 แห่ง คือ
- บริเวณหาดสามพระยา อยู่ติดชายทะเล
- บริเวณหาดแหลมศาลา อยู่ติดชายทะเล
- บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติทุ่งสามร้อยยอด ไม่ติดทะเล
สอบถามรายละเอียดที่พัก ได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โทร. (032) 619-078
- เช้าและเย็น เหมาะกับการดูนกมากที่สุด
- ใครชอบดูนก จะพบ นกกาบบัว/นกกระสาแดง/นกอินทรีปีกลาย และนกออก มากที่สุดบริเวณนี้
อุปกรณ์สำคัญ สำหรับดูนก ได้แก่
1. กล้องส่องทางไกล ถ้าให้ดี กำลังขยายที่เหมาะสม น่าจะอยู่ในช่วง 7x-10x
2. คู่มือดูนก หาฉบับที่สมบูรณ์สุด เรียบเรียงโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ
3. สมุดบันทึก เพื่อจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับนก ถ้ามีฝีมือด้านศิลปะอาจวาดภาพประกอบไว้ยิ่งดี
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : -นิตยสาร 417 ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)